ภาคประชาชนทวงถามความคืบหน้ามาตรการแก้ไขตลาดป้องกันโควิดในพื้นที่กทม.

ภาคประชาชนทวงถามความคืบหน้าผลสำรวจตลาด กทม. และมาตรการปรับปรุงแก้ไขตลาดที่ไม่ผ่านเกณฑ์ป้องกันโควิด-19 จี้ กทม.จัดระเบียบตลาดนัดนอกระบบนับร้อยแห่งทั่วกรุง หลังพบขาดมาตรการป้องกัน วอนเยียวยาผู้ค้าตลาดที่ถูกสั่งปิด เร่งฟื้นฟูให้กลับมาค้าขายได้โดยเร็ว และฉีดวัคซีนให้พ่อค้าแม่ค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทั้งหมด

20 มิ.ย.2564 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ (20 มิ.ย.64) ชูวิทย์ จันทรส เลขานุการขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) กล่าวว่า จากการเฝ้าระวัง และติดตามความคืบหน้าในการป้องกันและแก้ไขปัญหา การติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มตลาดสดตลาดนัด ในพื้นที่ กทม.  พบว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่ และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ออกตรวจติดตามเพื่อให้ผู้ประกอบการตลาดดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตามหลักเกณฑ์ 9 ข้อ อาทิ การระบายอากาศ การลงทะเบียนผู้ค้าและลูกจ้าง การทำความสะอาด การสวมหน้ากาก โดยตรวจระหว่างวันที่ 24 พ.ค. – 11 มิ.ย. 2564  มีการให้ข้อมูลล่าสุดโดย ศบค. ในวันที่ 9 มิ.ย. พบว่า ตรวจไปแล้วทั้งสิ้น 379 แห่ง มีตลาด 289 แห่งผ่านเกณฑ์มาตรฐาน หรือคิดเป็นร้อยละ 76 และไม่ผ่านเกณฑ์ 90 แห่งหรือร้อยละ24 แต่นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ยังไม่มีการแถลงความคืบหน้าใดๆจาก กทม. ว่าผลการตรวจตลาดครบทุกแห่งแล้วหรือไม่ ผลเป็นเช่นไร และส่วนที่ยังไม่ผ่านมีการปรับปรุงแก้ไขไปแล้วหรือไม่อย่างไร และที่สำคัญในส่วนของตลาดที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ประเภทที่1และ ประเภทที่ 2 เป็นตลาดที่ไม่เข้าระบบแต่มีการจัดพื้นที่ค้าขายเป็นเฉพาะช่วงเวลาเช่น เช้าหรือเย็น มีการจัดเก็บค่าแผงมีผู้คุมตลาดชัดเจน  แต่จากการเฝ้าระวังของเครือข่ายพบว่าเกือบทั้งหมดไม่มีมาตรการใดๆเลย และคาดว่าตลาดแบบนี้จะมีอยู่ทั่วไปแทบทุกเขต ประมาณการว่าอย่างน้อยมี 2-3 แห่งต่อเขต นั่นหมายความว่าอาจจะมีมากกว่า 100-150 แห่ง ใน กทม.      

“สิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อผลออกตรวจออกมา การจัดการของ กทม. สำนักอนามัย สำนักงานเขต จะทำอย่างไรต่อไปกับตลาดที่ไม่ผ่านเกณฑ์  เพื่อรักษาพื้นที่ตลาดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอย แหล่งอาหารการกินที่สำคัญของประชาชนทุกกลุ่ม  ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหาโดยการสั่งปิดตลาดเมื่อพบผู้ติดเชื้อเพียงอย่างเดียว การทำงานเชิงป้องกันทำงานเชิงรุกก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน” ชูวิทย์ กล่าว

เครือข่ายฯ มีข้อเสนอต่อกรุงเทพมหานคร ดังนี้ 1. ปัจจุบันผลการตรวจตลาดคืบหน้าไปอย่างไร กทม.ควรแจ้งต่อสาธารณะ  และจะมีมาตรการต่อไปเพื่อทำให้ข้อบกพร่องต่างๆที่พบนั้นหมดไปได้อย่างไร ควรมีกำหนดระยะเวลาให้แต่ละตลาดแก้ไขปรับตัว และมีการตรวจซ้ำ ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด แต่หากพบว่ายังไม่มีการปรับปรุงแก้ไข ก็ควรมีบทลงโทษกับตลาดที่เพิกเฉยเป็นลำดับขั้น โดยให้ยาแรงในการปิดตลาดเป็นทางเลือกสุดท้าย  เพื่อการปรับปรุงแก้ไขและกลับมาเปิดทำการค้าขายเป็นปกติโดยเร็วที่สุด 2. พ่อค้าแม้ค้า ลูกจ้าง บุคคลที่เกี่ยวข้องในตลาด มีความสำคัญและมีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกับบุคลากรด่านหน้า  ที่จะเป็นได้ทั้งผู้ติดและแพร่เชื้อ การเร่งตรวจโควิด เร่งฉีดวัคซีน จึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน กทม.ควรรีบดำเนินการ 3.ในตลาดที่ถูกสั่งปิดควรมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าในตลาดให้ชัดเจน ควรมีการประกาศให้ประชาชนทราบว่าจะดำเนินการอย่างไร  มีระยะเวลาจัดการกี่วัน และจะกลับมาเปิดขายได้เมื่อไหร่ ไม่ใช่ปล่อยให้อึมครึมหาความชัดเจนไม่เจอ เสียหายทั้งผู้ค้า และผู้ซื้อในตลาด 4. ขอให้เร่งสำรวจตลาดที่อยู่นอกระบบ และไม่มีการขึ้นทะเบียน ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในทุกเขตทุกพื้นที่ เพื่อให้เข้าสู่ระบบ และกำหนดมาตรการควบคุมโควิด-19 เช่นเดียวกับตลาดที่ขึ้นทะเบียน อย่างไม่เลือกปฏิบัติ และ 5. จากการสุ่มสำรวจตลาดใน กทม. ของเครือข่าย ในช่วงเวลาก่อนตลาดเปิดทำการ พบว่าการคัดกรองในส่วนของพ่อค้าแม่ค้า ลูกจ้างในตลาดแผงค้า ยังมีความหละหลวมอยู่มาก กทม.ต้องเข้มงวดในจุดนี้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท