รวมปราศรัยอภิปรายนอกสภาครึ่งแรก ใน #ม็อบ19กุมภา

  • ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนเปิดเวทีปราศรัย-ชี้การทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ และ รมต.แรงงาน ผิดพลาด-สร้างภาพ
  • ตัวแทนเครือข่ายสลัมสี่ภาค วิจารณ์นโยบายเยียวยาโควิด-19 คนจนเข้าไม่ถึง เพราะไม่เยียวยาถ้วนหน้า การจัดหาวัคซีนไม่น่าเชื่อถือ และใช้กฎหมายพิเศษพร่ำเพรื่อ
  • ตัวแทนกลุ่มจับตาปัญหาที่ดินชี้ คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง แต่รัฐบาลยังเปิดให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเล่าถึงการไล่ที่ เผาบ้าน และปิดเส้นทางไม่ให้มีการลำเลียงอาหารและเครื่องดื่มไปให้ประชาชนที่บางกลอย
  • เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมชี้ ทางออกจากความเหลื่อมล้ำคือรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำลายกฎหมายบำนาญแห่งชาติที่เสนอโดยประชาชนมากกว่าหมื่นคน
  • กลุ่มนักเรียนเลวเทียบ นักเรียนได้ค่าอาหารกลางวันมื้อละ 21 บาท ขณะที่ รมว.ศธ. มีงบอาหาร 533 บาท และกลุ่มนักเรียนเลวได้รับเรื่องร้องเรียนกว่า 1,354 ฉบับ ขณะที่ รมว.ศธ. กล่าวว่าการศึกษาไทยไร้ปัญหา

19 ก.พ. 2564 ม็อบเฟส (MOB FEST) จัดกิจกรรมอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา โดยมีตัวแทนภาคประชาสังคมจากหลากหลายประเด็นร่วมปราศรัย เช่น ประเด็นแรงงาน คนจนเมือง ที่ดิน ความเหลื่อมล้ำ และการศึกษา เป็นต้น

ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน

เวลาประมาณ 18.00 น. ธนพร วิจันทร์ จากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวทีกิจกรรมประชาภิปรายนอกรัฐสภา บริเวณหน้ารัฐสภา ระบุว่าการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นผิดพลาด พร้อมวิจารณ์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล

ธนพร วิจันทร์

ธนพร วิจันทร์

ธนพร กล่าวว่า โครงการเราชนะ มอบเงิน 7,000 บาท แบ่งจ่าย 2 เดือนให้ประชาชนเพียงแค่ 31 ล้านคนเท่านั้น ส่วนประชาชนอีก 31 ล้านคนไม่ได้รับสิทธิ์ อีกทั้งโครงการนี้ยังสร้างความเหลื่อมล้ำ เพราะประชาชนที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา คือ คนที่มีสมาร์ทโฟนเพราะต้องลงทะเบียนและใช้เงินผ่านแอปพลิเคชันเท่านั้น ในขณะที่โครงการเรารักกันที่จ่ายเงินเยียวยาจำนวน 4,000 บาท ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้เงิน 4,000 บาท แบ่งจ่ายสัปดาห์ละ 1,000 บาทผ่านแอปพลิเคชัน แต่ตอนนี้ ประชาชนต้องการเงินสดเพื่อนำไปใช้จ่ายเฉพาะหน้า เช่น จ่ายค่าเช่าบ้าน จ่ายหนี้ จ่ายค่าเทอมให้ลูกหลาน ประชาชนไม่ได้ต้องการเงินในแอปฯ เพื่อไปซื้อของตามร้านค้าที่รัฐบาลกำหนด พร้อมฝากถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ว่า เหตุใดจึงไม่จ่ายเงินเยียวยาให้ประชาชนในจำนวนที่เท่ากันทุกโครงการ

"เรารับไม่ได้กับนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีปัญญา ถามวัวตอบควาย ตอบไม่ตรงคำถาม แถจนสีข้างถลอก วันนี้คุณกู้เงินมาแต่ประชาชนทุกคนร่วมกันใช้หนี้ ดังนั้นประชาชนต้องได้รับการเยียวยา ประชาชนทุกคนล้วนได้รับผลกระทบ นักบิน แอร์โฮสเตส ได้รับผลกระทบหมด วันนี้เสียงประชาชนที่ออกมายังมากกว่า ส.ส. ในสภา ดังนั้น ส.ส. ต้องฟังเสียงประชาชน และประชาชนต้องการฟังคำตอบจากรัฐมนตรีทั้ง 10 คนที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ" ธนพรกล่าว

ธนพร ระบุว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบาย พร้อมทั้งวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เช่น ค่าอาหารกลางวันนักเรียน 21 บาท หรือการนำโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไปตั้งไว้ในพื้นที่ชุมชน ซึ่งทำลายวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของคนในพื้นที่

นอกจากนี้ ธนพรยังตำหนิสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกติกาหรือประกาศโดยที่ไม่เคยถามประชาชนคนทำงานว่าเห็นด้วยหรือไม่ ใช้ระบบเหมารวม คิดแบบเผด็จการ หากเป็นประชาธิปไตยจะทำอะไรต้องถามประชาชนก่อน ทั้งยังตำหนิว่าสุชาตินั้นเอาแต่สร้างภาพ โครงการจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่งที่เคยพูดไว้ ตอนนี้เป็นอย่างไรแล้วไม่มีใครทราบรายละเอียด จ้างงานนานกี่เดือน แล้วมีคนตกงานต่อจากนั้นหรือไม่ ไม่มีใครทราบทั้งสิ้น

ธนพร วิงวอนประชาชนที่มีความเห็นต่างให้ดูการตอบคำถามของรัฐบาลแล้วใช้เหตุผลไตร่ตรองประเมินว่าควรยอมรับรัฐบาลชุดนี้ต่อไปหรือไม่ โดยก่อนลงจากเวที ธนพรขอให้ประชาชนที่ร่วมฟังการปราศรัย ชู 3 นิ้ว และพูดพร้อมกันว่า “พวกเราราษฎรขอยกมือไม่ไว้วางใจรัฐบาลเผด็จการ ประยุทธ์ ออกไป ประยุทธ์ออกไป ประยุทธ์ออไป”

นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัมสี่ภาค

นุชนารถ แท่นทอง จากเครือข่ายสลัมสี่ภาค ผู้ปราศรัยคนที่ 2 วิจารณ์นโยบายการเยียวยาประชาชนของรัฐบาลว่าสร้างความเหลื่อมล้ำและเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุน

นุชนารถ แท่นทอง

นุชนารถ แท่นทอง

นุชนารถ กล่าวว่า คนจนในเมืองได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายการเยียวยาโควิด-19 รอบแรกของรัฐบาล เพราะไม่มีใครเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิดังกล่าว แม้เครือข่ายภาคประชาชนจะพยายามผลักดันให้มีการเยียวยาถ้วนหน้า แต่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับไม่รับฟัง และยืนยันดำเนินนโยบายเยียวยาในแบบฉบับของตนเอง ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ คือ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ แม้กระทั่งการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 2 ก็ยังทำนโยบายเช่นเดิม ซึ่งทำให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้รับผลประโยชน์มากขึ้น เช่น ผู้คิดคนแอปพลิเคชันให้หน่วยงานต่างๆ รวมถึงบริษัทที่ดูแลด้านอุปกรณ์รับสิทธิ โดยทั้งหมดนี้ ถือเป็นการทุจริตโดยนโยบายทั้งสิ้น

นอกจากนี้ นุชนารถ ยังตั้งคำถามว่าเหตุใด รัฐบาลจึงทำให้นโยบายการเยียวยาเป็นเรื่องยุ่งยาก ในเมื่อมีข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักแล้ว ก็ควรจะใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ให้ประชาชนมาลงทะเบียนซ้ำซ้อน และมีคนตกหล่นจำนวนมาก

นุชนารถ วิจารณ์การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลว่าไม่น่าเชื่อถือ ราวกับว่าต้องการให้ประชาชนเป็นหนูทดลอง พร้อมตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงนำวัคซีนจีนที่มีผลการศึกษาไม่ชัดเจนมาให้ประชาชนใช้ ในขณะที่วัคซีนเจ้าอื่นมีผลการศึกษาที่ชัดเจนกว่า

นุชนารถ กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลชุดนี้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ม.44 พร่ำเพรื่อ และมีนัยสำคัญกับโครงการใหญ่ๆ ทั้งสิ้น เช่น นิคมอุตสาหกรรมจะนะ หรือพื้นที่บางกลอย ส่วนคนจนเมืองในกรุงเทพฯ กว่า 200,000 ครอบครัวก็ถูกการรถไฟไล่ที่เพื่อให้บริษัทต่างชาติมาลงทุนรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่

เฉลิมชัย วัดจัง กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch THAI)

เฉลิมชัย วัดจัง จากกลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch THAI) กล่าวปราศรัยในหัวข้อ "ไล่รัฐก่อนที่รัฐจะไล่เรา" โดยระบุว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินสูงมาก ประชาชนไทยกว่า 75% ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์และที่ดินต่างๆ แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กลับดำเนินนโยบายให้ต่างชาติเข้ามาเช่าพื้นที่เป็นระยะเวลา 99 ปี ในเขต EEC ซึ่งเงื่อนไขการเช่าที่ดินเปรียบเสมือนรัฐย่อยในรัฐไทย ซึ่งนโยบายลักษณะนี้เคยถูกเสนอต่อรัฐสภาในสมัยรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร แต่คนกลับชี้ว่าทักษิณขายชาติ เฉลิมชัย จึงตั้งคำถามว่า การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ เรียกว่าขายชาติหรือไม่

เฉลิมชัย วัดจัง

เฉลิมชัย วัดจัง

เฉลิมชัย ยกตัวอย่างกรณีพื้นที่บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่รัฐคุกคามประชาชนด้วยการไล่ที่ เผาบ้าน และปิดเส้นทางไม่ให้มีการลำเลียงอาหารและเครื่องดื่มไปให้ประชาชนที่เดินขึ้นไปบนใจแผ่นดิน นอกจากนี้ เฉลิมชัยยังตั้งคำถามเรื่องการขอใช้ที่ดินในเขตป่าของทหาร ว่าถูกต้องและเป็นไปตามขั้นตอนหรือไม่

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ หรือไผ่ จากเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (wefair) ขึ้นปราศรัยบนเวทีเรื่องรัฐสวัสดิการและ UBI-universal basic income หรือ รายได้พื้นฐานเพื่อชีวิตถ้วนหน้า โดยระบุว่า รัฐบาลต้องดูแลประชาชนตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ด้วยการมอบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าแก่ประชาชนทุกคน

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

นิติรัตน์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำที่ไร้วิสัยทัศน์และบริหารบ้านเมืองผิดพลาดล้มเหลว ปล่อยให้ประเทศมีความเหลื่อมล้ำสูงติดอันดับโลก ซึ่งทางออกของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า แต่ พล.อ.ประยุทธ์ เน้นสร้างคะแนนนิยมแบบรัฐสวัสดิการชิงโชค ไม่คำนึงถึงประชาชน ทั้งยังทำลายกฎหมายบำนาญแห่งชาติที่มอบเงินผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งเสนอชื่อโดยประชาชนมากกว่า 10,000 รายชื่อ โดยกฎหมายนี้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนวัยทำงาน และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนวัยเกษียณให้ดียิ่งขึ้น

นิติรัตน์ กล่าวว่า ชนชั้นนำไทยมองว่าการพัฒนาชาติต้องเป็นไปตามกลไกทุนนิยม แต่ความจริงมันไม่เป็นเช่นนั้น เพราะทุนนิยมมาเจอกับอำมาตย์ไทยทำให้เกิดระบบผูกขาด นอกจากนี้ นิติรัตน์ เน้นย้ำว่า ไม่อาจไว้ใจรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะไม่เชื่อว่ารัฐบาลเผด็จการจะสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้แก่ประชาชนได้

ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ กลุ่มนักเรียนเลว

ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ หรือมิน จากกลุ่มนักเรียนเลว กล่าวปราศรัย พร้อมเทเงินเหรียญบาทจำนวน 533 เหรียญลงบนพื้นเวทีเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และวิจารณ์การกระทำของณัฐพล ทีปสุวรรณ ที่โยนเหรียญบาทในรัฐสภาขณะตอบคำถามการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ลภณพัฒน์ หวังไพสิฐ

ลภณพัฒน์ หวังไพสิฐ

ลภนพัฒน์ กล่าวว่า ณัฐพลเคยแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าไม่มีความคิดจะเพิ่มงบอาหารกลางวันให้แก่นักเรียน ทั้งยังโต้กลับนโยบายของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ต้องการให้เพิ่มงบอาหารกลางวันจาก 20 เป็น 24 บาท ว่า “นั่นเป็นความคิดที่สมองกลวง” พร้อมบอกว่าตนจะเพิ่มงบอาหารกลางวันนักเรียนเป็นขั้นบันไดให้ไปถึง 36 บาท แต่สุดท้ายกลับลงเอยด้วยการเพิ่มงบเพียงแค่บาทเดียว

ลภนพัฒน์ กล่าวว่า ในขณะที่นักเรียนทั่วประเทศได้รับเงินค่าอาหารกลางวันเพียง 21 บาท ณัฐพลกลับได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงอาหารกลางวันจำนวน 533 บาท ซึ่งตนเตรียมเงินจำนวนนั้นมาด้วย เป็นเหรียญบาททั้งหมด และขอเทเงินลงพื้นเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เป็นคำถามถึงณัฐพลว่า หากต้องรับเบี้ยอาหารกลางวันด้วยการเทเงินลงพื้นจะรู้สึกอย่างไร

นอกจากนี้ ลภนพัฒน์ ยังนำเอกสารรับเรื่องร้องทุกข์จากนักเรียนทั่วประเทศจำนวน 1,354 ฉบับมาแสดงบนเวทีปราศรัย โดยระบุว่า เอกสารเหล่านี้คือส่วนหนึ่งที่นักเรียนส่งเข้ามาหากลุ่มนักเรียนเลว ซึ่งขัดแย้งกับคำพูดของณัฐพล ที่บอกว่าการศึกษาไทยไม่มีปัญหา และไม่ใช่หน้าที่ของกลุ่มนักเรียนเลวที่ต้องมารับเรื่องร้องทุกข์จากนักเรียนทั้งประเทศ แต่เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท