บุตรแห่งม้ง ทนายความชาติพันธุ์ : เมื่อคนในศึกษากระบวนการยุติธรรม ในคดีป่าไม้ที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์

คุยกับ 'เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล' มหาบัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ มช. ผู้คว้ารางวัลวิทยานิพนธ์ดีมาก จาก “กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในมุมมองของกลุ่มชาติพันธุ์ในคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้” ถอดเนื้อหางานวิจัยและชีวิตของเขาจากหมู่บ้านในเขตป่าสงวนสู่นักเรียนกฎหมายที่ตั้งคำถามต่อเอกสารสิทธิในที่ดินของคนบนพื้นที่สูง

บรรดาทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล เป็นคนหนึ่งที่ทำงานบนเส้นทางสายนี้มาอย่างยาวนาน เขาคลุกคลีอยู่กับการทำคดีป่าไม้ที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงมากว่า 15 ปี ความพยายามในการกลับคืนสู่ใจแผ่นดินของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยแห่งผืนป่าแก่นกระจานที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในช่วงเวลานี้เป็นเหตุผลสำคัญที่เราอยากชวนเลาฟั้งมาพูดคุยกัน เพื่อชี้ให้สังคมได้เห็นถึงอีกด้านในการต่อสู้ของคนชาติพันธุ์ในคดีป่าไม้ที่ดิน นอกจากชาวบ้านต้องลงถนนต่อสู้เรียกร้องสิทธิด้วยตัวเองแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์หลายคนที่อยู่กับป่ายังต้องวนเวียนกับการขึ้นศาลในคดีป่าไม้ที่ดิน

เลาฟั้ง บัณฑิตเทิดสกุล

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล มหาบัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์

นอกเหนือจากการเป็นทนายความอาชีพแล้ว เลาฟั้งยังเป็นมหาบัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ วิทยานิพนธ์ปริญญาโทเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในมุมมองของกลุ่มชาติพันธุ์ในคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้” ของเขาเพิ่งคว้ารางวัลวิทยานิพนธ์ดีมาก ประจำปี 2563 จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาใช้โอกาสในการเรียนครั้งนี้หาคำตอบเกี่ยวกับปัญหาสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านคดีป่าไม้ที่ดิน ในระดับที่ลึกลงไปสู่แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังระบบกฎหมายและความคิดที่ฝังรากอยู่ในหัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล รวมทั้งตัวคนชาติพันธุ์เอง เพราะในแง่หนึ่งเล่าฟั้งมีเลือดเนื้อของคนชาติพันธุ์ม้งอยู่เต็มตัว วิทยานิพนธ์เล่มนี้จึงเขียนขึ้นจากสายตาของคนในอย่างแท้จริง

เด็กชายจากหมู่บ้านในเขตป่าสงวนสู่นักเรียนกฎหมายที่ตั้งคำถามต่อเอกสารสิทธิในที่ดินของคนบนพื้นที่สูง

เลาฟั้งเป็นม้งที่เกิดและเติบโตในแม่ฮ่องสอน จังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย หมู่บ้านของเขาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่ปายฝั่งซ้าย เขาโตมาท่ามกลางบรรยากาศของชุมชนชนเผ่าที่มีคนม้ง กะเหรี่ยง ไทใหญ่ และปะโออยู่รวมกัน แม้จะมีความหลากหลายแต่วิถีชีวิตของคนกลุ่มชาติพันธุ์ในหมู่บ้านไม่ต่างกันมากนัก พวกเขาอยู่กับป่า ทำไร่ ทำสวนหาเลี้ยงครอบครัวอยู่ในป่า

“ต่อให้บ้านเรามีบ้านเลขที่ ก็เป็นบ้านเลขที่ชั่วคราวที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ส่วนที่ดินทำกินทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวน ตอนนี้พื้นที่บางส่วนยังไปอยู่ในเขตอุทยานอีกด้วย”

การโตมาในพื้นที่ป่าสงวนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ทำให้เลาฟั้งได้เห็นปัญหาการประกาศพื้นที่ป่าทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้าน หรือกระทั่งการประกาศพื้นที่ป่าสงวนซ้อนทับกับพื้นที่อุทยาน เมื่อ 20 ปีก่อนคนในหมู่บ้านของเขาก็ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ยึดที่ดินคืน ขณะที่มาเจอชาวบ้านกำลังแผ้วถางที่ทำกิน แต่ก็ไม่มีการจับกุมดำเนินคดีชาวบ้านในพื้นที่เหมือนหลังสมัยนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. ที่ชาวบ้านถูกเอาผิดในคดีป่าไม้ที่ดินพ่วงไปด้วย

เขายิ่งมองเห็นความไม่เป็นธรรมในชีวิตของคนชาติพันธุ์ที่อยู่กับป่าชัดเจนขึ้นไปอีก เมื่อเข้ามาเป็นนักศึกษากฎหมายในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิชากฎหมายและที่ดินตอนปริญญาตรีทำให้เขาเกิดคำถามในใจว่า ทำไมที่ดินข้างล่างมีเอกสารสิทธิได้ แต่บ้านเขามีไม่ได้

“ตอนเรียนกฎหมายป่าไม้ที่ดินสิ่งที่ทำให้เอะใจเราก็คือ ทำไมที่อื่นมีเอกสารสิทธิได้ แล้วทำไมบนพื้นที่สูงออกไม่ได้ ทั้งๆ ที่คนก็อยู่กันมานาน มันเทียบให้เห็นกันชัดๆ เลย ที่ดินแปลงหนึ่งอยู่ข้างล่าง อีกแปลงอยู่ข้างบน ที่ข้างล่างคนเพิ่งมาอยู่ไม่เท่าไหร่เขาได้สิทธิแล้ว แต่ที่ดินข้างบนนอกจากไม่มีเอกสารสิทธิยังถูกประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนอีก”

เลาฟั้งตีแผ่ความซับซ้อนของปัญหาป่าไม้ที่ดินของคนกลุ่มชาติพันธุ์ที่เขาเห็นมาเกือบทั้งชีวิตให้เราฟัง ตอนเด็กการยึดที่ดินเป็นเรื่องจริง มีชาวบ้านหลายคนสูญเสียที่ดินทำกินจริง แต่ในยุค คสช. ที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ต้องทำยอดแข่งกันเดินหน้าทวงคืนที่ดินจากชาวบ้าน การยึดหลอกเริ่มเกิดขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่เองก็ไม่อยากมีปัญหากับชาวบ้าน บางพื้นที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ใช้วิธีเจรจากับผู้ใหญ่บ้านให้หาที่ป่าเสื่อมโทรมให้ยึดและถ่ายรูปส่งนาย ยืนยันการตรวจยึดตามคำสั่ง คสช.

การยึดจริงยึดหลอกตีกันไปหมด น่าสลดที่วิถีชีวิตของคนกลุ่มชาติพันธุ์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างผลงานของเจ้าหน้าที่

หลังเรียนจบปีแรกของการทำงานเลาฟั้ง เลือกเข้าเป็นอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) เขาถูกส่งไปทำงานในศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน สบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน รับผิดชอบงานป่าไม้ที่ดินและสัญชาติ ที่นี่เขาได้ทำคดีความในศาลและลงถนนพาชาวบ้านที่มีปัญหาเรื่องที่ดินร่วมเดินเรียกร้องสิทธิกับองค์กรต่างๆ เขาบอกเราอย่างภูมิใจว่า เป็นหนึ่งในทนายความไม่กี่คนที่ไปนอนข้างถนนกับชาวบ้าน

“เดิมทีเราก็อยู่กับปัญหาเหล่านี้อยู่แล้ว แต่พอเราไปอยู่กับกลุ่มคนที่เขาเจอปัญหาที่หนักกว่าเรา ได้ไปสัมผัสกับปัญหาทางคดี เวลาไปชุมนุมก็ได้เห็นบรรยากาศของการเจรจาต่อรอง ไปเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องกฎหมายนโยบาย มันก็ทำให้เราเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่และเป็นเรื่องของความไม่เป็นธรรม”

หลังจบการฝึกงาน 1 ปี เลาฟั้งยังทำงานอยู่กับองค์กรเดิมต่ออีกถึง 7 ปี ก่อนจะขอทุนมาก่อตั้งองค์กรเล็กๆ ของตัวเองเมื่อพ.ศ. 2557 ชื่อ “ศูนย์สิทธิชุมชน” ในพื้นที่แม่สะเรียง ทำงานในประเด็นเกี่ยวกับเขื่อนสาละวินและให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงจนถึงปัจจุบัน

วิทยานิพนธ์ของบุตรแห่งม้ง

วิทยานิพนธ์เล่มนี้เปิดเรื่องมาด้วยบรรยากาศการใช้อำนาจภายในศาลที่ทำให้จำเลยซึ่งเป็นคนชาติพันธุ์ตัวเล็กลงเรื่อยๆ เมื่อก้าวเข้าสู่ห้องพิจารณาคดีและนั่งอยู่ต่อหน้าทุกคนที่วางอำนาจเหนือพวกเขา สถานะจำเลยลดทอนความเป็นคนของผู้ถูกฟ้องคดีได้ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ยิ่งในคนชาติพันธุ์ความเป็นคนของเขาแทบจะสูญสิ้นไปนับตั้งแต่อ้าปากพูดภาษาไทยติดๆ ขัดๆ ออกมา จำเลยบางคนไม่ใช่แค่พูดแต่ฟังภาษาไทยไม่ออกด้วยซ้ำ การใช้อำนาจจึงยิ่งกดทับให้จำเลยรวมไปถึงญาติพี่น้องที่นั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีหวาดกลัว

วิทยานิพนธ์

“ถ้าเราเข้าไปนั่งสังเกตการณ์ในคดีที่มีกระบวนการจับตาเขา (ศาลและเจ้าหน้าที่ภายในศาล) จะระมัดระวัง แต่ถ้าเราเข้าไปในจังหวะปกติที่ชาวบ้านชาวเมืองไป โดยที่ไม่มีคนเข้ามาสังเกตการณ์ การวางอำนาจมันจะสูงกว่านั้น ตำรวจศาล ผู้พิพากษา อัยการ เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์เวลาพูดกับจำเลยบรรยากาศมันต่างออกไป”

เลาฟั้ง เลือกศึกษาชีวิตของคนม้งและกะเหรี่ยงในคดีป่าไม้ที่ดินจำนวน 8 เคส โดยมองผ่านทฤษฎีชาติพันธุ์แนววิพากษ์ (Critical Race Theory : CRT) นับเป็นงานศึกษาชิ้นแรกๆ ของไทยที่นำทฤษฎี CRT มาใช้อธิบายต่อปัญหาการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในคดีป่าไม้ที่ดินของกลุ่มคนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงอย่างจริงจัง เขาพยายามเขียนวิทยานิพนธ์เล่มนี้เพื่อสร้างชุดคำอธิบายใหม่ที่ทำให้เห็นปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ที่แฝงอยู่ในระบบกฎหมายของไทย ซึ่งบ่มเพาะมาจากความคิดและทัศนคติในแง่ลบที่สังคมมีต่อคนกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ก่อนจะนำมาสู่การบัญญัติและการบังคับใช้กฎหมายที่กดทับและกีดกันคนอีกกลุ่มหนึ่งโดยที่เราไม่รู้ตัว

ทฤษฎีชาติพันธุ์แนววิพากษ์เป็นแนวคิดของนักวิชาการด้านกฎหมายในอเมริกาที่ใช้วิเคราะห์ปัญหาของคนผิวสีในสังคมอเมริกันที่ถูกเลือกปฏิบัติ แม้ว่าขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมกันของคนผิวสีจะประสบความสำเร็จจนเกิดเป็นกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติและมีการรับรองสิทธิพลเมืองให้คนผิวสีกับคนผิวขาวมีความเท่าเทียมกัน คนทั่วไปหรือกระทั่งนักกฎหมายเชื่อว่ากฎหมายเหล่านี้จะช่วยยุติการเหยียดสีผิวในสังคมอเมริกันได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งนักวิชาการกฎหมายได้เข้าไปดูสถิติการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวสีหลังมีกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติแล้วกลับพบว่า ทำไมคนผิวสียังคงถูกเลือกปฏิบัติมากกว่าคนผิวขาว เช่น ที่ด่านตรวจตำรวจเลือกโบกรถคนผิวสีมากกว่าคนผิวขาว หรือในชุมชนที่เป็นย่านคนใช้ยาเสพติดตำรวจก็จะไปตรวจคนผิวสีมากกว่าคนผิวขาว ทั้งที่จริงๆ แล้วคนผิวสีเป็นแค่เพียงคนเสพ คนที่มีอิทธิพลและคุมตลาดยาจริงๆ คือคนผิวขาว แต่ตำรวจไม่ตรวจไม่จับ มาไล่จับแต่คนผิวสี

“สถิติเหล่านี้ทำให้นักวิชาการกฎหมายรู้สึกว่าการปฏิบัติที่แตกต่างกันนี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ และไม่ได้หมายความว่าตำรวจไม่ชอบคนผิวสีคนนี้ก็เลยเลือกปฏิบัติ แต่เขาพบว่ามันเป็นการกระทำอย่างเป็นระบบ ซึ่งการเลือกปฏิบัติเหล่านี้ไม่ได้ผิดกฎหมายอย่างชัดเจนซะทีเดียว เพราะการที่ตำรวจจะเรียกตรวจใครก็เป็นดุลพินิจของตำรวจเช่นกัน แต่คำถามคือ ทำไมเขาเรียกตรวจคนผิวสีมากกว่าคนผิวขาว และทำอย่างเป็นระบบด้วย”

การกระทำอย่างเป็นระบบตามแนวคิดของทฤษฎีชาติพันธุ์แนววิพากษ์อธิบายได้เป็น 3 เรื่องด้วยกัน หนึ่ง สีผิวเป็นเรื่องที่ถูกประกอบสร้าง ในทางชีววิทยาความเป็นคนของคนผิวสีกับคนผิวขาวไม่ได้มีความแตกต่างกัน แต่การให้ความหมายต่อคนผิวสีโดยสังคมต่างหากที่ประกอบสร้างให้คนผิวสีแตกต่างจากคนผิวขาว ทั้งเรื่องสถานะชนชั้น สติปัญญา เศรษฐกิจ นิสัย พฤติกรรม

“คนผิวสีจะถูกให้ความหมายว่าเป็นพวกโหดร้าย เจอแล้วต้องระมัดระวัง คนผิวขาวก็จะมีความรู้สึกแบบนี้ตลอด เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาควบคู่กับกฎหมาย นโยบาย ความรู้ ค่านิยมทั้งหลายที่สร้างให้คนผิวสีแตกต่างจากคนผิวขาว และแตกต่างในเชิงที่ด้อยกว่า ต่ำกว่า เลวกว่า ดุร้ายกว่า”

สอง การเหยียดผิวสีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยปกติทั่วไป การเหยียดผิวสีในอเมริกามีประวัติศาสตร์มากว่าร้อยปีและสิ่งเหล่านี้แทรกซึมอยู่ในสำนึกของคนผิวขาวและคนผิวสี คนขาวก็รู้สึกว่าตัวเองมีความเป็นคนสูงกว่า ขณะที่คนผิวสีก็รู้ว่าเขาต่ำกว่า การเหยียดผิวในสังคมอเมริกันจึงกลายเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขได้

และสาม กฎหมายและนโยบายของรัฐถูกออกมาเพื่อรองรับให้คนบางกลุ่มมีสถานะที่สูงกว่าคนบางกลุ่ม ในทฤษฎีจะใช้คำว่า กฎหมายและนโยบายถูกออกแบบมารองรับโครงสร้างสังคมที่ให้คนผิวขาวมีอำนาจครอบงำหรือว่ามีสถานะที่สูงกว่าคนผิวสี พอคนผิวขาวถูกประกอบสร้างให้มีสถานะที่สูงกว่า กฎหมายและนโยบายก็ถูกออกแบบเพื่อรองรับอำนาจของพวกเขาด้วย หลักสูตรการศึกษาในสังคมอเมริกันก็เป็นอีกส่วนของปัญหาที่ทำให้สังคมซึมซับว่าคนผิวขาวสูงกว่าคนผิวสี แต่การออกแบบของหลักสูตรมีความแยบยลจนตัวผู้เรียนเองก็ไม่รู้สึกว่าการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้สังคมเกิดการแบ่งแยก

เลาฟั้ง บัณฑิตเทิดสกุล

พอนำทฤษฎีชาติพันธุ์แนววิพากษ์มาจับชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยที่โดนคดีป่าไม้ที่ดินแล้วคุณเห็นอะไรบ้าง

บริบทของสังคมไทยอาจแตกต่างกันตรงที่ปัญหาของเราไม่ใช่เรื่องผิวสี แต่เป็นความแตกต่างกันทางชาติพันธุ์ แต่เราคิดว่าในแง่ของข้อเท็จจริงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกรณีของคนชาติพันธุ์ในประเทศไทยได้ เนื่องจากแม้ว่าภายใต้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่คนกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยยังถูกมองว่าต่ำกว่าคนทั่วไป

ในวิทยานิพนธ์เล่าฟั้งใช้วิธีการศึกษาโดยการวิเคราะห์เรื่องเล่า (narrative analysis) ตามแนวทางของทฤษฎี CRT เขาไม่ได้ดูแค่ผลจากคำพิพากษาของศาล แต่ดูลึกเข้าไปถึงชีวิตของคนชาติพันธุ์ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในคดีป่าไม้ที่ดิน ไล่มาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ชุมชน สังคมวัฒนธรรมของชนเผ่านั้น ตัวจำเลยและครอบครัวญาติพี่น้องที่แวดล้อมของเขา ก่อนจะวิเคราะห์เรื่องเล่าของจำเลยแต่ละคน หรือที่เลาฟั้ง เรียกว่า "ผู้ถูกกดขี่" เพื่อชี้ให้เห็นรายละเอียดรอบด้านของความแตกต่างจากชีวิตคนทั่วไป ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้เขาจริตในการต่อสู้คดีของคนชาติพันธุ์แต่ละเผ่าได้ด้วย

“คนกะเหรี่ยงวัฒนธรรมความเชื่อของเขาจะเป็นคนที่ค่อนข้างจะยอมคน เคารพผู้มีอำนาจ จริตที่จะตอบโต้ต่ำ ไม่ใช่ว่าไม่มี เขามีแต่ว่าอีกรูปแบบหนึ่ง เขาอาจจะไม่ได้ตอบโต้ตรงๆ เหมือนคนเผ่าอื่น ส่วนคนม้งจะมีจริตในการต่อสู้อย่างตรงไปตรงมามากกว่า ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจของคนม้งที่ดีกว่า พึ่งพาตัวเองได้มากกว่า ถ้าเป็นคนกะเหรี่ยงในคดีที่เคยไปทำการจูงใจให้เขาสู้คดีค่อนข้างยาก เขาจะมีความรู้สึกว่าตัวเองต่ำกว่า ในเมื่อตัวเองตัวเล็กกว่าการจะไปสู้กับรัฐทำให้เขาไม่คาดหวังกับผลของคดี และคิดว่าสู้ไม่ได้ พอคิดแบบนี้เขาก็เลยไม่อยากที่จะสู้”

คนชาติพันธุ์ที่อยู่กับป่ามักถูกจับการใช้ชีวิตปกติ การตื่นเช้ามาทำไร่ทำสวนของพวกเขาถูกรัฐระบุให้เป็นความผิด และทุกช่วงของการตกเป็นผู้กระทำความผิดคนชาติพันธุ์ต้องพบกับปัญหาตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ขั้นตำรวจ อัยการ และศาล

“การดำเนินการของตำรวจมีแพทเทิร์นในการดำเนินคดีกับคนชาติพันธุ์ อย่างเช่น การถามว่าต้องการทนายไหม เขาไม่มีการอธิบายต่อว่าความหมายของการมีทนายความดีหรือไม่ดี จำเป็นอย่างไร และทนายความฟรีนะ (ทนายอาสาของสถานีตำรวจ) ไม่ใช่ทนายที่คุณต้องไปเสียเงินจ่าย เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ถูกอธิบาย เขาถามอยู่คำเดียว ต้องการทนายไหม? คนส่วนใหญ่ที่ไม่รู้ก็เลยตอบว่า “ไม่ต้องการทนายความ” ตำรวจก็สอบไปฝ่ายเดียว ทำให้ข้อเท็จจริงที่ตำรวจยึดถือจึงเป็นข้อเท็จจริงของฝ่ายเจ้าหน้าที่มากกว่า ส่วนข้อเท็จจริงของฝ่ายผู้ต้องหาที่ให้ไปบางทีตำรวจเขาไม่จด เช่น การให้ข้อเท็จจริงว่าเขาทำกินในที่ดินมาเป็นเวลานาน ยิ่งเป็นเรื่องที่พูดถึงวิถีชีวิตของเขา เจ้าหน้าที่จะไม่จด ตำรวจอาจจะมองว่าไม่ใช่สาระสำคัญของคดี ในทางรูปคดีตำรวจเขาจะดูว่า มีเอกสารสิทธิไหม ที่ดินเป็นของคุณไหม

ต่อมาพอไปถึงอัยการจะเป็นขั้นตอนที่เราแทบไม่รู้เรื่องเลย เพราะว่าอัยการเขาจะไม่สื่อสารกับตัวจำเลย อัยการจะรับสำนวนจากตำรวจมาพิจารณา ถ้าข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะทำให้สั่งฟ้องได้ เขาก็สั่งฟ้อง แต่ถ้าไม่พอเขาจะสั่งให้ตำรวจสอบใหม่ แต่จะไม่เรียกตัวจำเลยมาสอบเอง โดยหลักการเราคิดว่าถ้าอัยการพบข้อสงสัย อัยการซึ่งเป็นคนตัดสินใจว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ถ้าคุณยังสงสัยในข้อเท็จจริงดังกล่าว คุณควรจะเรียกตัวจำเลยมาสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม สอบเขาด้วยตัวเอง ซึ่งมันจะทำให้การสั่งฟ้องของอัยการใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงมากขึ้น และส่วนใหญ่ในคดีป่าไม้ที่ดินอัยการมีแนวโน้มสั่งฟ้องชาวบ้านเกือบทุกคดี

ขณะที่เมื่อเรื่องไปถึงศาล ชาวบ้านที่ไม่มีทนายความส่วนใหญ่รับสารภาพหมด เพราะพอเขาไม่มีทนายความให้ปรึกษา ได้คุยแต่กับอัยการ ตำรวจศาล เจ้าหน้าที่ศาล ที่ส่วนใหญ่แนะนำให้รับสารภาพแลกกับการได้ลดโทษ หรือบางคนถูกกดดันให้รับสารภาพ “ถ้าปฏิเสธศาลลงโทษเต็มนะ ติดคุกนะ” การขู่แบบนี้ในภาวะที่คนไม่มีทางเลือก เขายิ่งรับสารภาพ ในเคสที่มีทนายความก็อาจเจอปัญหาเรื่องล่าม บางทีล่ามแปลไม่หมด อธิบายสั้นๆ ถ้าเป็นคดีของคนม้งที่พี่เป็นทนายเอง พี่ฟังรู้เรื่องว่าเขาพูดอะไร พี่ก็จะถามย้ำให้”

เรื่องเล่าของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ในคดีป่าไม้ที่ดินมีหลายอย่างที่สอดคล้องกับทฤษฎีที่คุณเลือกมาใช้

พอเอาทฤษฎีไปปรับกับเรื่องเล่าและเรื่องที่พบในกระบวนการยุติธรรมเราสามารถวิเคราะห์ปัญหาของคนกลุ่มชาติพันธุ์ออกมาได้เป็น 3 เรื่องด้วยกัน

หนึ่ง ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ของคนบนพื้นที่สูงเป็นเรื่องที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาให้แตกต่างจากคนพื้นราบ สังคมมีการให้ภาพลักษณ์ให้แก่คนที่ถูกเรียกว่าเป็น “ชาวเขา” ใน 3 เรื่องที่ฝังอยู่ในหัวของคนทั่วไปมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน หนึ่ง ชาวเขาเป็นพวกที่อพยพเข้ามา สอง เป็นพวกก่อการร้าย (เป็นภาพจำตั้งแต่สมัยคอมมิวนิสต์) และสาม เป็นพวกตัดไม้ทำลายป่า คนในสังคมบางส่วนรู้สึกไปแล้วว่าคนกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้มีความเป็นคนไทย อพยพเข้ามาทีหลังคนไทย เคยเป็นผู้ก่อการร้าย มีการใช้ที่ดินตัดไม้ทำลายป่า ยิ่งถ้าคนที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจอย่างศาล อัยการ ตำรวจ รู้สึกต่อภาพของชาวเขาเช่นนั้นด้วย พอเขาเข้ามามีส่วนในคดี การที่จะปฏิบัติต่อคนกลุ่มชาติพันธุ์จึงมีแนวโน้มไปในทางกีดกัน ไม่ให้สิทธิ หรือใช้มาตรฐานที่รุนแรงกว่าคนทั่วไป เนื่องจากอคติฝังอยู่ในการมองคนชาติพันธุ์เป็นอื่น ดังนั้น คนกลุ่มชาติพันธุ์จึงโอกาสที่จะถูกกดทับได้มากกว่าคนปกติทั่วไป

สอง ปัญหาสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา กฎหมายไทยมีหลักการที่ก้าวหน้าในรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มีการกำหนดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคที่เท่าเทียมกันของประชาชนไว้ ส่วนในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็มีการระบุถึงสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาไว้ ซึ่งสิทธิเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นมาบนพื้นฐานว่าทุกคนมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเท่าเทียมกัน สิทธิของผู้ต้องหาของไทยตามตัวอักษรจึงมีมาตรฐานไม่ต่างจาก Right to fair trial (สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม) ซึ่งเป็นหลักการตามกฎหมายระหว่างประเทศ

แต่ในความเป็นจริงทางสังคมสิทธิเหล่านี้ไม่ได้ถูกยกมาใช้ทั้งหมด การใช้สิทธิและการให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาผูกพันอยู่กับเรื่องโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมแห่งชาติ (ที่ค่อนข้างกีดกันคนชนเผ่าอื่น ชาติพันธุ์อื่น) งานของนิธิ เอียวศรีวงศ์ และสายชล สัตยานุรักษ์ ที่ศึกษาเรื่องวัฒนธรรมแห่งชาติระบุว่า ความเป็นคนไทยต้องประกอบด้วยความรู้ระดับหนึ่ง พูดภาษาไทยได้ เข้าใจวัฒนธรรมไทย มีฐานะทางการเงินในระดับหนึ่ง ที่สำคัญต้องมีชาติพันธุ์ที่ถูกยอมรับว่าเป็นคนไทยก่อน ซึ่งถ้าวัดกันแบบนี้คนชาติพันธุ์มีสิ่งเหล่านี้น้อยมาก สุดท้ายโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมแห่งชาติยังเกี่ยวพันไปถึงเรื่องการใช้อำนาจ

“ยิ่งในระบบที่ conservative เท่าไหร่ การใช้อำนาจก็ยิ่งมีฐานของวัฒนธรรมแห่งชาติเหล่านี้สูง กระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นระบบที่ conservative มากๆ เพราะฉะนั้นการใช้อำนาจจึงย้อนกลับมาถึงเรื่องพวกนี้สูงมาก”

สาม ความเท่าเทียมกัน จากประเด็นเดิมที่กล่าวว่า กฎหมายรับรองให้ทุกคนคนมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ถ้าดูผิวเผินตามตัวอักษรกฎหมายก็ดูเป็นกลาง กำหนดเป็นกรอบไว้ใครที่ทำตามก็ได้รับสิทธิหมด แต่ว่าถ้าเราดูลึกลงไปในรายละเอียดของหลักเกณฑ์เราจะพบว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดมาตรฐานเอาไว้เพื่อรองรับให้คนบางกลุ่มมีโอกาสเข้าถึงเท่านั้น และกีดกันคนบางกลุ่มออกไป โดยเฉพาะคนที่มีสถานะต่ำกว่า อย่างเช่นในเรื่องการประกันตัว

“คุณมีสิทธิประกันตัว แต่คุณต้องมีเงิน 200,000 มาวางก่อน หรือคุณต้องเป็นข้าราชการหรือมีญาติเป็นข้าราชการ ถ้าเป็นชนชั้นที่ต่ำกว่า คุณไม่มีญาติเป็นข้าราชการ ไม่มีเงินสด ที่ดินของคุณก็ไม่มีเอกสารสิทธิที่จะไปวางประกันตัวได้ คุณก็เข้าไม่ถึงสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว ตัวกฎหมายที่เรามองว่ารับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน จริงๆ แล้วมันถูกออกแบบไว้ เพื่อทำให้คนบางกลุ่มเข้าถึงสิทธิ ส่วนคนบางกลุ่มเข้าไม่ถึงสิทธินี้”

วิทยานิพนธ์ของเลาฟั้งพยายามอย่างมากในการเปิดเผยให้เห็นถึงปัญหาเชิงระบบที่ซ่อนอยู่ในชีวิตของคนกลุ่มชาติพันธุ์เมื่อพวกเขาต้องเข้าสู่คดีป่าไม้ที่ดิน ทฤษฎีและการวิเคราะห์ที่เขาเลือกมาใส่ในวิทยานิพนธ์เล่มนี้ทำงานกับอคติทางสังคมที่มีต่อคนกลุ่มชาติพันธุ์และอำนาจกดทับที่ให้คนกลุ่มชาติพันธุ์เข้าไม่ถึงสิทธิและความเท่าเทียมกันในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จนได้ออกมาเป็นภาพของผู้คนที่ถูกสังคมทำให้ตกขอบซึ่งอาจไม่เคยประจักษ์หรือนึกถึงตามเหตุผลที่เขาพยายามนำเสนออย่างเป็นระบบ

ความเป็นลูกหลานคนชาติพันธุ์และนักกฎหมายในตัวทำให้เลาฟั้ง สามารถอธิบายทุกซอกทุกมุมของความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงได้เป็นอย่างดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท