สุรพศ ทวีศักดิ์: ทำไมเราต้องวิจารณ์ศาสนา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


Jean-François Lyotard (1924-1998)
ที่มาภาพ:
https://www.pinterest.com/RogerMcKeon/jean-fran%C3%A7ois-lyotard/

ผมมักจะถูกตั้งคำถามว่าทำไมไม่เขียนด้านบวกของพุทธศาสนาบ้าง วิจารณ์พุทธศาสนาตลอดเลยคำตอบของผมคือ การพูดถึงด้านบวกของพุทธศาสนามีมากอยู่แล้ว และสำหรับผมการวิจารณ์ศาสนาต่างจาก “การดูถูกศรัทธาของคนอื่น” (ดังที่บางคนชอบกล่าวหาผมทำนองนี้) ที่เป็นเรื่องของการกระทำต่อศรัทธาหรือความเชื่อของบุคคล “โดยตรง” เช่น กรณีนักบวชบางคนยกทีมไปพบชาวบ้านทางอีสาน แล้วเรียกพวกเขามาไต่สวนความเชื่อ “แบบไลฟ์สด” และตัดสินว่าความเชื่อเช่นนั้นงมงายเพราะไม่มีในไตรปิฎก

สำหรับคนที่มี “สามัญสำนึก” ในเสรีภาพทางศาสนาที่ถือว่า ความเชื่อเป็นเรื่องเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เมื่อเห็นภาพเช่นนั้น ย่อมเกิดคำถามว่านั่นเป็นการไม่เคารพต่อเสรีภาพทางความเชื่อที่หมิ่นเหม่ต่อการดูถูกศรัทธาของคนอื่นหรือไม่ ขณะที่ผู้คิดแบบพุทธไทยอาจอนุโมทนาว่านักบวชกำลัง “โปรดสัตว์” ผู้งมงายให้ตาสว่าง 

แต่การวิจารณ์ศาสนาไม่ใช่การกระทำที่เจาะจงไปที่ความเชื่อส่วนตัวของคนใดคนหนึ่ง หากเป็นการกระทำต่อสิ่งที่เป็น “สาธารณ์” ไม่ว่าจะเป็นศาสดา คำสอน สาวก ศาสนจักร ผู้นำศาสนา นักบวช พิธีกรรม และอื่นๆ ที่แสดงบทบาทชี้นำหรือมีอิทธิพลทั้งด้านบวกและลบต่อสังคม หากใครเห็นว่าองค์ประกอบของศาสนาอันเป็นสาธารณ์เหล่านี้ควรอยู่เหนือการตั้งคำถามและวิจารณ์ตรวจสอบ ก็ย่อมเป็นภาระของเขาเองที่จะต้องให้เหตุผลสนับสนุนอย่างสมเหตุสมผลให้ได้ว่า องค์ประกอบอะไรของศาสนาที่ควรมี “สถานะดุจเผด็จการอำนาจนิยม” ที่ห้ามแตะต้อง 

เมื่อว่าโดยรวมๆ แล้ว ประเพณีการวิจารณ์ศาสนา ไม่ว่าจากจุดยืนแบบเสรีนิยมหรือมาร์กซิสต์ ก็เพื่อปลดปล่อยมนุษย์และสังคมจากพันธนาการและการครอบงำ แม้แต่จากจุดยืนแบบหลังสมัยใหม่นิยม (postmodernism) ที่วิจารณ์แนวคิดเสรีนิยม, มาร์กซิสต์, วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และแนวคิดอื่นใดที่อ้างสิทธิ์ว่าเสนอความจริงสากลแบบภาววิสัย แนวทางการวิจารณ์เช่นนี้ก็ใช้ได้กับการวิจารณ์ศาสนาที่อ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของสัจธรรมสัมบูรณ์ด้วยเช่นกัน 

นักคิดหลังสมัยใหม่ เช่น Jean-François Lyotard ยืนยันว่า ไม่ใช่แต่ระบบจริยธรรมเท่านั้น “ความจริง” และ “เหตุผล” ก็เป็นสิ่งสัมพัทธ์กับทัศนะเฉพาะต่างๆ เขาเรียกทัศนะหลักๆ อันเป็นที่มาของคำอธิบายเกี่ยวกับโลกว่า “เรื่องเล่าหลัก” (metanarrative or grand narrative) เช่นเรื่องเล่าหลักแบบเสรีนิยม, แบบมาร์กซิสต์, แบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่และอื่นๆ และในมุมองของ Michel Foucault “เรื่องเล่าทั้งหมดล้วนเป็นการแสดงอำนาจในแบบต่างๆ” มองจากแง่นี้ เรื่องเล่าแบบศาสนาล้วนแสดงอำนาจที่ซับซ้อน 

ความซับซ้อนคือ เรื่องเล่าหลักแบบศาสนาไม่ได้แสดงอำนาจเชิงปฏิบัติออกมาอย่างตรงตามหลักการของคำสอนสำคัญๆ เช่นคำสอนของพราหมณ์ฮินดูและพุทธคือ “ความหลุดพ้น” จากอวิชชา กิเลส และความทุกข์ แต่การแสดงอำนาจของคำสอนเช่นนี้ไม่ใช่การแสดงพลังเปลี่ยนแปลงผู้คนและสังคมให้มีความหมายสอดคล้องตามคำสอนเช่นนั้น 

หากเราฉุกคิดหน่อย ก็จะเห็นว่า ตัวคำสอนที่ว่ากันว่าเป็น “แก่นแท้” มีเหตุมีผลนั้น นอกจากจะไร้อำนาจในการให้บังเกิดผลแล้วยังพึ่งพาตนเองไม่ค่อยได้ เพราะมันต้องพึงพาเรื่องเล่าอื่นๆ เพื่ออยู่รอด เช่นเรื่องเล่าที่ยืนยันความมีอยู่ของพระเจ้า และอำนาจของพระเจ้าที่กำหนดระเบียบทางสังคมแบบวรรณะขึ้นมา หรือเรื่องเล่ากฎแห่งกรรมที่อยู่เบื้องหลังของการที่คนเราเกิดมาในชนชั้นที่ต่างกัน เรื่องเล่าของศาสดาที่มีประวัติศาสตร์ของอดีตชาติยาวไกลในฐานะเป็นโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีมานับชาติไม่ถ้วนกว่าจะได้บรรลุความหมายของความหลุดพ้น (ซึ่งก็น่าฉงนว่า หากศาสดาเองยังใช้ความพยายามหลายภพชาติขนาดนั้นจึงหลุดพ้นได้ แล้วที่สอนกันว่า “นิพพานที่นี่ และเดี๋ยวนี้” สำหรับปุถุชนทั่วไป มันจะเป็นไปได้อย่างไร) 

นอกจากนี้ ตัวคำสอนและเรื่องราวของศาสดา สาวกสำคัญๆ ก็ถูกบันทึกใน “คัมภีร์” ที่มีสถานะสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์กว่าหนังสือหรือตำราทั่วไป และยังสืบทอดผ่านช่วงเวลาหลายพันปีโดยสถาบันของนักบวชที่มีสถานะเป็นเครือข่ายของชนชั้นปกครองในสังคมศักดินามายาวนาน หรือพูดอีกอย่างตัวคำสอนศาสนาต้องอาศัยอำนาจศาสนจักร องค์กรศาสนา และอำนาจรัฐทำหน้าที่รักษา อุปถัมภ์ คุ้มครอง และส่งเสริมจึงคงอยู่ได้ยาวนานและแพร่หลาย

โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่เห็นได้ในประวัติศาสตร์ของศาสนาใหญ่ๆ อย่างพราหมณ์ฮินดู พุทธ คริสต์ อิสลาม ก็คือหลักคิด อุดมการณ์ อำนาจ พฤติการณ์ของนักบวช สถาบันศาสนา กลุ่มผู้นำศาสนา ศาสนจักร และรัฐอุปถัมภ์ศาสนานั้นๆ มัก “สวนทาง” กับตัวคำสอนที่ถือกันว่าเป็นแก่นแท้ การใช้อำนาจในนามศาสนาของสถาบันศาสนาต่างๆ และรัฐอุปถัมภ์ศาสนาต่างๆ ดังกล่าว จึงมากด้วยการครอบงำกดขี่ด้วยการใช้เรื่องเล่าแบบศาสนาสถาปนาระบบกษัตริย์เผด็จการ สังคมศักดินา การล่าแม่มดทางความเชื่อและอื่นๆ 

อย่างไรก็ตาม การวิจารณ์ศาสนาแทบจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ “ตัวคำสอน” ที่เชื่อกันว่าเป็นแก่นแท้เท่าใดนัก เพราะการวิจารณ์ไม่สามารถทำลายความหมายตามตัวอักษร หรือทำลายความมีเหตุผลในตัวมันเองของคำสอนต่างๆ เช่นอริยสัจ, ปฏิจจสมุปบาท, ปัญญากรุณา, รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ฯลฯ แต่อย่างใด 

แต่เหล่าผู้ศรัทธาศาสนาอย่าเพิ่งลำพองใจ แม้การวิจารณ์จะไม่ทำให้คำสอนตามตัวอักษรเสียหาย แต่ก็เผยให้เห็น “ความจริงล่อนจ้อน” ว่า ตัวคำสอนศาสนาที่ว่าเป็แก่นแท้ดีงามต่างๆ นั้นมักจะ “เป็นง่อย” เพราะมันไม่มีอำนาจใดๆ ในการเปลี่ยนแปลงผู้คนและสังคมให้มีความหมายดีงามเหมือนความหมายตามตัวอักษรนั้นเลย ทั้งนี้เพราะคำสอนโดยตัวมันเองนั้นไร้อำนาจ พึ่งพาตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาอำนาจของสถาบันนักบวช กลุ่มผู้นำทางศาสนา ศาสนจักร และรัฐซึ่งมักใช้หลักคิด อุดมการณ์ และมีพฤติการณ์สวนทางกับคำสอนที่เป็นแก่นแท้มาตลอดประวัติศาสตร์ดังกล่าวแล้ว

ที่เห็นชัดอีกด้านคือ ประเพณีการวิจารณ์ศาสนาของนักคิดเสรีในโลกทางปัญญาของตะวันตก ได้ให้กำเนิดปรัชญาศีลธรรม (moral philosophy) เช่นจริยศาสตร์ว่าด้วยคุณธรรมในปรัชญากรีกคลาสสิก, ปรัชญาศีลธรรมเสรีนิยมโลกวิสัยแบบคานท์, มิลล์, รอลส์และอื่นๆ ที่ให้รากฐานแก่หลักสิทธิมนุษยชน และปรัชญาการเมือง (political philosophy) เช่นปรัชญาการเมืองแบบเสรีนิยมที่ยืนยันเสรีภาพของปัจเจกบุคคล (individual liberty) และเสรีภาพทางการเมือง (political liberty) ที่ให้รากฐานแก่ระบอบเสรีประชาธิปไตย ส่วนแนวคิดแบบมาร์กซิสต์นอกจากจะวางรากฐานแก่ระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตยแล้ว ยังมีพลังดึงดูดให้เสรีนิยมเพิ่มมิติของความเสมอภาคทางสังคม จนเกิดเสรีนิยมทางสังคม (social liberalism) ที่เน้นสวัสดิการของพลเมืองชัดเจนขึ้น

ความก้าวหน้าทางปัญญาดังกล่าวนั้น มี “แกน” (core) หรือ “ศูนย์กลาง” (central) อยู่ที่ “การปะทะขัดแย้ง/แลกเปลี่ยน” กับ “ศาสนาแบบตะวันตก” ตั้งแต่ยุคศาสนาพหุเทวนิยมจนถึงเอกเทวนิยมหรือคริสต์ศาสนา 

เริ่มจากเรื่องเล่าหลักศาสนาตะวันตกยืนยันว่า “โลกและชีวิตมนุษย์มีที่มาที่ไป” กล่าวคือ โลก และมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่ถูกสร้างมาด้วยจุดประสงค์ที่แน่นอน และมีเป้าหมายสุดท้าย (telos) ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า ภายใต้เรื่องเล่าหลักเช่นนี้ ศาสนาได้สร้างเนื้อหาของคำสอน ศีลธรรมที่มีความหมายเชิงการปลดปล่อยมนุษย์ และเป็นแนวทางปฏิบัติไปสู่เป้าหมายสุดท้าย (เช่น สวรรค์ของพระเจ้า) ขณะเดียวกันก็สร้างมวลชน องค์กร ขบวนการเคลื่อนไหว โครงสร้างอำนาจศนจักรและรัฐศาสนาเพื่อเผยแพร่และปกป้องเรื่องเล่าหลักเช่นนั้น 

ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นและเผชิญหน้าในรูปของการปะทะขัดแย้ง/แลกเปลี่ยนกับศาสนา ก็ต้องสร้างเรื่องเล่าหลักของตนขึ้นมาแข่งกับเรื่องเล่าหลักแบบศาสนา ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะตั้งคำถามและวิจารณ์เรื่องเล่าหลักแบบศาสนา ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างองค์กร สถาบัน ขวนการเคลื่อนไหวทางความคิด มวลชน และอื่นๆ ขึ้นมาแข่งกับศาสนาด้วย ผลก็คือความคิด อุดมการณ์ทางการเมืองแบบศาสนา อำนาจศาสนจักรและรัฐศาสนาถูกถอดรื้อทำลายลง แทนที่ด้วยรัฐเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย และรัฐโลกวิสัยแบบอื่น

แต่ในอีกด้านหนึ่งปรัชญาและวิทยาศาสตร์ก็ “แชร์ต้นทุนทางปัญญา” กับศาสนาด้วย เช่นปรัชญาและวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่าโลกและมนุษย์มีที่มาที่ไป ปรัชญาธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติทำหน้าที่ตอบคำถามพื้นฐานนี้ที่ต่างจากคำตอบแบบศาสนา ขณะที่ปรัชญาศีลธรรมก็มีทั้งที่เสนอเป้าหมายการมีชิวิตที่ดี และสังคมที่ดีที่สามารถบรรลุได้ในโลกนี้ 

แต่มีบางแนวคิด เช่นแนวคิดเสรีนิยมแบบ Kantian และ Rawlsian ที่เสนอว่า โลกทางศีลธรรมหาได้มีเป้าหมายที่แน่นอนและระเบียบ/คำสั่งทางศีลธรรมเชิงภาววิสัยถูกให้มาล่วงหน้าแต่อย่างใดไม่ (เช่น “สวรรค์-บัญญัติสิบประการ” และฯลฯ) หากเป็นโลกที่ว่างเปล่าจากสิ่งเหล่านั้น แต่มุมมองเช่นนี้ไม่ใช่สุญนิยม (nihilism) ที่มองว่าโลกปราศจากคุณค่าทางศีลธรรมและอื่นๆ เพราะเสรีนิยมแนวนี้ยืนยันว่ามี “ตัวตนอิสระ” (independent self) อันเป็นตัวตนที่แท้จริงของปัจเจกบุคคลดำรงอยู่ก่อนการมีเป้าหมายและระเบียบทางศีลธรรมใดๆ มโนทัศน์เกี่ยวกับสิ่งที่ดีต่างๆ เป้าหมายการมีชีวิตที่ดีใดๆ และกฎศีลธรรมใดๆ เป็นสิ่งที่ปัจเจกบุคลเลือกสร้างขึ้นมาด้วยตนเอง ตัวตนอิสระของปัจเจกบุคคลในฐานะเป็น “สัตผู้มีเหตุผลที่มีอิสรภาพและเสมอภาค” (free and equal rational being) จึงเป็นรากฐานของการสร้างระเบียบทางศีลธรรมและทางสังคมการเมืองขึ้นมา

เหล่านี้คือ “การย้ายฐาน” ของปรัชญาศีลธรรมและปรัชญาการเมือง “ออกจาก” เรื่องเหล่าหลักแบบศาสนามาสู่เรื่องเล่าหลักแบบโลกวิสัย และมันก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความคิด แนวคิด หรือจินตนาการที่ลอยอยู่ในอากาศ เพราะแนวคิดพวกนี้เลียนแบบศาสนาในแง่ของออกแบบโครงสร้างอำนาจทางการเมืองและสถาบันทางสังคมมารองรับ แต่เสนอคำอธิบายและเหตุผลสนับสนุนได้ชัดเจนกว่าว่า หากยกเลิกโครงสร้างแบบรัฐศาสนาและอำนาจศาสนจักร แล้วแทนที่ด้วยโครงสร้างแบบรัฐเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย จะเกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมมนุษย์โดยรวมมากกว่า และยังช่วยปลดปล่อย “คำสอนแก่นแท้” ของศาสนาจากที่เคยเป็นง่อยภายใต้อำนาจศาสนจักรและรัฐศาสนาแบบยุคกลางให้สามารถลุกขึ้นมาแสดงความหมายอย่างหลากหลายและมีชีวิตชีวาในวิถีชีวิตของปัจเจกบุคคลและชุมชนผู้ศรัทธาต่างๆ ได้ดีกว่า เพราะมีหลักเสรีภาพทางศาสนารองรับอย่างชัดเจนมากกว่า

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ศาสนาก็จำเป็นต้องเรียนรู้และหาวิธีรับมือกับการวิพากษ์วิจารณ์ จึงเกิดการปฏิรูปศาสนาหลายระลอก แต่อย่างที่เราเห็น อัตลักษณ์ของศาสนาเชิงสถาบันนั้นคือความเป็น “อนุรักษ์นิยมแช่แข็ง” (strong conservative) กว่า 500 ปีผ่านไป เราเพิ่งได้เห็นพระสันตะปาปาประมุขศาสนจักรคาทอลิกออกมา “ขอโทษ” ในความผิดพลาดที่ศาสนจักรเคยกระทำผิดอย่างเลวร้ายต่อกาลิเลโอ, คนรักร่วมเพศและอื่นๆ 

แต่โดยรวมๆ แล้ว ผลของการปะทะขัดแย้ง/แลกเปลี่ยนระหว่างศาสนากับปรัชญาและวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดสังคมโลกวิสัยขึ้นในโลกตะวันตก

แต่จนถึงวันนี้บ้านเรายังใช้ตรรกะ “ไทยไม่เหมือนใครในโลก” ด้วยการสร้าง “มายาคติ” ว่าพุทธศาสนาไทยและระบบกษัตริย์ไทยคือสัญลักษณ์ความเจริญรุ่งเรืองของชาติ ไม่เคยกดขี่และรุนแรงเหมือนระบบกษัตริย์และศาสนาแบบตะวันตก เราจึงไม่จำเป็นต้องคิดถึงปรัชญาศีลธรรมโลกวิสัยและระเบียบทางสังคมการเมืองแบบโลกวิสัยอย่างตะวันตกจริงจัง 

ผลก็คือ ขณะที่ศาสนาและสถาบันกษัตริย์ที่ยังมีอยู่ในบางประเทศในยุโรปถูกกำหนดให้อยู่ใต้อุดมการณ์และระเบียบทางสังคมและการเมืองแบบโลกวิสัย แต่ไทยกลับหัวกลับหางคือ รับเอาอุดมการณ์และระเบียบทางสังคมและการเมืองแบบโลกวิสัยจากตะวันตกมา “อยู่ใต้” สถานะพิเศษของสถาบันกษัตริย์ที่อิงศาสนาและมีอำนาจปกครองศาสนจักร โดยศาสนจักรทำหน้าที่ค้ำยันความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์แบบที่เคยปฏิบัติมาในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ เมื่อเราจะพูด เขียน เคลื่อนไหวเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตย ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้อง “มองบน” เพราะเราจะมีเสรีภาพและประชาธิปไตยไม่ได้จริง ถ้าไม่เอาระบบอำนาจโบราณอิงศาสนาที่อยู่ข้างบนมาอยู่ใต้ระเบียบทางสังคมและการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย 

ดังนั้น เราจึงหลีกเลี่ยงการวิจารณ์ศาสนาในมิติที่เขาเคยวิจารณ์กันในสังคมเสรีไม่ได้ ยกเว้นเราจะหลอกตัวเอง หรือเป็นพวกอิ๊กนอแรนท์ต่อปัญหาดังกล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท