Skip to main content
sharethis

'สวนดุสิตโพล' เผยคน 67.69% มองความปลอดภัยในชีวิต-ทรัพย์สินแย่ลง สะท้อนสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ด้าน 'นิด้าโพล' เผยคน กทม.มองหน่วยงานรัฐแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นละอองยังไม่มีประสิทธิภาพ 

19 ม.ค. 2563 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศเรื่อง 'ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ณ วันนี้' โดยสำรวจประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 1,365 คน ระหว่างวันที่ 15-18 ม.ค. 2563 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นประชาชนจากกรณีสังคมไทย ณ วันนี้ มีข่าวอาชญากรรมและปัญหาสังคมต่างๆเกิดขึ้นทุกวัน และนับวันยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ข่าวฆ่าข่มขืน จี้ชิงทรัพย์ ค้ายาเสพติด หรือเหตุการณ์ปล้นร้านทอง จ.ลพบุรี เป็นต้น ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในปัจจุบันเป็นอย่างมาก สรุปผลได้ ดังนี้

1.เมื่อเปรียบเทียบความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในช่วงนี้ กับเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ประชาชนคิดว่าเป็นอย่างไร?
อันดับ 1 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแย่ลง 67.69% เพราะมีข่าวให้เห็นทุกวัน รุนแรงมากขึ้น มาจากสภาพ เศรษฐกิจตกต่ำ สังคมเสื่อมโทรม คนขาดคุณธรรมจริยธรรม ฯลฯ
อันดับ 2 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเหมือนเดิม 27.47% เพราะสังคมมีปัญหามานาน แก้ไขได้ยาก ชีวิตความเป็นอยู่ลำบาก ทำให้ประชาชนต้องดูแลตัวเอง ระมัดระวัง ฯลฯ
อันดับ 3 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินดีขึ้น 4.84% เพราะสังคมตื่นตัว ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ภาครัฐมีมาตรการเข้มแข็งมากขึ้น กฎหมายเข้มงวดเอาจริงเอาจัง ฯลฯ

2.ประชาชนคิดว่าปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ณ วันนี้ สะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง?
อันดับ 1 สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ คนหมดหนทาง ต้องต่อสู้ดิ้นรน ยอมกระทำผิด 53.87%
อันดับ 2 สภาพสังคมเสื่อมโทรม มีความเหลื่อมล้ำสูง คุณภาพชีวิตแย่ 24.46%
อันดับ 3 รัฐบาลยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ ประชาชนต้องพึ่งพาตนเอง 21.36%
อันดับ 4 คนขาดคุณธรรม จริยธรรม เห็นแก่ตัว ไม่มีจิตสำนึก 18.27%
อันดับ 5 การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด เอาผิดไม่ได้ 14.55%

3.ประชาชนวิตกกังวลกับปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ณ วันนี้ มากน้อยเพียงใด?
อันดับ 1 ค่อนข้างวิตกกังวล 42.20% เพราะกลัวว่าจะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว สังคมมีภัยรอบด้าน สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ย่ำแย่ส่งผลให้คนมีปัญหามากขึ้น ฯลฯ
อันดับ 2 วิตกกังวลอย่างมาก 40% เพราะมีข่าวให้เห็นทุกวัน คนจิตใจโหดเหี้ยมมากขึ้น ปืน อาวุธผิดกฎหมายหาซื้อได้ง่าย ตำรวจไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ฯลฯ
อันดับ 3 ไม่ค่อยวิตกกังวล 14.07% เพราะพยายามใช้ชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีความเสี่ยง เพิ่มความระมัดระวัง รอบคอบมากขึ้น ฯลฯ
อันดับ 4 ไม่วิตกกังวลเลย 3.73% เพราะดูแลตัวเองได้ ไม่ค่อยได้ออกไปไหน อยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย ป้องกันตนเองเสมอ ไม่พกสิ่งของมีค่าติดตัว ฯลฯ

4.กรณีปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เรื่องใดที่ประชาชนวิตกกังวลมากที่สุด พร้อมแนวทางแก้ไข
อันดับ 1 โจรผู้ร้าย จี้ปล้น ชิงทรัพย์ 67.59% แนวทางแก้ไข คือ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ เพิ่มระบบรักษาความปลอดภัย บทลงโทษรุนแรง ฯลฯ
อันดับ 2 การใช้ความรุนแรง พกอาวุธ ปืน มีด สิ่งผิดกฎหมาย 32.76% แนวทางแก้ไข คือ เจ้าหน้าที่ดูแลกวดขัน เข้มงวด ตรวจตราการใช้อาวุธผิดกฎหมาย ไม่ละเว้นโทษแก่ผู้ใด ฯลฯ
อันดับ 3 การแพร่ระบาดของยาเสพติด 25.17% แนวทางแก้ไข คือ กวาดล้างให้หมดสิ้น ถอนรากถอนโคน จับกุมผู้ค้ารายใหญ่ ครอบครัวต้องดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ฯลฯ
อันดับ 4 ล่วงละเมิดทางเพศ ข่มขืน 21.38% แนวทางแก้ไข คือ เพิ่มโทษให้หนัก ประหารชีวิต จับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ มุ่งเน้นปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ฯลฯ
อันดับ 5 ปัญหามลพิษ ฝุ่น ควัน 15.17% แนวทางแก้ไข คือ ภาครัฐแก้ปัญหาอย่างจริงจัง รักษาสิ่งแวดล้อม ประชาชนดูแลตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ ฯลฯ

5.สิ่งที่อยากฝากบอกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ
อันดับ 1 บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ปรับปรุงบทลงโทษให้เหมาะสม 46.51%
อันดับ 2 ตรวจสอบการทำงานของกล้องวงจรปิดทุกจุดให้ใช้งานได้จริง 43.41%
อันดับ 3 เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน 20.54%
อันดับ 4 ทุกคดีที่เกิดขึ้นควรเร่งติดตาม จับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยเร็ว 18.60%
อันดับ 5 นำเสนอข่าวที่เป็นจริง สร้างสรรค์ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน 16.67%

'นิด้าโพล' เผยคน กทม. มองหน่วยงานรัฐแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นละอองยังไม่มีประสิทธิภาพ

วันเดียวกันนี้ (19 ม.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง 'การจัดการวิกฤตฝุ่นละออง' ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15 – 16 ม.ค. 2563 จากประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,256 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการจัดการวิกฤติฝุ่นละอองในเขตกรุงเทพมหานคร

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการปฏิบัติตัวเมื่อเผชิญปัญหาจากวิกฤตฝุ่นละอองของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.98 ระบุว่า สวมหน้ากากอนามัยเวลาออกนอกบ้าน รองลงมา ร้อยละ 21.50 ระบุว่า หลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน ร้อยละ 10.59 ระบุว่า งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ร้อยละ 6.61 ระบุว่า ใช้เครื่องฟอกอากาศ ร้อยละ 5.41 ระบุว่า ปิดประตู-หน้าต่างกันฝุ่น ร้อยละ 3.66 ระบุว่า ใช้ชีวิตตามปกติไม่ได้ทำอะไรเลย ร้อยละ 3.50 ระบุว่า ไม่สนใจ เพราะอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง

ร้อยละ 3.18 ระบุว่า ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ ร้อยละ 2.23 ระบุว่า ไม่สนใจ เพราะเป็นปัญหาเล็ก ๆ ร้อยละ 1.83 ระบุว่า ไม่สนใจ เพราะคิดว่าร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานดี ร้อยละ 0.64 ระบุว่า เดินทางไปอยู่ต่างจังหวัดที่ไม่มีฝุ่น ร้อยละ 0.48 ระบุว่า ไม่ได้ทำอะไร เพราะไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้ออุปกรณ์ป้องกันฝุ่นละออง และร้อยละ 0.32 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ปลูกต้นไม้ ฉีดน้ำบริเวณรอบบ้าน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ซื้อเครื่องตรวจจับค่า pm 2.5 มาใช้

ด้านประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พบว่า ร้อยละ 2.47 ระบุว่า มีประสิทธิภาพมาก เพราะ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีการจัดการแก้ปัญหาที่ดี ร้อยละ 17.60 ระบุว่า ร้อยละ ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ เพราะ มีการพ่นละอองน้ำเพื่อลดฝุ่น มีการแจ้งเตือนเขตพื้นที่สีแดง ทำให้ประชาชนได้เตรียมพร้อมรับมือ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่ได้เกี่ยวกับหน่วยงานภาครัฐ แต่เป็นที่ตัวบุคคลในการทำให้เกิดฝุ่นละออง

ร้อยละ 40.84 ระบุว่า ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เพราะ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังแก้ไขได้ไม่ตรงจุด ทำงานไม่จริงจัง ไม่ต่อเนื่อง ควรมีมาตรการอย่างจริงจังที่เป็นรูปธรรมในการควบคุม เช่น การก่อสร้าง รถควันดำ หรือผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษ ร้อยละ 36.22 ระบุว่า ไม่มีประสิทธิภาพเลย เพราะ การจัดการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการตื่นตัว ไม่มีการเเก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม ไม่มีความชัดเจน ปัญหายังเดิม ๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น งานก่อสร้างต่าง ๆ รถประจำทาง/รถส่วนตัวยังมีควันดำ และร้อยละ 2.87 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงการมีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.57 ระบุว่า ใช้บริการขนส่งสาธารณะแทนการขับรถส่วนตัว รองลงมา ร้อยละ 24.20 ระบุว่า ฉีดน้ำล้างฝุ่นละอองหน้าบ้านตนเอง ร้อยละ 23.09 ระบุว่า หยุดเผาขยะ ใบไม้ เศษวัสดุ ร้อยละ 21.66 ระบุว่า ไม่มีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง เพราะ การใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้ทำอะไรหรือสร้างปัญหาอะไรเกี่ยวกับฝุ่น อยู่แต่ที่บ้าน/อาคารไม่ได้ไปไหน ขณะที่บางส่วนระบุว่า เนื่องจากจำเป็นต้องใช้รถส่วนตัวเพื่อไปทำงาน

ร้อยละ 16.96 ระบุว่า ดับเครื่องยนต์ ทุกครั้งเวลาจอดรถ ร้อยละ 8.20 ระบุว่า หยุดการจุดธูป ประทัด ร้อยละ 7.48 ระบุว่า นำรถไปเข้าอู่เพื่อแก้ไขปัญหาควันดำ ร้อยละ 2.23 ระบุว่า หยุดการก่อสร้าง และร้อยละ 3.50 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ใช้รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน หรือเดินแทนการใช้รถยนต์ ปลูกต้นไม้ และอยู่บ้านเพื่อลดการใช้รถ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ลดการใช้รถที่เติมน้ำมันดีเซล เปลี่ยนมาใช้รถที่เติมน้ำมันเบนซิน หรือ E20 แทน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net