Skip to main content
sharethis
  • ศบค. แถลงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 2,070 คน ถือเป็นสถิติสูงสุดใหม่นับตั้งแต่มีการระบาดในประเทศ
  • เตียงผู้ป่วยหนักและห้องแยกความดันลบใน กทม. รองรับการระบาดในระดับนี้ได้อีกประมาณ 1 สัปดาห์เท่านั้น  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างพยายามเพิ่มเตียงให้เพียงพอ
  • นายกรัฐมนตรีแถลงคาดว่า บุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบภายในสัปดาห์นี้
  • ตั้งเป้าหาวัคซีนร้อยล้านโดส โดยมาจากแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส จะเริ่มทยอยส่งมอบเดือน มิ.ย. ซิโนแวคจะมาเพิ่มอีก 1 ล้านโดส และอยู่ระหว่างเจรจากับสปุตนิก วี และไฟเซอร์ อีกประมาณ 10-20 ล้านโดส ส่วนสภาหอการค้าจัดหาให้พนักงานและลูกจ้างเองราว 10-15 ล้านโดส
  • เตรียมใช้งบกลางและเงินกู้กระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 7 แสนล้านบาท

ปริมาณผู้ป่วยรายใหม่ทะลุ 2 พัน

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 23 เม.ย. 2564 ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,070 คน สูงที่สุดตั้งแต่มีการระบาดในประเทศไทย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 1,902 คน ผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 160 คน ผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 8 คน เสียชีวิต 4 คน ผู้ป่วยรักษาอยู่ 19,873 คน ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 834,082 คน ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว 130,743 คน คิดเป็นประมาณร้อยละ 0.2 ของจำนวนประชากร

รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย วันที่ 23 เม.ย. 2564

รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย วันที่ 23 เม.ย. 2564

ปริมาณเตียง ICU และห้องแยกความดันลบใน กทม. ไม่เพียงพอ

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า ในกรุงเทพมหานคร เตียง ICU มี 262 เตียง ว่างอยู่ 69 ห้องแยกความดันลบมี 479 เตียง ว่างอยู่ 69 เตียง ที่ประชุมมีความกังวลว่าถ้าอัตราการติดเชื้อยังอยู่ในระดับนี้ เตียงหรือทรัพยากรจะถูกใช้และหมดไป โดยมีการพยากรณ์ว่า ถ้ามีผู้ติดเชื้อ 1,500 คนต่อวัน ทั้งประเทศมีเตียงคงเหลือประมาณ 1,000 เตียง จะต้องใช้เตียงประมาณ 52 เตียงต่อวัน รองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 19 วัน ส่วนกรุงเทพมหานครจะใช้ประมาณ 10-13 เตียงต่อวัน จากจำนวนที่เหลืออยู่จะรองรับผู้ป่วยได้เพียง 6-8 วันข้างหน้า 

"นี่เป็นภาวะเร่งด่วนของ กทม. ตัวเลขเหล่านี้ กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ ตอนนี้พยายามบูรณการเตียงและบูรณาการทรัพยากรบุคคล เพราะไม่ใช่แค่เตียงอย่างเดียวจะรักษาผู้ป่วยได้ จำนวนของบุคลากรที่เป็นแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทั้งหลายก็ต้องทำงานกันอย่างหนักมากๆ" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

มาตรการเพิ่มเตียงผู้ป่วยหนักใน กทม.

โฆษก ศบค. กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กทม. เหลือเวลาสั้นมากในการจัดหาเตียง ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้พูดคุยกับทุกภาคส่วนให้ใช้มาตรการดังนี้

1. เบ่งเตียง คือเพิ่มจำนวนเตียงในสถานที่เดิม เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแลในสถานที่ที่เหมาะสม การดูดอากาศ การใช้เครื่องปรับอากาศ มีความต้องการเฉพาะ

2. เพิ่ม ICU Cohort war (หอผู้ป่วยวิกฤตรวม) คือการใช้พื้นที่ ICU ที่กว้างขึ้น หรือปรับจากหอผู้ป่วยอื่นๆ แล้วนำคนไข้กลุ่มนี้เข้าไปไว้ด้วยกัน นำคนไข้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป เพื่อให้สามารถขยายเตียงได้เต็มพื้นที่

3. ICU สนาม ยังอยู่ระหว่างกระบวนการพูดคุย และมีความยุ่งยากในการปรับปรุงสถานที่ แต่โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจะต้องขยายเตียงเพื่อรองรับในส่วนนี้

ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ

ด้านสำนักโฆษกนายกรัฐมนตรี รายงานว่า เวลา 21.00 น. พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงแผนบริหารสถานการณ์โควิด-19 การจัดหาวัคซีน และความพร้อมการดูแลรักษาผู้ป่วย   ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

นายกรัฐมนตรีกล่าวซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้พระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย รถตรวจวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ รถเอ็กซ์เรย์ รถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉินเครื่องช่วยหายใจ และเครื่องมือทางการแพทย์อื่นๆ จำนวนมาก   นอกจากนี้ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในนามของประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหนังสือขอขอบใจ และขอเป็นกำลังใจ รวมทั้งขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนทั้งด้านทรัพยากรและบุคลากร ให้กับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ รวมถึงประชาชนชาวไทยทุกคนอีกด้วย

คาดบุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีนครบภายในสัปดาห์นี้

นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า วันนี้ไทยมียอดผู้ป่วยในประเทศ 2,070 ราย จากคลัสเตอร์ล่าสุดช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลสืบเนื่องต่อมาอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ มีการแพร่ระบาดมีความรุนแรงและเป็นวงกว้างกว่าระลอกที่ผ่านๆ มา จึงขอให้คนไทยร่วมมือร่วมใจกันอีกครั้ง "การ์ดไม่ตก" ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่ ศบค. แนะนำ ช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ พลิกสถานการณ์กลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมในเร็ววัน

นายกรัฐมนตรียังสั่งให้เตรียมพร้อมระบบสาธารณสุขของประเทศในด้านต่างๆ เพื่อสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เร่งรัดกระบวนการจัดหาและฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง รวมทั้งพิจารณาการฟื้นฟูเยียวยาในอนาคตด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนที่ได้รับมอบแล้ว จำนวน 2.1 ล้านโดส  ที่สามารถฉีดได้ 1.05 ล้านคน โดยฉีดวัคซีนไปแล้ว 8.4 แสนคน  กว่าครึ่งหนึ่ง เป็นบุคลาการทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงตลอดเวลา ซึ่งบุคลากรทั้งหมดจะได้รับวัคซีนครบถ้วน ภายในสัปดาห์นี้

ตั้งเป้าหาวัคซีนให้ประชาชน 50 ล้านคนภายในปี 2564

นอกจากนี้ รัฐบาลและ ศบค. เร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม โดยตั้งเป้าหมายว่าจะต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ให้ครบ 100 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับประชาชน 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2564 นี้ ที่ผ่านมาจัดหาแล้ว 64 ล้านโดส ประกอบด้วยแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส เริ่มส่งมอบเดือน มิ.ย. นี้ 6 ล้านโดส และเดือนต่อๆ ไปอีกเดือนละ 10 ล้านโดส ซิโนแวค 2.5 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 2 ล้านโดส พรุ่งนี้มาอีก 500,000 โดส ล่าสุด รัฐบาลจีนแจ้งบริจาควัคซีนให้ไทยอีก 500,000 โดส ในส่วนที่จะต้องจัดหาเพิ่มเติมอีก 36 ล้านโดสนั้น รัฐบาลประสบความสำเร็จในการเจรจาจัดหาวัคซีนสปุตนิค วี จำนวน 5-10 ล้านโดส และไฟเซอร์ อีก 5-10 ล้านโดส

ทั้งนี้ คณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประกอบด้วย คณะแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน รายงานว่าสภาหอการค้าไทย จะช่วยรัฐบาลจัดหาให้กับพนักงานลูกจ้างเองด้วย ประมาณ 10-15 ล้านโดส ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะประชุมร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และสมาคมธนาคารไทย ในสัปดาห์หน้า เพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการจัดหาและแจกจ่ายวัคซีน ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้ประเทศไทยของเราสามารถมีวัคซีนเพื่อฉีดให้กับประชาชนให้ครบ 50 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้

ยันรัฐบาลพร้อมรับมือสถานการณ์

นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่า รัฐบาลและ ศบค. มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างเต็มที่ องค์การเภสัชกรรมได้มีการสำรอง และกระจายยา ฟาวิพิราเวียร์สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวนมากกว่า 300,000 เม็ด กระจายไปสำรองในพื้นที่ต่างๆ แล้ว และกำลังนำเข้าเพิ่มอีก 2 ล้านเม็ด มีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด และผู้เสี่ยงติดเชื้อ รวมกว่า 28,000 เตียง ทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel  แม้ขณะนี้มีผู้ป่วยหลักพันต่อเนื่องกันหลายวัน ทำให้จำนวนเตียงลดลงอย่างมาก แต่รัฐบาลได้เตรียมมาตรการเพื่อจัดหาเตียงให้กับผู้ป่วยทุกคนให้ได้

ใช้งบกลางและเงินกู้กระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 7 แสนล้านบาท

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึง มาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไว้อีกประมาณ 3.8 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2.4 แสนล้านบาท งบกลางปีงบประมาณ 2564 อีก 9.9 หมื่นล้านบาท  และค่าใช้จ่ายบรรเทาโควิด-19 อีก 4 หมื่นล้านบาท โดยเตรียมโครงการที่จะช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภค รวมไปถึงโครงการที่จะก่อให้เกิดการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกท่านเชื่อมั่นว่า เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเจริญเติบโตให้ได้โดยเร็ว

ขอบคุณประชาชน

นายกรัฐมนตรียังขอบคุณประชาชนทุกคนที่ให้ความร่วมมือ ให้ความช่วยเหลือในการฝ่าวิกฤตครั้งนี้ ขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล อสม. เจ้าหน้าที่ทุกคน ที่เสียสละ อดทน มุ่งมั่นทุ่มเททำหน้าที่เพื่อส่วนรวม  ขอทุกคนช่วยกันปกป้องทีมแพทย์ของประเทศไทย ด้วยการระมัดระวังตัว ลดความเสี่ยงให้มากที่สุดในช่วงเวลานี้ คือ การเว้นระยะห่าง ล้างมือ และใส่แมสก์ให้มากที่สุดเมื่อต้องพบเจอผู้อื่น

นายกรัฐมนตรียังให้คำมั่นสัญญาว่า จะทำทุกทางเพื่อให้เราผ่านวิกฤตในระลอกนี้ไปให้ได้  ทุกคนจะสู้ไปด้วยกันอีกครั้ง และเชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพของทุกคน ประเทศไทยจะต้องเอาชนะโรคร้ายในครั้งนี้ได้อย่างแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net