Skip to main content
sharethis

19 ก.พ. 2564 ม็อบเฟสจัดอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา ตำรวจเตรียมกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนพร้อมโล่-กระบอง ติดตั้งรั้วลวดหนาม และเตรียมรถฉีดน้ำ แต่ยันไม่สลายการชุมนุม ควบคุมตัวผู้ชูป้าย “วิกฤตแรงงาน ขอคืนเงิน-ชราภาพ” ก่อนปล่อยไม่แจ้งข้อหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 17.00 น. พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ประกาศว่าวันนี้ ตำรวจควบคุมฝูงชนที่มาเป็นชุดรักษาความปลอดภัยเท่านั้นไม่มีการสลายการชุมนุม ไม่ใช้กำลัง และการดำเนินการวันนี้ไม่ได้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันโควิด-19 เท่านั้น

ตำรวจเตรียมกำลังควบคุมฝูงชนและรั้วลวดหนามไว้บริเวณรัฐสภา

ตำรวจเตรียมกำลังควบคุมฝูงชนและรั้วลวดหนามไว้บริเวณรัฐสภา

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวว่าการชุมนุมนี้ไม่ได้รับอนุญาต แต่อนุโลมให้ พร้อมย้ำว่าตำรวจไม่ได้ใช้กฏหมายรุนแรงเกินกว่าเหตุ และจะใช้กำลังเท่าที่จำเป็น โดยแจ้งว่าเตรียมกำลังไว้เพียงพอ ถ้าผู้ชุมนุมอยู่ในความเรียบร้อยก็ไม่จำเป็นต้องใช้

16.27 น. ประชาชนที่เดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมอภิปรายนอกสภา จัดโดยกลุ่มม็อบเฟส (MOB FEST) เปิดเพลงสาวบางโพ มีคนรวมตัวกันราวๆ 25-30 คนพร้อมรถเครื่องเสียง 2 คัน และไม่มีผู้ชุมนุมอยู่ฝั่งแยกเกียกกายนอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดคุมฝูงชน

กลุ่มม็อบเฟสจัดเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา

กลุ่มม็อบเฟสจัดเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา

ต่อมาเวลาประมาณ 16.35 น. ทางด้านแยกบางกระบือ ตำรวจ สน.บางโพ นำรถและรั้วเหล็กกั้นทางมุ่งหน้าเข้าพื้นที่หน้ารัฐสภา ให้รถเดินทางออกมุ่งหน้าศรีย่านเท่านั้น ซึ่งมีรถพนักงานที่กำลังเลิกงานออกจากบริษัทบุญรอดเดินทางโดยใช้เส้นทางนี้ ไม่ปรากฏตำรวจชุดควบคุมฝูงชน

16.45 น. ตำรวจชุดควบคุมฝูงพร้อมรถฉีดน้ำเข้าประจำการบริเวณแยกเกียกกาย และมีการติดตั้งลวดหนามหีบเพลงบริเวณถนน

17.24 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตำรวจควบคุมตัวชายอย่างน้อย 2 คนที่ถือป้าย “วิกฤตแรงงาน ขอคืนเงิน-ชราภาพ” อยู่บริเวณหน้าประตูใหญ่รัฐสภา โดยนำตัวชายทั้ง 2 มาพูดคุยบริเวณด้านหลังแนวตำรวจชุดควบคุมฝูงชน ก่อนจะได้รับการยืนยันจากไอลอว์ว่า มีผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 4 คน เจรจากับเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้วได้รับการปล่อยตัว

มีผู้ถือป้าย “วิกฤตแรงงาน ขอคืนเงิน-ชราภาพ” อยู่บริเวณหน้าประตูใหญ่รัฐสภา

มีผู้ถือป้าย “วิกฤตแรงงาน ขอคืนเงิน-ชราภาพ” อยู่บริเวณหน้าประตูใหญ่รัฐสภา

ผู้ถือป้ายเล่าว่า เดินทางมาตั้งแต่เมื่อวาน วันนี้จะนอนที่ทำเนียบอีกหนึ่งคืนแล้วจะไปที่อื่นต่อ โดยพวกตนทั้ง 4 คน ออกมาเรียกร้องเรื่องประกันสังคมและเงินชราภาพ อยากถอนประกันสังคมในส่วนของตนเองออกมา เพราะช่วงโควิด-19 ทำให้เกิดผลประทบ และตกงาน แต่รัฐอ้างข้อกฏหมายว่าไม่สามารถให้เงินประกันสังคมได้ และอยากให้สหภาพแรงงานมาช่วยแรงงานกลุ่มน้อยแบบพวกเรา ซึ่งเดินเรียกร้องบริเวณทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา เรียกร้องมาเป็นเวลา 9-10 เดือนแล้ว ปัจจุบันกำลังคิดอยู่ว่าจะไปชูป้ายตรงไหนที่จะไม่ถูกคุกคาม

ผู้ถือป้าย “วิกฤตแรงงาน ขอคืนเงิน-ชราภาพ” ก่อนถูกควบคุมตัว

ผู้ถือป้าย “วิกฤตแรงงาน ขอคืนเงิน-ชราภาพ” ก่อนถูกควบคุมตัว

สุริยันต์ คำธิมา

สุริยันต์ คำธิมา

“มันเป็นกฎหมายที่ประเทศเจริญแล้วเขาไม่ใช้กัน มันเป็นกฎหมายที่ป่าเถื่อนและไม่เห็นคนเป็นคน”

สุริยันต์ คำธิมา อายุ 56 ปี อดีตไกด์ที่เพิ่งตกงานช่วงโควิด-19 ระบาด อธิบายเมื่อถูกถามถึงป้ายที่สนับสนุนยกเลิกมาตรา 112 เขาบอกว่าคงจะแก้ได้ยากถ้าเรายังมีทหารยังเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ ซึ่งก็คงต้องให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของการชุมนุมที่มีอยู่ตอนนี้คือรัฐบาลประยุทธ์ต้องลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเหมือนประเทศอย่างอังกฤษ สวีเดนหรือญี่ปุ่น

สุริยันต์ยืนยันว่าสำหรับเขาอยากให้ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ไปเลย แต่ถ้าจะแก้ก็อยากให้เป็นเหมือนกับของประเทศอื่นๆ ซึ่งสถาบันฯของเขาก็อยู่ได้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของประเทศไม่เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง ไม่อย่างนั้นประชาธิปไตยก็จะไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วบางอย่างในบ้านเราก็พูดไม่ได้ในที่สาธารณะถ้าเราไม่มีอะไรเข้ามาแทรกแซงการเมืองบ้านเมืองเราก็คงจะดีขึ้น อาจจะตามหลังสิงคโปร์แค่ไม่กี่ก้าว แต่นี่กลายเป็นเราถอยหลัง

สุริยันต์บอกว่าตัวเขาเองก่อนที่โควิด-19 เขาเป็นไกด์ทำตลาดกับนักท่องเที่ยวอเมริกันมา 41 ปี แม้ไม่ได้มีค่าแรงประจำแต่งานรายวันก็รายได้ดีอยู่ถึงวันละ 2,000 บาท แล้วก็มีงานตลอดไม่ได้ว่างเป็นงานบริษัทเอกชนนักท่องเที่ยวมันหายไปหมด แต่ก็เพิ่งตกงานช่วงเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา

สุริยันต์บอกว่าปีที่แล้วก็มาทุกการชุมนุมของพวกเด็กๆ ตลอด แต่เขาก็ไม่ได้เพิ่งจะมาสนใจการเมืองเพราะตอนหนุ่มๆ เขาก็ไปชุมนุมไล่สุจินดา คราประยูรตอนปี 2535 ด้วย

“ตอนนั้นลุงก็ยังหนุ่มอายุ 28 ปี กำลังห้าวเลย การเมืองก็ซึมซับมาตั้งแต่สมัยเด็กละวิ่งหนีกระสุนตอนปฏิวัติป๋าเปรมอยู่เทเวศน์ปี 28 ก็วิ่งหลบกระสุนปืนใหญ่ปืนรถถัง สมัยประจักษ์ สว่างจิตร(1 ในแกนนำทำรัฐประหาร) เขาทำปฏิวัติไม่สำเร็จก็มีคนตายไปหลายคนเหมือนกันมีนักข่าวออสเตรเลียนตายไป 2คนหน้ากองพลที่ 1 รักษาพระองค์” อดีตไกด์เล่าประวัติการเข้าร่วมทางการเมืองของเขา และช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาถ้ามีชุมนุมทางการเมืองแล้วไม่ติดแขกก็มาตลอด จนตอนนี้ก็ได้มาเกือบทุกม็อบเพราะไม่มีงาน

“แต่ตอนนี้ลูกค้าก็ไม่มีแล้วเป็นศูนย์ การท่องเที่ยวจะกลับมาก็น่าจะปลายปี 65 หรือไม่ก็ 66 โน่นแหละ ตอนนี้ก็กินบุญเก่าไปก่อน ไม่มีบุญเก่าก็เรียบร้อย(หัวเราะ)”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net