Skip to main content
sharethis

ประมวลเหตุการณ์ กิจกรรมเปิดไฟส่องดาว หรือ Light Up Freedom ครั้งที่ 3 วันที่ 23 พ.ค. 64 ธีมงาน ‘We have a Dream - เรายังฝันอยู่’ ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร จัดโดย People Go Network เพื่อรำลึกการต่อต้านรัฐประหารครั้งแรกโดยประชาชน

24 พ.ค. 64 ผู้สื่อข่าว รายงานเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 64 จากลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อเวลา 18.00 น. ประชาชนเดินทางมารอทำกิจกรรม ‘เปิดไฟส่องดาว หรือ Light Up Freedom ครั้งที่ 3’ นัดโดย People Go Network ครั้งนี้เป็นธีม ‘We have a Dream - เรายังฝันอยู่’ 

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ สุภาภรณ์ มาลัยลอย ตัวแทนคณะ People Go Network ผู้จัดงาน 'เปิดไฟให้ดาว' ซึ่งอธิบายจุดประสงค์การจัดงานครั้งนี้ว่ามาในธีมความฝัน โดยเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 7 ปี การรัฐประหาร โดยคณะ คสช. แต่วันที่ 23 พ.ค. 2557 เป็นวันแรกของการลุกขึ้นต่อสู้ต่อรัฐประหารของคนรุ่นหนุ่มสาว หน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ

สุภาภรณ์ มาลัยลอย จากกลุ่ม People Go Network ผู้จัดงาน 'เปิดไฟให้ดาว'

"เรากลับมาที่นี่ เพื่อรำลึกวันแรกของการต่อต้านรัฐประหาร เพื่อบอกว่าเรายังฝัน และพร้อมจะลุกขึ้นสู้เพื่อความฝัน" สุภาภรณ์ กล่าว 

ธีมงานวันนี้เป็นเรื่องของความฝัน และดวงดาว สุภาภรณ์ กล่าวว่า "หลังการครบรอบรัฐประหารโดย คสช. เมื่อ 7 ปีที่แล้ว มันทำให้เรามองเห็นความมืดมิดหลายอย่าง" 

แต่ดาวเปรียบเสมือนแสงแห่งความฝัน เมื่อเราจุดไฟให้ดาว เหมือนการจุดประกายความหวัง ความฝันของการต่อสู้เพื่อไขว่คว้าสิทธิเสรีภาพต่อไป นอกจากนี้ จะมีการแจกดาวกลับไปเพื่อให้ทุกคนนำฝันไปแจกให้คนอื่น ๆ อีกด้วย 

สุภาภรณ์ ระบุว่า ทางกลุ่มยังยืนยันข้อเรียกร้องยกเลิกมาตรา 112 และเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมขณะนี้ที่มีปัญหา 

"ไม่มียุคสมัยไหนที่คนลุกขึ้นมาตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมมากเท่ายุคนี้ เราต้องส่งเสียงเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยน ถ้าเราเห็นว่าไม่เป็นธรรม แต่ถ้าเราไม่ลุกขึ้นสู้ มันจะอยู่กับเราต่อไปเรื่อย ๆ เราต้องขอบคุณคนที่ลุกขึ้นมา และเราต้องไม่ปล่อยให้คนที่พูด ต้องเข้าไปอยู่ในกรงขังโดยความไม่เป็นธรรม" สุภาภรณ์ กล่าว พร้อมระบุว่าจะส่งเสียงเพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทั้ง ส.ว. รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน สิทธิเสรีภาพ
 
"ฝันถึงการเมือง การเลือกตั้งที่ Free & Fair ไม่ใช่การเลือกตั้งใต้กรอบกติกาของคนเขียนรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งเป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการประชาธิปไตย แต่กระบวนการตรวจสอบโดยประชาชนต้องมีตามมา และประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง" สุภาภรณ์ ทิ้งท้ายถึงความฝันการเมืองของเธอ

เวลา 18.15 น. ตำรวจจาก สน.ปทุมวัน เดินทางมาแจ้งแก่ผู้ชุมนุมว่า ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่กำหนดให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยห้ามชุมนุมเกิน 20 คน ถ้าเกิน 20 คน แต่ไม่เกิน 1,000 คนต้องมีการขออนุญาต  

ตำรวจพยายามปลดป้าย “ไบโอไซน์ผูกขาด คนทั้งชาติผูกคอตาย”

ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวด้วยว่า เมื่อเวลา 19.15 น. ตร.สน.ปทุมวัน นำโดย พ.ต.อ.พันษา อมราพิทักษ์ ผกห.สน.ปทุมวัน พยายามปลดป้าย “ไบโอไซน์ผูกขาด คนทั้งชาติผูกคอตาย” ระหว่างกิจกรรม แต่ประชาชนไม่ยินยอม โดยบอกว่าหลังจบกิจกรรมจะปลดอยู่แล้ว โดยต่อมา ป้ายย้ายไปแขวนฝั่งที่หันหน้าขวาง ถ.พระราม 1

 

บุญเลิศ สลายความขัดแย้งในอดีต ร่วมต้านระบอบ คสช. และแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อความฝันกติกาที่เป็นธรรม

เวลาประมาณ 19.30 น. บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นกล่าวปราศรัย ‘ฝันถึงวันที่ไม่มีเผด็จการ’ โดยบุญเลิศ เริ่มต้นด้วยการกล่าวยกย่องนักกิจกรรมการเมืองที่ออกมาร่วมต่อต้านการรัฐประหารที่มาก่อนกาล 

“เพียง 1 วันที่คนมาปรากฏตัวที่นี่ เพื่อแสดงการต่อต้านรัฐประหาร ยิ่งกว่านั้น 1 ปีหลังรัฐประหารมารวมตัวกันที่นี่อีกครั้งหนึ่ง … ดังนั้น ที่นี่คือพื้นที่ประวัติศาสตร์ สิ่งที่แรกที่ผมอยากจะกล่าวในทีนี้เพื่อขอคารวะประชาชนที่รักประชาธิปไตยที่มาแสดงตนเพื่อคัดค้านการรัฐประหาร ท่านทั้งหลายควรได้รับการยกย่องในฐานะผู้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาว่าในช่วงเริ่มต้นของการคัดค้านยังมีคนกล้าแสดงตัวต่อต้านรัฐประหารไม่มากนัก  ท่านเหล่านั้นจึงต้องเป็นบุคคลที่กล้าหาญ คู่ควรแก่การเคารพอย่างยิ่ง” บุญเลิศ กล่าว พร้อมตั้งข้อสงสัยถึงผู้ที่เคยร่วมม็อบ กปปส. ช่วยพิจารณาผลงาน 7 ปีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วย 

“หากท่านห่วงใยประเทศนี้จริง โปรดเปิดใจพิจารณาว่า สังคมทุกวันนี้เป็นไปตามที่ท่านคาดหวังจริงหรือ หากท่านตระหนักว่านี่ไม่ใช่ทิศทางที่พึงปราถนา ท่านต้องแสดงมากกว่านี้ ต้องร่วมกันหยุดการสืบทอดอำนาจ คสช.”

สุดท้าย บุญเลิศเชิญชวนให้ทุกคน ทุกสีเสื้อสลายความขัดแย้งลงไป เพื่อมาร่วมกันโค่นระบอบประยุทธ์ และร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“อดีตเป็นบทเรียน และอนาคตจำเป็นต้องสร้าง เราต้องทำให้สังคมเห็นพ้องต้องกันว่า เราปล่อยให้สังคมเดินไปในทิศทางแบบนี้ไม่ได้ ทำให้สังคนทั้งสังคมตกผลึกร่วมกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้ไข” 

บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ฝันของบุญเลิศ คือการฝันถึงอนาคต เพราะว่าเราไม่สามารถกลับไปแก้ไขอดีตปี 57 แต่เราสามารถฝันถึงอนาคตได้ ฝันเห็นประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกสาขาอาชีพ ทุกสถานะเศรษฐกิจ ได้มีกติกาบ้านเมืองใหม่ที่เป็นธรรมกับคนทุกกลุ่ม มีการเลือกตั้งที่เป็นธรรม พร้อมระบบตรวจสอบที่ไม่สองมาตรฐาน  

“ข้อเสนอของผม คือ เราต้องโดดเดี่ยวคนที่เกาะกับ คสช. ให้น้อยที่สุด เราสร้างมิตรฝ่ายประชาธิปไตยให้มากที่สุด ท่านทั้งหลาย เราไม่สามารถส่งต่อสังคมที่สิ้นหวังให้ลูกหลาน เราต้องหันมาทำสิ่งที่ถูกต้อง นั่นคือ นำทิศทางของประเทศมาสู่ประชาธิปไตย 7 ปีของความถดถอย ยังไม่สายต่อการกลับตัวใหม่” อาจารย์ มธ. ทิ้งท้าย

รังสิมันต์ โรม ให้กำลังใจนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ปราศรัยเวทีหลักหน้าหอศิลป์ฯ เมื่อเวลา 20.00 น. ในหัวข้อ ‘ฝันถึงการต่อสู้ของคนหนุ่มสาว ฝันถึงการเมืองใหม่ของทุกคน’ เพื่อให้กำลังใจกับผู้ที่กำลังสู้กับระบอบประยุทธ์ จันทร์โอชา 

โรม กล่าวว่า ในช่วงที่สู้มาตลอด 1 ปี หลายคนอาจรู้สึกหดหู่ท้อแท้กับประเทศนี้ กับการเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่อาจทำให้เกิดขึ้นจริงได้ 

โรมกล่าวต่อว่า เขาไม่อยากให้ทุกคนรู้สึกท้อแท้ และกระตุ้นให้ทุกคนอย่าเพิ่งหมดหวัง หากย้อนกลับไปในวันที่ โรม กลับไปทำกิจกรรมครั้งแรกหลังประยุทธ์ทำรัฐประหาร โรมในฐานะสมาชิกกลุ่ม ‘ธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย’ หรือกลุ่ม LLTD จัดกิจกรรม ‘ตามหานกพิราบ’ ซึ่งเป็นการเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อชี้ให้สังคมนี้เห็นว่า ภายใต้ที่มีการควบคุมประเทศ พวกเขาก็ไม่เคยยอมแพ้ กิจกรรมวันนั้นมีผู้เข้าร่วมแค่เพียง 50 คน และการเดินก็ถูกตำรวจสกัดที่แยกคอกวัว

รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล และอดีตนักกิจกรรมจากกลุ่ม ‘ธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย’

กลุ่ม LLTD ยังคงยืนยันจัดกิจกรรมต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 23 พ.ค. 58 ซึ่งเป็นวันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ครบรอบ 1 ปีทำรัฐประหารโดยคณะ คสช. หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยการมองนาฬิกา และคิดใคร่ครวญว่า ตลอด 1 ปีที่มีการทำรัฐประหาร เราสูญเปล่าไปมากน้อยเพียงใด แต่น่าเสียดายที่สุดท้ายพวกเขาถูกจับกุม และลากตัวไปที่ สน.ปทุมวัน กลายเป็นบาดแผลฝังอยู่ในจิตใจของใครหลายคนที่ไปทำกิจกรรมครั้งนั้น

หลังจากนั้น เขาทำกิจกรรมรณรงค์โหวต No ในการลงประชามติผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ แต่ก็ไม่สำเร็จ เมื่อมีข่าวจะจัดการเลือกตั้ง เขาก็ออกมารณรงค์ให้ คสช. ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ว่า รัฐบาลจะต้องจัดการเลือกตั้งปี พ.ย. 2562 แต่ก็ไม่มีการเลือกตั้ง 

เมื่อมาเป็น ส.ส. ก็ไม่อยากให้ประชาชนผิดหวัง จึงมีการผลักดันแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ยกเลิก 112 แก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่สำเร็จ และไม่สามารถผลักดันอะไรได้ แม้จะพยายามเต็มที่แล้วก็ตาม 

แม้จะไม่สำเร็จ แต่ไม่เคยสูญเปล่า เพราะประชาชนได้เรียนรู้จากประสบการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต พวกเขาทราบแล้วว่า รัฐธรรมนูญนี้มันมีปัญหาอย่างไร รวมถึงปัญหาการเมืองอื่น ๆ 

หากย้อนกลับไปถึงการทำกิจกรรมครั้งแรก และเส้นทางที่เดินผ่านมาทั้งหมดที่เริ่มจากคนเพียง 50 คน จนปีที่แล้วมีคนออกมานับแสน สะท้อนว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยมาถูกทาง และมาไกลกว่าที่คิด โลกเปลี่ยนไปแล้ว และอีกนิดเดียวที่ระบอบประยุทธ์จะถูกโค่นลง 

“เราไม่เห็นแสงดาว หรือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ผมอยากให้ประชาชนรู้สึกว่า ท่ามกลางความท้อแท้หม่นหมองเหล่านี้ ยังมีพี่น้องประชาชนที่คิดแบบพวกเรา เป็นพี่น้องประชาชนที่เดินเข้ามาพร้อมกับความหวัง... อย่าท้อแท้ อย่าเพิ่งหมดหวัง ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นไม่ช้า ความเปลี่ยนแปลงจะมาในที่สุด และลานหน้าหอศิลป์ ที่ใช้ต่อสู้เพื่อต้านรัฐประหารจะกลายเป็นลานแห่งชัยชนะ สุดท้ายที่อยากให้ประชาชนจดจำเอาไว้ ชาติคือประชาชน และไม่มีอะไรทดแทนได้” โรม ทิ้งท้าย

บรรยากาศกิจกรรมในเวลาประมาณ 20.26 น. เป็นการแสดงดนตรีของวง ‘สามัญชน’ โดยมีไฮไลท์ที่การเล่นเพลง ‘ฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ’ เพื่อฝากรักถึงเพื่อน ๆ นักกิจกรรมที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในการพิจารณาคดี มาตรา 112 ในชั้นศาล 

“ฝากรักถึงคนในคุก ฝากรักถึงคนที่อยู่ที่นี่ ฝากรักถึงหลาย ๆ คนและหวังว่าวันหนึ่ง เราจะกลับมาพบกัน ต่อสู้บนสนามของประชาชน และต่อสู้เพื่อให้ได้มาของประชาธิปไตย” สมาชิกวงสามัญชน กล่าว 

ขณะที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมหน้าเวที เริ่มเปิดไฟส่องดาว จนกระทั่งช่วงท้าย เป็นกิจกรรมส่องไฟให้ดาว พร้อมย้ำข้อเสนอ จุดยืน 3 ข้อเรียกร้อง และ 1 เงื่อนไข ได้แก่ #ปล่อยเพื่อนเรา #ประยุทธ์ออกไป #รัฐธรรมนูญใหม่ และ #ปฏิรูปสถาบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net