'แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม' ขอธนาคารไทยยกเลิกสินเชื่อโครงการเขื่อแม่น้ำโขง เสี่ยงทั้งสิ่งแวดล้อม-การเงิน

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม Fair Finance Thailand เรียกร้องธนาคารไทย พิจารณายกเลิกสินเชื่อโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง มีทั้งความเสี่ยงด้านทำลายสิ่งแวดล้อมและด้านการเงินที่ตอนนี้ลาวถูกลดอันดับเครดิตทางการเงินและเจ้าหนี้ของลาวเป็นจีนถึง 50%

10 ก.พ.2564 องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers)รายงานว่า ไพรินทร์ เสาะสาย ผู้ประสานงานองค์กรแม่น้ำนานาชาติประเทศไทย และสมาชิกแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) เปิดเผยว่า แนวร่วมฯ ได้ส่งจดหมายถึงผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ไทย 7 แห่ง โดยในจดหมายมีเนื้อหาเรียกร้องให้ธนาคารแสดงจุดยืนต่อโครงการเขื่อนหลวงพระบาง และขอให้พิจารณาเพิ่ม “โครงการผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขงสายหลัก” ในรายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list) ของธนาคาร

จดหมายดังกล่าวถูกส่งถึงผู้บริหารของ ธนาคารพาณิชย์ 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพานิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทิสโก้ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นธนาคารที่ให้เงินกู้ให้แก่โครงการเขื่อนไซยะบุรี นอกจากนี้จดหมายดังกล่าวยังส่งถึงสมาคมธนาคารไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานกำกับ

ผู้ประสานงานกล่าวว่าก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกันยายน 2563 แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย และตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เข้าร่วมประชุมที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อนำเสนอความกังวลและความเสี่ยงในการปล่อยเงินกู้แก่โครงการเขื่อนหลวงพระบาง ต่อผู้แทนธนาคารทั้ง 7 แห่ง

ภาพการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง

ภาพการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง

ก่อนหน้านั้นในเดือนสิงหาคม 2563 เครือข่ายฯ ได้ส่งจดหมายแสดงความกังวล พร้อมด้วยเอกสารแนบ ได้แก่ ความเห็นของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย กรณีเขื่อนหลวงพระบาง และความเห็นทางด้านเทคนิคของผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ต่อโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ล่าสุดพบว่ามีการดำเนินเตรียมการก่อสร้างโครงการเขื่อนหลวงพระบาง รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าบริษัทเจ้าของโครงการจะยังมิได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และจนถึงปัจจุบันก็ยังมิได้ปรากฎว่า มีธนาคารพาณิชย์รายใดที่ให้การสนับสนุนทางการเงิน

“สถานการณ์การก่อสร้างที่มีการเตรียมการอย่างรวดเร็ว ได้สร้างความวิตกกังวลมากขึ้นแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง และชุมชนใกล้เคียง โดยเฉพาะในเมื่อข้อกังวลและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงต่อโครงการดังกล่าวยังมิได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด นอกจากนี้โครงการเขื่อนหลวงพระบางมีความสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างผลกระทบในวงกว้าง ซ้ำรอยเขื่อนไซยะบุรีที่ก่อสร้างไปก่อนหน้านี้ ซึ่งผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนไซยะบุรี ได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนไปทั่วโลก ทำให้เกิดคำถามตามมามากมายถึงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก ความต้องการพลังงานของประเทศไทย และความรับผิดชอบข้ามพรมแดนของบริษัทเจ้าของโครงการ ธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อ บริษัทก่อสร้าง รัฐบาล 4 ประเทศ ตลอดจนภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย" ไพรินทร์กล่าว

นิวัตน์ ร้อยแก้ว ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า พวกเราประชาชนไทย อยากจะย้ำกับธนาคารพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องว่าการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง ว่าขอเน้นย้ำเหตุผล 5 ประการ ที่ธนาคารไทยไม่ควรให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่ได้เคยนำเสนอต่อ ธปท. และผู้แทนธนาคาร ไปแล้วว่า

  1. ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ไทยต้องซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ในเมื่อปัจจุบันปริมาณสำรองไฟฟ้าพุ่งทะลุ 50% ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ปริมาณสำรองส่วนเกินมีมากกว่า 10,000 MW หรือเท่ากับเขื่อนหลวงพระบาง 6.8 เขื่อน จนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกาศว่ากำลังพิจารณายกเลิกการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ
  2. ความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของโครงการเขื่อนหลวงพระบางอยู่ในระดับสูง บางด้านมากกว่าโครงการไซยะบุรี เช่น ความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว และความเสี่ยงต่อเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง แต่บริษัทเจ้าของโครงการไม่มีการประเมินความเสี่ยงเพียงพอ อาทิ ไม่เคยมีการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน และไม่คำนึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ต่อการใช้งานของเขื่อน เป็นต้น
  3. ผลจากกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ทั้ง 3 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เรียกร้องให้ศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสม
  4. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ในภูมิภาคนี้ เมื่อเจ้าหนี้ลาวเกือบ 50% คือประเทศจีน
  5. ความเสี่ยงทางการเงิน

ภาพการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง

ภาพการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง

สฤณี อาชวานันทกุล ตัวแทนแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม กล่าวว่า ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มเติมคือประเทศลาวถูกลดอันดับเครดิต เช่น สถาบัน Moody’s ลดอันดับเครดิตของลาวรวดเดียว 2 ขั้น จาก B3 เป็น Caa2 หรือเทียบเท่าระดับ junk bond และสืบเนื่องจากธนาคารได้ประกาศว่าจะปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืน ด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Sustainable Banking Guidelines – Responsible Lending) ด้วยการปล่อยสินเชื่อที่คำนึงความเสี่ยงและผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย จึงขอเรียกร้องให้ธนาคารทุกแห่ง ประกาศจุดยืนต่อโครงการเขื่อนหลวงพระบาง และโครงการผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขงสายหลัก 2 ข้อหลักคือ

(1) ประกาศว่าธนาคารจะระงับกระบวนการพิจารณาการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการเขื่อนหลวงพระบาง จนกว่าบริษัทเจ้าของโครงการจะมีการแก้ไขรายงานและปฏิบัติตามข้อเสนอตามแถลงการณ์ของคณะกรรมการร่วม (Joint Committee’s Statement) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2562 และข้อเสนอจาก 3 ประเทศสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Reply Form) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสม และวางมาตรการบรรเทาผลกระทบที่เป็นรูปธรรมก่อนที่จะดำเนินโครงการตามกระบวนการแจ้งปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA)

(2) ประกาศว่าธนาคารจะเพิ่ม “โครงการผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขงสายหลัก” ในรายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list) ของธนาคาร ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2564 โดยให้มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป

อนึ่งโครงการเขื่อนหลวงพระบาง Luang Prabang dam project ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบางประมาณ 25 กม. ในเดือนตุลาคม 2563 สำนักข่าว RFA รายงานว่า บริษัทช.การช่าง ได้มีก่อสร้างที่พักคนงานและเตรียมพื้นที่ในการก่อสร้างที่บริเวณบ้านห้วยโง เมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง และได้จ่ายค่าเสียหายจากการสูญเสียที่ดินทำกินของชาวบ้านบางส่วน

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พ.ย.2563 บริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นสามัญจากบริษัทพีทีจำกัดผู้เดียว จำนวน 415,000 หุ้น เทียบเท่าจำนวนเงิน 3,137,400 บาท เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และพัฒนาโครงการเขื่อนหลวงพระบาง มีกำลังผลิตติดตั้ง 1490 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีการสัมปทานซื้อขายไฟฟ้าในเวลา 32 ปี เดิมมีเป้าหมายจะขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. และการไฟฟ้าเวียดนาม โครงการดังกล่าวมี ประกอบด้วย บริษัท พีที จำกัด 38%, บริษัท ปิโตรเวียดนาม พาวเวอร์ จำกัด 10%, CKP 42% และ บมจ.ช.การช่าง (CK) ถือหุ้น 10% ขณะนี้ยังไม่มีรายงานการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท