Skip to main content
sharethis

กรมควบคุมมลพิษยังไม่ยกระดับแก้ฝุ่นพิษหวั่นปชช.เดือดร้อน ขอลดใช้รถยนต์ โฆษกกรุงเทพฯระบุ 12 มาตรการ ดูแลพื้นที่ก่อสร้าง งดกิจกรรมกลางแจ้งรร. งดเผาในที่โล่ง ล้างถนน ฉีดน้ำ โฆษกพท.จี้รัฐแก้ฝุ่นพิษจริงจังไม่ใช่ผักชีโรยหน้า เหน็บไม่รู้ปชช.จะตายเพราะโควิด ฝุ่น หรือเศรษฐกิจ 'นิติพล ก้าวไกล' จี้ กรมคุมมลพิษ ทำงานเชิงรุก ย้ำสุขภาพประชาชนสำคัญ รัฐมีหน้าที่ดูแล ต้องแก้ไข pm 2.5 อย่างเป็นระบบ สภาวิศวกรแนะทางแก้ ยกฝุ่นเป็นภัยพิบัติประเทศ ออกภาษีควันดำ, ผังเมืองใหม่


แฟ้มภาพ

16 ธ.ค. 2563 วันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) กลาโหม รับทราบรายงานปัญหาฝุ่น PM 2.5 และห่วงใยประชาชนที่อาศัยและทำกิจกรรมในพื้นที่ที่สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 รุนแรง โดยได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ติดตามการปฏิบัติงานหน่วยงานในกำกับของตน เร่งบรรเทาฝุ่น PM 2.5 ลดผลกระทบด้านสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันให้มากที่สุด แต่ต้องไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน 

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” พ.ศ. 2563 ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบท ป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง เช่น ยานพาหนะ อุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง การก่อสร้างและผังเมืองและภาคครัวเรือน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ รวมทั้งแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 มาตรการ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามรายงานสถานการณ์ PM 2.5 ได้ตลอดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)” 

 

กรมควบคุมมลพิษยังไม่ยกระดับแก้ฝุ่นพิษหวั่นปชช.เดือดร้อน ขอลดใช้รถยนต์

ขณะที่ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ นำโดยอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กทม. ว่า รัฐบาลได้เตรียมการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่เริ่มโดยประกาศเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกำหนดแนวทาง 12 มาตรการ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นหมอกควันและไฟป่า จากการตรวจสอบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กพบว่ามี 14 พื้นที่ในกทม.และปริมณฑล เกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์เมตร ในช่วง 3-4 วัน

เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ไขจะพิจารณาใช้อำนาจ เพื่อประสานระหว่างหน่วยงานอย่างไร อรรถพล กล่าวว่า หากสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานไปถึง 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์เมตร  กระทรวงทรัพยากรฯ จะเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติรับทราบ และยกระดับมาตรการแก้ไขปัญหามากขึ้น ซึ่งเราไม่อยากยกระดับการแก้ไขสถานการณ์ให้ประชาชนเดือดร้อน จึงขอความร่วมมือจากประชาชนในการดำเนินมาตรการด้วย โดยระยะสั้นถ้าช่วยให้แหล่งกำเนิดของPM2.5 เบาบางได้ เช่น ลดการใช้รถยนต์และใช้รถสาธารณะมากขึ้น เป็นต้น

 

โฆษกกรุงเทพฯระบุ 12 มาตรการ ดูแลพื้นที่ก่อสร้าง งดกิจกรรมกลางแจ้งรร. งดเผาในที่โล่ง ล้างถนน ฉีดน้ำ

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในกรุงเทพมหานครในวันนี้ ฝุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 74.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเมื่อวาน มีฝุ่นอยู่ที่ 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยทั้งกรุงเทพมหานคร ดังนั้นจึงได้ออกมาตรการเตรียมพร้อมเป็นแผนปฏิบัติประมาณสองเดือนซึ่งเราคาดการณ์ว่าจะเกิดสถานการณ์เช่นนี้ในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ โดยสิ่งที่กรุงเทพมหานครกลับไปแล้วตามปกติจะมีมาตรการ 12 มาตรการ คือการกำกับดูแลพื้นที่ก่อสร้างที่เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นเป็นจำนวนมาก เรื่องการงดกิจกรรมกลางแจ้งของทางโรงเรียนต่างๆ เช่น เข้าแถว กิจกรรมอื่นๆที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะได้รับฝุ่นจนเป็นอันตราย เรื่อง การกวดขันการเผาในพื้นที่โล่งโดยเฉพาะเขตรอบนอกนคร การล้างถนน การฉีดละอองน้ำจากตึกอาคารสูงและการเปิดคลินิกมลพิษ เหล่านี้คือมาตรการสำคัญที่ทางกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการไปแล้วในสถานการณ์ปกติ

แต่เนื่องจากสถานการณ์ได้มีการเพิ่มระดับมากขึ้น และคาดการณ์ว่าสถานการณ์เช่นนี้จะทรงอยู่ประมาณ 2-3 วัน แล้วจะพักไปช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาอีกในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งสถานการณ์ค่อนข้างรุนแรงเป็นระดับสอง จึงต้องเพิ่มมาตรการมากขึ้น โดยเพิ่มมาตรการหลักคือ การบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่เผาอย่างเข้มข้นมากขึ้นโดยประสานให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประสานกับเขต เพื่อไปตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นการเผาน้อยหรือเผามาก เพื่อขอความร่วมมือให้ไม่เผา การออกหน่วยสาธารณสุขโดยการนำรถของกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปในพื้นที่ที่มีฝุ่นจำนวนมาก เช่น ดินแดง เพื่อให้หน่วยบริการสาธารณสุขเข้าช่วยประชาชน

สำหรับกิจกรรมก่อสร้าง ทางกรุงเทพมหานครยกระดับ การก่อสร้างขนาดใหญ่ การก่อสร้างรถไฟฟ้า หรือก่อสร้างที่ทำให้เกิดฝุ่นมาก หรือการก่อสร้างที่คาดว่าจะทำให้เกิดฝุ่นมาก ก็จะยกระดับในช่วง 2-3 วันนี้ เพราะคาดการณ์ว่าจะมีค่าฝุ่นสูงโดยให้สามารถก่อสร้างต่อได้ ในส่วนกิจกรรมที่ทำไม่ให้เกิดฝุ่น เช่น การตกแต่งภายใน ทาสี แต่สำหรับการที่จะทำให้เกิดฝุ่นจำนวนมาก อาทิ ขนดิน ขุด เจาะ ถม ในโครงการขนาดใหญ่เราก็จะประสานขอให้งด 2-3 วันช่วงนี้ก่อน

ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีการถามกันมากเรื่องการปิดโรงเรียน ทางกรุงเทพมหานครได้ให้ผู้อำนวยการเขต กับผู้อำนวยการโรงเรียน พิจารณาโรงเรียนที่จะปิดก่อนในช่วง 2-3 วันนี้ เนื่องจากอาจมีบางพื้นที่มีค่าฝุ่นสูง ทำให้บางโรงเรียนที่มีเด็กเล็กและเกิดความเสี่ยง แต่ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น กรุงเทพมหานครก็จะยกระดับขึ้นไประดับสาม โดยผู้บัญชาการสถานการณ์คือ ผู้ว่ากทม. ได้มีแผนเตรียมพร้อมรับมืออยู่แล้ว สำหรับการฉีดพ่นน้ำมีหลายลักษณะ จึงขอรณรงค์ 4 ลักษณะ 

1. ฉีดพ่นละอองน้ำใส่ต้นไม้ไปไม้ เพราะเปรียบเสมือนเครื่องกรองอากาศ เพื่อช่วยประสิทธิภาพในการ กรองอากาศ 

2. ฉีดน้ำเพื่อพ่นล้างถนน เพราะเป็นพื้นที่ที่ฝุ่นจะตกลงพื้น เพื่อชะล้างลงท่อระบายน้ำ 

3. พื้นที่ก่อสร้างที่จะทำให้เกิดฝุ่นมากได้ก็จะฉีดน้ำเข้าไปในพื้นที่ก่อสร้าง 

4.ฉีดน้ำจากบนอาคาร โดยขอใช้น้ำปริมาณมากพอควรเพื่อดักจับฝุ่น ทำให้ฝุ่นอ้วนขึ้นแล้วตกสู่พื้น แล้วทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าว และคนที่อยู่ในอาคารปลอดภัยจากฝุ่นPM 2.5 ส่วนการฉีดน้ำขึ้นฟ้า ที่ไหนหน่วยงานทำอยู่นั้นสามารถช่วยลดPM2.5 ได้นิดหน่อย จึงขอความร่วมมือขอให้ใช้การฉีดพ่นน้ำ4ลักษณะที่ได้กล่าวไปข้างต้น

“ยืนยันว่ากรุงเทพมหานครมีความพร้อมที่จะรับสถานการณ์นี้เพราะเราเตรียมการมากกว่า 3 เดือน ถ้าสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นเราก็พร้อมที่จะใช้มาตรการเข้มข้นมากขึ้น แต่ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นเราก็พร้อมที่จะลดมาตรการลง กรุงเทพมหานครจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้คนในกรุงเทพ มีสุขภาพดี”ร.ต.อ.พงศกร กล่าว

 

โฆษกพท.จี้รัฐแก้ฝุ่นพิษจริงจังไม่ใช่ผักชีโรยหน้า เหน็บไม่รู้ปชช.จะตายเพราะโควิด ฝุ่น หรือเศรษฐกิจ

16 ธ.ค. 2563 (วันนี้) อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 โดยบางพื้นที่ค่าฝุ่นทะลุ 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ กทม. มีค่าฝุ่นอยู่ที่อันดับ 6 ของโลก ว่า รัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา ทั้งที่มีแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้าน ฝุ่นละออง ที่รัฐบาลได้อนุมัติให้แผนดังกล่าวนี้ผ่านมติ ครม.ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ออกมาตรการแก้ปัญหาสวยหรู แต่ไม่ตอบโจทย์แม้แต่น้อย โดยใช้งบประมาณของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติในการจัดการปัญหานี้ มีการออกแผนเฉพาะกิจสวยหรู ทั้งการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมรายงานฝุ่นละออง หรือการใช้แอพพลิเคชั่นบัญชาการการดับไฟป่า ที่ควรจะเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่ตอนนี้เห็นเพียงผู้นำประเทศ อย่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาบอกให้ประชาชนดูแลตัวเอง ทั้งที่เป็นหน้าที่ในการดูแลชีวิตและความปลอดภัยของพลเมืองในประเทศ จึงขอตั้งคำถามไปถึงรัฐบาลว่าคนไทยจะมีผู้นำประเทศไว้ทำไม เพราะยิ่งพลเอกประยุทธ์อยู่ ยิ่งถ่างความเหลื่อมล้ำในการมีชีวิตอยู่รอดของประชาชนให้กว้างขึ้น ประชาชนต้องดิ้นรนกันเอง บางครอบครัวต้องยอมเป็นหนี้สินเพื่อซื้อเครื่องฟอกอากาศที่มีราคาสูง ซื้อหน้ากากอนามัยราคาแพงมาใช้ ในขณะที่หลายครอบครัว ต้องทนรับสภาพชะตากรรมชีวิต ไม่มีสิ่งป้องกันใดๆ นอกจากหน้ากากอนามัยเก่า หรือบางคนไม่มีเงินแม้แต่จะซื้อหน้ากากไว้ใช้ป้องกันตัวเอง

อรุณีกล่าวอีกว่า หมดแล้วเวลาที่รัฐบาลจะโยนบาปให้ประชาชน รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งมาอย่างยาวนานกว่า 6 ปี และผู้ว่าฯ กทม.ที่ คสช.แต่งตั้งมายังอยู่ในหน้าที่แต่ไม่เคยแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ถนัดแต่ทำแบบผักชีโรยหน้า เอาละอองน้ำไปฉีดใกล้เครื่องวัดค่าฝุ่นละออง แม้จะพยายามแก้ปัญหาก็ทำแบบวัวหายล้อมคอกอย่างมาตรการการควบคุมจำกัดรถวิ่ง หรือตรวจจับควันดำที่ทำไม่จริงจัง หรือมาตรการควบคุมการก่อสร้าง อาคารและโครงการขนาดใหญ่ ที่ยังปล่อยปละละเลย ไม่มีการป้องกันที่เพียงพอจนอดสงสัยไม่ได้ว่างบประมาณที่รัฐบาลถืออยู่ มีประชาชนอยู่ในนั้นหรือไม่ หรือรัฐบาลนี้ถนัดแต่ดำเนินคดีการเมืองอย่างเดียวจนไม่สนใจปัญหาคุณภาพชีวิตประชาชน

“ตอนนี้ประชาชนมีทางเลือกไม่กี่ทางว่าจะมีชีวิตรอดได้อย่างไร จะตายเพราะเศรษฐกิจแย่ ตายเพราะโควิด-19 ตายเพราะฝุ่น หรือตายเพราะมีผู้นำอย่าง พล.อ.ประยุทธ์กันแน่ พรรคเพื่อไทยจะขอทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ เราจะทวงถามทั้งในสภาและถึงคณะกรรมาธิการต่างๆ จะไม่ยอมปล่อยผ่านเรื่องนี้แน่นอน” อรุณีกล่าว

 

'นิติพล ก้าวไกล' จี้ กรมคุมมลพิษ ทำงานเชิงรุก ย้ำสุขภาพประชาชนสำคัญ รัฐมีหน้าที่ดูแล ต้องแก้ไข pm 2.5 อย่างเป็นระบบ

วันเดียวกัน คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ เเละสิ่งเเวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาศึกษาติดตามการดำเนินการภาครัฐในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเเละมลพิษทางอากาศ โดยเชิญอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และผู้ว่าราชการจ.เชียงใหม่ ร่วมชี้เเจงในการหาเเนวทางเเละแก้ไขปัญหา ฝุ่นละอองpm.2.5 เพื่อร่วมกันหาทางออกในอนาคต และแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

อภิชาติ ศิริสุนทร ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สภาวะฝุ่นละอองมลพิษ pm 2.5 ที่สื่อมวลชนเเละประชาชนให้ความสนใจ เพื่อหาเเนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง เเละระยะยาว โดยทางกรรมาธิการได้มีการติดตามศึกษาเรื่องนี้มาตลอด เเละได้จัดทำรายงานศึกษาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเเละในการบริหารจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ และแก้ไขปัญหาในอนาคต

นิติพล ผิวเหมาะ ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัญหาเรื่องฝุ่นควันมีปัญหาระยะยาว ตลอดเวลา1 ปี ที่ผ่านมา ตนได้ผลักดันปัญหานี้เข้าสู่รัฐสภา เเละศึกษา รวมถึงเรียกผู้เกี่ยวข้องมาชี้เเจงในคณะกรรมาธิการ โดยทางคณะกรรมาธิการได้ทำรายงานศึกษาปัญหาฝุ่นละอองมลพิษ ต่อสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยเเล้ว ขณะที่ในสถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ เเละพื้นที่ภาคเหนือ ที่ได้รับผลกระทบอย่างสูง เเละแม้เเต่ช่วงสัปดาห์นี้ ที่ฝุ่นละอองปกคลุมอย่างหนาแน่น เสี่ยงต่อสุขภาพเเละชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยกรุงเทพมหานครถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีฝุ่นละออง มีอากาศทางมลพิษมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก นี่คือความเสี่ยง ต่อชีวิตเเละสุขภาพของประชาชน เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดูเเล เเละควบคุมสถานการณ์เสี่ยงได้อย่างเป็นระบบ เเละมีประสิทธิภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพประชาชน

ด้าน ศิวพร รังสิยานนท์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ ผู้แทนอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ปัจจัยที่เกิดปัญหาฝุ่นละออง มี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ควบคุมได้ เเละควบคุมไม่ได้ ในปัจจัยที่เป็นปัญหาหลักในตอนนี้เกิดจากความกดดันทางอากาศสูง เเต่ด้วยสภาวะอากาศในปัจจุบัน ที่ลมนิ่ง เพดานอากาศต่ำ จึงทำให้ฝุ่นสลายไปตามธรรมชาติได้ช้า ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีการรายงานสภาพอากาศในช่วงสัปดาห์นี้ ว่า สถานการณ์ฝุ่นละออง จะดีขึ้น เนื่องจากทิศทางลมเเรง สามารถทำให้ฝุ่นสลายตามธรรมชาติได้ตามปกติ เเหล่งกำเนิดฝุ่นละอองในประเทศ ภาคเหนือ ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาป่า เเละภัยทางธรรมชาติ โดยในกทม เเละปริมณฑล เเหล่งกำเนิดฝุ่น มาจากการจราจร เเละโรงงาน ในจังหวัดสระบุรี จะมีที่โรงปูนซีเมนต์ ที่เป็นฝุ่นที่มีขนาดใหญ่กว่า pm 2.5 สำหรับการตรวจสอบเเละควบคุมมลพิษ กรมควบคุมมลพิษ มีหน่วยวัดสภาพภูมิอากาศเคลื่อนที่ จำนวน 9 คัน เพื่อแก้ไขปัญหา เเละวัดสภาพภูมิอากาศฝุ่น pm.2.5 ในส่วนการแก้ไขมลพิษ เรายึดตามแผนขับเคลื่อนวาระเเห่งชาติ โดยมีการบูรณาการประสานงาน ร่วมกับทุกกระทรวง มีการดำเนินงานผ่านตามคณะกรรมการควบคุมมลพิษ เพื่อขับเคลื่อนเเก้ไขปัญหาในระยะสั้น ระยะกลาง เเละระยะยาว เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฝุ่นละอองเเละมลพิษ ในปี 2564

รัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สืบเนื่องจากจ.เชียงใหม่เป็นจังหวัดท่องเที่ยว มีสถานการณ์ปัจจุบันที่กระทบต่อการท่องเที่ยว คือสถานการณ์โควิด เเละควันไฟป่าอันก่อให้เกิดมลพิษฝุ่น pm.2.5 เเละเนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ จึงเป็นพื้นที่รับฝุ่นมลพิษ รวมไปถึงรับควันไฟป่า จากการเผาป่าจากสหภาพเมียนมาร์ ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทางจังหวัดมีการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ในเขตเมืองปัญหาที่ก่อให้ฝุ่นละอองคือการจราจร ซึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ มีการใช้รถยนต์เเละจักรยานยนต์กว่า 1,500,000 คัน

ด้านปัญหาในการแก้ไขนอกเมือง คือการเผาเพื่อเตรียมปลูกพืชในหน้าฝน เเละพื้นที่การบริหารจัดการไฟ รวมไปถึงการหาของป่า ถ้าเปรียบเทียบกับระยะเวลาปีที่ผ่านมา มีไฟที่เกิดขึ้นกว่า 20,000 กว่าจุด จังหวัดเชียงใหม่ได้มีแผนในการดำเนินการมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการ ร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เเละเอกชน รวมถึงอาสาสมัคร กว่า 19,600 คน เเละมีการรณรงค์สร้างความรับรู้เกี่ยวกับมลพิษ เเละลดภาวะในการใช้รถยนต์เเละจักรยานยนต์ในช่วงวันหยุดสำคัญ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดฝุ่นละอองทางมลพิษ รวมไปถึงการใช้โดรนในการดับไฟป่า เนื่องจากบางพื้นที่เป็นพื้นที่ที่รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งสามารถช่วยลดปัญหาฝุ่นได้ดี ข้อเสนอเเนะของจังหวัด เราต้องการให้มีการสนับสนุนในส่วนงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร ผู้ใหญ่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการดับไฟป่า เเละในส่วนนวัตกรรม เรามีการสนับสนุนเครื่องอัดใบไม้ ให้พี่น้องประชาชนนำไปอัดเป็นเเท่ง เพื่อลดการเผา อันเป็นสาเหตุให้เกิดมลภาวะทางอากาศ เเละจากสถานการณ์ที่ผ่านมา มีอาสาสมัครเสียชีวิตจากการเข้าไปดับไฟในพื้นที่ เราจึงอยากให้รัฐสนับสนุนเครื่องติดตามตัวอาสาสมัคร เมื่อเกิดเหตุกระทันหัน จะได้แก้สถานการณ์อย่างท่วงที แผนการดำเนินการในแี 2564 จังหวดเชียง จะจัดทำการลดพื้นที่จุด Hotspot ที่ใช้เผาไฟป่า ลดการสูญเสีย 25% จาก 1 ล้าน5 แสนไร่ เหลือ 1 ล้านไร่ ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ตามสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงท้ายของการประชุมคณะกรรมาธิการ นิติพล ผิวเหมาะในฐานะกรรมธิการได้ตั้งข้อสังเกตต่อผู้ชี้เเจงกรมควบคุมมลพิษว่า สิ่งที่กรมควบคุมมลพิษปฏิบัติตามเเผนดำเนินงานที่กล่าวมานั้น ตนรู้สึกว่ากรมควบคุมมลพิษทำงานเดินตามหลังปัญหาอยู่ตลอดเวลา ควรจะมีมาตรการเชิงรุกในการรับมือเพื่อแก้ไขปัญหา เเละมีข้อจำกัดด้านใดบ้าง อาทิ กฎหมายที่ควบคุม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตนพร้อมจะนำปัญหาเพื่อผลักดันเเละร่วมแก้ไข เพื่อบูรณาการอย่างเป็นระบบ แก้ไขปัญหาฝุ่นละออง pm 2.5 ในระยะยาว พร้อมรับมือ สถานการณ์ในอนาคต

 

สภาวิศวกรแนะทางแก้ ยกฝุ่นเป็นภัยพิบัติประเทศ ออกภาษีควันดำ, ผังเมืองใหม่

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ฝุ่น PM2.5 ยังคงเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากเสี่ยงกระทบต่อสุขภาพ ดังนั้น เพื่อให้ PM 2.5 ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง สภาวิศวกร จึงแนะ 3 ทางออกดังนี้ 1.ภาครัฐต้องยกระดับปัญหาฝุ่นเป็นภัยพิบัติของประเทศ ด้านกฎหมาย ผ่านการเก็บภาษีรถยนต์ปล่อยควันดำ ยกระดับมาตรฐานรถยูโร 4 สู่มาตรฐาน EURO 5-6 ปรับค่ามาตรฐานน้ำมันเพื่อสามารถใช้งานกับเครื่องยนต์ EURO 5-6 ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ดีเซลเป็นเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานไฟฟ้า รวมถึงจำกัดปริมาณรถบรรทุกในพื้นที่กรุงเทพฯ

ด้านงานวิจัย ควรลงทุนงบประมาณในการพัฒนานวัตกรรมแก้ปัญหาฝุ่น เพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีต่างประเทศ ด้านการวางระบบผังเมืองใหม่ ที่เน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจากปัจจุบัน 2-3 ตร.ม.ต่อคน เพิ่มเป็นอย่างน้อย 9-10 ตร.ม. ต่อคน 2.ภาคเอกชนควรให้ความร่วมมือในการแสดงผลข้อมูลปริมาณฝุ่น ผ่านจอโฆษณา LED แบบเรียลไทม์ และ 3.ภาคประชาชน ควรตระหนักถึงผลกระทบฝุ่น PM 2.5 ควรหมั่นดูแลสุขภาพของตนอยู่เสมอ พร้อมทั้งเลือกสรรนวัตกรรมป้องกันฝุ่น หรือติดตามการรายงานผลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ เกษตรกรควรงดเว้นการเผาในที่โล่งแจ้งอีกด้วย เพื่อลดการเกิดฝุ่นสะสม

 

 

อ้างอิง: ข่าวช่องสาม, วอยซ์ทีวี, มติชน, ไทยรัฐ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net