‘ปล่อยเพื่อนเรา’ สปีชของทีม ‘School town king’ ที่ถูกตัดในคลิปมอบรางวัล 'ชมรมวิจารณ์บันเทิง'

ผู้กำกับ ‘School town king’ เผยสปีชที่ตัดออกในงานมอบรางวัล ‘ภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม’ ของชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมาผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เจ้าของรางวัลสาขาลำดับภาพยอดเยี่ยมกล่าว ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ พร้อมเคียงข้างนักสู้ที่ถูกจองจำอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่ ‘ธนายุทธ ณ อยุธยา หรือ บุ๊ค’ นักแสดงนำจากภาพยนตร์สารคดีดังกล่าว ขึ้นรับรางวัลสาขาเพลงจากภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พร้อมกล่าวสิ่งสำคัญสำหรับตนคือการไม่นิ่งเฉยต่อปัญหาสังคม

สืบเนื่องจากกรณี พิธีมอบรางวัลภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 29 ประจำปี 2563 ที่จัดขึ้นในวันที่ 24 ธ.ค. 2564 เวลา 14.30 น. ณ ลิโด้ คอนเนคท์ โรงภาพยนตร์ที่ 2 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ คอนเนคท์ โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีประกาศผลและมอบรางวัล

การประกาศผลรางวัลในครั้งนี้ มีเผยแพร่คลิปประกาศรางวัล ผ่านช่องทาง Youtube ชื่อว่า ชมรมวิจารณ์บันเทิง เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา ความยาว 1 ชั่วโมง 4.56 นาที โดยเป็นการถ่ายทอดบรรยากาศการประกาศผลรางวัลในสาขาต่างๆ ที่เข้าชิง การประกาศรางวัลในครั้งนี้เป็นที่สังเกตว่าเกิดการตัดคลิปออกในบางช่วงบางตอน นั่นคือช่วงกล่าวขอบคุณของผู้ที่ได้รับรางวัล จนเกิดการตั้งคำถามว่าเหตุใดทางพิธีการมอบรางวัลจึงตัดช่วงสปีชของคนที่ได้รางวัลออกจนหมด 

เฟซบุ๊กแฟนเพจ Man On Film โพสต์ผ่านเพจเวลา 18.36 น. ของวันที่ 4 ม.ค.65 ว่า ‘คลิปบรรยากาศงานมอบรางวัลจากชมรมวิจารณ์บันเทิง ตัดสปีชของคนที่ได้รางวัลออกจนหมด เหลือแต่สปีชของ นก-สินจัย ที่ขึ้นมารับรางวัลแทนหม่อมน้อย ซึ่งได้รับรางวัลเกียรติคุณประจำเวที ตัดสปีชคนอื่นออกโดยไม่ชี้แจง เหลือไว้แค่นี้เท่าที่เห็น อยากถามว่าเพราะอะไร ใช่หรือไม่ว่าเป็นการเซนเซอร์รูปแบบหนึ่ง’

‘ปล่อยเพื่อนเรา’ สปีชของทีม ‘School town king’ ที่ถูกตัด

ขณะที่เจ้าของเฟซบุ๊ก Wattanapume Laisuwanchai หรือ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี 'School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน' ได้โพสต์คลิปวิดีโอสปีชที่ถูกตัดออก ซึ่งได้บันทึกไว้ในงานชมรมวิจารณ์บันเทิงสำหรับผู้ที่ได้รับรางวัล โดยโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ‘โชคดีที่ถ่ายเก็บไว้ speech ของ School Town King ทั้ง 7 รางวัล งานชมรมวิจารณ์บันเทิง (ที่ถูกตัดออก) รวมไว้ในโพสนี้เผื่อเพื่อนๆคนไหนอยากฟังคับ แชร์กันได้ตามอัธยาศัย #schooltownking’

วิดีโอสปีชของที่ หรินทร์ แพทรงไทย เจ้าของรางวัลสาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม

ซึ่งหนึ่งในคลิปวิดีโอดังกล่าว เป็นวิดีโอสปีชหรือสุนทรพจน์ของหรินทร์ แพทรงไทย เจ้าของรางวัลสาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม กับผลงานลำดับภาพในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง 'School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน' ขึ้นรับรางวัลในพิธีดังกล่าว 

โดย หรินทร์ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณชมรมวิจารณ์บันเทิงที่ให้รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยมกับตนในครั้งนี้ ตนขอขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องที่ให้โอกาสในการมาร่วมกับโปรเจกต์นี้ ขอบคุณครอบครัวแพทรงไทยที่อยู่เคียงข้าง ขอบคุณบุ๊ค นนท์ (นักแสดง School town king) และทุกคนที่อยู่ในหนังที่เปิดโอกาสให้เข้าไปสำรวจชีวิตกว่า 130 วัน ขอบคุณทุกคนที่ซัพพอร์ต และทำให้ตนได้ทำงานชิ้นนี้อย่างเต็มที่เป็นระยะเวลา 7 เดือน จำนวนประมาณ 14 ดราฟ 

นอกจากนี้ หรินทร์กล่าวถึงภาพยนตร์สารคดีดังกล่าวว่า “หนังเรื่องนี้ทำให้ผมพยายามจะเป็นคนที่ดีขึ้น เพราะว่าชีวิตของน้องๆ และประเด็นที่เราสื่อสาร มันทำให้เราทบทวนตัวเอง ไม่เป็นผู้ใหญ่ในแบบที่ผมเกลียด”

“School town king อาจจะแสดงให้เห็นถึงความกดทับและความเหลื่อมล้ำทางสังคม และระบบการศึกษา แต่มันไม่ใช่แค่ระบบการศึกษาหรอกครับที่กดทับเราอยู่ ระบบมันครอบงำเราตั้งแต่ส่วนที่เล็กที่สุดไปจนส่วนที่ใหญ่ที่สุด โดยคนที่อยู่บนสุด”

“ผมขอใช้โอกาสนี้ขอเป็นกำลังใจและอยู่เคียงข้างเหล่านักสู้ที่ถูกจองจำอย่างไม่เป็นธรรม ปล่อยเพื่อนเรา ยังมีคนที่ต้องทนทุกข์แล้วก็ถูกจองจำเพราะความอยุติธรรมของระบบ ขอบคุณสำหรับรางวัลอีกครั้ง ผมเชื่อว่ามันจะมีวันที่ดีสำหรับพวกเรา ความยุติธรรมจะต้องเกิดขึ้น ขอบคุณครับ” หรินทร์กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ ธนายุทธ ณ อยุธยา หรือ บุ๊ค นักแสดงนำในภาพยนตร์สารคดีดังกล่าว คว้ารางวัลสาขาเพลงจากภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาครอง ธนายุทธขึ้นรับรางวัลพร้อมกล่าวว่า ความสำเร็จที่แท้จริงของเขาไม่ใช่รางวัลที่อยู่ตรงหน้า แต่เป็นข้อความ (message) ที่ต้องการจะสื่อสารออกไปในสังคม

“สิ่งที่สำคัญคือคนที่ดูหนังแล้วไม่นิ่งเฉยต่อปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ผมหวังว่าจะมีหนังภาพยนตร์ในไทย หรือสื่อทางดนตรี ที่พูดถึงเรื่องประเด็นสังคมนี้ต่อๆ ไป” ธนายุทธกล่าว

วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี ‘School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’  กล่าวขณะขึ้นรับรางวัลผู้กำกับสารคดียอดเยี่ยมในครั้งนี้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากศูนย์ ตั้งแต่พวกเขายังไม่มีเงินทุน ตนจึงอยากขอบคุณ Producer ที่ร่วมกันเริ่มโปรเจกต์นี้ขึ้นมา ขอบคุณที่ทำหนังเรื่องนี้มาด้วยกัน ขอบคุณผู้ช่วยผู้กำกับ และทีมคนอื่นๆ ที่มีส่วนช่วยในหนังเรื่องนี้ 

“เราเป็นผู้กำกับ การทำสารคดีไม่ใช่เรื่องของผู้กำกับที่เป็นคน produce สิ่งดีๆ ขึ้นมาจากตนเอง เป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของพาร์ทต่างๆ ของคนอื่น และคิดว่าจะไม่มาถึงตรงนี้ได้เลยถ้าเราไม่มีคนเหล่านี้คอยซัพพอร์ต” ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีกล่าว พร้อมเผยถึงแรงบันดาลใจในการทำหนังเรื่องนี้  

“ขอบคุณอาจารณ์อังคณา เป็นอาจารย์ที่อยู่ฝ่ายปกครอง ตอนม.6 จำได้ว่าตัดผมสั้นมาก อาจารย์อังคณาบอกว่าออกไปตัดมาให้สั้นกว่านี้อีก จำได้ว่าวันนั้นเป็นวันที่เราร้องไห้ รู้สึกว่าทำไมเราไม่ได้เรียนคาบเช้า เพราะว่าผมเราไม่สั้นพอ อันนั้นก็เป็นแรงบันดาลใจที่สุดที่ทำให้เริ่มต้นทำหนังเรื่องนี้” 

“ขอบคุณกรรมการทุกคนที่ให้รางวัลนี้ รู้สึกเป็นเกียรติสุดๆ เลย เพราะไม่คิดว่าหนังที่เป็นสารคดีที่เป็นประเด็นสังคม ประเด็นของเด็กที่ไม่ค่อยมีใครสนใจมันจะถูกได้รับความสนใจ ได้รับรางวัลนี้” วรรจธนภูมิกล่าว

นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล (อายดรอปเปอร์ ฟิลล์) ผู้ซึ่งอำนวยการสร้าง ‘School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ กล่าวขณะขึ้นรับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมว่า รางวัลที่ตนได้รับในวันนี้ นอกจากจะมีความหมายกับคณะทำงานแล้ว ยังมีความหมายที่แสดงถึงการมองเห็น และความตระหนักรู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับประเด็น รวมไปจนถึงชีวิตของทุกๆ คน ในภาพยนตร์เรื่องนี้

“ตลอดเกือบๆ ปี ที่ผ่านมา School Town King ได้ทำหน้าที่ที่หลายๆ คนพูดกันเหมือนเป็น Word of the year คำว่า ‘Soft power’ หนังได้กลายเป็นสื่อการเรียนรู้ในคลาสมนุษยวิทยา สังคมวิทยาในมหาวิทยาลัยต่างๆ หลายครั้งที่ความจริงในหนังถูกนำมาใช้แทนที่ภาพกราฟ ภาพแผนภูมิต่างๆ ที่เราเห็นกันจนเบื่อ เกี่ยวกับปัญหาการศึกษา และความเหลื่อมล้ำ”

“เราอยากเห็นการสนับสนุน Soft power ที่ไม่ได้เป็นแค่การโฆษณาความเป็นไทยที่ถูกแช่แข็งมานาน แต่เราอยากเห็นรัฐสนับสนุน soft power ที่สร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างวัฒนธรรม และสร้างความตระหนักรู้ใหม่ๆ ทั้งการศึกษา เพศสภาพ เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง และก็มีอีกหลายๆประเด็น”

นอกจากนี้ นันทวัฒน์ ระบุว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าหัวข้อที่ตนพูดมา ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้อง และจุดเริ่มต้นของพลังประชาชนในปัจจุบัน 

“วันนี้เราได้รับรางวัลภาพยนตร์อันทรงเกียรติก่อนปีใหม่ เดี๋ยวเราคงนัดฉลองกัน แล้วทุกๆ คนเองก็เดินทางปีใหม่ แล้วเราก็กลับบ้าน แต่มีอีกหลายคนที่ไม่ได้ใช้สื่อภาพยนตร์พูดแทนตัวเอง แต่เอาตัวเองเข้าไปพูดเกี่ยวกับประเด็นทั้งหมดที่พวกผมพูดมา ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมได้มากมาย ทุกคนเก่งมากๆ เป็นขุมกำลังหนึ่งในประเทศได้มากมาย แต่ทุกคนในตอนนี้ถูกจับขัง ริดรอนอิสรภาพ สิทธิเสรีภาพ ทั้งการพูดและการแสดงออก และที่สำคัญถูกริดเอาความสุขของบุคลากรคุณภาพเหล่านั้น ที่ควรจะได้รับในช่วงเวลาดีๆ แบบนี้”

“ถ้าหากพวกท่านในที่นี้ หรือใครที่ได้ดู มีความรู้สึกร่วมกับ School Town King ทุกคนก็คงจะคิดออกว่า ทำไมถึงเกิดการเรียกร้องในทุกๆ วันนี้ในสังคม และเพราะอะไรที่คนที่มาพูดแทนเรา หรือรู้สึกเหมือนกับเราต้องถูกคุมขัง ปล่อยเพื่อนเราเถอะครับ”  นันทวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่จิรเมธ โง้วศิริ เจ้าของรางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยม กล่าวขณะขึ้นรับรางวัลว่า ก่อนอื่นตนต้องขอขอบคุณชมรมวิจารณ์บันเทิงที่ให้โอกาสกับภาพยตร์สารคดีเล็กๆ เรื่องนี้ ตนอยากจะขอบคุณทีมงานทุกๆคน ที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เสร็จสมบูรณ์ สำหรับตนแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้เปรียบเหมือนการบันทึกความสัมพันธ์ระหว่างตัวทีมงานกับน้องๆ ในสารคดี 

“ขอบคุณที่เปิดพื้นที่ให้ทีมงานเข้าไปสำรวจและบันทึกเรื่องราวความยากลำบาก ความฝัน ของน้องๆ ออกมาให้ทุกคนได้รับชม ผมรู้สึกดีใจจริงๆ ที่สารคดีเรื่องนี้มีพื้นที่ และมีโอกาสไปถึงผู้ชมทั่วประเทศไทยและต่างประเทศ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า มันจะเป็นหนึ่งในการเปิดทางในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ให้มีหนังสารคดีต่อไปในอนาคตมากๆ ขึ้นไปอีก” จิรเมธกล่าว

7 รางวัลของ ‘School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’

สำหรับภาพยนตร์สารคดี ‘School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ เป็นภาพยนตร์สารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ ‘บุ๊ค’ และ ‘นนท์’ สองเด็กหนุ่มที่เติบโตจากสลัมคลองเตย ผู้มีความสามารถในการแร็ปและใฝ่ฝันอยากเป็นแร็ปเปอร์ชื่อดัง ภาพยนตร์เรื่องนี้พาไปสำรวจเส้นทางความฝันของพวกเขา และสะท้อนอุปสรรค ความยากลำบากต่างๆ ที่พวกเขาต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นคำดูถูกจากคนรอบข้าง การถูกกดทับจากโครงสร้างทางสังคม รวมทั้งการศึกษาไทย

โดยในงานมอบรางวัลครั้งนี้ ‘School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ คว้าไปทั้งหมด 7 รางวัล ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม อำนวยการสร้างโดย นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล (อายดรอปเปอร์ ฟิลล์) และ สุภัชา ทิพเสนา, ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดย วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย, กำกับภาพยอดเยี่ยม โดย จิรเมธ โง้วศิริ และ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย, ลำดับภาพยอดเยี่ยม โดย หรินทร์ แพทรงไทย, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม โดย วุฒิพงศ์ ลี้ตระกูล และเพลงจากภาพยนตร์ยอดเยี่ยม กระบอกเสียง (Freestyle) ประพันธ์โดย บุ๊ค-ธนายุทธ ณ อยุธยา (Eleven Finger) และ คนไท พูลลาภ (DoiMountain)

รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง

สำหรับรางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง (Bangkok Critics Assembly) เป็นรางวัลที่มอบให้แก่บุคคลในวงการผลิตภาพยนตร์ของไทย ที่มีผลงานดีเด่นที่สุดในสาขาต่างๆ ในแต่ละปี โดยได้จัดให้มีพิธีมอบรางวัลนี้เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2534 โดยชมรมวิจารณ์บันเทิง ซึ่งประกอบด้วยนักวิจารณ์ภาพยนตร์จากนิตยสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ มีประธานชมรมคือ นคร วีระประวัติ การประกาศผลรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2534

สำหรับรายชื่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ประมวลไว้ในวิกิพีเดียดังนี้

ครั้งและปีที่จัด

ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2533

"ส.อ.ว. ห้อง 2 รุ่น 44"

ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2534

"วิถีคนกล้า"

ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2535

"อนึ่งคิดถึงพอสังเขป"

ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2536

"ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด"

ครั้งที่ 5 ประจำปี พ.ศ. 2537

"คู่แท้ 2 โลก"

ครั้งที่ 6 ประจำปี พ.ศ. 2540

"2499 อันธพาลครองเมือง"

ครั้งที่ 7 ประจำปี พ.ศ. 2541

"รัก-ออกแบบไม่ได้"

ครั้งที่ 8 ประจำปี พ.ศ. 2542

"นางนาก"

ครั้งที่ 9 ประจำปี พ.ศ. 2543

"บางกอกแดนเจอรัส เพชฌฆาตเงียบอันตราย"

ครั้งที่ 10 ประจำปี พ.ศ. 2544

"14 ตุลา สงครามประชาชน"

ครั้งที่ 11 ประจำปี พ.ศ. 2545

"15 ค่ำ เดือน 11"

ครั้งที่ 12 ประจำปี พ.ศ. 2546

"เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล"

ครั้งที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2547

"โหมโรง"

ครังที่ 14 ประจำปี พ.ศ. 2548

"มหา'ลัย เหมืองแร่"

ครั้งที่ 15 ประจำปี พ.ศ. 2549

"เด็กหอ"

ครั้งที่ 16 ประจำปี พ.ศ. 2550

"รักแห่งสยาม"

ครั้งที่ 17 ประจำปี พ.ศ. 2551

"Wonderful Town"

ครั้งที่ 18 ประจำปี พ.ศ. 2552

"October Sonata รักที่รอคอย"

ครังที่ 19 ประจำปี พ.ศ. 2553

"สวรรค์บ้านนา"

ครั้งที่ 20 ประจำปี พ.ศ. 2554

"ฝนตกขึ้นฟ้า"

ครั้งที่ 21 ประจำปี พ.ศ. 2555

"Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ"

ครั้งที่ 22 ประจำปี พ.ศ. 2556

"ตั้งวง"

ครั้งที่ 23 ประจำปี พ.ศ. 2557

"ตุ๊กแกรักแป้งมาก"

ครั้งที่ 24 ประจำปี พ.ศ. 2558

"ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ"

ครั้งที่ 25 ประจำปี พ.ศ. 2559

"ดาวคะนอง"

ครั้งที่ 26 ประจำปี พ.ศ. 2560

"ฉลาดเกมส์โกง"

ครั้งที่ 27 ประจำปี พ.ศ. 2561

"มะลิลา"

ครั้งที่ 28 ประจำปี พ.ศ. 2562

"Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า"

ครั้งที่ 29 ประจำปี พ.ศ. 2563

 "School Town king แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน"

สำหรับ ทอฝัน ช่วยชู ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาจากสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

หมายเหตุ : 17.32 น. วันที่ 6 ม.ค.65 ประชาไทดำเนินการเพิ่มเนื้อหา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท