Skip to main content
sharethis

สวนดุสิตโพลสำรวจ 1,553 คน เกี่ยวกับการ 'Work From Home' ของคนไทย พบ 40.53% ระบุอุปกรณ์เครื่องมือไม่พร้อม ไม่เอื้อต่อการทำงานที่บ้าน อีก 65.80% ระบุค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ค่าน้ำ-ไฟ อินเทอร์เน็ต

16 พ.ค. 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและปรับรูปแบบเป็นการทำงานที่บ้านหรือ Work From Home (WFH) เป็นการปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐและช่วยลดวามเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,553 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 10-13 พ.ค. 2564 

พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.72 ระบุ ทำงานที่บ้านช่วงโควิด-19 รองลงมา ร้อยละ34.45 ระบุ ทำทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ร้อยละ 22.83 ระบุ ไม่ได้ทำงานที่บ้านเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการทำงานที่บ้าน พบว่า ร้อยละ 74.82 ระบุ รู้สึกปลอดภัย/ช่วยลดการแพร่เชื้อโควิด-19 รองลงมา ร้อยละ 48.60 ระบุ เป็นการปฏิบัติตามนโยบายภาครัฐ/ให้ความร่วมมือในการอยู่บ้าน ร้อยละ 44.05 ระบุ มีเวลาให้ตัวเองและครอบครัวมากขึ้น ร้อยละ 40.53 ระบุอุปกรณ์ เครื่องมือไม่พร้อม ไม่เอื้อต่อการทำงาน

ทั้งนี้ประชาชนร้อยละ 88.33 ระบุ ทำงานที่บ้านลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ขณะร้อยละ 65.80 ระบุ ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ตพร้อมกันนี้ มองความสำเร็จของผลงาน จากการทำงานที่บ้าน (Work From Home) สำเร็จประมาณ 70.33% เมื่อถามถึงความชื่นชอบระหว่างทำงาน “ที่ทำงาน”กับ ทำงาน “ที่บ้าน” พบว่า ร้อยละ 37.17 ระบุ ชอบทั้ง 2 แบบพอ ๆ กัน รองลงมา ร้อยละ 36.13 ระบุ ชอบการทำงานที่ทำงานมากกว่า ร้อยละ 18.10 ระบุ ชอบการทำงานที่บ้านมากกว่าอย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.66 ระบุ ทำงานที่บ้านช่วยลดการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้ รองลงมาร้อยละ 13.14 ระบุ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 4.20 ระบุ ช่วยไม่ได้

ผศ.ทิพสุดา คิดเลิศ รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยว่า การทำงานที่บ้าน (Work From Home) เป็นแนวคิดช่วยลดต้นทุนทางเศรษฐกิจ ถึงแม้การทำงานที่บ้านจะทำให้มีค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มมากขึ้น แต่ภาครัฐก็ได้ออกมาตรการเยียวยาเป็นการแบ่งเบาประชาชน ซึ่งการทำงานที่บ้านจะเกิดประสิทธิภาพได้นั้น ควรแยกเวลาทำงานและเวลาส่วนตัว (Work Time and Personal Time) เพื่อกำหนดชั่วโมงการทำงานและความสำเร็จของงาน และองค์กรก็ควรกำหนดนโยบาย (Policy) ให้ชัดเจนในเรื่องการทำงานที่บ้านนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างสำนักงานเสมือน (Virtual Office) สนับสนุนการใช้แพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันในการสื่อสารและทำงานร่วมกันในองค์กร หรือพัฒนารูปแบบการทำงานเป็นแบบไฮบริด (Hybrid model) ที่เน้นการทำงานแบบผสมผสาน พนักงานสามารถเลือกทำงานจากที่บ้านหรือที่สำนักงานได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการทำงานที่บ้าน “ทำให้เกิดสิ่งใหม่” นั่นคือ “วิถีการทำงานรูปแบบใหม่” และยังเป็นการช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net