Skip to main content
sharethis

กลุ่มสังคมนิยมแรงงานออกแถลงการณ์วันแรงงานสากล 1 พ.ค. 2564 เรียกร้อง สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ประชาชนต้องมาก่อนกำไร

1 พ.ค. 2564 กลุ่มสังคมนิยมแรงงานเผยแพร่ 'แถลงการณ์วันแรงงานสากล 1 พ.ค. 2564 เรียกร้อง สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ประชาชนต้องมาก่อนกำไร' โดยระบุว่าบัดนี้ รัฐบาลสืบทอดอำนาจเผด็จการทหารทำให้ประชาชนตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคระบาด ยากจนข้นแค้น และถูกจับขังเมื่อออกมาเรียกร้อง  พวกเราคนทำงานผู้ขับเคลื่อนสังคมจึงต้องออกมาส่งเสียงสะท้อนปัญหาและเสนอทางออกในวิกฤตการณ์ซ้ำซ้อนนี้ในวันสำคัญทางประวัติศาสตร์โลก คือ วันแรงงานสากล (May Day) เพื่อรำลึกการเสียสละและเฉลิมฉลองชัยชนะที่เกิดจากการต่อสู้ของกรรมกร

ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนมานี้ สถานการณ์การติดเชื้อและเสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 3 รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนเมษายนที่มียอดผู้ติดเชื้อรายวันทะลุ 2,000 คนทั่วประเทศ แม้อัตราการเสียชีวิตต่ำ แต่ในอนาคตหากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก ย่อมเป็นไปได้ที่จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นวิกฤติ เพราะความรุนแรงของโรคระบาดไม่ว่าจะเป็นอัตราการแพร่เชื้อ ความเสี่ยงในการติดเชื้อและเสียชีวิตนั้นขึ้นอยู่กับสถานะทางชนชั้นของประชาชนในสังคมกับการบริหารงานภายใต้รัฐบาลอำนาจนิยม และการคอรัปชั่น

จากมาตรการควบคุมโรคระบาดของรัฐบาลที่หละหลวมสำหรับคนบางกลุ่ม การเยียวยาไม่เท่าเทียมกันและล่าช้า หย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองสิทธิ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ปิดกั้นการชุมนุมของแรงงานเพื่อเจรจากับนายจ้าง และห้ามนัดหยุดงาน ส่งผลที่เลวร้าย คือ คนทำงานถูกเลิกจ้างอย่างง่ายดาย ว่างงานนับล้าน ยากจน นายจ้างหลายแห่งหลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าชดเชย ฉวยโอกาสปรับสภาพการจ้างให้เลวร้ายกว่ามาตรฐานแรงงาน ทำลายการเจรจาต่อรองร่วม ลูกจ้างประจำกลายเป็นลูกจ้างชั่วคราว มีคนทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงมากขึ้นกว่า 2 ล้านคน ซึ่งทำให้โครงสร้างกำลังแรงงานอ่อนแอ

อีกทั้ง มีสถานการณ์ที่กำลังบั่นทอนจิตใจของประชาชนขณะนี้ คือ ผู้ติดเชื้อบางรายเสียชีวิตในบ้าน บางรายถูกเพิกเฉย ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ในขณะที่อภิสิทธิ์ชนได้รับการรักษาเป็นอย่างดี ทั้งมีข้อกังขาเกี่ยวกับการบริหารจัดการเตียง อุปกรณ์ที่จำเป็น การบริการ และวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่ำ มีอาการข้างเคียงถึงขั้นเสียชีวิตกับการดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนล่าช้า ซึ่งมาจากการผูกขาดแหล่งเดียวมาตั้งแต่แรก

ผู้ใช้แรงงานและนักสังคมนิยมได้รวมตัวกันเสนอทางแก้ปัญหาการบริหารควบคุมโรคระบาดและปัญหาเศรษฐกิจ แต่ถูกปฏิเสธ พวกเราได้เรียกร้องให้รัฐใช้แนวคิดเยียวยาถ้วนหน้าเท่าเทียม ปกป้องงาน กระจายรายได้ ลงทุนภาคบริการสาธารณะเพิ่ม แทรกแซงกลไกตลาด เนื่องจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมีลักษณะผลิตสินค้าล้นเกิน ไม่ตรงกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ กดค่าจ้าง และกลไกตลาดเอื้อคนมีรายได้ คนมีเงินเท่านั้นที่จะบริโภคได้ปกติ ดังนั้น หลักสำคัญคือการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของคนทำงานก่อนกำไร และรัฐต้องเป็นประชาธิปไตย

เนื่องในวันแรงงานสากลได้เวียนมาบรรจบอีกครั้ง เราขอเรียกร้องรัฐบาล 3 ประการ หากยังเพิกเฉยจะยิ่งเป็นการตอกย้ำความล้มเหลวในการบริหารประเทศ และควรลาออกทั้งหมดเพราะถือเป็นภัยคุกคามประชาชน    

ข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่ต้องทำทันที ได้แก่

1. การรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม สร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน โดย
• เร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ฟรี ไม่ควรปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนแสวงหาประโยชน์จากวิกฤติโควิดบนความด้อยประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาล
• เร่งปรับปรุงการบริการ การรักษาพยาบาล และดูแลสภาพการทำงานของบุคลากรด้านสุขภาพ

2. การฟื้นฟูสถานะความเป็นอยู่ของแรงงานทุกกลุ่มทุกเชื้อชาติ โดย
• เร่งสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่คนทำงาน รักษางานที่มีอยู่ในธุรกิจต่างๆ เพิ่มสวัสดิการอย่างครอบคลุม เยียวยาแรงงานข้ามชาติ คนทำงานกลางคืน 
• ยกเลิกการจ้างงานชั่วคราว บรรจุเป็นงานประจำ
• เพิ่มภาษีอัตราก้าวหน้าจากมหาเศรษฐี 
• ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน สาธารณูปโภค ยกเลิกหนี้สินที่ไม่เป็นธรรม ได้แก่ หนี้ กยศ. พักชำระหนี้ เช่น บ้าน รถ ไปอีก 1 ปีนับจากเดือน เม.ย. 2564
• ลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ลดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูง สมาชิกรัฐสภา 

3. การรื้อฟื้นการเมืองประชาธิปไตย โดย
• ปล่อยตัวผู้ต้องหา นักโทษการเมืองทุกคน
• ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หยุดแทรกแซงบ่อนทำลายกระบวนการยุติธรรม 
• ตอบสนองข้อเรียกร้องของฝ่ายประชาธิปไตย ได้แก่ ยกเลิก ม.112  ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยุบวุฒิสภา 
• หยุดสนับสนุนเผด็จการทหารในพม่าที่ไร้ความเป็นคน เข่นฆ่าประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหาร 

ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นสากลและการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของชนชั้นแรงงาน เราขอสนับสนุนแรงงานทั่วโลกเพื่อร่วมกันสร้างโลกใบใหม่ที่เท่าเทียม ผลักดันข้อเสนอที่จะเป็นทางออกของวิกฤติซ้ำซ้อนนี้ให้ได้ ขอให้ผู้ใช้แรงงานขยายการตื่นรู้นี้ออกไปอย่างกว้างขวาง ด้วยความสมานฉันท์

องค์กรสนับสนุน 

1. กลุ่มสังคมนิยมแรงงาน
2. กูCommie
3. คณิตพรณ์ เถาทอง ประชาชน
4. กลุ่มแอนทิฟาไทย (AntifaThai)
5. กลุ่มสหายกับการปฏิวัติ (CoTR)
6. อาธร นวทิพย์สกุล พนักงานทดลองงาน 119 วัน
7. พรรคอนาคิสต์ใหม่ (Neo-Anarchist Party)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net