สนง.ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่ง UN ห่วงการใช้ ม.112 แนะทบทวนยกเลิก หลังทุบสถิติจำคุก 87 ปี

สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในไทย แนะทบทวนยกเลิก เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงออกตามเสรีภาพ หลังศาลเพิ่งทุบสถิติใหม่คดีนี้สั่งจำคุกหญิงวัย 60 ปี เป็นเวลา 87 ปี สารภาพลดเหลือ 43 ปี

8 ก.พ. 2564 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะคดีของ ‘อัญชัญ’ หญิงวัย 60 ปี ที่ถูกตัดสินโทษจำคุก 43 ปี

วันที่ 19 ม.ค. 2564 อัญชัญ (สงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการ ถูกจับกุมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โทษฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการโพสต์คลิปเสียงของบุคคลอื่นที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ไทยลงเฟซบุ๊ก ในช่วง พ.ศ.2557-2558 โดยการตัดสินโทษจำคุกครั้งนี้ถือว่าเป็นโทษหนักที่สุดเท่าที่เคยมีการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ในประเทศไทย

เมื่อ พ.ศ.2559 ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแห่งองค์หารสหประชาชาติหยิบยกคดีของอัญชัญขึ้นมาพูดถึง เนื่องจากอัญชัญถูกนำตัวขึ้นศาลทหารและถูกตัดสินโทษจำคุก 87 ปี แต่ต่อมา คดีของอัญชัญถูกโอนย้ายไปยังศาลพลเรือนในช่วงกลางปี 2562 เธอรับสารภาพจึงได้รับการลดโทษลงครึ่งหนึ่ง แต่ยังขอยื่นเรื่องสู้คดีต่อในศาลอุทธรณ์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า “เราขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีของอัญชัญใหม่อีกครั้ง ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และยกเลิกการลงโทษที่รุนแรง เรายังคงเน้นย้ำอย่างต่อเนื่องว่าการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เพื่อเอาผิดประชาชนต้องไม่เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นล้วนส่งผลกระทบต่อในทางลบต่อเสรีภาพด้านการแสดงออก จำกัดพื้นที่ของพลเมือง และลดทอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในประเทศไทย”

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนให้ความเห็นว่า เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 เคลื่อนไหวและนักกิจกรรมชาวไทยที่สนับสนุนประชาธิปไตยเริ่มเปลี่ยนมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการเรียกร้องและขับเคลื่อนแนวคิด และพบว่าเจ้าหน้าที่ก็บังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพบ่อยและเข้มงวดขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ทั้งยังเป็นการแจ้งข้อหาที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ทั้งๆ ที่บุคคลเหล่านั้นใช้สิทธิแสดงออกตามเสรีภาพอันพึงมีตามระบอบประชาธิปไตย

“เรารู้สึกไม่สบายใจอย่างมาก เพราะจำนวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มขึ้นมากในช่วงปลายปี 2563 และการตัดสินโทษสูงสุดคือจำคุก” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

ถึงแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะให้ความสำคัญกับการพูดคุยอย่างต่อเนื่องในเรื่องเชิงโครงสร้างกับรัฐบาล แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนย้ำเตือนเสมอว่าภายใต้หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ บุคคลสาธารณะ ซึ่งรวมถึงบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมือง เช่น ประมุขแห่งรัฐ ล้วนถูกสาธารณชนวิจารณ์ได้ โดยไม่ขัดกับหลักการทางกฎหมาย

“เป็นความจริงที่ว่า บางครั้งการแสดงออกอาจสร้างความไม่พอใจหรือสร้างความหวาดหวั่นให้กับบุคคลสาธารณะเหล่านั้น แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ควรตัดสินหรือกำหนดโทษหนักถึงขั้นเป็นคดีอาญา เราจึงขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจจงทบทวนยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้เสีย เพื่อลดจำนวนผู้ถูกจับในความผิดตามกฎหมายอาญา และขอให้ปล่อยตัวประชาชนที่ถูกลงโทษจำคุกเพียงเพราะพวกเขาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสันติ” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท