Skip to main content
sharethis

21 ม.ค. 2564 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวอัญชัญ ในคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ถูกตัดสินจำคุก 87 ปี โดยให้เหตุผลว่า คดีมีอัตราโทษสูง จำเลยรับสารภาพ ลักษณะการกระทำทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย กระทบจิตใจปวงชนผู้จงรักภักดี หากปล่อยตัวเชื่อว่าจะหลบหนี

อัญชัญ อดีตข้าราชการวัย 63 ปี ถูกศาลชั้นต้นโดยทิวากร พนาวัลย์สมบัติ และมาริสา เหล่าศรีวรกต ตัดสินจำคุก 87 ปี เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 จากการแชร์คลิป 'เครือข่ายบรรพต' จำนวน 29 ครั้ง เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ก่อนลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 29 ปี 174 เดือน เนื่องจากจำเลยรับสารภาพในชั้นพิจารณาที่ศาลอาญา

ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวอัญชัญระหว่างเตรียมยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 โดยใช้หลักทรัพย์มูลค่า 1 ล้านบาท ก่อนศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอประกันตัวอัญชัญให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ราว 14.00 น. ของวันนี้ ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวอัญชัญ อ้างว่า ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง ประกอบกับจําเลยให้การรับสารภาพ อีกทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะการกระทํานํามาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนผู้จงรักภักดี และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลย 29 ปี 174 เดือน ในชั้นนี้หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจําเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคําร้อง

ฐานข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า อัญชัญถูกทหารพร้อมอาวุธบุกเข้าจับกุมที่บ้านระหว่างที่มีการประกาศกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2558 หลังอยู่ในการควบคุมตัวของทหารตามกฎอัยการศึกรวม 6 วัน อัญชัญถูกส่งตัวให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอดำเนินคดี โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้อัพโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ

ต่อมา อัยการทหารยื่นฟ้องอัญชัญรวม 29 กรรม ในศาลทหารกรุงเทพ ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่ให้คดีพลเรือนในความผิดบางประเภทต้องพิจารณาในศาลทหาร

ศาลทหารมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับและไม่อนุญาตให้ประกันตัวอัญชัญ โดยระบุเหตุผลว่า เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี ทำให้อัญชัญถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางอยู่เป็นเวลาเกือบ 4 ปี ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ประกันตัวเมื่อปลายปี 2561 และต่อมา คดีถูกโอนย้ายมาพิจารณาต่อในศาลยุติธรรม ซึ่งทำให้อัญชันสามารถอุทธรณ์/ฎีกาคำพิพากษาได้ 

คดีอัญชัญเป็นตัวอย่างปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมของศาลทหาร โดยหลังจากยื่นฟ้องจนกระทั่งโอนย้ายคดีไปยังศาลยุติธรรมเป็นเวลากว่า 4 ปี ศาลทหารสืบพยานโจทก์ไปได้เพียง 7 ปาก และแม้จะได้รับการประกันตัวก่อนคดีถูกโอนย้ายมายังศาลอาญา อัญชัญก็ไม่ได้หลบหนีแต่อย่างใด

น่าสังเกตด้วยว่า อัญชัญเป็นหนึ่งในจำเลย 14 ราย ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น "เครือข่ายบรรพต" ที่จัดทำและเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” แต่อัญชัญถูกฟ้องมากที่สุดถึง 29 กรรม ขณะที่จำเลยรายอื่นส่วนใหญ่ รวมทั้งตัว "บรรพต" เองถูกฟ้องเพียง 1 กรรม ซึ่งเกือบทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำแล้ว ขณะที่อัญชัญเพิ่งถูกตัดสินจำคุกด้วยโทษสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในคดีตามมาตรา 112

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net