เฉลิมพงษ์ คงเจริญ: ปี 63 เศรษฐกิจติดโควิด ปี 64 ยิ่งได้วัคซีนเร็วยิ่งดีต่อเศรษฐกิจ

ต้องยอมรับว่ามาตรการเยียวยาของภาครัฐช่วยให้เศรษฐกิจปี 2563 ไม่ติดลบมากกว่าที่เป็น อย่างไรก็ตาม หากกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ถูกต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลดความเหลื่อมล้ำจะเกิดประสิทธิภาพมากกว่านี้ การกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วคือตัวชี้ขาดเศรษฐกิจปี 2564

  • ปี 2563 เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดับเกือบทั้งหมด เหลือเพียงการลงทุนภาครัฐ แต่มีปัญหาความล่าช้าในการเบิกจ่าย
  • มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐช่วยให้เศรษฐกิจปี 2563 ไม่ติดลบมากกว่าที่ควรเป็น แต่การไม่กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับการเยียวยาส่งผลให้ประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจลดลง
  • ความเหลื่อมล้ำในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เล็กน้อย ซึ่งการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการช่วยเหลือจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้
  • ปัจจัยหลักของสภาพเศรษฐกิจปี 2564 คือความรวดเร็วในการกระจายวัคซีนทั้งในระดับโลกและภายในประเทศ

 

สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประมาณการจีดีพีปี 2563 ว่าจะติดลบ 6.0 โดยเครื่องยนต์หลักทั้ง 4 ตัวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือการลงทุนภาคเอกชน การส่งออก และการบริโภคภาคเอกชนติดลบทุกตัว ยกเว้นการลงทุนของภาครัฐที่ประมาณไว้ที่ 13.7

สถานการณ์โควิด-19 ฉุดดึงเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก เมืองท่องเที่ยวบางแห่งเกือบจะเป็นเมืองร้าง มันส่งผลลงลึกถึงระดับบุคคล รวมถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม

เฉลิมพงษ์ คงเจริญ นักวิจัยศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เฉลิมพงษ์ คงเจริญ ที่มาภาพ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เฉลิมพงษ์ คงเจริญ นักวิจัยศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะพาเราไปสำรวจสภาพเศรษฐกิจปีที่ผ่านมา ปีนี้ ประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินของรัฐ และความเหลื่อมล้ำว่าจะไปในทิศทางใด

ปี 2563 เครื่องยนต์เศรษฐกิจดับเกือบทั้งหมด

ปี 2563 เครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยหยุดเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในส่วนที่ขึ้นกับภาคต่างประเทศ ทั้งการส่งออกที่ชะลอตัวตั้งแต่ก่อนช่วงโควิดเนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทำให้ไทยได้รับผลกระทบในแง่ที่เป็นห่วงโซ่อุปทานในระบบเศรษฐกิจโลก และการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวตั้งแต่โควิด  ซึ่งหลายสำนักคิดว่า 2 เรื่องนี้จะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงในอนาคต

“เพราะขึ้นอยู่กับสมมติฐานว่าเราจะได้วัคซีนได้เร็วขนาดไหน เท่าที่เห็นอยู่ตอนนี้คือได้ช้ากว่ากำหนด ขณะเดียวกันก็เริ่มมีความพยายามจะบล็อกประเทศอื่นๆ ไม่ให้ได้วัคซีน เพื่อให้ประเทศตนเองได้วัคซีนมากๆ ก่อน จึงส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ทำให้การค้าของโลกอาจชะลอตัวแทนที่จะกลับขึ้นมาได้เร็ว”

ขณะที่การลงทุนซึ่งเป็นเครื่องจักรหลักของเศรษฐกิจไทยมาได้ยาวนาน ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาดัชนีการลงทุนภาคเอกชนมีการชะลอตัวมาก่อนช่วงโควิดหรือตั้งแต่ประมาณช่วงกลางปี 2562 แม้ว่าจะมีความพยายามส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐผ่านนโยบายต่างๆ ทว่า การลงทุนภาคเอกชนต้องใช้เวลาและนักลงทุนก็ต้องรอความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนความได้เปรียบด้านค่าแรงในอดีตก็หมดไป จึงจำเป็นต้องพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ได้พึ่งพาเฉพาะต้นทุนการผลิตต่ำโดยเน้นที่เทคโนโลยี แต่การลงทุนภาคเอกชนไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ในช่วงปี 2562-2563 เม็ดเงินลงทุนจึงไม่สูงมากนัก

ในส่วนการลงทุนของภาครัฐก็มีปัญหาเช่นกัน ช่วงต้นปี 2563 ที่รัฐพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนภาครัฐ จากตัวเลขพบว่าไม่ได้ขยายตัวอย่างที่ภาครัฐตั้งเป้าไว้ เช่นในไตรมาส 1 ก่อนมีปัญหาโควิด การลงทุนภาครัฐติดลบจากไตรมาส 1 ปี 2562 ร้อยละ 9 เพราะไม่มีความรวดเร็วในการใช้จ่ายและลงทุนเท่าที่ควรจะเป็นเนื่องจากกระบวนการเบิกจ่ายที่มีปัญหา

“ด้านการบริโภคเริ่มชะลอตัวตอนกลางปี 2562 แล้วดีดกลับขึ้นมาช่วงปลาย 2562 จนกระทั่งมาเจอโควิดก็หล่นลงมาอีกครั้ง แล้วเริ่มกลับมาช่วงกรกฎาคม สิงหาคม ตุลาคมจากการคลายล็อกดาวน์และมาตรการจ่ายเงินเยียวยาทำให้ดัชนีการบริโภคกลับมาใกล้ๆ กับปี 2562 พอหลังล็อกดาวน์ช่วงธันวาคมตัวดัชนีก็หล่นลงมาอีกครั้ง”

เงินเยียวยาภาครัฐมีกลุ่มเป้าหมายไม่ชัด ประสิทธิภาพจึงไม่ชัด

เมื่อ 3 เครื่องยนต์หลักไม่ทำงานจึงเหลือเพียงการลงทุนภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายเงินในอนาคต เฉลิมพงษ์ กล่าวว่าหากไม่มีตัวนี้เศรษฐกิจอาจติดลบมากกว่าที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ตาม ในแง่ประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเงินของภาครัฐยังเป็นคำถาม

“คำถามว่ามันมีประสิทธิภาพหรือไม่ อาจจะต้องพิจารณาว่าเป้าหมายของนโยบายคืออะไร ถ้าบอกว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ลักษณะของการจ่ายมีเป้าหมายคนอย่างไร บางอย่างใครกดได้ก่อนก็ได้ คำถามคือวิธีนี้ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจดีกว่าวิธีอื่นหรือไม่ มันอาจมีวิธีอื่น เพราะคนใช้จ่ายไม่เหมือนกัน เวลาคนมีรายได้มากขึ้นก็จะบริโภคมากขึ้น แต่การใช้จ่ายของคนที่มีระดับรายได้ต่างกันอาจจะไม่เหมือนกัน เช่นคนรวยเมื่อได้เงินอาจจะใช้จ่ายน้อยกว่าคนที่มีรายได้ต่ำกว่า ส่วนคนที่มีรายได้ต่ำกว่ามีแนวโน้มจะใช้จ่ายมากกว่า ดังนั้น ถ้ากระจายใหม่แทนที่ทุกคนควรได้เท่ากัน แต่จ่ายให้กับคนที่มีฐานะด้อยกว่าก็จะใช้จ่ายมากกว่า เงินที่ลงไปก็มีโอกาสหมุนได้หลายรอบจึงมีโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า อันนี้มองเฉพาะเป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียว ยังไม่ได้มองเรื่องความเท่าเทียมว่าจะกระจายไปอย่างไร”

ปัญหาจึงอยู่ที่การกำหนดกลุ่มเป้าหมายการเยียวยาช่วยเหลือของรัฐว่าควรตรงลงไปที่กลุ่มไหน ซึ่งในโลกที่เทคโนโลยีสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้หมดเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยากเพราะข้อมูลต่างๆ ของภาครัฐไม่มีการเชื่อมโยงกัน

“แม้จะบอกว่ากลุ่มคนจนก็ได้ผ่านบัตรสวัสดิการ ซึ่งถ้าดูบัตรสวัสดิการจริงๆ คนที่ได้ในส่วนของบัตรสวัสดิการได้น้อยกว่าคนที่ได้จากคนละครึ่ง ในเฟสแรกบัตรสวัสดิการได้แค่คนละ 1,500 บาทเท่านั้น ขณะที่มาตรการคนละครึ่งได้ 3,000-3,500 บาท ดังนั้น กลุ่มคนที่มีโอกาสใช้จ่ายสูงกว่ากลับได้น้อยกว่าคนที่อาจไม่มีปัญหาความยากจน”

เฉลิมพงษ์ คงเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ที่มาภาพ :  EconTU Official )

ใส่เงินให้ถูกคนจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

“ผมขอพูดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เป็นหลัก ฐานข้อมูลที่เราใช้คือการสำรวจสังคมและเศรษฐกิจที่ดูว่ารายได้ของคนเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลล่าสุดมีถึงแค่ปี 2562 จากงานวิจัยที่ผมเคยทำ โดยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่เกิดจากการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะจากค่าจ้าง เงินเดือน ธุรกิจ หรือเกษตรกรรม เราพบว่าแนวโน้มความเหลื่อมล้ำค่อยๆ ลดลง ส่วนหนึ่งเพราะมีกลุ่มคนที่มีรายได้มากขึ้น ความต่างกันน้อยลง จนกระทั่งถึงปี 2558 ค่าจีนีที่วัดความเหลื่อมล้ำมันลดลงต่ำสุดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (ค่าจีนีเป็นดัชนีวัดความเหลื่อมล้ำ ยิ่งค่าเข้าใกล้ 1 แปลว่าความเหลื่อมล้ำยิ่งสูง)

“แล้วในปี 2560 เกิดเหตุการณ์ที่อยู่ดีๆ ความเหลื่อมล้ำก็ปรับตัวกลับขึ้นมามากกว่าเดิม ซึ่งยังเป็นข้อสงสัยของนักวิชาการว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วเราก็พบว่าในปี 2562 ความเหลื่อมล้ำกลับมาดีขึ้นอีกนิดหนึ่ง แต่ยังไม่ดีเท่ากับระดับในปี 2558 ที่ความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุดในช่วง 30 ปี”

คำถามคือโควิดจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อความเหลื่อมล้ำ เฉลิมพงษ์ได้ทำแบบจำลองโดยดูแรงงานในสาขาหลักที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ด้านการผลิต ก่อสร้าง ค้าปลีก-ค้าส่ง ขนส่ง และโรงแรม-ภัตตาคาร ซึ่งเป็นสาขาหลักๆ ที่อยู่ในจีดีพี พบว่า ปี 2563 ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นกว่าปี 2562 เล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม เวลาที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพูดถึงความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จะความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จากการประกอบอาชีพและเงินโอนต่างๆ ด้วย เช่น เงินโอนจากรัฐ จากเอกชน เป็นต้น โดยเฉพาะคนจนจะได้เงินโอนส่วนนี้ค่อนข้างสูงมากกว่ากลุ่มอื่น ดังนั้น เมื่อบวกเงินโอนจากรัฐกลุ่มคนจนจะมีรายได้ขยับเพิ่มขึ้น เหตุนี้เวลาวัดค่าจีนีด้วยรายได้รวมทั้งหมด ค่าที่ได้จึงต่ำกว่าเฉพาะรายได้จากการทำงานอย่างเดียว

“เราพบว่าในปี 2562 ค่าจีนีอยู่ประมาณ 0.409 เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา มันก็ลดต่ำลงมาเรื่อยๆ เป็นเพราะภาครัฐใส่เงินลงมา ค่าตรงนี้จึงต่ำกว่าค่าจีนีที่เป็นรายได้จากการทำงาน จากจุดนี้ถ้าเราทดลองก็ได้ตัวเลขใกล้กัน ค่าจีนีไม่ได้แตกต่างจากปี 2562 มากสักเท่าไหร่ เนื่องจากมีมาตรการทั้งหลายมาช่วย

“ย้อนกลับไปที่มาตรการทั้งหลายที่ใส่เข้าไปส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำอย่างไรในปี 2563 พบว่า มาตรการหลัก 2 มาตรการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจกับมาตรการช่วยคนที่มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2 เฟสรวม 3,000 บาท กลุ่มคนที่มีบัตรคนจนมีประมาณ 14 ล้านคน ส่วนมาตรการคนละครึ่งอีก 15 ล้านคน ในส่วนนี้มีส่วนหนึ่งที่จ่ายผ่านสมาร์ทโฟน ส่วนที่ไม่ได้อยู่ในบัตรคนจนมีโอกาสรับคนละครึ่งมีประมาณ 3 ล้านคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน เพราะฉะนั้นถ้ามองในแง่ความเท่าเทียมกันในการจ่ายกลับลงไป ผมพบว่ามาตรการนี้อาจจะกระจายไปไม่ทั่วถึงคนบางกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำประมาณ 3,000 กว่าบาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่กลุ่มที่มีสมาร์ทโฟนรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 12,000 บาทต่อคนต่อเดือน จากตรงนี้ทำให้มีความเหลื่อมล้ำในโอกาสที่จะเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือ”

และเมื่อดูว่าการกระจายกลับลงไปส่งผลอย่างไรต่อความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากเป็นการกระจายที่ไม่ได้พุ่งเป้าว่าควรลงไปที่กลุ่มไหน ความเหลื่อมล้ำจึงไม่ดีขึ้น เนื่องจากกระจายลงไปทั้งคนจนคนรวยได้เหมือนกัน แม้รัฐบาลจะบอกว่ามาตรการนี้ไม่ได้ช่วยเรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจถ้าไม่กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับเงินให้ชัดเจนก็อาจจะไม่ได้มีผลมากนัก

“เปรียบเทียบกับบัตรคนจน ถ้าผมบวกรายได้ส่วนที่เป็นของบัตรคนจนลงไป พบว่าค่าจีนีดีขึ้นเมื่อเทียบกับมาตรการคนละครึ่ง เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วการพุ่งเป้าไปยังกลุ่มคนที่ควรจะได้จะช่วยทำให้เป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจและเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำดีขึ้น”

เศรษฐกิจปี 2564 จะเป็นอย่างไร

เฉลิมพงษ์กล่าวว่า ปัจจัยหลักคือจะได้วัคซีนเร็วแค่ไหน ทั้งในระดับโลกและในประเทศ เพราะถ้าในประเทศไม่สามารถกระจายวัคซีนได้อย่างเหมาะสม ถึงแม้นักท่องเที่ยวจะได้รับวัคซีนกันแล้วก็ใช่ว่าไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ เนื่องจากคาดการณ์ว่าช่วงปลายปี 2564 นักท่องเที่ยวน่าจะเริ่มเดินทางระหว่างประเทศได้ ดังนั้น การกระจายวัคซีนจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจปี 2564

ในส่วนการค้าโลกยังต้องรอดูท่าทีของสหรัฐฯ ภายใต้นโยบายของโจ ไบเดนกับจีนว่าความรุนแรงของสงครามการค้าจะอยู่ในระดับใด ถ้ามีการประนีประนอมกันมากขึ้นและประเทศต่างๆ เริ่มฟื้นตัวก็น่าจะทำให้การค้าโลกดีขึ้น ประเทศไทยในฐานะห่วงโซ่อุปทานน่าจะได้ประโยชน์

“แต่ถ้ามองโดยรวม ปีที่แล้วจีดีพีติดลบเยอะ ปีนี้ก็คงน่าจะดีดกลับขึ้นมา แต่คงต้องขึ้นกับปัจจัยเหล่านี้ว่าจะทำให้จีดีพีกลับขึ้นมาได้มากน้อยแค่ไหน เท่าที่ตามอยู่ก็น่าจะประมาณ 2-4 เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่สถานการณ์ว่าจะเป็นไปอย่างไร ปีที่แล้วการส่งออกสินค้าของเราน่าจะลบประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ปีนี้ก็อาจกลับขึ้นมาเป็นบวก 4-5 เปอร์เซ็นต์ คือกลับไประดับเดิมก่อนปี 2563 อันนี้มองในลักษณะปานกลางว่าประเทศคู่ค้าน่าจะพอกลับตัวมาได้”

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังต้องรอดูสถานการณ์เพราะด้วยความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ นักลงทุนคงไม่มั่นใจที่จะลงทุนสักเท่าไหร่ เครื่องจักรหลักจึงเป็นการลงทุนของภาครัฐซึ่งคงต้องกู้ต่อไป ประเด็นคือการกู้ที่ผ่านมาเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอก็อาจต้องกู้เพิ่ม ซึ่งสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังมีช่องว่างให้กู้ได้อยู่

“แต่ไม่ใช่ว่ากู้ได้แล้วใช้อีลุ่ยฉุยแฉก รัฐควรจะต้องประเมินว่าอะไรเป็นมาตรการที่เหมาะสมที่ควรใช้ในการลงทุน เพราะเวลาเราพูดถึงหนี้สาธารณะจริงๆ แล้วนอกจากในส่วนของภาครัฐบาลกลาง ยังมีส่วนอื่นๆ ที่เรากู้อยู่ค่อนข้างเยอะ

“เพราะเมื่อเรามีหนี้สาธารณะมากถึงระดับหนึ่ง รัฐบาลในอนาคตก็จะไม่สามารถกู้ได้เท่ากับในปัจจุบันเพื่อนำมาใช้จ่าย แต่โชคดีอย่างหนึ่งคือสภาพคล่องในตลาดปัจจุบันมีสูงมาก เวลารัฐอยากจะกู้ก็ออกพันธบัตรในประเทศในอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงมากนัก ตัวดอกเบี้ยที่จ่ายคืนอาจจะไม่สูงมากถ้าเทียบกับในสมัยก่อน แต่ยิ่งกู้มากๆ ช่องว่างที่เหลือให้กู้ในอนาคตก็จะเหลือน้อยลง ดังนั้นต้องคิดว่าที่กู้มาต้องได้ผลตอบแทนคุ้มกับการกู้ ถ้ากู้มาเพื่อการลงทุน โครงการลงทุนนั้นควรต้องมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่คุ้มกับดอกเบี้ยที่ต้องเสียไป”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท