Skip to main content
sharethis

ประชาชนริมโขงเตรียมบุก กทม. ยื่นหนังสือ กระทรวงพลังงาน, คณะกรรมาธิการความมั่นคง และซีพี คัดค้านการสร้างเขื่อนพูงอยกั้นแม่น้ำโขง และแผน PDP หวั่นเขื่อนพูงอยสร้างผลกระทบข้ามแดนถึงปากมูน อาจทำให้ไทยเสียดินแดนอีก

 

31 ก.ค. 2567 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 สดใส สร่างโศก ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบล-เขื่อนแม่น้ำโขง เปิดเผยว่าสมาชิกของกลุ่มประมาณ 20 คนจะเดินทางจาก จ.อุบลราชธานี ไปยื่นหนังสือคัดค้านโครงการเขื่อนพูงอย ( Phu Ngoy dam ) ที่กระทรวงพลังงาน และกระทรวงต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 31 ก.ค. นี้ หลังจากนั้นวันที่ 1 ส.ค. 2567 จะไปยื่นหนังสือที่รัฐสภา สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และบริษัทซีพี 

สดใสกล่าว่า ในวันที่ 31ก.ค. 2567 เวลา 10.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะมีการจัดเวที “A Better world is Possible: ถกถามแผน PDP2024 เพื่อคนใช้ไฟและโลกที่ดีกว่าเดิม” เป็นเสียงจากประชาชน 5 ภูมิภาคต่อร่างแผน PDP2024  และต่อมาในเวลา 13.30 น. ตัวแทนประชาชน 5 ภูมิภาคเข้ายื่นหนังสือข้อเสนอต่อร่างแผน PDP 2024 ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ณ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ทั้งนี้เป็นการรวมตัวของ JustPow และเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ สภาองค์กรของผู้บริโภค สื่อมวลชนส่วนภูมิภาค เช่น Epigram, Lanner, Louder ภาคประชาสังคม เช่น International Rivers, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), Greenpeace Thailand ภาควิชาการ Climate Finance Network Thailand (CFNT), SDG Move ผู้ประกอบการเพื่อสังคม แสงสุรีย์ พาวเวอร์ ซึ่งได้ดำเนินการรวบรวมข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของประชาชนจาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศเกี่ยวกับร่างแผน PDP2024

“ร่างแผน PDP เป็นหัวใจสำคัญของการวางแผนพลังงานของชาติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชนทุกคนในฐานะผู้ใช้ไฟ ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตด้านพลังงานของประเทศ ตัวแทนประชาชนจากทั้ง 5 ภูมิภาค กว่า 50 คน จึงจะเดินทางเข้ายื่นหนังสือรวบรวมข้อเสนอต่อร่างแผน PDP2024 ต่อท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน” สดใส กล่าว 

ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบลกล่าวอีกว่า ในวันที่ 1 ส.ค. นี้ ทางกลุ่มจะไปรัฐสภา ยื่นหนังสือคัดค้านให้ คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีรังสิมันต์ โรม  เป็นประธาน และจะยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน และขอพบกับ สว.พันธุ์ใหม่ส่วนช่วงบ่ายจะเดินทางไปยื่นหนังสือที่บริษัท ซีพี ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ฯ จากนั้นจะไปที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) 

“โดยความพร้อมเขาทำการศึกษาอีไอเอสำหรับโครงการเขื่อนภูงอย โดยบริษัทของคนไทยไปทำมาเรียบร้อย แผน PDP ก็ระบุว่าจะรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากลาว 3,500 เมกะวัตต์ แสดงว่าเขามีความพร้อมมากขึ้น แล้วในแผนนั้นเขียนไว้ชัดเจนว่า 3,500 เมกะวัตต์จะถูกใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเขื่อนที่มีความพร้อมในการสร้างคือเขื่อนพูงอย เขื่อนสานะคาม และเขื่อนเซกอง เพราะฉะนั้นตอนที่ไปยื่นหนังสือเราก็จะยื่นหนังสือในนามของเขื่อนที่จะสร้างในอีสาน 2 แห่ง และจะมีพี่น้องตัวแทนนอกจากในอุบลราชธานี ยังมีพี่น้องจากน้ำโขง ถ้ามาแบบนี้แสดงว่าโครงการเขื่อนบ้านกุ่มก็อาจจะถูกปลุกขึ้นมาก็ได้ คนที่อยู่ใน สนทช.ก็บอกว่าเตรียมปัดฝุ่นเขื่อนบ้านกุ่มขึ้นมาอีก ถ้ารัฐบาลประกาศชัดเจนแบบนี้เราก็บวกจำนวนพลังงานจากเขื่อนบ้านกุ่ม พูงอย สานะคาม ก็จะประมาณ 3,500 เมกะวัตต์” นางสดใส กล่าว 

เครือข่ายประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบล กล่าวอีกว่า การไปยื่นหนังสือให้หน่วยงานต่างๆครั้งนี้เพื่อ 1.เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแผน PDP ที่จะซื้อไฟฟ้าล้นเกิน และ 2. หยุดสนับสนุนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง 

“ปฏิกิริยาของหน่วยงานราชการทุกหน่วยเราก็เพิ่งเคยเห็นว่าไม่มีใครอยากจะให้เขื่อนพูงอยเกิดขึ้น แต่เขาพูดไม่ได้ มันจะสร้างปิดกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งระบบนิเวศของปลาก็มาจากทะเลสาบเขมรและมาจากหลี่ผีมหานที 4 พันดอน ตรงนั้นก็มีเขื่อนดอนสะโฮงแล้ว ปิดกั้นทางปลาแน่นอน” สดใสกล่าว

สดใสกล่าวว่า อีสานเมื่อถึงฤดูน้ำหลากตอนนี้มีน้ำท่วมทุกปี น้ำจากน้ำมูล น้ำโขง น้ำชี จะไหลลงมารวมกันที่อุบลแต่หากมีการสร้างเขื่อนภูงอย น้ำสาขาจะไหลออกไปสู่แม่น้ำโขงไม่ได้เพราะเขื่อนพูงอยปิดกั้นอยู่ ด่านแรกที่น้ำจะท่วมก็คืออุบล แม่น้ำโขงจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำเป็นระยะทาง 80 กิโลเมตร เขื่อนภูงอยจะสร้างสร้างอยู่ที่บ้านขอนแก่น แขวงจำปาสัก ห่างจากเมืองปากเซ 18 กิโลเมตร แสดงว่ามันก็ต้องไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำมูลอีก 20 กิโลเมตร แล้วไหลย้อนขึ้นไปข้างบน

“ถ้ามีโครงการเขื่อนบ้านกุ่มก็อีก 7 กิโลเมตร จะทำให้แก่งตะนะที่แม่น้ำมูนจมอยู่ใต้น้ำไปเลย จากรายงานจะเห็นว่าเขื่อนปากมูนได้รับผลกระทบ 40 เปอร์เซ็นต์ นี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้น ขนาดว่าการศึกษาไม่ได้มีละเอียดมาก เรายังไม่ได้พูดถึงพรมแดนถ้าน้ำท่วมพรมแดนก็เปลี่ยนด้วยเพราะว่าตามข้อตกลงของฝรั่งเศส กำหนดพรมแดนไทยลาวอยู่ที่ร่องน้ำลึกเป็นเขต ถ้าน้ำท่วมแล้วตรงไหนจะเป็นของลาวของไทย เราจึงได้ไปร้องคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ เพราะจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศด้วย”สดใส กล่าว

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net