เปิดศักราชใหม่ 'ภาคประชาชน-นักวิชาการ' วิพากษ์แผนการจัดการน้ำของรัฐที่ไม่เห็นหัวประชาชน

ภาคประชาชน และนักวิชาการ วิจารณ์หลังคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติมีมติในที่ประชุมส่งท้ายปี 2563 ด้วยการเห็นชอบกับโครงการ และแผนการจัดการน้ำของประเทศ รวมทั้งเขื่อนในแม่น้ำโขง

4 ม.ค.2564 จากเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา ข่าวสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ระบุว่า “พลเอก ประวิตร เรียกประชุม กนช. ส่งท้ายปี ไฟเขียวโครงการสำคัญ และแผนปฏิบัติการน้ำจากหน่วยงานท้องถิ่นทั่วประเทศทันเสนอขอรับงบประมาณปี 65

กนช. โชว์ผลงานโบว์แดงส่งท้ายปี 63 เดินหน้าไฟเขียวสร้างอ่างฯ หนองกระทิง จ.ฉะเชิงเทรา รองรับการใช้น้ำในพื้นที่ EEC  พร้อมเคาะแผนปฏิบัติการด้านน้ำของหน่วยงานและ อปท.ทั่วประเทศ กว่า 4 หมื่นรายการ เตรียมชงเสนอ ครม. อนุมัติให้ทันเสนอขอรับงบประมาณ ปี 65...”

ในข่าวยังระบุด้วยว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) รวมทั้งมีแผนหลักการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงรวมอยู่ด้วย โดยได้วางทิศทางการพัฒนาและแนวทางการขับเคลื่อน 4 ระยะ ดังนี้

“ระยะที่ 1 การพัฒนาใช้น้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยการสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำสาขา ระยะที่ 2 การพัฒนาใช้น้ำโขงสู่ลุ่มน้ำข้างเคียง ระยะที่ 3 การพัฒนาใช้น้ำโขงโดยแรงโน้มถ่วงสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ โครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล และระยะที่ 4 การพัฒนาเขื่อนปากชม เพื่อประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและเสริมความมั่นคงด้านน้ำแก่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า/บริการ รวมทั้งสิ้น 334,051.35 ล้านบาท/ปี ขยายพื้นที่ชลประทานโดยรวมได้กว่า 30 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้มากถึงประมาณปีละ 30,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)” ในข่าวระบุ

ภาคประชาชน-นักวิชาการ วิจารณ์แนวคิดแผนการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐ

หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ในฐานะที่เคยอยู่กรรมาธิการพิจารณา ร่างพ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ ในวาระ 2และวาระ 3 เห็นว่าเจตนารมณ์ของการมีสององค์กรคือ กนช. และ สทนช. เดิมคือการพิจารณาการจัดการน้ำเชิงยุทธศาสตร์โดยภาพรวม และมีมาตรการทางวิชาการรองรับ เช่น เรื่องเศรษฐศาสตร์ และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ไม่ใช่เป็นการผลักดันโครงการออกมาในลักษณะนี้ คือ ออกมาโดยที่ไม่มีมาตรการทางวิชาการรองรับ และไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้น ก่อนที่จะนำเรื่องเข้า กนช. ควรจะมีกรรมการกลั่นกรองที่เกี่ยวข้องกับโครงการเสียก่อน ซึ่งเดิมเคยมีกรรมการกลั่นกรองถึง 4 ชุด

“มีคำถามว่า อยู่ๆ โครงการเอาเข้ามาที่ กนช. เลย คุณไปเข้ากรรมการกลั่นกรองไหนมาก่อนหรือเปล่า เพราะไม่เคยเห็นว่าเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองมาก่อน หรือถูกชงมาจากกรรมการกลั่นกรอง เรื่อง ความเป็นไปได้ของโครงการภายใต้ กนช. ตรงไหน ไม่มีมาก่อนเลย ฉะนั้นเหมือนกับว่า กนช. อยากจะชงอะไรรายสัปดาห์ก็ได้ แล้วไปผลักให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนความต้องการของผู้มีอิทธิพลทางการเมือง หรือใครมานั่งอยู่หัวโต๊ะ คุณอยากผลักดันโครงการอะไรก็ได้อย่างนั้นหรือ แบบนี้มันไม่ถูกต้อง”

หาญณรงค์ กล่าวต่อว่า กรณีเขื่อนปากชมไม่ได้อยู่ในยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงของประเทศไทยในแผนใดเลย แต่ถูกยกขึ้นมาปัดฝุ่น ซึ่งมันเร่งรีบเกินไป เพราะเขื่อนปากชมไม่ได้ทำรายงานการศึกษาเบื้องต้นมานานแล้ว มีแต่ความเป็นไปได้ของโครงการตั้งแต่ยุควางแผนเขื่อนผามองเมื่อ 50-60 ปีก่อน ดังนั้น กนช. จะมีมติใดๆ ก็ควรมีแนวทางด้านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น หรือแม้แต่รายละเอียดโครงการประเภทความเป็นไปได้ที่มีรายละเอียดมากกว่านี้ เช่น ความสูงของเขื่อนและที่ตั้งเขื่อน มันไม่ได้มีความเป็นไปได้ว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของเขื่อนนี้จะทำอะไร จะผลิตไฟฟ้า หรือเพื่อดำเนินการอะไร

“ถ้าเป็นแบบนี้ วันดีคืนดี คุณก็จะทำอะไรก็ได้กับแม่น้ำโขง หรือการจัดการน้ำในประเทศ โดยที่ผู้มีอิทธิพลทางการเมืองคนหนึ่งคนใด อยากมีมติอะไรออกมาก็ได้ ซึ่งมันไม่ควรจะเป็น เพราะอย่างน้อย กนช. ต้องเข้าใจว่าเป็นเหมือน ครม. (คณะรัฐมนตรี) ย่อย ของการจัดการน้ำในภาพรวม แล้วโดยบทบาทของ สทนช. เป็นฝ่ายวิชาการที่ดูว่าทิศทางการจัดการน้ำควรจะเป็นแบบไหน อยู่ๆ คุณมามีเป้าหมายผลักดันให้สร้างเขื่อนปากชมตามแผนโครงการโขง เลย ชี มูล ในระยะที่ 4 โดยขาดวัตถุประสงค์ และขาดเจตนาที่จะสนับสนุนข้อมูล แต่เป็นการยกขึ้นมาลอยๆ แบบนี้มันไม่สมศักดิ์ศรีของ สทนช. ในฐานะที่เป็นเลขากรรมการน้ำแห่งชาติ” หาญณรงค์กล่าว

หาญณรงค์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรณีเขื่อนปากชมนั้น เดิมที กนช. อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงาน คือ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน พยายามเข้าไปศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเพื่อการพัฒนาในลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากนี้ เขื่อนปากชมเป็นเขื่อนระหว่างประเทศ ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของประเทศไทยเท่านั้น เพราะเป็นเขื่อนที่จะกั้นระหว่างพรมแดนไทยและลาว ดังนั้น มันจึงมีขั้นตอนอีกหลายขั้นตอน คือ

หนึ่ง ต้องเข้าไปร่วมกับคณะกรรมการไทย-ลาว หรือไม่ สอง คุณถามทหารในประเทศลาวหรือยังว่าเคยปักปันเขตแดนระหว่างไทย-ลาว แล้วหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องความมั่นคง เพราะการสร้างเขื่อนระหว่างพรมแดนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเรื่องแนวเขตพรมแดน จะทำอย่างไร สาม เรื่องกฎหมายเพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ คุณจะใช้กฎหมายอะไร เช่น ผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน (Transboundary Environmental Impact Assessment) เพราะคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงยังไม่ประกาศใช้การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนเลย

“คุณจะใช้กฎหมายอะไร กฎหมายไทย หรือกฎหมายลาว ซึ่งโครงการนี้ต้องมีการหารือกันเบื้องต้นก่อน มันต้องมีขั้นตอน ไม่ใช่คุณจะชงเรื่องให้คณะกรรมการระดับชาติมารับรองโครงการแบบนี้ ภายใต้อำนาจของใครก็ได้ มันไม่ถูกต้อง” หาญณรงค์ กล่าวเน้นย้ำ

สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวว่า เป็นการผลักดันเขื่อนปากชมด้วยการใช้อำนาจทางการเมือง บนพื้นฐานที่ไม่ให้ความสำคัญของการศึกษาหาข้อเท็จจริงจากผลกระทบทางสังคม และทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง อาทิ เขื่อนในประเทศจีน เขื่อนไชยะบุรี ใน สปป. ลาว ประธาน กนช. รองนายกฯ ประวิตร มองแม่น้ำโขงแค่ในแผนที่ และตัดสินบนการใช้อำนาจ โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. และกรมชลประทาน เป็นตัวชงเรื่อง ทั้งๆ ที่ทั้งสองหน่วยงานนี้ก็มีแนวคิดการบริหารจัดการน้ำเพียงการสร้างเขื่อนเท่านั้น และไม่ให้ความสำคัญกับการรับฟังเสียงของคนทุกข์ยากที่จะได้รับผลกระทบตามมา

“สทนช. เคยแถลงข่าวว่า การสร้างเขื่อนปากชม และโครงการ โขงเลยชีมูล จะยกระดับรายได้ให้กับภาคเกษตร ภาคอุสาหกรรม ภาคบริการ  ปีละ 334,051.35 ล้านบาท/ปี ผมเสนอว่า สทนช. ควรเปิดเผยข้อมูลการประเมินที่มาหรือกิจกรรมแผนงาน รายละเอียดของที่มาจากโครงการนี้ สทนช. ไม่ควรกล่าวตัวเลขลอยๆ ขึ้นมา ให้สวยหรูเท่านั้น และอย่าลืมนะครับว่าการสร้างเขื่อนปากชม และโครงการโขง เลย ชี มูล มีการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นต้นทุน และประชาชนเป็นผู้ที่ต้องถูกกล่าวอ้างอยู่ตลอดเวลาว่าต้องเสียสละเพื่อการพัฒนา” สุวิทย์ กล่าว

ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวต่อว่า ตอนนี้จะต้องมีการประเมินผลกระทบทางสังคม และสิ่งแวดล้อมของโครงการเขื่อนที่สร้างไปแล้วว่าสามารถทำได้จริงตามประสิทธิภาพที่เคยศึกษาก่อนที่จะสร้างหรือไม่ เช่น โครงการโขง ชี มูล เป็นต้น ไม่ใช่จะดำเนินโครงการใหม่ๆ ไปข้างหน้าอย่างเดียวเพื่อผลาญงบประมาณของประเทศ และไม่มีใครรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

“สทนช. และกรมชลประทาน ทั้งสองหน่วยงานนี้มีปัญหาในเรื่องของการจัดลำดับความสำคัญของงานการบริหารทรัพยากรน้ำ และมีความเข้าใจที่ผิดว่าแม่น้ำและลุ่มน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ฉันเป็นเจ้าของ แล้วบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เป็นของสวนรวมเอื้อประโยชน์กับนายทุน แต่ในความจริงแล้วประชาชนต่างหากที่เป็นเจ้าของและมีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกัน” ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนี้ มติที่ประชุม กนช. ยังได้มีความเห็นชอบต่อโครงการอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออก คือ โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองกระทิง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการใช้น้ำในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้น สมนึก จงมีวศิน นักวิจัย EEC Watch ได้ให้ความเห็นว่า ในพื้นที่ EEC สามจังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา น้ำในจังหวัดไม่เพียงพอ ต้องดึงมาจากที่อื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาเคยดึงน้ำจากภาคกลางได้ แต่ปรากฏว่าในช่วงนี้เกิดสภาวการณ์แปรปรวนของสภาพอากาศ (Climate Variation) ทำให้ปีนี้ไม่ได้มีการดึงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาที่แม่น้ำบางประกง จึงทำให้ทางบางประกงขาดน้ำ นอกจากนี้ รัฐมีแผนที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ความจริงแล้วเป็นการเดินไปผิดทาง เพราะสิ่งที่เราจะต้องทำไม่ใช่ไปหาน้ำใหม่ แต่ต้องมาบริหารจัดการที่ความต้องการ จะทำอย่างไรให้มีน้ำพอเพียงบนเงื่อนไขที่มีน้ำจำกัด

ต่อให้คุณสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ แต่ยังมีปัญหาอีกมามาย เช่น ในจันทบุรี ตอนนี้มีโครงการอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 4 อ่าง กำลังก่อสร้างไปแล้ว 3 อ่าง และอ่างที่ 4 รออนุมัติ EHIA อยู่ที่ อ.แก่งหางแมว และยังมีท่อส่งน้ำที่สระแก้วที่จะส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำพระสะทึง ลงมาที่อ่างเก็บน้ำสียัดของฉะเชิงเทราอีก ซึ่งเป็นการผันน้ำที่มั่วไปหมด

“ในจังหวัดทางภาคตะวันออกมี 4 ลุ่มน้ำที่จะมีการผัน ผมพูดตรงๆ ว่ามันไม่พอ สาเหตุที่ไม่พอก็เพราะว่าตอนที่แผนผัง EEC มันทำให้อุตสาหกรรมเติบโตไปมากกว่า 60% และมีพื้นที่เมืองใหม่เติบโตมากกว่า 30% ในปี 2560-2580 ซึ่งตรงนี้เขาไปคำนวณปริมาณน้ำเอาเอง โดยที่ สทนช. ไปจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำแบบหยาบๆ และต้องการใช้น้ำ 2,419 ล้านลบ.ม. ในปี 2560 และถ้าไปถึงปี 2580 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า ก็ต้องการเพียง 3,089 ล้านลบ.ม. ซึ่งตัวเลขทั้งสองดังกล่าวมานั้นผิด เพราะว่าเพียงเราศึกษาสมดุลน้ำของจริงในโครงการหนึ่ง ซึ่งปี 2560 ก็พบว่ามีการใช้น้ำมากกว่า 2,800 กว่าล้าน ลบ.ม. แล้ว แต่คุณบอกว่ามีแค่ 2,400 กว่าล้านลบ.ม. ดังนั้นข้อมูลก็ผิดแล้ว และในอีก 17 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้น้ำจะไม่ใช่ 3,089 ล้าน ลบ.ม. แต่มันจะเกินกว่านี้มาก แล้วคุณจะสร้างอ่างเก็บน้ำอีกกี่อ่าง? สร้างทุกพื้นที่เลยหรือ? ซึ่งผมคิดว่าเป็นการเดินมาผิดทิศผิดทาง” สมนึกกล่าว

นอกจากนี้ สมนึก ยังตั้งชี้ให้เห็นปัญหาของแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำของรัฐว่า เนื่องจากตอนนี้มีปัญหาเรื่องสภาพการแปรปรวนของภูมิอากาศ ทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล กล่าวคือ สมัยก่อน จันทบุรี ตราด มีฤดูฝน 8 เดือน และฤดูแล้ง 4 เดือน หรือที่เรียกกันว่า ฝน 8 แดด 4 แต่ในปี 2562 คาบเกี่ยวกับ 2563 กลายเป็นฝน 4 แดด 8 มีฝนตกลดน้อยลงไปถึง 4 เดือน ดังนั้นต่อให้มีอ่างเก็บน้ำ ก็ไม่มีน้ำเพราะฝนไม่ตกที่อ่าง แต่มาตกที่บริเวณริมทะเลแทน ซึ่งเราได้ยินข่าวอยู่บ่อยๆ ว่า น้ำท่วมบริเวณชลบุรี ติดทะเล ท่วมที่พัทยา ตัวเมืองระยอง หรือแม้กระทั่งในมาบตาพุด ซึ่งเป็นพื้นที่ติดทะเล แต่ไม่เห็นมีน้ำท่วมที่ภูเขา นี่คือปัญหา

“การสร้างอ่างขึ้นมาจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง ส่วนวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาได้จริงก็ต้องกลับไปบริหารจัดการน้ำ คือ ใช้น้ำซ้ำ ลดการใช้น้ำ และนำน้ำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ของภาคอุตสาหกรรม เพราะมีอัตราการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น มากกว่าภาคเกษตรกรรม เนื่องจากผังเมืองใหม่ที่เกิดขึ้น” สมนึกให้ข้อเสนอ

สำหรับแนวคิดเรื่องการนำแม่น้ำโขงเข้ามาใช้ในประเทศไทย ดร.สมนึก แสดงความเห็นว่า รัฐเห็นว่าน้ำในภาคกลางไม่พอเนื่องจากตอนนี้น้ำเค็มรุกเข้ามาที่แม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้นรัฐก็ต้องหาน้ำจืดมาเติมโดยการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ และโดยส่วนตัวเชื่อว่า การที่รัฐจะไปดึงน้ำจากทางภาคเหนือและแม่น้ำโขง ก็มีความเกี่ยวข้องกับ EEC ด้วย นอกจากนี้ พอ EEC ไปดึงน้ำจากภาคอื่นมาก็ต้องเอาน้ำไปเติมคืนเขา ดังนั้นจังหวัดที่อยู่ก่อนหน้า EEC ซึ่งจะอยู่ใกล้กับการผันน้ำ เช่น โครงการผันแม่น้ำยวม ผันมาลงที่เขื่อนภูมิพล เรื่อยมาจนถึงป่าสักมาเข้าแม่น้ำซึ่งเป็นกระบวนการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ และยังข้ามภาคอีก

“เขาจะทำจริงๆ แต่เขาจะไม่บอกเรา ทำไมผมจึงแน่ใจ ก็เพราะว่าในแผนของ สทนช. กรณีโครงการผันน้ำยังผันเละขนาดนี้ เช่น จันทบุรี อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นมหานครผลไม้ ในขณะเดียวกัน EEC ก็อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เช่นกัน เป็นเมืองใหม่และการพัฒนาอุตสาหกรรมก้าวหน้า แต่ปรากฏว่าเขาไปแย่งน้ำจากจันทบุรี เฉพาะที่ อ.แก่งหางแมว ที่มีการทำอ่างเก็บน้ำไป 4 อ่าง คิดเป็นน้ำ 10% ที่เหลือ 90% น้ำส่งมาที่ EEC ตรงนี้เราเห็นได้ชัดถึงความไม่เป็นธรรมในการใช้น้ำ” สมนึก กล่าวปิดท้าย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท