Skip to main content
sharethis

คุยกับกลุ่มศิลปินเพลงเพื่อราษฎรและผู้ชุมนุม ปักหลักทำกิจกรรมยืนหยุดขังพลังเพลง ที่บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นประจำทุกวัน เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ม.112  ซึ่งจัดมาต่อเนื่องเป็นรอบที่สองนับตั้งแต่ผู้ต้องหาทางการเมืองถูกจับกุม 

ประมวลบทสัมภาษณ์กลุ่มแกนนำศิลปินเพลงเพื่อราษฎร และผู้มาร่วมกิจกรรมพลังเพลง เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถึงการออกมาชุมนุมทำกิจกรรม ‘พูดด้วยหัวใจ ปราศรัยด้วยเสียงเพลง’ ที่เริ่มทำกิจกรรมกันตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2564 จนถึงต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ถึงเหตุผลในการออกมาเรียกร้องปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง และสิ่งที่อยากสื่อสารต่อสังคม

เรียกร้อง ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ ผ่านเสียงเพลง

อาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ หนึ่งในกลุ่มศิลปินเพลงเพื่อราษฎร  กล่าวว่า การมาจัดกิจกรรมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตนจะหยิบยกเอาเพลงที่แต่งเอง และหยิบเพลงของวงไฟเย็น ของวงสามัญชนเกี่บวกับการต่อสู้แนวเข้มข้นมาร้อง

อาเล็กเล่าว่า จากการต่อสู้มาตลอดเห็นความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ตนเล่าว่าเมื่อก่อนจะพูดเรื่องโครงสร้างการเมืองไม่ได้ สมัยนี้ตนเห็นคนพูดถึงเรื่องนี้กันอย่างแพร่หลาย นับว่าประสบความสำเร็จแล้ว ถึงแม้จะไม่ชนะในวันนี้ ตนระบุว่านี่คือการมุ่งหน้าสู่ชัยชนะอย่างถาวร

“เราชนะแน่นอน แต่อาจจะผมตายแล้ว แต่ผมตายไปแล้วซึ่งจะได้ชัยชนะ ซึ่งการแสดงออกของผมเป็นการสะสมชัยชนะ แต่ผมบอกแล้วว่าผมยอมพลีชีพแล้ว ตราบใดที่การเมืองยังเป็นอย่างนี้ ผมก็จะไม่ไปทำนาทำไร่ ขายของ หรือประกอบอาชีพอย่างอื่น ผมต้องการร้องเพลงรับใช้ประชาชน และฝากชีวิตเอาไว้กับประชาชน” อาเล็ก กล่าว

ขณะที่แอนนี่ อีกหนึ่งในกลุ่มศิลปินเพลงเพื่อราษฎร ระบุว่าในเมื่อตนไม่สามารถพูดส่งเสียงในแบบทั่วไปได้ จึงอาศัยใช้เสียงในการต่อสู้เพื่อผู้ต้องขังทางการเมือง และสิ่งที่เริ่มต้นมาจัดกิจกรรมตรงนี้ ตนระบุว่ามีความรู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างกดทับอยู่ และถึงเวลาแล้วที่ต้องออกมาแสดงพลัง

“พี่คิดว่ามีอะไรบางอย่างที่มันกดทับเราอยู่ แล้วมันกดขี่เราอยู่อย่างนี้ มันถึงเวลาแล้ว คือมันสุดทนแล้วไงพี่มีความรู้สึกว่ามันต้องพูด ไม่พูดมันไม่ได้แล้วอ่ะ เรื่องเกี่ยวกับคนอ่ะ อย่าใช้งบภาษีของประชาชนให้มันบานปลาย ทุกวันนี้ใครบ้างไม่กระทบ มันต้องเปลี่ยนแปลงสังคมแล้วอ่ะ พี่รู้สึกไม่ไหว พี่ไม่ได้ผลประโยชน์ พี่มาด้วยใจล้วนๆ อยากจะสู้ คือมันหยุดไม่ได้” 

“เราปราศรัย เราพูดก็ไม่เป็น เนื้อหาสาระจะกลั่นกรองให้มันสวยๆ เราก็ไม่ใช่ เพราะพี่ไม่มีพื้นฐานในด้านจับไมค์เลย ทำได้มากที่สุดคือจับไมค์ และใช้หัวใจสู้เอา แต่ละคนสู้มา 10 กว่าปีทั้งนั้นเลย ตั้งแต่ยุคเสื้อแดง ตั้งแต่ยึดอำนาจ 49 แล้วเราสู้กันมา ”

“พี่ไม่รู้หรอกว่าจะแพ้หรือชนะ แต่พี่รู้ว่า เราได้เห็นอะไรที่มันเปลี่ยนแปลงไปเยอะ จากที่คนไม่กล้าพูด ก็พูด คนไม่กล้าวิจารณ์ก็วิจารณ์ มันทำให้เราเห็นว่ามันเปลี่ยนไปเยอะ จากเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วที่พี่ต่อสู้มา” แอนนี่กล่าว

 

ฟังเสียง ‘มนุษย์ม็อบ’ สู้เพื่อผู้ต้องขังทางการเมือง

น้ำใส (นามสมมติ) นักกิจกรรมทางการเมืองที่สู้มาตั้งแต่ปี 2549 เล่าว่า เหตุผลที่ออกมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ เนื่องจากความเป็นธรรมในสังคมไม่ได้เกิดขึ้น ณ เวลานี้ อีกทั้งเด็กๆ ยังโดนระบบการรังแกจากผู้มีอำนาจ พร้อมระบุว่า ถึงแม้วันนี้ตนมาด้วยเสียงเพลง แต่ก็อยากได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ 

“ผมก็จะสู้ สู้ในทางที่แพ้ชนะไม่รู้ แต่ก็จะสู้ แต่ไม่ท้อ ความเป็นอยู่ของแต่ละคนก็ดูเอา ว่ามันดีหรือไม่ดี การศึกษาหรืออะไรมันดีมั้ย เราเป็นห่วงลูกหลานเรา  แต่ตัวเราไม่เป็นห่วงแล้วเพราะว่าเราผ่านมาแล้ว ไม่คงไม่ต่ำไปกว่านี้แล้วชีวิต โดนกดขี่มามากแล้ว เราก็อยากให้ลูกหลานเราดีกว่านี้ อยากได้ประชาธิปไตยที่ดีกว่านี้” น้ำใส กล่าว

ปอ (นามสมมติ) กล่าวว่ามาร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าการที่ผู้ต้องขังทางการเมืองถูกควบคุมตัว มาจากความไม่เป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรม

“ตั้งแต่ตำรวจ ยันศาลไม่มีความชอบธรรมเลย ทุกอย่างถูกปิดปากหมด ถามว่าประเทศนี้จะเดินไปได้อย่างไร เอาเขาไปขังได้ยังไง ในเมื่อเขามีสิทธิที่จะต้องประกันตัวออกมาสู้คดี คุณทำไม่ถูก ประชาชนต้องลุกขึ้นมาช่วยเดด็กๆ เพราะว่ารัฐทำไม่ถูก ประยุทธ์มาอย่างไม่ชอบธรรม ส.ว. มาอย่างไม่ชอบธรรม ทุกอย่างไม่ชอบธรรมหมดเลย” ปอ กล่าว

“เด็กๆ มีเหตุผล ทำไมไม่รับฟัง รัฐทำอะไรก็ไม่เคยโปร่งใสเลย ไม่ว่าจะเป็นขบวนการด้านความถูกต้อง ด้านกฎหมาย หรือว่าการเอื้อนายทุน เราเป็นแม่บ้านธรรมดา เราเป็นแม่บ้านธรรมดาแต่เรามองเห็นว่ามันไม่ยุติธรรม เราต้องออกมาช่วยเด็กๆ เพราะว่าเด็กๆ เขาทำถูก เขาพูดถูก แล้วเขาก็มีเหตุผล ทำไมไม่มาโต้เถียงกันด้วยเหตุผล แล้วรัฐเองก็มาอย่างไม่ชอบธรรม ขบวนการด้านกฎหมายก็ไม่ชอบธรรม”

“ประเทศไม่ใช่ของพวกคุณ ประเทศเป็นของประชาชนทุกคน เพราะฉะนั้นคุณทำให้ประชาชนโกรธ วันนี้ฉันโกรธ ฉันจะต้องออกมาช่วยเด็กๆ และขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกคนออกมาช่วยเด็กๆ เด็กๆ ไม่ได้รับความเป็นธรรม”

นอกจากนี้ ปอยังกล่าวว่า กิจกรรมพลังเพลงเป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง และไม่ทำร้ายใคร จึงยืนหยัดที่จะยืนหน้าเรือนจำจนกว่าผู้ต้องขังทางการเมืองจะได้รับการปล่อยตัว 

“เราต้องอดทนไปด้วยกัน ข้างนอกและข้างในต้องอดทนควบคู่กันไป เพราะว่า ถ้าเราไม่อดทนเคียงคู่กันไป เราก็สู้เขาไม่ได้ ทั้งคู่ต้องกอดกันให้แน่น ข้างนอกก็จะไม่หยุด “

“มันเป็นสิ่งที่เราพอทำได้ แล้วมันไม่รุนแรง มันไม่ได้ทำร้ายใคร ครั้งก่อนรอบแรกเรายืนแบบนี้สองเดือน แล้วเด็กๆ (ผู้ต้องขังทางการเมือง) ก็โดนจับเข้าไปอีก รอบนี้เราต้องยืนจนเด็กได้ออก ต่อให้นานแค่ไหนเราก็ต้องยืน” ปอ ระบุ

รำพึง เมืองหริ่ง หนึ่งในแกนนำกิจกรรมพลังเพลง เล่าถึงเหตุผลที่ออกมาร่วมกิจกรรมพลังเพลง ว่า ผู้ต้องขังทางการเมืองออกมาสู้เพื่อประชาชน เมื่อพวกเขาเหล่านี้เดือดร้อน ตนมองว่าเป็นสิ่งที่ต้องออกมาช่วยเหลือ

“เราสู้ได้ทางไหนเราก็มาสู้ เราก็มาให้กำลังใจเค้า ให้เค้ารู้ว่าเราไม่ทอดทิ้งนะ เราอยู่ตรงนี้ ตอนแรกมากัน 4-5 คน จนเค้าแกะป้ายหนีหมด แล้วก็เอารั้วมาล้อมไม่ให้เข้า แล้วเราก็กระเถิบมา เล่นอยู่ประมาณ 3 เดือน ตอนนั้นคนเยอะมาก”

ตอนนี้เค้าจับใหม่ เราก็มากันเดือนกว่าแล้ว ถ้าไม่มีธุระจำเป็นจริงๆ ไม่หยุดเลย ช่วยกันด้วยวิธีไหนก็ช่วยกัน เพราะเด็กๆ เขาทำเพื่อพวกเราอยู่แล้ว เพื่ออนาคตของคนรุ่นต่อไป” รำพึง ระบุ

รำพึงเล่าว่า การมาช่วยตีกลองของเธอ เธอไม่มีทักษะมาก่อนหน้านี้เลย แต่มาร่วมแสดงพลังด้วยใจ และจะสู้จนกว่าผู้ต้องขังทางการเมืองจะได้รับการปล่อยตัว

“ไม่มีทักษะตีกลองเลย เมื่อวันที่เขาตีหม้อไล่เผด็จการที่แยกปทุมวัน  ก็เอาหม้อไป วันนั้นวันแรกที่เอาหม้อไป วันนั้นเป็นวันที่ตีวันแรก  มีม็อบที่ไหนพวกเราก็จะไปร่วมกับเด็กๆ เราจะไปเล่นให้ก่อน 2 ชั่วโมง เหมือนเราไปดึงคนมา เพลงของเรามีแต่เพลงการเมือง”

“อยากบอกว่ายังสู้ต่อไป เหนื่อยนะไม่ใช่ไม่เหนื่อย ท้อนะไม่ใช่ไม่ท้อ แต่ก็ไม่ถอย จะสู้ต่อไปจนกว่าจะได้เด็กๆ ออกมา แล้วก็จะสู้ร่วมกับเด็กๆไป” รำพึง ระบุ

 

หากไม่มีใครออกมา การต่อสู้จะเงียบหายไป

อ้อมจิตร หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุม ระบุว่า การออกมาร้องเพลงช่วยผู้ต้องขังทางการเมืองเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะไม่อย่างนั้นหากไม่มีใครออกมาสู้อาจจะทำให้การต่อสู้เงียบหายไป

“ถ้าเกิดไม่มีใครออกเลยมันเงียบ  มันก็เหมือนว่าที่สู้มามันไม่ได้อะไร คนก็จะเงืยบไปหมด แต่ถ้าเรามาเรื่อยๆ มันก็จะมีอยู่เรื่อยๆ พวกป้ามาตั้งแต่ยุคเสื้อแดงแล้ว พอเด็กๆเขาออกมาเราก็เห็นด้วย เราก็ไม่หยุดเลย”

อ้อมจิตรระบุเพิ่มเติมว่า สิ่งที่อยากบอกกับสังคมคือเรื่องการเมืองเกี่ยวข้องกับพวกเราทุกคน

“อยากบอกให้รับรู้สิ่งใกล้ตัว เพื่อนๆป้าบางคนที่เค้าไม่สนใจ หรือบางคนเขารู้ว่าป้าออกมา เขาก็จะบอกว่า มันไม่เกี่ยวกับเรา เราบอกว่ามันเกี่ยว พอตื่นขึ้นมามันก็ใช่เลย แต่เพื่อนเขาไม่เข้าใจ เราก็ไม่รู้จะพูดยังไง เราไม่รู้จะอธิบายยังไง แต่เรารู้ของเรา ว่ามันเกี่ยวกันทุกอย่าง”

“ป้าทำงานตัดเย็บเสื้อผ้าด้วยตัวเอง กระทบตั้งแต่ก่อนโควิด ป้าไม่มีงานมาเกือบจะถึงสิ้นปีแล้ว ตั้งแต่ต้นปี งานไม่เข้าเลย ป้าก็ไม่อยากอยู่เฉยๆ มันไม่ได้อะไร ก็ออกมาช่วยเด็ก มันได้ประโยชน์กว่า แต่ถึงไม่มีงานเราก็ออกมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว” อ้อมจิตร ระบุ

อ้อมจิตร กล่าวทิ้งท้ายว่า การออกมาแสดงพลังเพลงในวันนี้ คือทางที่สร้างสรรค์ และให้กำลังใจต่อคนที่ยังสู้อยู่ 

“เราก็ต้องออกมา จะสู้อยู๋อย่างนี้ ถ้าตราบใดที่เรายังอยู่ ก็จะออกมาอย่างนี้ อยากให้กำลังใจเด็ก เขาจับเด็กมาเยอะมันไม่จบไม่สิ้นสักที ถ้าอยู่ตรงนี้ เวลาที่น้องๆ (ผู้ต้องหาคดีการเมือง) มาขึ้นศาล เขาบอกว่าเขาได้ยินเสียงแม่ๆ ป้าๆ นะ เราก็มีกำลังใจ เราเห็นใจเขา เราเหนื่อยเราสู้แค่นี้ แต่เขาเหนื่อยกว่าเรา เขาเสียสละกว่าเรา เราเห็นใจเขา สงสารเขา” อ้อมจิตร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net