Skip to main content
sharethis

การกระทำอารยะขัดขืนเป็นการกระทำโดยปราศจากความรุนแรงและต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง ถึงกระนั้นก็เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย คำถามสำคัญคือระบบกฎหมายจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร ต่อพงษ์ กิตติยานุพงษ์ อธิบายแนวทางที่รัฐที่เป็น ‘นิติรัฐ’ ใช้ในการพิจารณาเรื่องนี้

วงเสวนาวิชาการเรื่อง ‘ขัดขืนอย่างมีอารยะ: มุมมองทางกฎหมายและนิติปรัชญาเกี่ยวกับการดื้อแพ่ง’

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2563 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้จัดเสวนาวิชาการเรื่อง ‘ขัดขืนอย่างมีอารยะ: มุมมองทางกฎหมายและนิติปรัชญาเกี่ยวกับการดื้อแพ่ง’ ต่อพงษ์ กิตติยานุพงษ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า

ผมจะเน้นเกณฑ์หรือมาตรในทางกฎหมายการชี้ขาดตัว Civil disobedience ว่าเป็นสิ่งที่ระบบกฎหมายรับรองหรือยอมรับให้กระทำได้มากน้อยแค่ไหนเพียงใด

จากการศึกษาในรอบเดือนที่ผ่านมาและเอาเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญมาปรับหรืออธิบายก็พบว่า เป็นเรื่องที่มีมิติน่าสนใจอย่างยิ่งทั้งในทางปรัชญาและโดยเฉพาะในทางกฎหมาย ผมจะขออธิบายมุมมองทางกฎหมายของการทำอารยะขัดขืนจากแนวทางของเยอรมันหรือแนวทางในภาคพื้นยุโรปเป็นหลัก

วงเสวนาวิชาการเรื่อง ‘ขัดขืนอย่างมีอารยะ: มุมมองทางกฎหมายและนิติปรัชญาเกี่ยวกับการดื้อแพ่ง’

ถ้าเราจะสรุปลำดับการพิจารณาของอารยะขัดขืนหรือการดื้อแพ่งมีประเด็นที่เราจะต้องตอบคำถามไล่เรียงตามลำดับไปอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน

เรื่องที่ 1 ในเชิงกฎหมายหรือในเชิงนิติปรัชญาที่มีความสำคัญก็คือเวลาพูดถึงสิทธิดื้อแพ่งหรือการทำอารยะขัดขืน เราต้องตอบคำถามในกรณีเฉพาะเรื่องให้มีความชัดเจนเสียก่อนว่าการทำอารยะขัดขืนแท้จริงแล้วเป็นการทำอารยะขัดขืนหรือว่าเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือใช้สิทธิตามกฎหมายในลักษณะอื่น

ประเด็นนี้สำคัญมากเพราะถ้าเราจะเอาเกณฑ์ในทางกฎหมายมาชี้ขาดการกระทำที่ถูกอ้างอิงว่าผิดกฎหมาย เราต้องชัดเสียก่อนว่ามันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือเปล่าหรือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นการดื้อแพ่งอย่างที่ว่า จากการศึกษาก็พบว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะชี้ขาดลงไป แม้แต่คำพิพากษาในต่างประเทศเรื่องนี้ก็ยังอยู่ในพื้นที่สีเทาที่แยกยากมากว่าอะไรเป็นอารยะขัดขืน อะไรเป็นเรื่องของการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมหรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ประเด็นที่ 2 ใครเป็นผู้ใช้สิทธิดื้อแพ่ง แน่นอนว่าในสังคมการเมืองซึ่งประกอบด้วยฝ่ายข้างมากและฝ่ายข้างน้อยที่ดำเนินการดื้อแพ่งหรืออารยะขัดขืนก็คือคนที่เป็นฝ่ายข้างน้อย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่ในตำรารัฐธรรมนูญหรือตำรากฎหมายมหาชนก็ตั้งคำถามว่าการดื้อแพ่งไม่ใช่การพิจารณามิติด้านกฎหมายอย่างเดียว แต่ยังมีมิติเรื่องความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยด้วยเพราะกฎหมายหรือนโยบายที่รัฐบาลออกมาหรือรัฐสภาเป็นตัวแทนของฝ่ายข้างมากตราขึ้น กฎหมายมันมีความชอบธรรมอยู่ในตัว ดังนั้น การใช้สิทธิดื้อแพ่งหรือไม่ยอมรับกฎหมายคือการปฏิเสธความชอบธรรมของระบอบผู้แทนหรือระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา คำถามคือเรื่องนี้ทำได้แค่ไหนซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งที่มีความยากลำบากมากขึ้นไปกว่าเรื่องประเด็นทางกฎหมาย

ประการที่ 3 ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาการดื้อแพ่งก็คือ การตอบคำถามว่าการดื้อแพ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว การกระทำที่ผิดกฎหมาย การฝ่าฝืนกฎหมายรัฐที่เป็นนิติรัฐนั้นควรจะมีปฏิกิริยาต่อการกระทำผิดกฎหมายที่กระทำไปโดยเจตนาที่ดีอย่างไร อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องพิจารณาเป็นขั้นตอนสุดท้าย

3 ประการนี้เท่าที่ศึกษามาก็จะเป็นมุมมองในทางกฎหมายสำหรับเรื่องการดื้อแพ่ง ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่าเราต้องพิจารณา 3 ประเด็นนี้ตามลำดับ

ที่มาภาพ Law TU.

ความหมายของอารยะขัดขืนหรือการดื้อแพ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 6-7 ประการด้วยกัน อย่าลืมว่าเกณฑ์ข้อหนึ่งเราใช้อธิบายเรื่องอารยะขัดขืนว่ามันต่างจากการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในลักษณะอื่นอย่างไร การดื้อแพ่งหรืออารยะขัดขืนหมายถึงการกระทำที่ผู้กระทำรู้สำนึกว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่กระทำการดื้อแพ่งโดยรู้สำนึก

ประการที่ 2 การทำอารยะขัดขืนหรือการดื้อแพ่งถือเป็นการกระทำในเชิงสัญลักษณ์ โดยผู้กระทำมุ่งหมายที่จะใช้การละเมิดกฎหมายเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อก่อให้เกิดดราม่าหรือการวิพากษ์วิจารณ์ ความเห็นอกเห็นใจ หรือความรู้สึกร่วมกันของประชาคมในสังคมการเมืองใดสังคมการเมืองหนึ่ง

องค์ประกอบข้อที่ 3 คือต้องเป็นการกระทำที่มุ่งหมายให้ปรากฏอย่างชัดเจนต่อสาธารณะหรือให้เป็นที่รู้เป็นการทั่วไป

ประการต่อมา อารยะขัดขืนเป็นการโต้แย้งที่ผู้กระทำไม่ได้มีเป้าหมายหรือกระทำเพื่อประโยชน์ของตนเองแต่เป็นเจตนาที่ดีคือต้องการให้สังคมได้ประโยชน์บางอย่างหรือเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นตามความมุ่งหมายของผู้กระทำซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นฝ่ายข้างน้อย

ประการต่อมาผู้กระทำอารยะขัดขืนจะต้องมีความพร้อมหรือคาดหมายได้อยู่แล้วว่า ตนเองจะได้รับผลร้ายหรือได้รับโทษจากการละเมิดกฎหมายนั้น เพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมและให้ประชาชนทั้งหลายมีความเชื่อถือในเป้าหมายที่ดีของผู้กระทำการดื้อแพ่ง

ประการที่ 6 การกระทำอารยะขัดขืนจะต้องอยู่บนหลักการไม่ใช้ความรุนแรง

เหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่เราอาจถอดออกมาจากคำอธิบายในเชิงปรัชญาหรือในทางกฎหมายก็ตาม แต่ว่าในบรรดาองค์ประกอบที่สำคัญเหล่านี้ถ้าจำเป็นต้องสรุปองค์ประกอบของการกระทำที่เป็นการดื้อแพ่งได้ชัดเจนที่สุดก็น่าจะมีอยู่ 3 ประการที่สำคัญ

ประการที่ 1 การกระทำนั้นต้องเป็นการละเมิดกฎหมายที่ทำโดยเปิดเผยและมุ่งให้ปรากฏสู่สาธารณะประการที่ 2 การละเมิดกฎหมายนั้นต้องเป็นการกระทำที่ไม่ใช้ความรุนแรง
และประการที่ 3 ตัวผู้กระทำการละเมิดต่อกฎหมายนั้นจะต้องยอมรับผลร้ายหรือโทษจากการฝ่าฝืนกฎหมาย

คำถามก็คือการกระทำการดื้อแพ่งหรือการฝ่าฝืนกฎหมายในลักษณะอารยะขัดขืนเป็นการกระทำที่ระบบกฎหมายยอมรับได้หรือไม่ อันนี้เป็นดีเบตสำคัญ ข้อถกเถียงเรื่องนี้ในเยอรมนี คำตอบเบื้องต้นตอบคำถามนี้คือระบบกฎหมายไม่ยอมรับเพราะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้กระทำจึงต้องได้รับผลบางอย่างจากการฝ่าฝืนกฎหมาย แต่คำถามสำคัญที่ยุ่งยากไปกว่านั้นคือระบบกฎหมายจะมีปฏิกิริยาหรือกำหนดผลร้ายเช่นว่านั้นต่อผู้กระทำอารยะขัดขืนอย่างไรจึงจะถือว่าสมเหตุสมผลและได้สัดส่วน เพราะการฝ่าฝืนกฎหมายในลักษณะดังกล่าวระบบกฎหมายรับรู้ว่าเกิดขึ้นจากเจตนาที่ดี

ปัญหาในเรื่องของการแยกการกระทำที่มีลักษณะเป็นการดื้อแพ่งออกจากการกระทำในลักษณะอื่นๆ ที่กฎหมายรับรองถือว่ามีความสำคัญมากที่สุดและเป็นแกนกลางสำคัญที่สุดในการพิจารณา ถามว่าทำไม ถ้าท่านได้ฟังตัวอย่างเรื่องการดื้อแพ่งมาบ้าง อย่างเช่นการชุมนุมประท้วงโดยสงบ การเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายหรือนโยบายบางอย่าง การกระทำที่มีลักษณะเป็นการดื้อแพ่งองค์ประกอบที่สำคัญต้องเป็นการกระทำที่ตัวผู้กระทำรู้อยู่ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายและตนเองอาจจะได้รับผลร้ายบางประการ

อย่างไรก็ตาม ดีเบตเรื่องนี้ในเยอรมนีก็ตั้งประเด็นเอาไว้น่าสนใจว่าถ้าเราเอาเกณฑ์ในทางรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะเกณฑ์ด้านสิทธิขั้นพื้นฐานเข้ามาอธิบายหรือเป็นมาตรในการชี้ขาดว่าด้วยกฎหมายของการดื้อแพ่ง เราอาจจะได้คำตอบต่างไปจากที่เราเข้าใจก็ได้ว่าสิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็นการดื้อแพ่งรายกรณีเป็นแต่เพียงการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญปกติ หมายความว่าเมื่อเป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมันก็จะขาดองค์ประกอบของการดื้อแพ่งคือการละเมิดกฎหมาย ตรงนี้จึงเป็นแกนกลางสำคัญที่สุดในการพิจารณา ดังนั้น หน้าที่แรกในการตรวจสอบเรื่องความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำการต่างๆ ของบุคคลก็คือต้องมีการแยกให้ชัดเจนเสียก่อนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการดื้อแพ่งอย่างแท้จริงหรือว่าเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

กลับมาที่เรื่องของความเกี่ยวพันหรือพื้นที่สีเทาระหว่างการใช้สิทธิ์ดื้อแพ่งกับการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญลักษณะอื่น เราจะพบว่าการดื้อแพ่งเกี่ยวพันกับการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญอยู่ 2 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มที่ 1 เกี่ยวพันกับสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่เรียกว่าสิทธิในการต่อต้านการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ เราเคยมีบทบัญญัติทำนองนี้ในรัฐธรรมนูญปี 40 ปี 50 แต่ปี 60 ไม่มี เป็นการให้อำนาจประชาชนในกรณีที่มีความพยายามทำการบางอย่างที่เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ให้ประชาชนใช้กำลังหรือกระทำการบางอย่างเพื่อต่อต้านการกระทำดังกล่าวได้ การกระทำที่เป็นสิทธิในการต่อต้านของประชาชนมีความคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับสิทธิต่อต้านในลักษณะที่เรียกว่าอารยะขัดขืน ซึ่งในทางตำราบอกว่าลักษณะของสิทธิ์ทั้งสองลักษณะมีความคล้ายคลึงกันอย่างยิ่ง

กลุ่มที่ 2 สิทธิต่อต้านหรืออารยะขัดขืนหลายกรณีมีความคาบเกี่ยวกันอย่างยิ่งกับการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญในเรื่องอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นการใช้สิทธิ์ต่อต้านหรืออารยะขัดขืนในหลายกรณีทับกับเสรีภาพในการชุมนุมหรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น พอเป็น 2 เรื่องที่มีฐานทางกฎหมายต่างกันมาตรวัดความชอบด้วยกฎหมายมันต่างกันออกไปเลย และเรื่องเดียวกันโดยเอามาตรทั้งสองมาวัด มันก็จะให้คำตอบที่ต่างกันออกไป อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ในตำรากฎหมายเยอรมันมีการดีเบต

ลักษณะการดื้อแพ่งต่างจากการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญประการอื่นอย่างไร ในเบื้องต้นการดื้อแพ่งต่อกฎหมายต้องเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้นและไม่รวมถึงการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ทางสังคมประการอื่นที่ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย ประการที่ 2 การทำอารยะขัดขืนหรือดื้อแพ่งหลายกรณีมีลักษณะคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่เรียกว่าสิทธิต่อต้านการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ

บรรยากาศวงเสวนา ที่มาภาพ Law TU.

เวลาเราพูดถึงสิ่งต่อต้านอำนาจรัฐหรือสิทธิ์ในการช่วยเหลือตนเองทางการเมืองของประชาชนในกรณีที่ไม่อาจใช้กลไกทางกฎหมายอย่างอื่นได้ รัฐธรรมนูญรู้จักสิทธิต่อต้านหรือสิทธิในการช่วยเหลือตนเองทางการเมืองของประชาชนใน 2 ลักษณะด้วยกัน ลักษณะที่ 1 ก็คือการใช้สิทธิต่อต้านการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติที่รับรองสิทธินี้ก็คือตัวบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างเช่นในมาตรา 20(4) ของรัฐธรรมนูญเยอรมัน หรือในมาตรา 64 มาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และปี 50 การกระทำลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เช่น การต่อต้านการปฏิวัติต่อต้านรัฐบาลที่ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีลักษณะเป็นการปฏิวัติอยู่ในตัว

ลักษณะที่ 2 สิทธิต่อต้านหรือสิทธิการช่วยเหลือตนเองทางการเมืองของประชาชน ในภาษาเยอรมันถือเป็นสิทธิการต่อต้านระดับรองที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสิทธิประการแรก แต่แคบกว่าคือการดื้อแพ่งต่อกฎหมายหรือการอารยะขัดขืน ซึ่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายไม่ได้รับรองให้กระทำได้โดยตัวของมันเอง แต่ผู้กระทำทำไปโดยมีเจตนาที่ดีบางอย่างที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของกฎหมายหรือนโยบาย

ประการต่อมาที่เป็นการคาบเกี่ยวระหว่างการดื้อแพ่งกับสิทธิตามรัฐธรรมนูญในเรื่องอื่นๆ ก็จะพบว่า การกระทำที่เป็นอารยะขัดขืนโดยตัวของมันเองหลายกรณี เช่น การชุมนุมประท้วง การแสดงความคิดเห็น การต่อต้านกฎหมายการ ต่อต้านการใช้อำนาจของรัฐบาล ต่อต้านนโยบายหรือการดำเนินการในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงว่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลายกรณีมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ดังนั้น เวลาที่เราต้องอธิบายว่ารัฐต้องการตอบโต้บางอย่างกับการกระทำที่รัฐอ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายในหลายกรณี ถ้าเอามาตรในทางรัฐธรรมนูญมาวัดการกระทำดังกล่าวอาจจะไม่ใช่การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้ขาดองค์ประกอบสำคัญของการดื้อแพ่งหรืออารยะขัดขืน

ที่ผมย้ำตรงนี้เพราะว่าเมื่อได้ทบทวนวรรณกรรมก็พบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญ เพราะว่าเวลาศาลไม่ว่าจะเป็นศาลแพ่งหรือศาลอาญาพิจารณาผู้กระทำความผิดตามกฎหมายหรือแม้กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญว่าการกระทำที่คนเข้าใจว่าเป็นการดื้อแพ่งมันเป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญที่ได้รับการคุ้มครองอยู่แล้ว ซึ่งจำเป็นต้องมีการอธิบายเรื่องนี้ให้มีความชัดเจนเสียก่อน

ศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ (ภาพจากวิกิพีเดีย)

ยกตัวอย่างคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน กรณีการชุมนุมประท้วงด้วยการนั่ง หมายถึงการนั่งชุมนุมโดยสงบในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ซึ่งคนมักเข้าใจว่าการกระทำนี้เป็นอารยะขัดขืนเพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ผลของการนั่งประท้วงโดยสงบทำให้กีดขวางการสัญจรเข้าออกในสถานที่ดังกล่าวซึ่งก็คือโรงงานผลิตอาวุธ คำถามคือการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำอารยะขัดขืนหรือเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้เป็นตัวอย่างสำคัญว่าเวลาเราเอามาตรตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายมาชี้ขาดเรื่องนี้ คำตอบในเรื่องการกระทำอารยะขัดขืนอาจจะต่างกันออกไปก็ได้

ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันในคดีนี้บอกว่าลักษณะของการนั่งประท้วงมี 2 ลักษณะในตัวของมันเอง หนึ่งคือถ้ามองว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ด้วยตัวของมันเองไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ตัวของมันเองก็เป็นการกระทำที่สงบและเปิดเผยจึงครบองค์ประกอบของการกระทำอารยะขัดขืนอย่างชัดเจน คำถามคือรัฐจะมีบทลงโทษต่อการกระทำที่ขัดขืนกฎหมายนี้อย่างไร

แนวพินิจของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันตั้งต้นจากการคิดว่าการประท้วงในลักษณะดังกล่าวมีเนื้อหาสาระสำคัญเป็นเรื่องการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในเรื่องเสรีภาพการชุมนุม เงื่อนไขของเสรีภาพในการชุมนุมที่สำคัญก็คือต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นการกระทำที่ย่อมได้รับการคุ้มครองอยู่ในตัว มันจึงขาดองค์ประกอบของการกระทำอารยะขัดขืน หมายความว่ารัฐอาจไม่ต้องมีการกำหนดผลร้ายหรือบทลงโทษสำหรับการกระทำนี้ก็ได้

ใจความสำคัญของคดีนี้ศาลพยายามพิจารณาว่าการนั่งชุมนุมที่มีลักษณะกีดขวางทางสัญจรเป็นการกระทำที่เกินไปกว่าการชุมนุมโดยสงบหรือไม่ ศาลบอกว่าเรื่องนี้จะเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือการอารยะขัดขืนต้องดูเป็นกรณีไปว่า เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ทั้งหลายทั้งปวงแล้วการกระทำในลักษณะดังกล่าวมันหลุดออกไปจากคำว่าการชุมนุมโดยสงบหรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดศาลบอกว่าการนั่งชุมนุมประท้วงโดยสงบไม่ว่าบนถนนหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งจะมองตั้งแต่แรกว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ แต่ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงทั้งหลายประกอบกัน เช่น ระยะเวลาที่มีการปิดหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั้งหลายว่าถึงขนาดที่ทำให้ประโยชน์สาธารณะได้รับผลกระทบหรือความเสียหายอย่างร้ายแรงขนาดที่จะยอมรับไม่ได้หรือไม่ แต่ถ้าไม่ถึงลักษณะดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ก็บอกว่าเรื่องนี้เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ที่ยกคำพิพากษามีขึ้นมาข้อสรุปก็คือเอาเข้าจริงแล้วการทำอารยะขัดขืนมันเป็นเรื่องของการเลือกกลวิธีของผู้ทำอารยะขัดขืน เช่น การดื้อแพ่งในลักษณะการไม่จ่ายภาษี การชุมนุมประท้วง การแสดงความคิดเห็น ทีนี้คำอธิบายในคำพิพากษาหรือในตำราของเยอรมันเวลาจะบอกว่าเรื่องนี้เป็นอารยะขัดขืน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คุณต้องไปดูแต่ละกลวิธีว่าจะเอาแว่นหรือมาตรอันไหนมาวัด

เวลาต้องอธิบายเรื่องอารยะขัดขืนธรรมซึ่งมีมิติทางนิติปรัชญาค่อนข้างมาก หน้าที่ของรัฐที่เป็นนิติรัฐคือการสร้างเกณฑ์ที่มีความชัดเจนว่าผู้ที่กระทำจะต้องคาดหมายได้ล่วงหน้าว่าสิ่งที่ตนเองกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์ประจำและหัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (แฟ้มภาพประชาไท)

รัฐจะมีปฏิกิริยาต่อผู้ที่กระทำอารยะขัดขืนอย่างไร เรื่องนี้ต่างหากที่เป็นตัววัดความเป็นนิติรัฐอย่างแท้จริง ว่าจะชั่งน้ำหนักอย่างไรระหว่างการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายกับการให้พื้นที่ของประชาชนฝ่ายข้างน้อยในการใช้สิทธิต่อสู้หรือรักษาประโยชน์ของตนเอง

มุมมองของรัฐต่อการรับรองความชอบด้วยกฎหมายของการดื้อแพ่งเป็นเรื่องที่อภิปรายและสามารถให้เหตุผลในมุมมองอื่นได้ อย่างที่ท่านอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการให้กฎหมายรับรองการดื้อแพ่งเป็นสิทธิชอบด้วยกฎหมายเพราะการรับรองการดื้อแพ่งโดยตัวของมันเองทำให้ความสำคัญของการดื้อแพ่งลดน้อยลงไป และอีกอย่างหนึ่งถ้าว่ากันตามทฤษฎีว่าด้วยการดื้อแพ่ง มันก็จะสูญเสียลักษณะสำคัญของการดื้อแพ่งไปคือกลายเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

ความจริงแล้วมีการอภิปรายเรื่องนี้อยู่ เอกสารหลายชิ้นที่ผมสำรวจในภาษาเยอรมันมีการให้เหตุผลประกอบข้ออภิปรายในการทำให้การดื้อแพ่งเป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมาย อีกชุดเหตุผลหนึ่งที่เขาเอามาอธิบายชี้ขาดว่าจะรับรองความชอบด้วยกฎหมายของการดื้อแพ่งหรือไม่ก็คือเรื่องของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบเสียงข้างมาก เราต้องยอมรับว่าการใช้สิทธิดื้อแพ่งเป็นการใช้สิทธิของฝ่ายข้างน้อยในสังคมการเมือง รัฐที่พัฒนาระบบนิติรัฐและการคุ้มครองสิทธิของฝ่ายข้างน้อยไปสมบูรณ์ในระดับหนึ่ง อย่างเช่นในเยอรมันค่อนข้างเชื่อว่าการใช้สิทธิดื้อแพ่งจะต้องเป็นวิธีทางสุดท้ายหลังจากที่คุณไม่สามารถใช้สิทธิหรือกระบวนการตามระบบกฎหมายปกติหรือสิทธิของฝ่ายข้างน้อยตามปกติที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองไว้ให้

ดังนั้น ในเบื้องแรกการใช้สิทธิดื้อแพ่ง ผู้ที่ใช้สิทธิดังกล่าวจะต้องถือเป็นพื้นฐานว่าสิทธิการดื้อแพ่งไม่ใช่สิทธิที่ใช้ได้โดยทั่วไป แต่เป็นสิทธิที่จะใช้หลังจากที่กระบวนการหรือสิทธิตามกฎหมายที่มีอยู่ได้พยายามใช้แล้วไม่เป็นผลและมีวิธีการนี้วิธีเดียวเท่านั้นที่จะเป็นการคุ้มครองสิทธิของเขาในฐานะฝ่ายข้างน้อยทางการเมืองได้

อย่างไรก็ตาม การพยายามทำให้สิทธิดื้อแพ่งกลายเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ สิทธิมนุษยชน หรือมีฐานทางกฎหมายขึ้นมา มันก็มีผลในทางกฎหมายและการเมืองอยู่อย่างน้อย 2 ประการ ประการที่ 1 ถ้าเรายอมรับว่าในระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่พัฒนานิติรัฐไปถึงขั้นสุดที่ตัวรัฐธรรมนูญและกฎหมายมีการรับรองช่องทางในการคุ้มครองสิทธิของฝ่ายข้างน้อยอย่างสมบูรณ์แล้ว การรับรองสิทธิของฝ่ายข้างน้อยอีกครั้งหนึ่งเป็นการทั่วไปว่ามีสิทธิดื้อแพ่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ในเอกสารหลายชิ้นของเยอรมันเขาใช้คำว่าการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการรับรองสิทธิให้กับฝ่ายข้างน้อย 2 ชั้น

ชั้นที่ 1 คือการรับรองโดยระบบกฎหมาย คือช่องทางตามปกติที่จะโต้แย้งความไม่ชอบด้วยกฎหมาย การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การฟ้องคดีต่อศาลหรือการดำเนินการในลักษณะที่กฎหมายรับรองซึ่งคุณต้องทำอยู่แล้ว แต่การรับรองเป็นการทั่วไปให้กับฝ่ายข้างน้อยในการใช้กระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอีก ถ้าเราพูดถึงการดื้อแพ่งว่าเป็นสิทธิที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ มันเหมือนเป็นการคุ้มครอง 2 ชั้นว่าท้ายที่สุดคุณไปเลือกเอาเองว่าคุณจะใช้ช่องทางตามกฎหมายหรือคุณจะบอกว่ามันถึงจุดที่คุณจะสามารถใช้กระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กฎหมายรับรองให้คุณทำได้เป็นปกติมันก็จะเกิดผลประหลาดอยู่ประการหนึ่งในระบบกฎหมายที่ระบบการคุ้มครองสิทธิของประชาชนพัฒนาถึงระดับหนึ่งแล้ว มันจะถอยมาสู่การให้สิทธิประชาชนดำเนินการในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงที่จะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ให้ทำได้โดยกฎหมาย

เราไม่บอกว่าวิธีนี้ถูกหรือผิด แต่ว่ามันมีการอภิปรายในทำนองนี้โต้แย้งอยู่เหมือนกันว่าการรับรองสิทธิดื้อแพ่งให้เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือสิทธิในทางกฎหมายมันมีผลทางกฎหมายหรือทางการเมืองอยู่เหมือนกันก็คือทำให้เกิดระบบความคุ้มครอง 2 ชั้นและทำให้ระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนอาจมีปัญหาได้เหมือนกัน แต่ผมฟังเหตุผลจากที่ท่านอาจารย์จรัญ โฆษณานันท์พูด คือมันฟังได้หมดและท้ายที่สุดมันต้องมาสำรวจตรวจสอบว่าการรับรองสิทธิดื้อแพ่งของฝ่ายข้างน้อยเหมาะสมกับสังคมการเมืองที่มีเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญกฎหมายและบริบทการเมืองในแต่ละประเทศอย่างไร

อย่างที่เรียนให้ทราบว่าในประเทศที่ระบบการคุ้มครองฝ่ายข้างน้อยหรือการคุ้มครองสิทธิของประชาชนไปถึงจุดที่ว่าสิทธิจะได้รับการคุ้มครองตามรูปแบบปกติ การรับรองสิทธิดื้อแพ่งของฝ่ายข้างน้อยอาจจะถูกตั้งคำถามได้ แต่ในสังคมการเมืองที่ไม่ไปถึงลักษณะที่การคุ้มครองประชาชนในระบบปกติอาจจะมีปัญหา เราอาจจะมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้หลักคิดเรื่องการดื้อแพ่งเข้าไปแก้ส่วนเสียหรือทำให้ระบบปกติที่ทำงานได้ไม่เต็มที่สมบูรณ์ขึ้นเพราะว่าความสมบูรณ์ของระบอบประชาธิปไตย ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในแต่ละสังคมการเมืองก็อาจมีความแตกต่างกันอยู่ คำตอบก็อาจมีความแตกต่างกัน

เวลาเราพูดถึง Civil disobedience ในความหมายดั้งเดิมที่เราเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็นการกระทำที่มีเจตนาที่ดีและไม่อาจเปรียบเทียบการละเมิดกฎหมายดังกล่าวกับการฝ่าฝืนกฎหมายในลักษณะอื่นได้ รัฐควรมีปฏิกิริยาที่เหมาะสมกับการกระทำในลักษณะดังกล่าวอย่างไร ปัญหาที่เราต้องพิจารณาคือไม่ว่าเราจะบอกว่าการดื้อแพ่งควรจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตามแต่ ท้ายที่สุดต้องยอมรับว่าในระบบกฎหมายการดื้อแพ่งก็คือการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือเป็นการกระทำที่มีลักษณะต่อต้านการตัดสินใจทางการเมืองของฝ่ายข้างมาก แต่เวลาเกิดขึ้นแล้วรัฐที่เป็นนิติรัฐหรือรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายที่เห็นถึงลักษณะเฉพาะต่อการฝ่าฝืนกฎหมายในลักษณะดังกล่าวจะมีปฏิกิริยาอย่างไร

ถ้าเอาเกณฑ์ทางกฎหมายมาปรับ เนื่องจากการดื้อแพ่งเป็นเรื่องที่ไม่ชัดว่าระบบกฎหมายจะเข้าไปตัดสินอย่างไรว่าทำได้หรือไม่ มีความชอบธรรมหรือไม่ แต่หัวใจสำคัญประการหนึ่งที่มีการเสนอขึ้นมาในงานวิชาการหลายชิ้นในภาษาเยอรมันก็คือถ้าเรายอมรับว่าการดื้อแพ่งให้ทำได้ จะทำอย่างไรให้การกระทำที่เป็นการดื้อแพ่งแคบที่สุด คือแยกออกจากการกระทำที่มีความชอบธรรมทางกฎหมายแล้ว ส่วนที่แคบที่สุดเราค่อยมาตอบคำถามว่าจะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ดังนั้น จึงมีการเสนอขั้นตอนการพิจารณาเรื่องการดื้อแพ่งหรือปฏิกิริยาที่รัฐควรมีต่อการดื้อแพ่งให้ชัดเจนโดยเอาฐานจากสิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือรัฐที่เป็นนิติรัฐเข้ามาจับและอาจมีข้อสรุป 5-6 ประการดังต่อไปนี้

หลักที่ใช้ในการตอบโต้หรือกำหนดมาตรการหรือผลทางกฎหมายที่เหมาะสมต่อการดื้อแพ่ง ประการที่ 1 คือต้องดูให้ชัดว่าการดื้อแพ่งเป็นการกระทำลักษณะใดกันแน่ หากไม่ได้ทำต่อตัวบทกฎหมายโดยตรงหรือกฎเกณฑ์ในทางกฎหมาย แต่เป็นการกระทำต่อบรรทัดฐานในสังคมในลักษณะอื่น อันนี้จะไม่พิจารณาเพราะไม่ใช่การฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

ประการที่ 2 ถ้าการดื้อแพ่งมีลักษณะคาบเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุมการใช้เสรีภาพนั้นยังอยู่ในกรอบของกฎหมายรัฐไม่เพียงแต่ต้องละเว้นการใช้มาตรการลงโทษ แต่รัฐต้องส่งเสริมในฐานะที่เป็นวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย หมายความว่าปฏิกิริยาที่มีต่อการดื้อแพ่งต้องมองกระบวนการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการใช้สิทธิทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย

ประการต่อมา กรณีที่การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการดื้อแพ่งโดยเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย แล้วหลุดพ้นออกไปจากการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเฉพาะกรณีนี้เท่านั้นที่แคบที่สุดแล้วรัฐค่อยมากำหนดกระบวนการลงโทษที่เหมาะสมต่อการละเมิดกฎหมายที่แตกต่างจากการกระทำอื่นอย่างไร อันนี้ถ้าเราพูดถึงการดื้อแพ่งในระบบกฎหมาย ในระบบนิติรัฐ ต้องแยกพิจารณาเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ก็คือการดื้อแพ่งเป็นการกระทำที่ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ต้องตอบคำถามเป็นเรื่องๆ ไปคือเวลาการดื้อแพ่งเกิดขึ้นแล้วแต่เห็นได้ชัดว่าเข้าลักษณะการใช้สิทธิดื้อแพ่งตามหลักสันติวิธีทุกประการเป็นการกระทำที่มีเจตนาที่ดี รัฐควรมีมาตรการหรือกำหนดผลทางกฎหมายอย่างไรต่อการกระทำดังกล่าวให้เหมาะสมก็เป็นเรื่องที่เราต้องพิจารณาตามมาอีกครั้งหนึ่ง

ประการที่ 4 ในเรื่องการกำหนดโทษที่เหมาะสมหรือพอสมควรแก่เหตุ ในชั้นแรกรัฐต้องคิดเสมอว่าเราไม่อาจปฏิบัติต่อการดื้อแพ่งเสมือนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในลักษณะอื่น เพราะว่าการดื้อแพ่งเกิดจากเจตนาที่ดี แต่ปัญหาเรื่องนี้อยู่ที่ศาลในการพิสูจน์เจตนาและชี้ขาดโทษที่เหมาะสม

ประการต่อมาให้พิจารณาว่าการกล่าวอ้างว่าเป็นอารยะขัดขืนหรือการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย แท้จริงแล้วเป็นเพียงการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ถ้าหากเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแล้วการพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะต้องพิจารณาจากเกณฑ์ทางกฎหมายให้ชัดเจนไปเลยโดยไม่เอาหลักการดื้อแพ่งมาใช้ จะทำให้การดื้อแพ่งมีลักษณะที่แคบที่สุด ทำยังไงก็ตามให้เรามีเกณฑ์ทางกฎหมายที่ชัดเจนว่าเราจะกำหนดผลทางกฎหมายอย่างไร อันหนึ่งที่จะช่วยได้จึงต้องแยกก่อนว่าการกระทำนั้นเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างไร ถ้าเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เราค่อยเอาเกณฑ์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาชี้ขาดการกระทำดังกล่าวว่าชอบหรือไม่ชอบ เกินไปกว่าเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่

พอเกินไปจากนั้นแล้ว กล่าวคือเป็นการกระทำที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายไม่รับรองให้ทำได้ รัฐจึงค่อยพิจารณาว่าจะมีปฏิกิริยาต่อการกระทำการดื้อแพ่งในลักษณะดังกล่าวอย่างไรจึงจะพอสมควรแก่เหตุ ดังนั้น ปัญหาที่แท้จริงของเรื่องอารยะขัดขืนหรือการดื้อแพ่งในสภาวะกฎหมายปัจจุบันที่ไม่ได้เขียนเรื่องนี้ไว้ชัดเจน จึงไม่ใช่เรื่องว่าอารยะขัดขืนเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อยู่ที่รัฐโดยเฉพาะรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายจะมีปฏิกิริยาที่เหมาะสมต่อการฝ่าฝืนกฎหมายในรูปของอารยะขัดขืนอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net