Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สืบเนื่องจากการโต้ตอบไปมาระหว่างผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” กับอาจารย์ผู้ใหญ่บางท่าน จนนำไปสู่ข้อกังขาหลายประการในทางวิชาการ ผู้เขียนจึงขอร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะในฐานะนักวิชาการคนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นเพื่อนหรือลูกศิษย์ของฝ่ายใด และไม่มีประเด็นการเมืองใดแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง 

ด้วยความสำเหนียกว่าตนเองไม่ได้มีความรู้กว้างขวางในทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผู้เขียนจึงขอวางกรอบคำอธิบายของตนเองไปที่ข้อความอ้างอิงที่เป็นปัญหาและเป็นจุดโต้แย้งสำคัญ จนนำไปสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในด้านลบ แต่ในด้านบวกก็ปลุกความสนใจของผู้คนจนช่วยผลักดันให้ยอดขายหนังสือเล่มนี้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

บทความนี้จะเน้นการวิเคราะห์ข้อความภาษาอังกฤษที่ถูกอ้างโดยผู้เขียน (ขออนุญาตเอ่ยนามคือ คุณณัฐพล ใจจริง) ในหนังสือหน้า 60 ที่ว่า ‘รัฐประหารครั้งนี้ (คือปี 2490 – ผู้เขียน) ไม่อาจสำเร็จได้หากปราศจากบทบาทของท่านผู้สำเร็จราชการฯ (ขอไม่เอ่ยนาม – ผู้เขียน) ซึ่งมีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน’ ข้อความภาษาอังกฤษที่ถูกอ้างนำมาจากหนังสือเรื่อง “Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Uncommon World” โดยคุณ Edwin F. Stanton เพื่อดูว่าข้อความสั้นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นนำไปสู่การตีความแบบใดได้บ้าง คำสำคัญของข้อความนี้คืออะไร และการตีความที่เป็นไปได้จะนำไปสู่ข้อสรุปว่าคุณณัฐพลตีความผิดจริงหรือไม่

ขอบเขตของบทความชิ้นนี้อยู่ที่การวิเคราะห์ข้อความโดยดูบริบท (context) ของความหมายทางภาษาเป็นหลักเท่านั้น หากจะดูบริบทแวดล้อมอื่นก็จะเป็นการพาดพิงถึงทฤษฎีทางวิชาการที่สนับสนุนกันได้เท่านั้น ไม่มีการพาดพิงถึงบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ข้อความที่ว่านี้คือ “Later the Prince Regent told me it seemed to [be] in the best interest of the country to acquiesce in what had been done in order to avoid bloodshed. “As you know,” he told me, “bloodshed is abhorrent to us as Buddhist.” (ขอบคุณข้อมูลจากมติชนและ Facebook ของคุณไชยันต์ ไชยพร)

คำและกลุ่มคำจำนวน 3 คำที่จะถูกนำวิเคราะห์ในบทความเพื่อหาความเป็นไปได้ของการตีความก็คือ “acquiesce” “interest” และ “in the best interest” 

ก่อนอื่นจำเป็นต้องชี้แจงว่า “การตีความ” เป็นวิธีวิทยาแบบหนึ่งที่ยอมรับและใช้กันอยู่ทั่วไปในทางวิชาการโดยเฉพาะสายมนุษยศาสตร์ เมื่อมนุษย์พยายามจะเข้าใจบางสิ่งหรือบางเรื่องที่หลักฐานเชิงประจักษ์มีไม่เพียงพอ และมนุษย์มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งที่มองไม่เห็นเช่นเจตนาของคน การทำความเข้าใจเกี่ยวข้องกับการทำให้ภาษาและความคิดมีความหมาย ซึ่งการทำให้ภาษาและความคิดมีความหมายเป็นที่เข้าใจได้ก็คือการตีความ

ดังนั้น ในทุกๆ การทำความเข้าใจของมนุษย์ต่อเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่ในระดับชีวิตประจำวันไปจนถึงการอ่านอักษรโบราณ เราทั้งหลายล้วนแต่ตีความภาษาเพื่อกำหนดความหมายบางอย่างต่อการรับรู้ของเราทั้งสิ้น การตีความจึงเป็นได้ทั้งวิธีวิทยาในทางวิชาการ และเป็นทักษะของการสื่อสารสำหรับมนุษย์ที่ต้องการทำความเข้าใจต่ออะไรบางอย่าง ยิ่งต้องการเข้าใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้กระจ่าง การตีความสิ่งนั้นก็จะยิ่งซับซ้อนและต้องพิจารณาบริบทแวดล้อมมากขึ้น

คำแรกคือ “acquiesce” เป็นคำกิริยา แปลว่ายอมรับหรือเห็นด้วยกับอะไรบางอย่าง (ในกรณีนี้คือการรัฐประหารปี 2490) แต่อาจเป็นการยอมรับโดยไม่เต็มใจก็ได้ (accept something unwillingly) ยอมรับโดยดุษณีก็ได้ (accept something without arguing) ยอมรับภายใต้แรงกดดันก็ได้ (accept something under pressure) ยอมรับโดยไม่ประท้วงก็ได้ (accept something without protest) เห็นด้วยหรือรับรองอยู่ในทีก็ได้ (agree/consent) เมื่อใช้กับคำบุพบท “in” ก็อาจแปลว่าเป็นการยอมรับโดยนัยคือรู้กันก็ยังได้ (accept something tacitly or passively)

คำที่สองคือ “interest” เป็นคำนามซึ่งมีคำแปลหลากหลายมาก อาจแปลว่าความคิดคำนึง (concern) ความสนใจใคร่รู้ (curiosity) อำนาจแห่งความตั้งใจ (power to hold one’s attention) ประโยชน์สาธารณะ (advantage/ benefit) หรือผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มบุคคลที่กระทำการบางอย่างร่วมกัน (group of people engaged in the same business or having something in common)

กลุ่มคำชุดที่สามไม่มีคำแปลเฉพาะ แต่ที่แยกออกมาเป็นอีกชุดเพื่อแสดงว่า เมื่อประกอบเข้ากับคำบุพบท “in” คำว่า “the best interest” ก็อาจมีความหมายที่แตกต่างจากการตีความ “the best interest” ที่ไม่ประกอบเข้ากับคำบุพบทดังกล่าว  

เมื่อทราบความหลากหลายในความหมายของคำสำคัญๆ แล้ว เราพบว่าแม้เพียงการพยายามทำความเข้าใจข้อความสั้นๆ ข้างต้นก็สามารถนำไปสู่การตีความได้มากมาย ในที่นี้ขอยกเพียงบางส่วนขึ้นมาพิจารณา

แบบที่หนึ่ง (มองแง่บวก): เมื่อ “Interest” แปลว่า ประโยชน์ของส่วนรวม ข้อความข้างต้นจะตีความได้ว่า ‘ภายหลังท่านผู้สำเร็จราชการได้กล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า มันดูเหมือน “เป็น” “ประโยชน์” อย่างดีที่สุดของประเทศที่ (ทำให้) ยอมรับในสิ่งอันได้ถูกกระทำไปแล้ว (คือการก่อรัฐประหาร) เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการนองเลือด “อย่างที่คุณรู้” ท่านกล่าวแก่กระผม “การนองเลือดนั้นเป็นที่รังเกียจต่อเราในฐานะชาวพุทธ”’

แบบที่สอง (มองแง่ลบ): เมื่อ “Interest” แปลว่า ผลประโยชน์หรืออำนาจของหมู่คณะที่ได้ตั้งใจกระทำการบางอย่างร่วมกัน ข้อความข้างต้นจะตีความอีกแบบได้ว่า ‘ภายหลังท่านผู้สำเร็จราชการได้กล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า มันดูเหมือน “อยู่ใน/เป็น” “ผลประโยชน์” ที่ดีที่สุดของประเทศซึ่ง (ทำให้) ยอมรับในสิ่งอันได้ถูกกระทำไปแล้ว (คือการก่อรัฐประหาร)...

เมื่อตีความแตกต่างกัน (ซึ่งความเป็นจริงมองได้มากกว่าสองแบบนี้) แบบแรกกับแบบที่สองจะแตกต่างกันตรงที่แบบแรกประเทศ (นัยคือประชาชน) จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างที่ดีที่สุดนั้น แต่แบบที่สองประเทศ (นัยคือประชาชน) อาจเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์อย่างดีที่สุดเพียงทางอ้อม (คือไม่เสียเลือดเนื้อเป็นต้น) เท่านั้น
   
แบบที่สาม (มองแง่บวก): เมื่อ “Acquiesce” แปลว่ายอมรับโดยไม่เต็มใจ ข้อความข้างต้นจะตีความได้ว่า ภายหลังท่านผู้สำเร็จราชการได้กล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า มันดูเหมือน “เป็น” “ประโยชน์” อย่างดีที่สุดของประเทศที่ (ทำให้) “จำต้องยอมรับ (โดยไม่เต็มใจ)” ในสิ่งที่ได้ถูกกระทำไปแล้ว (คือการก่อรัฐประหาร)...
  
แบบที่สี่ (มองแง่ลบ): เมื่อ “Acquiesce” แปลว่ายอมรับโดยนัยที่รู้กันหรือรับรองอยู่ในที ข้อความข้างต้นก็อาจถูกตีความได้อีกทางหนึ่งว่า ภายหลังท่านผู้สำเร็จราชการได้กล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า มันดูเหมือน “เป็นเรื่องใน” “ผลประโยชน์” อย่างดีที่สุดของประเทศที่ “ยอมรับโดยนัยรู้กัน” ในสิ่งที่ได้ถูกกระทำไปแล้ว (คือการก่อรัฐประหาร)... 
 
แบบที่สามและสี่ต่างกันตรงที่ เมื่อนิยามคำว่า “acquiesce” ต่างกัน ความเข้าใจการยอมรับของท่านผู้สำเร็จราชการก็จะออกมาไม่เหมือนกัน ซึ่งเราไม่สามารถบอกว่าการตีความแบบใดถูกต้องและเป็นจริงมากกว่า ตราบที่เรายังเป็นมนุษย์ที่มีข้อจำกัดด้านการรับรู้ และยังมีอคติจากประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน

ประการต่อมา เมื่อคำว่า “[in] the best interest” ถูกขับเบียดออกไปจากบริบทของการตีความและไม่ถูกกล่าวถึงโดยท่านผู้วิจารณ์ ทั้งๆ ที่คำนี้เป็นคำสำคัญและใกล้ชิดกับคำว่า “acquiesce” ที่สุด ก็ทำให้เกิดการตีความไปในเชิงบวกว่า การที่ท่านผู้สำเร็จราชการยอมรับ (จะไม่เต็มใจหรือโดยนัยรู้กันก็แล้วแต่) การก่อรัฐประหารปี 2490 นั้นเพราะต้องการหลีกเลี่ยงการนองเลือด แต่จากการพิจารณาส่วนขยายรูปประโยคของข้อความข้างต้นก็ทำให้สามารถตีความต่อได้ว่า การหลีกเลี่ยงการนองเลือดอาจสัมพันธ์กับการก่อรัฐประหาร แต่ไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงของการยอมรับการก่อรัฐประหารของท่านผู้สำเร็จราชการก็เป็นได้ 

แบบที่ห้า (มองแง่บวก): ท่านผู้สำเร็จราชการยอมรับการก่อรัฐประหาร “เพราะ” ท่านต้องการหลีกเลี่ยงการนองเลือดจริงๆ 

แบบที่หก (มองแง่ลบ): ท่านผู้สำเร็จราชการยอมรับการก่อรัฐประหาร “ที่” ได้กระทำลงไปเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด แต่ด้วยเหตุผลอื่นซึ่งอาจเป็นการปกป้องผลประโยชน์และอำนาจของหมู่คณะ 
 
จะเห็นได้ว่า แม้เพียงการพยายามทำความเข้าใจข้อความสั้นๆ ที่ประกอบด้วยประโยคเพียง 1-2 ประโยค ก็ยังสามารถนำไปสู่การตีความออกมาได้อย่างน้อยหกแบบที่ผสมผสานกันตามคำแปลภาษาที่แตกต่างกัน หากมองด้วยใจเป็นกลางในทางวิชาการ การที่คุณณัฐพลตีความข้อความเหล่านี้ออกมาเป็นว่า “...ผู้สำเร็จราชการฯ ซึ่งมีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน” จึงไม่ใช่การตีความ ผิด เนื่องจากคำแปลบางอย่างของคำสำคัญข้างต้นเอื้อต่อการตีความไปในทิศทางนั้นได้

ถึงแม้จะไม่ใช่การตีความผิด แต่ก็เป็นการตีความ เกิน เพราะแม้จะเชื่อว่าการยอมรับการก่อรัฐประหารเป็นแบบโดยนัยที่รู้กันเพื่อผลประโยชน์ของหมู่คณะ นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะชี้ว่าเป็นการรับรองอย่างแข็งขัน

อย่างไรก็ดี การตีความเกินเลยในทางวิชาการนับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ เพราะมนุษย์มีอคติจากประสบการณ์ส่วนตัวที่รับมาไม่เหมือนกัน หากรู้ตัวว่าพลาดตรงจุดใดก็ขอโทษ แก้ไข หรืออธิบายเพิ่มเพื่อรักษาจุดยืนของตนเอง เพียงเท่านี้เสรีภาพและบรรยากาศทางวิชาการก็สามารถดำเนินต่อไป

ตราบที่ยังใช้ภาษาและความคิดไม่มีมนุษย์คนใดไม่ตีความเพื่อทำความเข้าใจ และตราบที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมเราก็ยังคงถูกครอบงำอยู่ด้วยอคติแบบใดแบบหนึ่งไม่มากก็น้อย แล้วเหตุใดเราจึงต้องเล่นไม่เลิกกับบางจุดที่เป็นเพียงน้ำผึ้งหยดน้อยหยดเดียวในท้องน้ำมหาสมุทร เหตุใดจึงต้องตั้งค่าปรับให้แก่ความผิดพลาดจนทำให้วงวิชาการกลายเป็นง่อย การทำเช่นนั้นส่งเสริมความเจริญของประเทศชาติหรือสติปัญญาของผู้คนหรือ

เราทั้งหลายต่างเกิดในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่บรรพบุรุษสะสมไว้ยาวนานนับร้อยนับพันปี การตัดต่อเนื้อหาเพื่อกระชับข้อความหรือเลือกส่วนที่ต้องการนำมาใช้อ้างเหตุผลเป็นสิ่งที่ผิดอย่างไร สิ่งที่คุณณัฐพลเขียน (รวมทั้งงาน original ทั้งหลาย) มิใช่การท่องจำมุขปาฐะเพื่อดำรงไว้ซึ่งคัมภีร์โบราณทางศาสนา แบบนั้นตัดต่อไม่ได้และปัจจุบันก็คงไม่มีใครสามารถท่องจำเนื้อหาความรู้ได้ทั้งหมด หรือสามารถประกอบร่างข้อมูลทางประวัติศาสตร์ทั้งหมดได้โดยไม่ตัดย่อ ก็ในเมื่อไม่มีปุถุชนคนใดในยุคนี้รู้ชัดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตคืออะไร (โดยเฉพาะเจตนาของผู้กระทำ) ใครจะสามารถอ้างสิทธิ์เข้าใกล้สิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มากกว่าคนอื่น

ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่การตัดต่อข้อมูลทางประวัติศาสตร์ แต่อยู่ที่การตัดต่อแบบใดประกอบร่างความจริงได้สมเหตุสมผลและใช้อคติส่วนตัวให้น้อยที่สุดต่างหาก หน้าที่ของนักวิชาการที่ดีจึงเป็นการช่วยกันทำให้วิชาการขยายตัวขึ้นด้วยมุมมองจากการตีความใหม่ๆ และผ่านการตีความทั้งหมดที่เป็นไปได้เพื่อลดอคติจากประสบการณ์ มิใช่ทำให้วิชาการต้องอับอายเพราะเสรีภาพในการทำงานถูกกดทับไว้ ไม่ใช่โดยคนที่ไม่มีอคติแต่โดยคนที่เต็มเปี่ยมอยู่ด้วยอคติเนียนๆ อีกชุดหนึ่ง

อย่าให้เราต้องเข้าสู่ยุคมืดที่ไม่เพียงศิลปะจะเป็นทุกข์ แต่วิชาการก็ไม่หลงเหลือเสรีภาพในการทำงาน (และตีความ) เพราะนั่นจะเป็นหายนะทางสติปัญญาของประเทศชาติอย่างแท้จริง

 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
มติชนข่าวออนไลน์. https://www.matichon.co.th/politics/news_2635773. 
Facebook คุณไชยันต์ ไชยพร.Chaiyan Chaiyaporn
Oxford Advanced Learner’s Dictionary.
Roget’s Thesaurus of Synonyms & Antonyms in Dictionary Form.
Webster’s New World Dictionary of American English.


  
    
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net