Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1. สรุปเนื้อหาสำคัญของหนังสือ

หนังสือความไม่ไทยของคนไทย[1] ได้มีการนำเสนอในเรื่องประเด็นหลักคือ ความเป็นคนไท - ไต ที่ถูกผนวกรวมขึ้นมาปรากฏอยู่ไหนความเป็นไทย ซึ่งมีปัจจัยที่สนับสนุนให้ความเป็นไท - ไต อยู่หลายประการที่ทำให้เกิดการขยายตัวจนทำให้พวกเขากลายเป็นฐานอำนาจทางวัฒนธรรม ภาษา เศรษฐกิจ และการเมืองในเวลาต่อมา

นาน้อยอ้อยหนูเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างจากเมืองแถงประมาณ 20 กิโลเมตรมีลักษณะคล้ายกับโซ่งหรือจะเรียกว่าเป็นหมู่บ้านก็ได้ ที่นี่เป็นแหล่งของจุดกำเนิดตามตำนานที่มีความเชื่อว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งกำเนิดมนุษย์ตามความเชื่อของคนในท้องที่ นาน้อยอ้อยหนูตั้งอยู่บนพื้นที่ราบภูเขามีสายน้ำไหลตามธรรมชาติมีระบบชลประทานที่ดีเพื่อที่ต่อการทำการเกษตรหรือการผลิตข้าวโดยเน้นไปที่การผลิตเพื่อเลี้ยงผู้คนในพื้นที่หรือจะเรียกได้ว่าเป็น การเกษตรแบบยังชีพ ภายในพื้นที่ได้พบเจอแห่งหินธรรมชาติหลายแห่งลักษณะเป็นทางน้ำไหลลงจากภูเขาลักษณะการไหลตัวของน้ำเป็นทางผ่านนาน้อยอ้อยหนูข้างล่างซึ่งคนในท้องที่เปรียบเสมือนว่าเป็นช่องน้ำที่ไหลมีลักษณะเหมือนช่องคลอดของเพศหญิง ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกิดตำนานกำเนิดมนุษย์ตามความเชื่อของคนในท้องที่เป็นการผนวกเอาธรรมชาติมาเชื่อมโยงทัศนคติและความเชื่อ

ตำนานการกำเนิดมนุษย์ถูกสร้างและเชื่อมโยงออกไปอยู่ได้เรื่อย ๆ หรืออาจจะพูดในทำนองที่ว่าการเล่าวิธีการสื่อสารแบบปากต่อปากนั้นสามารถเสริมเติมแต่งทั้งข้อเท็จจริงและสิ่งที่เกินความเป็นจริงลงเข้าไปได้ ซึ่งปรากฏตำนานการเกิดมนุษย์อยู่อีกหลายอย่างด้วยกันเช่น การเกิดของมนุษย์จากน้ำเต้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบที่มาของการกำเนิดมนุษย์ที่แตกต่างไปจากบุคคลทั่วไปในความเชื่อที่มีลักษณะในเชิงการแบ่งชนชั้นปรากฏอยู่คือ การกำเนิดของเจ้าที่มาจากแถงส่งลงมาซึ่งทำให้การกำเนิดของเจ้าดูมีความแตกต่างและความพิเศษจากมนุษย์หรือบุคคลทั่วไปจึงสืบเนื่องให้เกิดแนวความคิดการสืบสายโลหิตหรือการสืบสายตระกูลกันระหว่างภายในเพื่อลดการปะปนจากกลุ่มบุคคลอื่น ๆที่มีต้นกำเนิดที่ต่างกันในเวลาต่อมา แนวคิดในลักษณะนี้เป็นแนวคิดที่แสดงให้เห็นในประวัติศาสตร์ของรัฐไต - ไท จนถึงในระยะที่มีการสร้างเมืองจนกลายเป็นราชอาณาจักรก็ยังปรากฏแนวคิดในลักษณะนี้อยู่ เช่น อยุธยา ล้านนา เป็นต้น

ในการดำรงอยู่ของพวกไต - ไท ปรากฏว่าพวกเขามีเทคโนโลยีและกระบวนความรู้ในด้านการทำนาดำในการเลี้ยงชีพการผลิตถูกกระจายตัวออกเป็นวงกว้างทำให้เกิดการรวบรวมหรือเกิดการสร้างฐานกำลังเข้าเป็นปึกแผ่นเดียวกันหรือที่เรียกว่าเป็นการรวมอำนาจจนกลายเป็นชุมชน จากอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนก็ขยายตัวกลายเป็นเมือง หรือมีลักษณะการอยู่ร่วมกันที่ใหญ่ขึ้นปัจจัยดังกล่าวย่อมทำให้กฎแรงดึงดูดเข้ามาในท้องที่หรือที่เรียกว่าการดึงดูดการแลกเปลี่ยนสินค้ารวมไปถึงวัฒนธรรมที่ได้รับบ้านระหว่างการค้าขายด้วย

ภายในหนังสือได้มีการพูดถึง Zomia เป็นพื้นที่ในหุบเขาที่ห่างจากอำนาจและเป็นที่หลบรัฐของผู้คนในอุษาอาคเนย์ โดยเมื่อพวกชาวไท - ไต เข้าไปในบริเวณพื้นที่ก็ได้นำเทคโนโลยีความรู้เรื่องการทำนาดำของพวกเขามาเปลี่ยนให้พื้นที่บริเวณตรงนี้กลายเป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งพร้อมทั้งพื้นที่บริเวณนี้ยังกลายเป็นเครือข่ายทางการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้น ทำให้มีการอพยพและการย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ทำให้เมืองของพวกเขากลายเป็นแหล่งชุมชนที่มีประชากรหนาแน่นขึ้นจากชุมชนที่กระจัดกระจายหรือมีอำนาจเพียงเฉพาะภายในและชุมชนใกล้เคียงได้กลายเป็นตลาดสำหรับการค้าขายและมีอำนาจที่ใช้ต่อรองแลกเปลี่ยนสำหรับการซื้อขายมากขึ้น จากเหตุดังกล่าวการติดต่อค้าขายย่อมมีการติดต่อสื่อสารโดยใช้ภาษาเป็นสื่อกลางจึงทำให้ภาษา ไต - ไทของพวกเขาไม่กลายเป็นภาษากลางในการสื่อสารและยังเป็นการกระจายวัฒนธรรมออกไปสู่ภายนอกอีกด้วย

การกระจายวัฒนธรรมและภาษาผ่านการติดต่อค้าขายในข้างต้นนำมาซึ่งการผสมกลมกลืนวัฒนธรรม จนกลืนให้ชาติพันธุ์ชนชาติบางกลุ่มที่มีอำนาจในการต่อรองที่น้อยหรือมีอำนาจในมือไม่มากพอ ต้องยอมถูกกลืนชาติพันธุ์ของตนเองเพื่อผนวกกับรัฐที่มีอำนาจมากกว่าเพื่อการมีอยู่ของตนเอง ในเหตุนี้เองจึงมีแนวคิดเรื่องเชื้อชาติขึ้นมาจากแนวคิดของตะวันตกด้วย

แนวคิดดังกล่าวที่ได้เริ่มปรากฏขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 หรือหลังรัชกาลที่ 5  โดยแนวความคิดที่ได้รับมานี้ ทำให้เกิดรูปแบบการกระจายอำนาจเข้าสู่ท้องถิ่นหรือการกระจายอำนาจการปกครองขึ้นในเวลานั้นผลประโยชน์ต่าง ๆ จากการปฏิรูปของในรัชกาลที่ 5 ทำให้ส่วย อากรที่เคยเสียให้กับเจ้าเมืองถูกส่งต่อไปกรุงเทพฯได้มากยิ่งขึ้นทำให้คนชนชั้นสูงหรือคนที่มีอำนาจในท้องที่ต้องเสียผลประโยชน์ลงไป

จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองและการพยายามที่จะปฏิรูปบ้านเมืองเพื่อรวบรวมและทำให้สมบูรณาญาสิทธิราชย์มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นทำให้ความเป็นชาตินิยมย่อมมีความสูงมากขึ้นไปด้วยแม้พวกเชื้อชาติอื่น ๆที่อยู่ในอาณาบริเวณและการปกครองของไทยหรือสยามในเวลานั้นจะมีการปกครองของตนเองอย่างชัดเจนแต่เมื่อพวกเขาต้องมาอยู่ในอำนาจของสยามภายใต้การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองในลักษณะใหม่ทำให้พวกเขาต้องปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของตนเองเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรอง ดังเช่นในกรณีของล้านนาที่มีการเชื่อมสัมพันธไมตรีผนวกเข้ากับสยามผ่านการอภิเษกสมรสระหว่างกษัตริย์ของสยามและธิดาของล้านนา ซึ่งในเวลานั้นมีกลุ่มชาติพันธุ์ยวนอยู่ในล้านนาก็ต้องปรับเปลี่ยนและใช้สำนึกความเป็นไทยกับสยามเพื่อสถานภาพของตนเองและเพิ่มการต่อรองในรัฐให้ดียิ่งขึ้นยอมที่จะถูกกลืนดีกว่าเป็นเพียงประชาชนในประเทศราช

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13-14 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากทั้งในการเปลี่ยนแปลงของทางฝั่งตะวันตกที่ส่งผลมาถึงอุษาคเนย์และการเปลี่ยนแปลงในอุษาคเนย์เอง โดยในเวลานั้นภาษาไต - ไท ถูกปรับเปลี่ยนมาใช้ในพิธีกรรมและกฎหมายของราชอาณาจักรบนที่ราบลุ่มขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้นโดยถูกใช้เป็นภาษาราชการและภาษาสื่อกลางในการติดต่อค้าขายและยังมีอิทธิพลในด้านศาสนาที่ทำให้ภาษาไต - ไท กลายเป็นภาษาสื่อกลางจนพัฒนาจนจวบถึงที่เราใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวันทุกวันนี้

จากปัจจัยข้างต้นจะเห็นได้ว่าภาษาไต - ไท ถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการติดต่อค้าขาย ศาสนา และอื่น ๆอีกมากมาย ทำให้ผู้คนที่ใช้ภาษาไต - ไท ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นกลุ่มชาติพันธ์ไต - ไทก็ได้ หมายถึงว่าหากพวกเขามีความคุ้นเคยและคุ้นชินที่พอจะสามารถใช้ภาษานี้ในการติดต่อสื่อสารกันได้ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งนั่นก็ทำให้เราตีความในเชิงหนึ่งได้ที่ว่า แต่ละกลุ่มมีชาติพันธุ์ของตนเองเพียงแต่โดนอำนาจทางการเมืองที่ทำให้สิทธิ์และอภิสิทธิ์ของตัวเองถูกลดทอนลงทั้งนี้ปัจจัยด้านการค้าและอื่น ๆอีกมากมายทำให้พวกเขาถูกกลืนและถูกผนวกรวมลงไปในเวลาต่อมาและยังคงถูกกลืนและลดทอนความเป็นชาติพันธุ์ของตัวเองลงอยู่เรื่อย ๆจนปรากฏให้เห็นถึงในปัจจุบัน

2. ข้อถกเถียง

ข้อถกเถียงที่พบจากหนังสือคือ เรื่องกำเนิดมนุษย์ของไทริมฝังโขง สอดคล้องกับพวกไตที่อยู่เขาสูงด้านทิศตะวันออกอย่างไร นิธิ เอียวศรีวงศ์(ผู้เขียน)ได้ให้การสันนิษฐานว่าตำนานการเกิดมนุษย์อาจจะถ่ายทอดกันผ่านความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ มากกว่าการนำเอาตำนานติดตัวมาพร้อมกับการอพยพย้ายถิ่นฐานของผู้คนจากบริเวณเขาสูงลงที่ลุ่มแม่น้ำโขง เหตุที่เป็นเช่นนั้นนิธิได้ให้ข้อมูลว่านับตั้งแต่ในช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมานั้นเอกสารทางประวัติศาสตร์ของพวกไต(บริเวณทิวเขาด้านตะวันตกของเวียดนามในปัจจุบัน) ปรากฏว่ามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับราชสำนักหลวงพระบางรวมทั้งราชสำนักของเวียดนามเองด้วยแต่ก็ไม่มีข้อมูลที่ทำให้ทราบแน่ชัดว่าแท้จริงแล้วตำนานดังกล่าวเป็นของฝั่งใดกันแน่

แต่อย่างไรก็ตามภายตำนานมีปรากฏการกล่าวถึงชื่อสถานที่ที่มีอยู่จริงในเมืองแถน ตำนานมีความละเอียดและซับซ้อนกว่าที่ปรากฎอยู่ในตำนานขุนบรม(ตำนานของลาว) น้ำหนักในข้อเท็จจริงผู้เขียนจึงให้ความเห็นว่าตำนานดังกล่าวน่าจะเป็นของพวกไตบนภูเขาส่งต่อไปยังพวกไทริมฝังโขงเสียมากกว่า


3. แนวคิดที่ใช้

แนวคิดหลักที่ผู้เขียนนำมาใช้ภายในงานคือ แนวคิดของกองโดมินนาส์ ที่พูดถึงเกี่ยวกับกระบวนการThiization เป็นการกล่าวถึงกระบวนการที่ผู้คนในกลุ่มชาติติพันธ์อื่นค่อยๆกลายตัวเองเป็นไต - ไท เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับระบบการเมืองโดยกองโดมินาส์ตั้งชื่อว่าระบบกล่อง โดยเปรียบเทียบว่ามีกล่องใหญ่กล่องนึงที่ข้างในประกอบไปด้วยกล่องเล็ก ๆ ที่เรียงเป็นชั้นลงไปเรื่อย ๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าการปกครองโดยแบ่งชนชั้นการปกครองแบบไทยนั้นจะคงรักษาอำนาจของตนเองไว้เหนือชาติพันธุ์อื่น ๆ หรือพลเมืองที่ต่างวัฒนธรรมกันออกไปด้วยการรักษาความเป็นปึกแผ่นของชนชั้นการปกครองไว้ต้องหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งระหว่างกันทั้งนี้อาจจะสร้างสัมพันธ์ต่อกัน เช่น การแต่งงานระหว่างเมืองเพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวทำให้สายเลือดผู้ปกครองลดทอนความเป็นไทยน้อยลงไปเพราะเนื่องจากการแต่งงานเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างเมืองส่วนใหญ่จะเป็นการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์เช่น ชาติพันธุ์มอญ ชาติพันธุ์เขมร เป็นต้น

อีกแนวคิดหนึ่งคือแนวคิดของ เอ็ดมันด์ ลีช  เป็นการกล่าวถึงว่าภาษาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการเปลี่ยนแปลงของการกลืนทางชาติพันธุ์แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของกระบวนการที่เกิดขึ้นเพราะแม้บางกลุ่มชาติพันธุ์จะมีการกลืนตนเองเข้ากับชาติพันธุ์ไต - ไท เพื่อที่จะบอกว่าตนเองเป็นคนไต - ไท โดยสมบูรณ์แต่ก็มีบางกลุ่มที่กล่าวอ้างแต่ก็ไม่สามารถพูดภาษาไต - ไทได้ ดังเช่นตัวอย่างที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือคือ กลุ่มชาติติพันธ์ในที่ราบสูงชาน

ทั้งนี้ผู้เขียนได้เสนอสมทบด้วยว่าการค้าทางไกลเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนในชาติพันธุ์อื่นหันมาใช้ภาษาไต - ไท แล้วค่อยๆคลายตัวเองในเวลาต่อมาไม่เพียงแต่เฉพาะ รัฐเล็ก ๆเท่านั้นแต่ยังมีพัดใหญ่ๆที่ได้ประโยชน์จากการค้าของป่าทางไกลก็ได้กลายตัวเองไปด้วย ดังเช่นกรณีของ  เชียงใหม่ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย สุพรรณบุรี ลพบุรี ศรีรามเทพนคร นครศรีธรรมราช ก็ได้ทำความคุ้นเคยกับภาษาไต - ไท จนผลักดันทำให้กลายเป็นภาษาที่สื่อสารกันได้ระหว่างกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ในเวลาต่อมา ซึ่งในที่นี้ก็จะมีลักษณะเหมือนกับภาษาเขมรที่ในสมัยก่อนหน้านั้นก็เป็นภาษาที่นิยมและใช้สื่อสารในเวลาก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ผู้เขียนยังให้ความคิดเห็นว่ารากเหง้าของคนไทยแท้จริงนั้นคือ ความหลากหลายทางชาติพันธุ์และความหลากหลายในทางวัฒนธรรมที่มีมากมายคนไทยไม่ได้เป็นอะไรที่อยู่นิ่ง ๆ ตลอดเวลาและจะเป็นอย่างนั้นอยู่เช่นไปคนไทยมีการเคลื่อนย้ายมีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาและมีการแลกเปลี่ยนรับเอาวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เข้ามาอยู่เสมอซึ่งเมื่อนำเข้ามาแล้วก็จะมาผสมกับวัฒนธรรมภายในที่ตนเองมีอยู่ ซึ่งในที่นี้ก็จะทำให้เราได้ยินบทบาทของคนหลายกลุ่มในสังคมใดที่ไม่ได้เกิดจากกลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่งที่ผนวกเอาความเป็นชาติไทยขึ้นมาอย่างทุกวันนี้ 

ในสิ่งที่เรามองว่าเป็นอัตลักษณ์ไทยของเราแท้จริงแล้วควรจะตีแผ่ออกเป็นกว้างกว่านี้ไม่ใช่เฉพาะอัตลักษณ์ของคนไทยในภาคกลางแต่ว่าแท้จริงแล้วอัตลักษณ์ที่กว้างขวางจะสามารถทำให้เรามีอำนาจต่อรองกับโลกภายนอกบ้างยิ่งขึ้นดังจะเห็นได้จากกรณีการรวบรวมความเป็นหนึ่งของรัฐไทยหรือสยามในเวลานั้นที่พยายามรวบรวมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวเพื่อแสดงออกและบ่งบอกว่าตนเองมีอารยะ เพราะฉะนั้นหากถามว่าคนไทยคืออะไรคำตอบในตอนนี้มันก็คงไม่ตายตัวแต่ก็อาจจะเพราะตอบได้ว่าคนไทยคือกลุ่มชาติติพันธ์ที่มีความหลากหลายมีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ไม่ได้อยู่นิ่งตายตัว ไม่ใช่สิ่งที่ก่อขึ้นตามความคิดและความเข้าใจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคมที่เป็นความเชื่อที่ผิดว่าไทยนั้นมีเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์เป็นหนึ่งเดียวไม่ได้ผสมกลมกลืนหรือลอกเลียนวัฒนธรรมใครมา


4. เกี่ยวข้องในงานและจะใช้ในงานเราอย่างไร

หนังสือความไม่ไทยของคนไทย ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ สามารถนำไปใช้ศึกษาประกอบกับงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาชาติติพันธ์ไต - ไท และความเป็นมาต่าง ๆ ของคนไทยที่ถูกสร้างเป็นทฤษฎีต่าง ๆ โดยสามารถนำแนวคิดและข้อคิดเห็นไปใช้ร่วมกับทฤษฎีที่ว่าคนไทยมาจากไหนได้อีกเช่นกัน ทั้งนี้ยังสามารถศึกษาในด้านความเชื่อหรือคติความเชื่อการกำเนิดมนุษย์ในท้องที่ต่าง ๆเช่น ในกรณีในหนังสือ ที่กล่าวถึงการกำเนิดมนุษย์โดยมีความเชื่อที่ว่ามนุษย์เกิดจากน้ำเต้า และการผูกโยงความเชื่อในการกำเนิดมนุษย์เข้ากับธรรมชาติที่เกิดขึ้นในแต่ละสถานที่นั้น ๆ นอกจากนี้ยังสามารถศึกษาภาษาและวัฒนธรรมหลักการกลมกลืนทางวัฒนธรรมผ่านทางการค้าและการเผยแพร่ศาสนาของคณะเผยแพร่ศาสนาไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม หรือศาสนาคริสต์ ที่ต้องใช้ตัวกลางในการสื่อสารภาษาที่เป็นสื่อกลาง ซึ่งมีภาษาไต - ไท มาเป็นตัวกลางในการสื่อสาร นอกจากนี้ยังสามารถศึกษาการกลายชาติพันธุ์ในเชิงที่ว่าเพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่ตนเองโดยการทิ้งภาษา วัฒนธรรมของตนเองไปเพียงแค่ให้ภายนอกเห็นเท่านั้น แต่ภายในยังคงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของตนเองไว้ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมหรือภาษาถิ่นของตนเอง

แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาเรื่องความเป็นชาติพันธุ์ของคนไทยนั้น ยังคงมีช่องโหว่อยู่มากเนื่องจากมีประวัติศาสตร์ชาติหรือประวัติศาสตร์กระแสหลักครอบงำประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์เอาไว้ โดยเป็นการเล่าเรื่องความเป็นมาของคนไทยทุกคนในฐานะที่เป็นพลเมืองของชาติเดียวกัน การสร้างความทรงจำใหม่เข้าไปแทนที่ความทรงจำของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ แต่ความทรงจำร่วมจะประสบความสำเร็จในการใช้เครื่องมือในแง่ของการบังคับเชิงชี้ชวนชักชวนให้คนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติหรือเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ของภาคกลางแต่ก็ยังมีกลุ่มชนที่ยังรู้สึกว่าตนเองอยู่นอกเหนือประวัติศาสตร์ ดังเช่นกรณี ประชาชนเชื้อสายมลายู แม่จะถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของไทยแล้วแต่ก็ยังมีวัฒนธรรมมีความสุดโต่งของการเป็นอยู่เนื่องจากประวัติศาสตร์ชาติกระแสหลักบางกรณีก็ยังมีบางเรื่องราวที่กลุ่มคนเหล่านี้ยังเข้าไม่ถึงและไม่ได้รู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์นั้น ๆ เป็นต้น

ปัจจัยในข้างต้นที่กล่าวมานั้นจึงเป็นสาเหตุให้ข้อเท็จจริงบางประการหรือเอกสารสำคัญบางประการได้ถูกสร้าง ขึ้นมาใหม่เพื่อให้สิทธิ์ความชอบธรรมและล้มล้างสิ่งที่ทำให้ประวัติศาสตร์แห่งชาตินั้นดูไม่น่าเชื่อถือทิ้งลงไป ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากกันที่รัฐเข้าสู่ช่วงรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามในช่วงเวลานั้นซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 พยายามอาศัยอุดมการณ์สำคัญมาเป็นรากฐานใช้อำนาจพระมหากษัตริย์ในรัฐราชสมบัติมาเป็นแกนกลางของคำอธิบายอดีตของชาติโดยเริ่มต้นจากการอธิบายโดยยึดเอาตั้งแต่ความเป็นกรุงศรีอยุธยามาอธิบายความเป็นตัวตนและที่มาของตนเองเพื่อให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมมากยิ่งขึ้น

จากการผลักดันของประวัติศาสตร์ชาติที่จะทำให้ตนเองเป็นแกนกลางในแง่ต่าง ๆ ทำให้วัฒนธรรมไทยที่ส่วนใหญ่ล้วนสืบทอดมาจากวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์ุอื่นกลับถูกละเลยการให้ความสนใจและพยายามที่จะบอกว่าตนเองเป็นผู้ให้กำเนิดวัฒนธรรมต่าง ๆที่เกิดขึ้นทั้งนี้จึงทำให้เกิดเป็นปัญหาทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์และการศึกษาของผู้คนในรุ่นหลังที่ได้รับข้อเท็จจริงที่อาจจะถูกปิดเบือนอยู่ก็เป็นได้

 

อ้างอิง

[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์.  ความไม่ไทยของคนไทย.  กรุงเทพฯ : มติชน, 2559.

 

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ไท (834379) สอนโดย อ.ดร. ชัยพงษ์  สำเนียง

ภาพปก: โดย รศ.ดร. อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net