Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ไม่แน่ใจว่า อาจารย์ พนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน และนักศึกษาผู้มีชีวิตอาศัยอยู่ในมหาวิทยาลัยไทย ได้เคยตระหนักถึงความเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่ตนเองสังกัดหรือไม่ หรือเพียงคิดว่า เป็นสถานที่ชั่วคราวที่มาทำงานในฐานะผู้รับจ้าง ในฐานะศึกษาหาความรู้ เป็นบุคคลที่ไร้ความสำคัญต่อมหาวิทยาลัย เพราะเป็นเพียงแค่องค์ประกอบหนึ่งที่ไม่ได้มีปากเสียงอะไรเลยต่อประชาคมมหาวิทยาลัย

ท่านเคยคิดหรือไมว่า มันเป็นไปได้ที่พวกเราจะมีส่วนในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงให้เป็นธรรมกับผู้คนในประชาคมได้ดีกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพการจ้างงานที่มั่นคง การให้บริการกับผู้เรียนที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่จริง

บทความนี้ต้องการจะชี้ให้เห็นถึงหนทางดังกล่าว และพยายามจะย้อนให้เห็นว่า นโยบายที่ต้องการจะปรับปรุงมหาวิทยาลัยให้ดีกว่าที่เป็นนั้นโฟกัสไปผิดที่ มุ่งเน้นไปแก้ไขที่ตัวบุคคลผ่านจริยธรรม ศีลธรรมอันสูงส่งที่ไม่จบไม่สิ้น ขณะที่กลไกการตรวจสอบ และที่มาของการเข้าสู่อำนาจการเมืองในมหาวิทยาลัยนั้นมีความไม่ชอบมาพากลบางประการอยู่

 

1. การเรียกร้องจริยธรรม คุณธรรมของปัจเจกอันล้นเกิน

ที่ผ่านมาเรียกร้องธรรมาภิบาลมักมาจากการประพฤติของตัวบุคคล บนวิธีคิดว่า ถ้าคนดีแล้ว สังคมจะดีขึ้นเองเกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศและองค์กรหน่วยงานต่างๆ  การควานหาและสร้างคนดีเช่นนี้โหยหา และพยายามผลิตกันมาอย่างยาวนาน แต่เราก็ไม่เคยเห็นว่ามันจะผลิดอกออกผลเสียที ยิ่งกลายเป็นว่าสังคมได้ซ่อนรูปคนที่แอบอ้างความดีงามเข้าหาประโยชน์กระทั่งการหลอกลวงผู้คน ปัญหาดังกล่าวเกิดกระทั่งในศาสนสถานอันเป็นสัญลักษณ์ของที่ตั้งแห่งความดีงาม

ความพยายามสั่งการแบบท็อป-ดาวน์ สไตล์ราชการไทยยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้บริหารมหาวิทยาลัย พวกเขามีภาระที่จะต้องจัดทำประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณต่างๆ บนฐานอำนาจนิยม และการสั่งการแบบราชการไปวันๆ โดยไม่เคยคิดว่าปัญหานั้นอยู่ที่ตัวระบบมากกว่าที่จะเป็นตัวบุคคล เราจึงยอมให้ผู้ปฏิบัติงานใช้ชีวิตทำงานที่ลำบากกว่าเดิม เพื่อแลกกับมาตรการที่สวยแต่ชื่อแต่ไร้ประสิทธิภาพ

ตัวอย่างคลาสสิคก็คือ การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและพัสดุหลังรัฐประหาร 2557 ที่รู้จักกันในนาม พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่สร้างภาระและความลำบากในการปฏิบัติจริงต่อหน่วยงานราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ความต้องการจะจับผิดอย่างรัดกุม ทำให้งานเสียหายไปเพราะความเขลาในระเบียบต่างๆ ไปเต็มๆ ตัวอย่างเช่น ปัญหาการกระจายวัคซีนให้กับโรงพยาบาลในปี 2561 ทำให้ สปสช.ไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างยาไปยังองค์กรเภสัชกรรมได้ ทั้งที่มีวัคซีคไข้หวัดใหญ่อยู่เต็มคลังเพราะติดระเบียบดังกล่าว[1] หรือล่าสุดที่อนุทิน ชาญวีรกุลให้ข่าวว่า การที่วัคซีนโควิด-19 ที่ต้องใช้ระยะเวลานั้นติดเงื่อนไขของกฎหมายดังกล่าวที่ต้องจัดซื้อจากสินค้าที่มีอยู่จริง ไม่สามารถจ่ายเงินซื้อไปก่อนได้แบบบางประเทศ[2] กลายเป็นระบบดังกล่าวที่สร้างมาเพื่อแก้ปัญหาทุจริต กลับสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก

ความหมกมุ่นเกี่ยวกับการควบคุมผ่านตัวบุคคลดังกล่าวยังปรากฏออกมาในรูปของการแทรกเข้าไปในสถานศึกษาด้วย เอกสารของสำนักงานปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ระบุการดำเนินการของมหาวิทยาลัยจำนวน 51 แห่งผ่านการขับเคลื่อนด้วยกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมที่มีกิจกรรมต่อต้านทุจริตโดยมีกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา จึงเน้นการยัดหลักสูตรต้านทุจริตเข้าไปในการเรียนการสอน ทำ MOU บ้าง ร่วมมือกันต่อต้านทุจริตบ้าง บางแห่งสอดไปในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่แทบไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกันเลย[3]  


หนังสือเวียน การกำหนดหลักเกณฑ์ด้านความประพฤติและมาตรฐานทางจริยธรรม
สำหรับการจ้างงานในหน่วยงานของรัฐ

ล่าสุดคือการประกาศตลกๆ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2564 (ดังภาพประกอบ) ด้วยจดหมายตราครุฑที่กล่าวถึง “การกำหนดหลักเกณฑ์ด้านความประพฤติและมาตรฐานทางจริยธรรมสำหรับการจ้างงานในหน่วยงานของรัฐ” ที่หวังสูงว่าจะ “ช่วยแก้ไขปัญหาด้านจริยธรรมในภาคราชการและสังคมไทยในภาพรวมต่อไป” ในครั้งนี้ได้ตอกย้ำความเข้มข้นผ่านการ “ประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือน/ค่าตอบแทน หรือเพื่อต่อสัญญาจ้าง”  หรือพูดอีกแบบคือ การประเมินเงินเดือนและสัญญาจ้างของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งหลายถูกต้อนให้ไปผูกพันกับแนวปฏิบัติทางจริยธรรมโดยตรงแล้ว

ความพยายามอันเป็นนามธรรมเหล่านี้อาจมีจุดจบอยู่ 2 แนวทางนั่นคือ กลายเป็นเพียงเสือกระดาษที่ไม่ได้มีผลอะไรกับการตรวจสอบผู้มีอำนาจ-ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ส่วนอีกแนวทางหนึ่งก็คือ กลายเป็นเครื่องมือใหม่ๆ ของผู้บริหารที่สามารถเล่นงานทางการเมืองของบุคลากรในมหาวิทยาลัยที่ไม่พึงประสงค์ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องอื่นไกล ผู้ออกหนังสือคือเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลที่มีข้อครหาว่ามีนักการเมืองที่ไม่ผ่านมาตรฐานจริยธรรมจำนวนมาก แบบที่เราไม่ต้องออกชื่อก็คงเข้าใจกันดี 

 

2. ปัญหาโครงสร้างการบริหารและอำนาจที่ไร้การตรวจสอบ

กลับมาในรั้วมหาวิทยาลัยไทย ผู้เขียนเคยชี้ให้เห็นไปแล้วในบทความ “ปฏิรูปสถาบัน(อุดมศึกษา)! สร้างมหาวิทยาลัยไทยบนเส้นทางประชาธิปไตย” เมื่อเดือนตุลาคม 2563[4]  ชี้ให้เห็นปัญหาของโครงสร้างดังกล่าวที่มีลักษณะพอเทียบได้กับประชาธิปไตยครึ่งใบในประเทศ อธิการบดีที่มีอำนาจบริหาร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง (ยกเว้นแต่อธิการบดี ม.รามคำแหง) แต่มาจากการเลือกจากกรรมการสภามหาวิทยาลัย ส่วนที่มาของกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาคมที่ประกอบด้วยอาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน (ไม่รวมนักศึกษา) และอีกส่วนหนึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยผู้บริหาร ปัญหาคือ สัดส่วนของกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่มาจากการเลือกตั้งนั้นน้อยมาก แม้ว่ามหาวิทยาลัยที่มีสัดส่วนมากที่สุดก็คือ ม.มหิดลก็ยังมีสัดส่วนไม่ถึงครึ่ง คือ ร้อยละ 40 หรืออาจเปรียบโดยหยาบได้เช่นกันว่า กรรมการสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งเปรียบได้กับ ส.ส. และที่มาจากการแต่งตั้งเปรียบได้กับ ส.ว. สถานการณ์ที่เป็นอยู่คือ กรรมการสายแต่งตั้งมีจำนวนที่มากกว่า ดังนั้นการลงมติเช่นนี้ก็มิได้เป็นฉันทามติที่เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน

และนี่คือที่มาของ “สภาเกาหลัง” ที่ผู้แต่งตั้งอธิการบดี กับ ผู้ที่แต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ข้อสังเกตนี้มิได้ชี้ว่าใครเป็นคนดีหรือไม่ แต่โครงสร้างเช่นนี้ไม่เอื้อต่อการสรรหาที่โปร่งใส และหลักธรรมาภิบาลอย่างที่ควรจะเป็น อย่างที่อยากเรียกร้องให้เกิดกับปัจเจกบุคคล


ที่มาภาพ: มติชนออนไลน์ https://live.staticflickr.com/65535/51192992151_34a6fac102_o_d.jpg

เมื่ออธิการบดี ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาคม 100% นั่นหมายถึงว่า ถึงแม้พวกเขาจะเลือกผู้ที่สมควรจะดำรงตำแหน่งอธิการบดีไปด้วยคะแนนที่ชนะป๊อปปูลาร์โหวต แต่ก็อาจจะไปแพ้ในขั้นตอนการสรรหาในสภามหาวิทยาลัยที่ถูกกำหนดโดยกรรมการสภามหาวิทยาลัย ลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใส และไม่ได้สัดส่วนของการสรรหาที่ดี ดราม่าการสรรหาอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อกลางปี 2563[5] ก็อยู่ในกลไกเช่นนี้ ลักษณะเช่นนี้ยังเกิดกับคณบดีอีกด้วย และอาจจะมีปัญหาไปอีกแบบด้วยซ้ำ เนื่องจากว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากภายนอก อาจจะไม่รู้จักด้วยซ้ำว่า ผู้ที่เสนอตัวมาเป็นคณบดีเป็นใคร มีฝีมือเพียงใด ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ ประชาคมในคณะต่างหากที่เป็นผู้รู้ดีกว่า

         

3. เริ่มนับหนึ่งของการเลือกตั้งอธิการบดี และคณบดีโดยตรง สร้างสังคมแห่งการตรวจสอบและธรรมาภิบาล

การแก้ไขทั้งระบบอาจต้องไปถึงพระราชบัญญัติของแต่ละมหาวิทยาลัย กระนั้นถือเป็นหนทางที่ยากลำบาก และเป็นเส้นทางระยะยาวที่ต้องบรรจุเรื่องของการสร้างอำนาจต่อรอง การเปิดโอกาสให้จัดตั้งสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัย ดังที่ผู้เขียนเคยเสนอไปแล้ว แต่การเริ่มนับหนึ่งด้วยวิธีอื่นๆก็เป็นเรื่องที่ไม่เกินวิสัย

ในที่นี้เสนอว่าควรเริ่มต้นด้วยการรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งอธิการบดีทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพราะการเลือกตั้งอธิการบดีนั้น ไม่จำเป็นต้องไปแก้ในพระราชบัญญัติ แต่เป็นการแก้ไขในระดับข้อบังคับมหาวิทยาลัยที่จะจบลงในสภามหาวิทยาลัย เนื่องจากผู้ลงนามคือ นายกสภามหาวิทยาลัย ที่พ่วงมาด้วยกันก็คือ การแก้ไขให้มีการเลือกตั้งคณบดีโดยตรงเพื่อตอบสนองกับการทำงานที่ผู้ได้รับเลือกต้องรับผิดชอบกับประชาคมในระดับคณะ ส่วนรายละเอียดว่าควรมีโมเดลแบบไหนนั้น ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างของ ม.รามคำแหงไว้แล้วในบทความก่อนหน้านี้[6] จะให้ผู้สิทธิเลือกตั้งครอบคลุมนักศึกษา หรือจะให้มีนักศึกษาไปนั่งเป็นตัวแทนในกรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยอาจยึดกับตำแหน่งองค์กรก็แล้วแต่จะออกแบบกัน

แน่ล่ะว่า วิธีการนี้อาจไม่ต่างอะไรกับการที่หนูจะเอากระพรวนไปผูกคอแมว เพราะผู้มีอำนาจอย่างนายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากภายนอก อาจไม่ยอมที่จะสูญเสียอำนาจ หรือการถูกตรวจสอบซึ่งเขาเหล่านี้คือผู้ที่จะพิจารณาอนุมัติข้อบังคับในสภานั่นเอง

แต่การโน้มน้าวด้วยประชาคมและการสร้างอำนาจต่อรองภายในมหาวิทยาลัยก็ยังเป็นช่องทางหนึ่งที่ยังมีความเป็นไปได้ ประชาคมอาจต้องทำงานที่หนักขึ้น สร้างกระแสรณรงค์ไม่เฉพาะในสถาบันของตัวเองแต่ข้ามมหาวิทยาลัย ข้ามจังหวัด และยกให้เป็นประเด็นสาธารณะไปทั่วประเทศ

การหวังลมๆ แล้งๆ ว่าระบบจะเปลี่ยนเพราะมีอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยเช่นนั้น เราก็คงต้องนอนหลับรอไปไม่รู้อีกนานแค่ไหน หรืออาจจะไม่มีวันนั้นมาถึงเลยก็ได้

 

4. การรวมตัวกันต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของประชาคม และประชาธิปไตยไทย

คู่ขนานกันไป ก็คือ งานระยะยาวอีกประเภทที่จะยั่งยืนไปกว่าการแก้กฎ ระเบียบ ก็คือ การสร้างความร่วมมือกันภายในประชาคมมหาวิทยาลัย หรือการทำงานข้ามมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างเป็นแรงกระเพื่อมต่อกัน

เราอาจจะเลือกวิธีการเข้าไปในระบบผ่านการเลือกตั้งไปเป็นประธานสภาคณาจารย์ฯ ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน หรือในชื่ออื่นๆ เพื่อจะได้มีตำแหน่งในกรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยมีภารกิจคือ เข้าไปผลักดันวาระดังกล่าวกับองคาพยพเดิม หรือเราอาจจะเลือกวิธีการสร้างขบวนการแรงงานมหาวิทยาลัยคู่ขนานกันไปในที่ทำงานก็ได้

ในวันที่ยังไม่มีสหภาพแรงงาน การจับมือกันเพื่อผลักดันวาระต่างๆ แม้จะเป็นสิ่งที่ต้องลงแรงมากกว่าเดิมในเงื่อนไขอันจำกัด แต่ก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ หากจะสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานมหาวิทยาลัยในระยะยาว และที่ขาดไม่ได้ก็คือ การเคลื่อนไหวเหล่านี้ต้องยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าขบวนการแรงงานที่จะกลายเป็นสหภาพแรงงานของแต่ละมหาวิทยาลัยในอนาคต จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยในประเทศนี้.

เผื่อท่านที่ยังไม่ทราบ ขณะนี้ได้มีการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ของกลุ่มคนมหาวิทยาลัยในนาม “เครือข่ายแรงงานมหา’ลัย” เพื่อชวนกันคิดและรวมตัวกันทำงานข้ามมหาวิทยาลัยและข้ามพื้นที่ แม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เตรียมพบกับกิจกรรมของพวกเราได้ เร็วๆ นี้.

 

อ้างอิง

[1] Hfocus. “โวย กม.จัดซื้อใหม่ทำวัคซีนไข้หวัดใหญ่กระจายไม่ถึง รพ. เหตุ รพ.ราชวิถีไม่กล้าออกใบสั่งซื้อ”. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564 จาก https://www.hfocus.org/content/2018/06/15920 (9 มิถุนายน 2561)

[2] กรุงเทพธุรกิจ. ““อนุทิน”ลั่นไม่เปิดสัญญาซื้อวัคซีน-อ้างติดเงื่อนไขพรบ.จัดซื้อจัดจ้าง”. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564 จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/918933 (24 มกราคม 2564)

[3] สำนักต้านทุจริตศึกษา, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ, รายงานการกำกับติดตาม การนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563, (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ : นนทบุรี, 2563), หน้า 56-85

[4]ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. “ปฏิรูปสถาบัน(อุดมศึกษา)! สร้างมหาวิทยาลัยไทยบนเส้นทางประชาธิปไตย”. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564 จาก https://prachatai.com/journal/2020/10/90207 (30 ตุลาคม 2563)

[5]มติชนออนไลน์. “อ.เจษฎาช่วยแจงดราม่าแต่งตั้งอธิการบดีจุฬาฯ ทำไมคนได้คะแนนสูงสุด กลับไม่ได้เป็น?”. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564 จาก https://www.matichon.co.th/politics/news_2237397 (21 มิถุนายน 2564)

[6]ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. “ปฏิรูปสถาบัน(อุดมศึกษา)! สร้างมหาวิทยาลัยไทยบนเส้นทางประชาธิปไตย”. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564 จาก https://prachatai.com/journal/2020/10/90207 (30 ตุลาคม 2563)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net