Skip to main content
sharethis

สื่อวอลสตรีทเจอนัล วิเคราะห์ว่าประเทศจีนกำลังจะแย่งตำแหน่งจากสหรัฐฯ ในฐานะประเทศเป้าหมายที่ต่างประเทศจะเข้าไปลงทุนทางตรงอันดับหนึ่งของโลก นับตั้งแต่ปี 2563 ที่วิกฤตการณ์ COVID-19 ระบาดส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้

27 ม.ค. 2564 ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนทางธุรกิจใหม่จากต่างขาติ (Foreign Direct Investment - FDI) มากเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด แต่จากสถิติของสหประชาชาติที่ออกมาเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2564 ก็ระบุว่าประเทศสหรัฐฯ อยู่ในช่วงกำลังพยายามยับยั้งการระบาดของโรคจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่และมีผลผลิตทางเศรษฐกิจลดลงก็ทำให้พวกเขาเป็นเป้าหมายของการลงทุนจากต่างชาติลดลงร้อยละ 49

ทำให้จีนซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในอันดับที่ 2 ของประเทศเป้าหมายการลงทุนเสมอมากลายเป็นอันดับที่หนึ่งโดยที่พวกเขามีบริษัทจากต่างประเทศเข้าไปลงทุนเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 4  จากข้อมูลของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ทางการจีนมีการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดในการควบคุมโรคในช่วงต้นๆ ของการระบาด COVID-19 ทำให้ควบคุมโรคได้เป็นส่วนใหญ่ และในช่วงต่อมาที่เมืองใหญ่ๆ เมืองอื่นๆ มีการระบาดหนักของโรคนี้ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศของจีนก็เพิ่มมากขึ้น

จำนวนตัวเลขการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในจีนปี 2563 ย้ำให้เห็นว่าจีนกำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลกจากที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นของสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงที่เกิด COVID-19 ทำให้จีนกลายเป็นเสมือนสายพานการผลิตของโลกและขยับขยายเข้าไปมีส่วนแบ่งการค้าโลกมากขึ้น

ถึงแม้จีนจะดึงดูดนักลงทุนเพิ่มขึ้น แต่หุ้นโดยรวมในการลงทุนจากต่างชาติของสหรัฐฯ ก็ยังคงใหญ่กว่าจีนมาก สำหรับการลงทุนจากต่างชาติในสหรัฐฯ นั้นถึงจุดสูงสุดในปี 2559 ที่ 472,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในตอนนั้นของจีนยังอยู่ที่ 134,000 ดอลลาร์ นับตั้งแต่นั้นมาการลงทุนจากต่างชาติในจีนก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สหรัฐฯ ลดลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2560

ในขณะที่รัฐบาลทรัมป์ส่งเสริมให้บริษัทอเมริกันย้ายฐานออกจากประเทศจีนกลับสู่สหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนจีนมองว่าพวกเขาจะถูกพิจารณาจากสหรัฐฯ ในแง่ของความมั่นคงในชาติจนทำให้พวกเขาชะลอการทำสัญญากับอเมริกัน การลดระดับการลงทุนจากต่างชาติในสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้วยังสะท้อนให้เห็นขาลงทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลกระทบจาก COVID-19 ผู้ที่วิเคราะห์ในเรื่องนี้ไว้คือ แดเนียล โรเซน ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มวิจัยโรเดียมกรุ๊ปที่ทำการวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน มาเป็นเวลานานแล้ว

โรเซนกล่าวว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่การลงทุนจะลดลงอย่างมากในสหรัฐฯ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้เพราะ สหรัฐฯ มีเศรษฐกิจที่เป้นระบบตลาดเปิดต่างจากจีน จึงไม่น่าต้องกังวลมากสำหรับสหรัฐฯ ในการสูญเสียนักลงทุนจากต่างชาติเช่นนี้ตราบใดที่พวกเขายังคงระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเปิดที่มีการแข่งขันอยู่

การวัดผลเรื่องการลงทุนโดยตรงจากต่างชาตินั้นนับเรื่องที่บริษัทต่างประเทศสร้างโรงงานแห่งใหม่ หรือขยายการปฏิบัติงานออกไปในประเทศนั้นๆ หรือมีการเข้าถือครองกรรมสิทธิบริษัทในประเทศ

สำหรับในจีนนั้นการไหลเวียนของการลงทุนจากบรรษัทนานาชาติยังคงดำเนินต่อไปถึงแม้ว่าจะมีผลกระทบหนักจาก COVID-19 มีบริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ คือฮันนีเวลล์ และบริษัทเครื่องแต่งกายกีฬาอะดีดาสเอจีจากเยอรมนีขยายฐานปฏิบัติการที่ในจีน

หน่วยงานของยูเอ็นวิเคราะห์อีกว่าในปี 2564 นี้คงจะยังไม่มีการฟื้นฟูการลงทุนจากต่างชาติให้กลับมาได้ ทั้งในสหรัฐฯ และในที่อื่นๆ เพราะนักลงงทุนมีโอกาสที่จะยังคงระมัดระวังในการจะตัดสินใจลงทุน หนทางที่จะคืนการลงทุนจากต่างชาติอย่างเต็มที่ได้นั้นจึงเป็นไปอย่างขรุขระ

ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเศรษฐกิจจากวิทยาลัยเวลสลีย์ โจเซฟ จอยซ์ กล่าวว่าในขณะที่การลงทุนจากต่างชาติลดลงเพราะโรคระบาดหนัก แต่มันก็ทำให้บริษัทกลับมาคิดทบทวนถึงการลงทุนให้อนาคตของพวกเขาด้วย บริษัทต่างๆ ทำการพิจารณานโยบายห่วงโซ่อุปทานโลกและตลาดต่างประเทศของพวกเขาใหม่อีกครั้ง รวมถึงพิจารณาเรื่องการใช้เทคโนโลยีของตัวเอง

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าประเทศเอเชียตะวันออกทั้งหมดมีการลงทุนจากต่างชาติหนึ่งในสามของทั้งหมด นับว่ามากที่สุดในรอบราว 40 ปีที่ผ่านมา อีกประเทศหนึ่งที่มีการลงทุนจากต่างชาติสูงมากคืออินเดียที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากความต้องการของบริการดิจิทัล ขณะที่อียูมีการลงทุนจากต่างชาติลดลงร้อยละ 71 มีหลายประเทศในยุโรปที่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงมากไปพร้อมๆ กับการหดตัวทางเศรษฐกิจ

มีการตั้งข้อสังเกตว่าการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ภายในอาณาเขตของตัวเองทำให้เศรษฐกิจเด้งกลับมาได้ค่อนข้างไว และทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ดึงดูดนักลงทุน แม้กระทั่งก่อนที่โจ ไบเดน จะเข้ารับตำแหน่งนักลงทุนต่างก็หวังว่าสหรัฐฯ กับจีนจะมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นต่อกันมากกว่านี้

สิ่งที่เกิดขึ้นกับจีนในปีที่แล้วคือการที่พวกเขาสูญเสียความเชื่อมั่นจากนักลงทุนไปไม่กี่เดือนแรกของปี มีทั้งการระงับการขยายการลงทุนและในบางกรณีก็ถอนการลงทุนออกมา แต่หลังจากนั้นข่าวที่ว่าจีนเริ่มฟื้นฟูกลับมาและที่อื่นๆ ของโลกกำลังเริ่มประสบปัญหาจากโรคระบาดก็ทำให้นักลงทุนกันไปหาจีนอีกครั้งในฐานะที่เป็นประเทศฐานการผลิตและมีตลาดที่กำลังเติบโตสำหรับระบายสินค้าของพวกเขา

บริษัทตะวันตกหลายแห่งที่มีแผนการขยายการลงทุนในจีนได้แก่ วอลมาร์ท, สตาร์บัค, เทสลา และวอลต์ดิสนีย์ ที่มีทั้งการขยายโรงงานการผลิตหรือแหล่งให้บริการของพวกเขา โดยที่วอลมาร์ทถึงขั้นประกาศประชุมการลงทุนร่วมกับภาครัฐของเมืองอู่ฮั่นซึ่งเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางการระบาดของ COVID-19 แม้แต่บริษัทยาอย่างแอสตราเซเนกาก็ประกาศจะมีการขยายศูนย์ปฏิบัติการภูมิภาคในจีนจากข้อมูลรายงานข่าวของช่องรัฐบาลจีน

นอกจากบริษัทตะวันตกแล้วบริษัทจากประเทศเกาหลีใต้ที่เป็นผู้ผลิตชิพอิเล็กโทรนิคคือบริษัทโซลเซมิคอนดักเตอร์ก็บอกว่าพวกเขาย้ายฐานการผลิตออกจากจีนได้ยากถึงแม้ว่าจะมีแรงจูงใจให้ทำ พวกเขาเริ่มสำรวจว่าจะย้ายฐานบางส่วนไปที่เวียดนามมาตั้งแต่ปี 2560 แล้ว หนึ่งในซีอีโอของบริษัทบอกว่าพวกเขา "ต้องพึ่งพิงจีนอย่างมาก"

บริษัทญี่ปุ่นที่มีบริษัทปฏิบัติการอยู่ในจีนร้อยละ 9.2 ก็เผชิญข้อจำกัดอย่างเดียวกันในการย้ายฐานออกจากจีน นักวิจัยขององค์กรการค้าภายนอกของญี่ปุ่นระบุว่าพวกเขาอยากจะลดการพึ่งพิงที่มากเกินไปต่อห่วงโซ่อุปทานในตลาดเดียวคือจีน แต่การจะย้ายฐานออกมาก็มีความเสี่ยงใหญ่กว่าจากการสูญเสียตลาดจีน

เรียบเรียงจาก


Tags : ข่าว, ต่างประเทศ, เศรษฐกิจ, 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net