Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่โตว่าชาวบ้านใช้ปืนแก๊ปยิงเฮลิคอปเตอร์ของกรมอุทยานฯ ขณะบินออกตรวจพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ถูกบุกรุกแผ้วถางนั้น หากวิเคราะห์ให้ลึกกว่าเพียงปรากฏการณ์ มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ซึ่งสังคมไทยควรนำเรื่องนี้มาถกเถียงกันให้ลงลึกถึงรากของปัญหาอย่างจริงจัง 

การประโคมเรื่องเล่าข้างเดียว (Grand Narrative) ของเจ้าหน้าที่ผู้ถืออำนาจ ที่กล่าวหาว่าชาวบ้าน (โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบ) ทำผิดกฎหมายอันเป็นภัยร้ายแรง ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ตาม จนนำไปสู่การลุแก่อำนาจและใช้ความรุนแรงต่อชาวบ้านกลุ่มเป้าหมาย เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ซึ่งกรณีกระทำต่อชาวบ้านบางกลอยหรือใจแผ่นดินที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ก็เป็นหนึ่งในปฏิบัติการที่ว่านี้

ก่อนอื่นผู้เขียนขอเริ่มด้วยการยกเรื่องเล่าของชาวบ้านที่เคยถูกกดขี่อย่างรุนแรงในช่วงทศวรรษ 2510 จนนำไปสู่เหตุการณ์เสียงปืนแตก และชาวบ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมาก ตัดสินใจเดินเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ดังนี้ 

เดือนพฤษภาคม 2510 เจ้าหน้าที่จากอำเภอและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้นำกำลังไปจับชาวม้งที่หมู่บ้านห้วยชมพู ตำบลยางฮอม อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย กล่าวหาว่าทำลายป่า และเรียกค่าปรับเป็นเงิน 3,000 บาท แต่ชาวบ้านไม่มีเงินมากพอให้ เจ้าหน้าที่จึงจับเด็กซึ่งเป็นลูกของผู้นำชุมชนไป ต่อมาผู้นำก็ได้เดินทางไปเจรจาขอตัวเด็กคืน โดยบอกว่าหาเงินได้แล้ว ให้เจ้าหน้าที่ไปเอาเงินที่หมู่บ้านในอีก 3 วัน ความจริงชาวบ้านไม่มีเงินให้ แต่โกหกเจ้าหน้าที่เพื่อที่จะเอาตัวเด็กกลับมาอย่างปลอดภัยเท่านั้น พอครบกำหนดเจ้าที่ก็เดินทางไปเอาเงิน  แต่ผู้ชายในหมู่บ้านหนีไปหลบอยู่ในป่าหมด เหลือแต่ผู้หญิงและเด็กอยู่ในหมู่บ้าน เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงก็ไม่พบผู้นำ จึงเข้าไปค้นทุกบ้านและยึดเอาทรัพย์สิน เมื่อเข้าไปในบ้านหลังหนึ่งเห็นเครื่องประดับเป็นห่วงคอเงินก็ยึดไป ผู้หญิงที่อยู่ในบ้านไม่ยอมและเข้าไปกระชากกลับคืนแล้ววิ่งหนีเข้าป่า เจ้าหน้าที่คนนั้นก็วิ่งตามไปติดๆ ซึ่งทิศทางที่ผู้หญิงคนดังกล่าววิ่งหนีนั้น ตรงไปยังที่หลบซ่อนของสามี เมื่อเจ้าหน้าที่คนดังกล่าววิ่งไล่มาจะถึงตัวผู้หญิงคนนั้น สามีจึงยิงเจ้าหน้าที่คนนั้นเสียชีวิต เหตุการณ์ครั้งนี้จึงนับเป็นวันเสียงปืนแตกที่หมู่บ้านห้วยชมพู และรัฐก็อ้างว่าชาวบ้านในแถบนั้นเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ หลังจากนั้นไม่นานกองทัพก็ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดลงกลางหมู่บ้านหลายหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์รอบภูชี้ฟ้าถูกคุกคามอย่างหนัก บางส่วนต้องหันไปพึ่ง พคท. และจับอาวุธต่อสู้กับกองทัพเป็นระยะเวลารวม 15 ปี 

จนถึงที่สุดรัฐบาลก็ยอมรับว่า ที่ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เข้าร่วมกับ พคท. เกิดจากการไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงนำไปสู่การออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 โดยข้อ 4.2 ระบุว่ามุ่งที่จะ “ขจัดเหตุแห่งความไม่เป็นธรรมในสังคมทุกระดับ...ทำลายการกดขี่ขูดรีดทิ้งสิ้น สร้างความปลอดภัยให้เกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน” ทั้ง กอ.รมน. เองก็ยอมรับว่า “สันติภาพเป็นรากฐานของความมั่นคง และความมั่นคงอันถาวรเป็นบ่อเกิดแห่งความมั่นคงสมบูรณ์พูนสุขของอาณาประชาราษฎร์ในราชอาณาจักร” ทำให้ชาวบ้านได้ทยอยออกมามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2523 – 2525

สำหรับกรณีปัญหาชาวบ้านบางกลอยหรือใจแผ่นดิน ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เริ่มจากถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติทับที่ เมื่อปี พ.ศ. 2524 เมื่อปี พ.ศ. 2539 ชาวบ้านก็ถูกบังคับอพยพออกจากพื้นที่ แต่ไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาที่เพียงพอ ต่อมาชาวบ้านบางส่วนก็กลับขึ้นไปอยู่ที่เดิม ต่อมามีการยกกำลังไปขับไล่ชาวบ้านออกมาอีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 มีการเผาบ้านรวม 98 หลังคา และบังคับให้ชาวบ้านย้ายออกมาทั้งหมด เมื่อแกนนำเริ่มออกมาต่อสู้เรียกร้องก็ถูกอุ้มไปฆ่า ล่าสุดเมื่อปลายเดือนมกราคม 2564 ชาวบ้าน 19 ครอบครัวจึงตัดสินใจเดินกลับไปทำกินที่หมู่บ้านเดิมที่ถูกขับไล่ออกมา

การใช้อำนาจกระทำต่อชาวบ้านบางกลอยหรือใจแผ่นดิน ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เสมือนเป็นการย้อนกลับไปใช้กลวิธีในการผลักใสให้ชาวบ้านธรรมดากลายเป็นศัตรูของรัฐ ไม่ต่างจากสมัยต้นทศวรรษ พ.ศ. 2510 โดยเฉพาะการกระทำของเจ้าหน้าที่อุทยาน ตัวแทนของรัฐบาล และสื่อมวลชนในภายหลังจากที่ชาวบ้านใจแผ่นดินตัดสินใจเดินทางกลับไปทำไร่ปลูกข้าวในพื้นที่ทำกินเดิม และการปักหลักชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลของภาคีเซฟบางกลอย 

โดยฝ่ายรัฐพยายามกล่าวหา ปล่อยข่าวโจมตีและด้อยค่า เพื่อมุ่งลดความชอบธรรมชาวบ้าน เช่น การอ้างว่าพื้นถูกประกาศให้เป็นเขตอุทยานฯ แล้ว, บ้านใจแผ่นดินอยู่ในเขตป่าต้นน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์, การที่ชาวบ้านกลับไปนั้นเป็นเพราะถูก NGO ปลูกปั่น, ชาวบ้านบางกลอยปลูกกัญชา ล่าสุดคือ มีการประโคมออกสื่อว่าชาวบ้านใช้ปืนแก๊ปยิงเฮลิคอปเตอร์ของกรมอุทยานฯ ที่น่าสังเกตคือ ไม่ว่าเหตุการณ์จะได้เกิดขึ้นจริงตามข่าวหรือไม่ แต่เมื่อถูกอ้างโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ระบบราชการและและสังคมก็มีแนวโน้มที่เชื่อว่าเป็นความจริง  

ตามข่าว มีการรายงานโดยอ้างถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ยืนยันพื้นที่ป่าถูกบุกรุกเป็นที่ทำกินโดยชายหญิงคู่หนึ่ง และกระสุนปืนถูกยิงมาจากกระท่อมมาทางท้ายเครื่องจำนวน 1 นัด ในระยะห่างประมาณ 10-15 เมตร โดยชายหญิงคู่นั้น ทั้งเจ้าหน้าที่อีกคนยังบอกว่าตนมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นปืนไทยประดิษฐ์ 

เมื่อพิจารณาเนื้อหาของข่าวและคลิปวีดีโออย่างละเอียดแล้ว ยังมีข้อสงสัยหลายประการ เช่น เสียงที่ดังเหมือนปืนนั้นใช่เสียงปืนแก๊ปหรือเปล่า, ตอนมีเสียงดังคล้ายเสียงปืนนั้นเป็นจังหวะที่เฮลิค็อปเตอร์กลับลำหันหลังให้กระท่อมไปแล้ว แต่รอยถลอกอยู่ด้านหน้าของเฮลิค็อปเตอร์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ว่ายิงมาจากกระท่อมตามที่เจ้าหน้าที่อ้าง, ดูจากร่องรอยพื้นที่ เป็นที่ทำกินแบบไร่หมุนเวียน อีกทั้งชาวบ้านสองคนที่เห็นก็ไม่ได้วิ่งหลบหนี ซึ่งผิดวิสัยของคนที่บุกรุกป่า, ไม่มีการเปิดเผยผลการตรวจของเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน, เนื้อหาของข่าวอย่างน้อย 5 เว็บไซต์ นำเสนอด้วยเนื้อหาที่มีลักษณะเดียวกัน เหมือนมีคนเขียนเนื้อข่าวไว้แล้ว

การยิงเฮลิคอปเตอร์ของกรมอุทานฯ ครั้งนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ นี่ก็เป็นเหตุการณ์ที่ถูกทำให้เกิดขึ้นโดยฝ่ายรัฐ กล่าวคือ หากเป็นการสร้างสถานการณ์โดยเจ้าหน้าที่ นั่นก็ถือว่าเป็นการแหกตาประชาชนอย่างน่าละอายที่สุด แต่หากเฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวถูกชาวบ้านยิงด้วยปืนแก็ปจริง ก็เป็นผลจากการถูกเจ้าหน้าที่รัฐบีบบังคับจนเกินทน หรือถูกต้อนจนไม่มีที่ทางสำหรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาแล้ว เพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่ในการห้ามใช้ที่ดินทำกิน ตรวจยึดที่ดิน จับกุมดำเนินคดี ไล่รื้อ เผาบ้านเรือน เท่ากับไม่อนุญาตให้เขามีอาหารกินประทังชีวิตและไม่ให้อยู่ในที่ของเขา ประกอบกับไม่มีกลไกอำนาจรัฐในระบบอันใด ที่ชาวบ้านกลุ่มนี้สามารถใช้ปกป้องสิทธิของเขาได้อีกแล้ว แม้กระทั่งอำนาจศาลปกครองก็ไม่สามารถปกป้องพวกเขาจากถูกกดขี่โดยอำนาจรัฐ 

การประโคมข่าวว่าเจ้าหน้าที่ถูกยิงด้วยอาวุธขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ จะเป็นข้ออ้างนำไปสู่การใช้ความรุนแรงโดยอำนาจรัฐกับใครและอย่างไรนั้นเป็นที่น่าสนใจ ซึ่งเงื่อนไขที่มีอยู่ในขณะนี้ คือ คดีชาวบ้านบางกลอย 18 คน, คดีนักกิจกรรมภาคีเซฟบางกลอย 9 คน, ข้อตกลงเจรจาแก้ไขปัญหาที่รัฐบาลทำกับชาวบ้านไว้, ข้อกล่าวหาต่อองค์กรพัฒนาเอกชน, ข้อกล่าวหาต่อพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านอีกจำนวนมากว่าบุกรุกป่า, ชาวบ้านบางกลอย องค์กรพัฒนาเอกชน และนักกิจกรรม เตรียมชุมนุมกดดันรัฐบาลต่อ  
 อีกประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ เหตุการณ์นี้ถูกอ้างเพื่อนำกล้องภาพถ่ายทางอากาศมูลค่ากว่า 35 ล้านบาท มาติดตั้งบริเวณด้านล่างของเฮลิคอปเตอร์

ในยุคสมัยใหม่ รัฐที่ใช้ปัญญาปกครองบ้านเมือง ย่อมจะเห็นว่าพื้นฐานของปัญหานี้คือ “สิทธิในที่ดิน” และ “ความยากจน” ซึ่งมีเครื่องมือที่ชาญฉลาดมากมายที่สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาได้ แต่สิ่งที่รัฐในยุคปัจจุบันทำคือ การพยายามกล่าวหา ด้อยค่า และผลักใสให้ประชาชนกลายเป็นศัตรู เพื่อสร้างความชอบธรรมในการบังคับใช้กฎหมายหรือความรุนแรง แม้ชาวบ้านจะพยายามแสดงความบริสุทธิ์ และขอเจรจายุติปัญหาบนโต๊ะกับรัฐบาลอย่างเปิดเผย ด้วยข้อเรียกร้องที่ไม่ได้เกินกว่าความชอบธรรมที่เขาพึงมี แต่ฝ่ายรัฐก็ยังไม่ยอมรับอย่างจริงใจ

ข้อเสนอที่เรียบง่ายต่อรัฐบาลและกรมอุทยานฯ (แต่ระบบโครงสร้างอำนาจรัฐไทยยอมรับไม่ได้) ในการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินของชาวบ้านในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คือ

ประการแรก ผู้มีอำนาจระดับสูงต้องยอมรับความจริงว่า ที่ผ่านมารัฐได้กระทำละเมิดต่อสิทธิของประชาชนจริง ไม่ว่าจะเป็นการประกาศอุทยานทับหมู่บ้านและที่ทำกิน การบังคับโยกย้ายโดยไม่สมัครใจและไม่ได้ชดเชยอย่างสมเหตุสมผล การไล่รื้อและเผาบ้านชาวบ้าน

ประการที่สอง นำเครื่องมือทางกฎหมายที่มีอยู่มาใช้แก้ไขปัญหา (แม้จะเป็นวิธีการที่ถูกโต้แย้งอยู่ก็ตาม) คือ พ.ร.บ.อุยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64 โดยการสำรวจรังวัดและจัดทำโครงการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน ทั้งนี้ให้ตีความและใช้ไปในทางที่เป็นคุณต่อชาวบ้าน ไม่ใช่ตีความแบบศรีธนญชัย

อย่างไรก็ตาม ภายใต้รัฐบาลนี้ (โครงสร้างอำนาจที่ระบบราชการเป็นใหญ่และผู้มีอำนาจไม่ได้รับผิดชอบต่อประชาชน) เราคงจะไม่ได้เห็นผู้มีอำนาจแก้ไขปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างที่ควรจะเป็น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net