ศบค. ออกมาตรการปิดสถานศึกษา-ห้ามรวมตัวเกิน 50 คน-ขายอาหารถึง 23.00 น.

ศบค. เตรียมออกข้อกำหนดห้ามจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา ห้ามรวมตัวเกิน 50 คน ปิดสถานบริการ จำกัดเวลาร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และยิม มีผล 18 เม.ย. 2564 ขณะที่ผู้ป่วยใหม่พุ่งเกินพันติดต่อกันเป็นวันที่ 3 แต่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ประมาณร้อยละ 0.1 ของประชากร

16 เม.ย. 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เผยแพร่ข้อมูลการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด 19) ในการระบาดระลอก เม.ย. 2564 ประจำวันที่ 16 เม.ย. 2564 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการเดินทางกลับหลังเทศกาลสงกรานต์ และลดการแพร่เชื้อที่สัมพันธ์กับกลุ่มสถานบันเทิงและการรวมกลุ่มสังสรรค์ โดยปรับระดับพื้นที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด

ศบค. ยังเผแพร่ (ร่าง) ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20) ซึ่งกำหนดให้มีผลบังคับใช้วันที่ 18 เม.ย. 2564 เนื้อหาโดยสรุป ดังนี้

  • ห้ามจัดการเรียน การสอน การสอบ ในสถาบันการศึกษาทุกประเภท
  • ห้ามรวมตัวเกิน 50 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาต
  • ปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการ อาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน อย่างน้อย 14 วัน
  • ขอความร่วมมือให้ประชาชนงดหรือ ชะลอการเดินทางในช่วงเวลานี้โดยไม่มีเหตุจำเป็น หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด
  • ขอความร่วมมือให้ประชาชนเลื่อนหรือ งดการจัดกิจกรรมสังสรรค์ งานเลี้ยง หรืองานรื่นเริง
  • ขอความร่วมมือภาคเอกชนให้บุคลากรทำงานจากที่บ้าน หรือสลับวันทำงาน

นอกจากนี้ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, ขอนแก่น, ชลบุรี, เชียงใหม่, ตาก, นครปฐม, นครราชสีมา, นนทบุรี, ปทุมธานี, ประจวบคีรีขันธ์, ภูเก็ต, ระยอง, สงขลา, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, สระแก้ว, สุพรรณบุรี, และอุดรธานี มีมาตรการเพิ่มเติมดังนี้

  • จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มได้ถึง 23.00 น. แต่นั่งรับประทานที่ร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. และห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน
  • ห้างสรรพสินค้าเปิดได้ถึง 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และปิดส่วนเครื่องเล่น/ตู้เกม
  • ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน เปิดบริการได้ระหว่าง 04.00-23.00 น.
  • สถานที่ออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส เปิดให้บริการได้ไม่เกิน 21.00 น. และจัดการจัดการแข่งขันกีฬาได้แต่ต้องจำกัดจำนวนผู้ชมในสนาม

ส่วนพื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด ได้แก่ กระบี่, กาญจนบุรี, กาฬสินธุ์, กำแพงเพชร, จันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชัยนาท, ชัยภูมิ, ชุมพร, เชียงราย, ตรัง, ตราด, นครนายก, นครพนม, นครศรีธรรมราช, นครสวรรค์, นราธิวาส, น่าน, บึงกาฬ, บุรีรัมย์, ปราจีนบุรี, ปัตตานี, พระนครศรีอยุธยา, พะเยา, พังงา, พัทลุง, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบุรี, เพชรบูรณ์, แพร่, มหาสารคาม, มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน, ยโสธร, ยะลา, ร้อยเอ็ด, ระนอง, ราชบุรี, ลพบุรี, ลำปาง, ลำพูน, เลย, ศรีสะเกษ, สกลนคร, สตูล, สมุทรสงคราม, สระบุรี, สิงห์บุรี, สุโขทัย, สุราษฎร์ธานี, สุรินทร์, หนองคาย, หนองบัวลำภู, อ่างทอง, อำนาจเจริญ, อุตรดิตถ์, อุทัยธานี, และอุบลราชธานี มีมาตรการเพิ่มเติมดังนี้

  • จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มและนั่งรับประทานในร้านได้ถึง 23.00 น. แต่ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน
  • ห้างสรรพสินค้าเปิดได้ถึง 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และปิดส่วนเครื่องเล่น/ตู้เกม

ขณะที่ ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 16 เม.ย. 2564 ระบุว่า มีผู้ป่วยใหม่ 1,582 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 1,577 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 5 ราย โดยมีผู้ป่วยอยู่รับการรักษารวม 10,461 ราย มีผู้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 75,576 ราย หรือประมาณร้อยละ 0.1 ของจำนวนประชากร

ด้านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. รายงานว่า พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ที่ปรึกษา สปสช. เปิดเผยในเวทีเสวนาหัวข้อ ติดเชื้อโควิด-19 จะหาเตียงอย่างไร เสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ ? “สายด่วน และ LINE สบายดีบอต” มีคำตอบ เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2564 ซึ่งจัดโดย สปสช. ตอนหนึ่งว่า หากแพทย์เห็นว่ากลุ่มเสี่ยงที่เข้ามาคัดกรองโควิด-19 มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือต้องเข้ารับการผ่าตัดใดๆ สปสช.จะดำเนินการจ่ายชดเชยให้ โดยครอบคลุมประชาชนคนไทยทุกคน ทุกสิทธิการรักษา ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน

พญ.กฤติยา กล่าวว่า ถ้ากลุ่มเสี่ยงเข้ารับการคัดกรองแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 และมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน สปสช.ได้ทำข้อตกลงกับภาคเอกชนแล้วว่า จะไม่มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยบางรายมีประกันสุขภาพเอกชนก็อาจจะต้องใช้ส่วนนั้นไปก่อน ส่วนการจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลเอกชนจะเป็นไปตามระบบ UCEP หรือรักษาฉุกเฉินเร่งด่วน 

ทั้งนี้ ยืนยันว่า สปสช. จะจ่ายชดเชยให้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยกรณีผู้ป่วยนอก (OP) จะจ่ายค่าห้องปฏิบัติการ (Lab) ค่าเก็บตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายในกรณีที่มียารักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือค่ารถส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ บ้าน ค่าด่านตรวจคัดกรอง State Quarantine

สำหรับกรณีผู้ป่วยใน (IP) จะมีการจ่ายชดเชย ค่า Lab ค่ายารักษา และที่สำคัญก็คือค่าชุด PPE หรืออุปกรณ์ที่ป้องกันการแพร่กระจ่ายเชื้อ ก็จะมีการจ่ายชดเชยตามจริงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้เข้าไปสัมผัสผู้ติดเชื้อ ขณะที่ค่าห้องนั้น ถ้าจำเป็นต้องรักษาในห้องความดันลบ (Negative Pressure) ทาง สปสช. ก็จะจ่ายชดเชยให้ 2,500 บาทต่อวัน ส่วนค่าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ เช่น โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel หากโรงพยาบาลเห็นว่ามีความจำเป็นต้องย้ายผู้ป่วยไปรักษาตัวยังสถานที่นั้นๆ ก็จะมีการจ่ายชดเชยให้ไม่เกิน1,500 บาท ต่อคนต่อวัน รวมไปถึงค่ารถที่ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังจุดต่างๆ ด้วย  

“เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคเจ็บป่วยฉุกเฉิน และเป็นภาระต่อประชาชนในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ก็อยากจะให้ความมั่นใจว่า ถ้าท่านทำตามคำแนะนำของแพทย์ หรือหน่วยบริการนั้นๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่มเติม ในกรณีที่มีปัญหาผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทอง รวมไปถึงผู้ที่เข้าเกณฑ์ทุกอย่างแล้วยังถูกเรียกเก็บค่าบริการ ให้สอบถาม-แจ้งเพิ่มเติมได้ที่ 1330” พญ.กฤติยา กล่าว  

พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตามขั้นตอนแล้วการหาเตียงจะเริ่มจากโรงพยาบาลที่เข้าตรวจ ถ้าเตียงเต็มก็จะเป็นเตียงของโรงพยาบาลเครือข่ายของโรงพยาบาลนั้นๆ ในกรณีที่เตียงโรงพยาบาลเครือข่ายเต็มอีก ก็จะมีการหาเตียงข้ามเครือข่าย ซึ่งมีศูนย์เอราวัณทำหน้าที่เป็นศูนย์บริหารจัดการเตียง ส่วนจะได้นอนที่โรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย  

“จะมีการตรวจคัดกรองและเอกซเรย์ปอดก่อนเสมอ ถ้าผลการเอกซเรย์ออกมาว่ามีข้อสงสัยภาวะปอดอักเสบ ผู้ป่วยก็จะได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ส่วนในกรณีที่ไม่มีข้อสงสัย อาการน้อย สุขภาพดี อายุน้อยกว่า 50 ปี และไม่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยถึงจะสามารถเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ซึ่งจะมีแพทย์และพยาบาลดูแลตลอด 24 ชั่วโมง” พญ.ปฐมพร กล่าว 

พญ.ปฐมพร กล่าวอีกว่า สำหรับคลินิกเอกชนที่ตรวจคัดกรองจะต้องมีโรงพยาบาลที่จับคู่กัน เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะหาเตียงได้ การเข้าตรวจต้องเข้าตรวจอย่างถูกวิธี และที่นั้นจะต้องช่วยดูแลให้สามารถหาเตียงได้  

ทั้งนี้ อยากเชิญชวนให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนหาเตียงผ่านแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) โดยเพิ่มเพื่อน @sabaideebot(สบายดีบอต) ซึ่งจะเป็นโปรแกรมอัตโนมัติในการจัดระบบข้อมูล บันทึกประวัติสุขภาพ ให้คำแนะนำการ ตลอดจนมีฐานข้อมูลเฝ้าระวังโรค ซึ่งประชาชนสามารถจะบันทึกความเสี่ยงได้ และข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังฐานข้อมูลที่สัมพันธ์กับการจัดหาเตียงด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท