Skip to main content
sharethis

ชาวบางกลอย 7 คนที่ถูกออกหมายจับฐานบุกรุกแผ้วถางพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จากการเดินทางกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดิน เดินทางมอบตัวที่ สภ.แก่งกระจาน ก่อนศาลจังหวัดเพชรบุรีปล่อยตัวชั่วคราวประชาชนบางกลอย ไม่มีหลักประกัน วางเงื่อนไขไม่กลับไปกระทำความผิด หรือขึ้นไปบริเวณป่าบางกลอยบน หรือพื้นที่อื่นที่ไม่อนุญาต หากฝ่าฝืนปรับ 50,000 บาท

เดอะรีพอร์ตเตอร์ รายงานเมื่อ 12.40 น. ว่า ชาวบางกลอย ทนายความ และสมาชิกจากภาคีSaveบางกลอย เดินทางมาที่ สภ.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อมาให้กำลังใจชาวบางกลอยจำนวน 7 คน ที่ถูกออกหมายจับจาก สภ.แก่งกระจาน ฐานบุกรุกแผ้วถางพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เดินทางมามอบตัวกับพนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน

โดยก่อนหน้าที่ชาวบ้านทั้ง 7 คนจะเข้าพบพนักงานสอบสวน ได้ทำพิธี “กีจึ๊” ผูกข้อมือเรียกขวัญกำลังใจ โดยมีหน่อแอะ มีมิ บุตรชายของปู่คออี้ ผู้อาวุโสของบ้านบางกลอย เป็นผู้ประกอบพิธีเรียกขวัญกำลังใจที่หน้า สภ.แก่งกระจาน โดยหน่อแอะกล่าวว่า เป็นหน้าที่สำคัญที่ต้องเดินทางมาเพื่อเป็นกำลังใจให้กับลูกหลาน การกลับไปทำกินและอยู่อาศัยในพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เป็นเป้าหมายสูงสุด เพราะเป็นผืนดินบรรพบุรุษ ผืนดินแห่งจิตวิญญาณของชาวบ้าน พร้อมยืนยันว่าไม่เคยโกรธ หรือคิดจะขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง พ่อ (ปู่คออี้) บอกเสมอว่าเราต้องไม่ทะเลาะเบาะแว้งกับใคร แต่หากไปทำให้ใครต้องโกรธก็สามารถมาลงโทษตนได้ ไม่ถือโทษอะไร เพียงแค่ต้องการกลับไปอยู่ในผืนดินของพ่อเท่านั้น

ด้านทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เผยว่า ในวันนี้ชาวบ้านทั้ง 7 คนมีความประสงค์จะมามอบตัวเพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ใจ พร้อมเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายเพื่อยืนยันว่าการกลับไปบางกลอยบน มิใช่เพื่อไปแผ้วถางบุกรุก แต่เพื่อกลับไปทำกินและอยู่อาศัยบนผืนดินดั้งเดิม ทั้งนี้ช่วงเช้ามีความสับสนเล็กน้อย หลังทนายความได้ติดต่อมาที่พนักงานสอบสวน ได้รับแจ้งในครั้งแรกว่าจะให้ชาวบ้านไปรายงานตัวกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จะมีการจัดหาทนายความ-ล่าม และจะมีการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) ด้วย ซึ่งชาวบ้านไม่ยินยอม ทนายความจึงได้คัดค้านคำร้องขอดังกล่าว เพราะชาวบ้านมารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเองแล้ว อุทยานฯ ไม่มีอำนาจในการจัดหาทนาย ล่าม หรือทำการตรวจ DNA ได้หากชาวบ้านไม่ได้ยินยอม และทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน คือทนายความที่ชาวบ้านบางกลอยร้องขอ

ในท้ายที่สุดได้พูดคุยทำความเข้าใจ จึงได้นำชาวบ้านที่ถูกกล่าวหามาพบพนักงานสอบสวน มีชาวบ้านที่พูด อ่าน ภาษาไทยได้ช่วยเป็นล่าม และมีทีมทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเป็นทนายความ

ก่อนหน้าที่ชาวบ้านทั้ง 7 คนจะเข้าให้การกับเจ้าหน้าที่ นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ตัวแทนชาวบ้านได้อ่านแถลงการณ์จากชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ระบุถึงเจตจำนงค์ของชาวบ้านที่ต้องการกลับไปใช้ชีวิตในผืนดินบรรพบุรุษ ขอรัฐหยุดคุกคาม เปิดทางให้คณะกรรมการแก้ปัญหาฯ ได้หาทางออก ยืนยันสิทธิเหนือพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ขอคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“พวกเราคือมนุษย์ เรามีเลือดมีเนื้อ มีชีวิตเหมือนพวกคุณทุกคน พวกเราอยากจะมีบ้านให้กลับ มีที่อยู่อาศัย มีที่ทำกิน มีผืนป่าผืนดินที่ช่วยหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณเฉกเช่นมนุษย์ทุกคน พวกเราอยู่กับป่าดูแลรักษาจนอุดมสมบูรณ์ แต่วันหนึ่งผืนป่านี้ถูกแย่งชิงและประกาศเป็นพื้นที่อุทยานทับหมู่บ้านและพื้นที่ไร่หมุนเวียน พวกเราต้องพลัดพรากจากผืนดินถิ่นกำเนิด ถูกโยกย้ายผลักไส ขับไล่ให้ลงมาอยู่ข้างล่าง บ้านที่เราเคยอยู่ ไร่ที่เราเคยทำ ยุ้งฉางที่เราเคยใช้เก็บข้าวถูกเผา สองชีวิตต้องสิ้นสูญจากการลุกขึ้นมาต่อสู้ มาถึงวันนี้พวกเรายังถูกออกหมายจับอย่างไม่เป็นธรรม” พงษ์ศักดิ์ กล่าว

ต่อมา มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือรายงานเมื่อ 16.26 น. ว่า ศาลจังหวัดเพชรบุรีมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวชาวบ้านบางกลอยทั้ง 6 คน จากข้อกล่าวหาบุกรุกว่าบุกรุกแผ้วถาง พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไม่มีหลักประกัน โดยวางเงื่อนไขไม่กลับไปกระทำความผิด หรือขึ้นไปบริเวณป่าบางกลอยบน หรือพื้นที่อื่นในเขตอุทยานฯ ที่ไม่อนุญาต หากฝ่าฝืนปรับครั้งละ 50,000 บาท และให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานปกครองทุก 12 วัน

โดยหมายจับในครั้งนี้มีบุคคลตามหมายจับทั้งสิ้น 30 คน มีจำนวน 22 คน ถูกควบคุมตัวดำเนินคดีเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 คงเหลือบุคคลที่ยังไม่ถูกจับกุม 8 คน และมี 1 ใน 8 คน มีชื่อในหมายจับแต่ไม่ได้ขึ้นไปทำกินบนพื้นที่บางกลอยบนแต่อย่างใด จึงไม่ได้มามอบตัวในวันนี้ด้วย

แต่เมื่อมารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้รวม 7 คน กลับพบว่า มี 1 คนที่ชื่อผิด แต่รูปถ่ายและนามสกุลถูก เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งให้ออกจากห้องสอบสวน และไม่ได้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนในวันนี้แต่อย่างใด

ด้านโพสต์ทูเดย์ รายงานว่า ชญาธนุส ศรทัตต์ หรือ เฌอเอม อดีตผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2020 และชาวบางกลอย ร่วมอ่านแถลงการณ์ ภาคี save บางกลอย “การกลับบ้านไม่ควรโดนคดี ปล่อยตัวโดยไม่มีเขื่อนไข” โดยมีรายละเอียด ดังนี้

การอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินดั้งเดิมของบรรพบุรุษเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม รัฐไม่ควรอพยพหรือ กระทำการใดๆ ที่เป็นทำลายวิถีชีวิตของชุมชน โดยเฉพาะการทำไร่หมุนเวียนที่เป็นวิถีวัฒนธรรม เป็นความหมายของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ด้วยความเชื่อในการดูแลรักษาป่า เพราะความอุดมสมบูรณ์ของป่า นำมาสู่วิถีชีวิตที่ปลอดภัยและยั่งยืนของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ดังนั้น กะเหรี่ยงจึงมีชีวิต การทำกิน ประเพณี และวัฒนธรรม ที่สอดคล้องกับการดูแลป่า มาอย่างน้อย 109 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการประกาศกฎหมายป่าไม้ฉบับใดๆ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย จึงต้องการกลับไปทำกินในที่ดินบรรพบุรุษ บริเวณใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นที่ทำกินดั้งเดิมของชุมชนที่ถูกใช้กฎหมายและอำนาจ พรากวิถีชีวิตจิตวิญญาณของพวกเราไป ภายใต้วาทกรรมการอนุรักษ์ ที่กดขี่ประชาชน โดยได้จับกุมชาวบ้านเป็นจำเลย เพื่อสนับสนุนการปล้นชิงพื้นที่ซึ่งเป็นของประชาชน

จนนำมาสู่การเจรจาแก้ไขปัญหากับรัฐบาลด้วยกลไกคณะกรรมการศึกษาแก้ไขปัญหา กรณีบางกลอย ที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ได้มีคำมั่นสัญญาระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ว่ากระบวนการจะนำไปสู่การแก่ไขปัญหาโดยได้มีการประชุมครั้งแรก ในวันที่ 25 มี.ค. 2564 โดยเริ่มจากการชะลอ กระบวนการการดำเนินคดีที่ไม่ถูกต้อง เป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาเพื่อไห้ชาวบ้านได้กลับไปทำกินในที่ดินบรรพบุรุษ บริเวณใจแผ่นดิน ได้อย่างปลอดภัย และสิทธิในการประกันตัว ซึ่งเป็นหลักการสากลที่ว่า ผู้ถูกกล่าวหา ต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะตัดสิน เพื่อต้องการจะคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และผดุงความยุติธรรมของกระชวนการยุติรรรม ได้กำหนดไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงปรากฎในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งมีประเทศไทยกับอีก 172 ประเทศทั่วโลกเป็นภาคีด้วย หลักการที่กล่าวมานั้น เรายืนยันสิทธิในการประกันตัวของชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดินโดยไม่มีเงื่อนไข ที่เป็นการบังคับ ลดทอน หรือปิดกั้นสิทธิในกระบวนการการสืบค้นข้อเท็จจริง ของการกลับไปทำกินในที่ดินดั้งเดิมบรรพบุรุษบริเวณใจแผ่นดิน

สุดท้ายนี้ เราขอประกาศว่า ความต้องการกลับไปทำกินในพื้นที่บรรพบุรุษ บริเวณใจแผ่นดิน ของประชาชนภายใต้รัฐที่มีประชาชนเป็นเจ้าของแห่งนี้ เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ชอบธรรม ดังนั้น เราปฏิเสรไม่ได้ว่า รัฐบาลซึ่งเป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการรัฐของประชาชนแห่งนี้ ต้องรับผิดชอบต่อความต้องการของประชาชน ที่ต้องการกลับไปทำกินในพื้นที่บรรพบุรุษบริเวณใจแผ่นดิน และเราในฐานะประชาชน ยืนยันจะร่วมต่อสู้กับพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน จนกว่าชาวบ้านจะได้กลับไปทำกินในพื้นที่บรรพบุรุษ บริเวณใจแผ่นดินอย่างเป็นธรรมคนเท่ากัน ชาติพันธุ์ก็คือคน กลับใจแผ่นดินเท่านั้นคือคำตอบภาคี save บางกลอย 26 มี.ค. 2564

เมื่อถามถึงท่าทีของภาคีSaveบางกลอย ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ธัชพงศ์ แกดำ หรือบอย กล่าวว่า เราจะมีการติดตาม เพราะอย่าลืมว่า ตอนนี้เหลืออีก 20 วัน ที่จะครบกำหนด MOU ที่รัฐบาลได้ทำข้อตกลงไว้ ภาคีSaveบางกลอย ก็ยังคงมีกิจกรรมอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถติดตามได้ที่เพจ “ภาคีSaveบางกลอย”

ธัชพงศ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของภาคี save บางกลอย ดีใจที่พี่น้องได้รับการประกันตัว แต่ยังติดใจในเงื่อนไขที่ศาลไม่ให้พี่น้องเรากลับขึ้นใจแผ่นดิน เรามีความเห็นว่าเขาไม่ได้ผิดอะไร อยู่ดีๆ มาติดเงื่อนไขห้ามกลับใจแผ่นดิน เราไม่เห็นด้วยในเงื่อนไขนี้ แต่ยังดีที่วันนี้พี่น้องเราได้รับการประกันตัว คงจะต้องดูกันต่อไปอีก 20 วัน ฝากติดตามปฏิบัติการของภาคี save บางกลอย ด้วย

ขณะที่ไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ที่ประชุม อ.ก.พ.ทส. มีมติให้ลงโทษ "ปลดออก" ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 9 อุบลราชธานี อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ชี้มูลลงโทษไล่ออก หรือปลดออกจากราชการ โดยหลังจากนี้จะทำหนังสือถึงวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. เพื่อดำเนินตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ จตุพรกล่าวว่า ต้องการบอกว่าจะดูแลให้ดีที่สุด วันนี้ที่ประชุมมีมติเป็นไปตามที่ ป.ป.ท. เสนอให้ปลดออก ยังได้รับเบี้ยหวัด เบี้ยบำนาญอยู่ ขณะนี้ยังไม่ได้เซ็นคำสั่งซึ่งเป็นมติดังกล่าว โดยทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน โดยมีกรอบเวลา 30 วัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net