Skip to main content
sharethis

หน่วยงานด้านการคุ้มครองแรงงานของรัฐแคลิฟอร์เนียฟ้องร้องแอ็กทิวิชันบลิซซาร์ด บริษัทเกมชื่อดัง เจ้าของซีรีส์วอร์คาร์ฟและโอเวอร์วอทช์ ในข้อหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศรวมถึงการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในที่ทำงาน ส่วนหนึ่งจากวัฒนธรรมเป็นพิษในที่ทำงานที่เรียกว่า "frat boy culture"

22 ก.ค. 2564 กระทรวงเพื่อการจ้างงานและการเคหะที่เป็นธรรมของแคลิฟอร์เนีย (DFEH) ฟ้องร้องบริษัทเกมแอ็กทิวิชันบลิซซาร์ดในข้อกล่าวหาว่า ลูกจ้างของบริษัทต้องเผชิญกับการคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะจากการลวนลามจับเนื้อต้องตัวโดยไม่ได้รับอนุญาต การแทะโลม ไปจนถึงการรุกเข้าหาในทำนองชู้สาว สาเหตุเนื่องมาจากวัฒนธรรมในที่ทำงานของแอ็กทิวิชันบลิซซาร์ดชายเป็นใหญ่แบบความเป็นพี่น้องเพื่อนพ้องหมู่ผู้ชายที่เรียกว่า "frat boy culture"

การฟ้องร้องในคดีนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ดำเนินการสืบสวนข้อกล่าวหามาเป็นเวลามากกว่า 2 ปี นอกจากเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศแล้ว ยังมีข้อกล่าวหาที่บลิซซาร์ดจ่ายค่าจ้างให้ผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายในตำแหน่งหน้าที่เดียวกันอีกทั้งยังได้รับการเลื่อนขั้นช้ากว่า ซึ่งทางแอ็กทิวิชันบลิซซาร์ดปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างหนักแน่น

สตูดิโอเกมแอ็กทิวิชันบลิซซาร์ดมีชื่อเสียงจากการเป็นผู้พัฒนาเกมอย่างเวิร์ลด์ออฟวอร์คราฟ, สตาร์คราฟ, และโอเวอร์วอทช์ ในเคำร้องระบุว่า ผู้หญิงในบริษัทเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศในหลายรูปแบบ รวมถึงการใช้อำนาจตำแหน่งของคนทำงานชายในบริษัท

ตัวอย่างเช่น มีลูกจ้างหญิงที่อยู่ในทีมพัฒนาเกมออนไลน์เวิร์ลด์ออฟวอร์คราฟระบุว่าเธอต้องเผชิญการแทะโลมจากคนทำงานชาย ทั้งในระดับลูกจ้างทั่วไปและในระดับหัวหน้า อีกทั้งยังมีการแสดงความคิดเห็นเรื่องการข่มขืนในทำนองหยาบโลน หรือไม่ก็มีพฤติกรรมเชิงเหยียดหยาม นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงอดีตหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของบริษัทว่า เคยลวนลามพนักงานหญิงในงานอีเวนต์ของบริษัท และมักจะตัดสินใจคัดเลือกผู้สมัครงานหญิงโดยดูจากรูปลักษณ์หน้าตา

มีอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้นและถูกนำไปอ้างอิงถึงในสำนวนฟ้องร้อง มีเรื่องหนึ่งที่ลูกจ้างถึงขั้นฆ่าตัวตายซึ่งทางกระทรวงของแคลิฟอร์เนียเขื่อมโยงได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการคุกคามในที่ทำงาน คือการถูกบีบให้มีเพศสัมพันธ์กับหัวหน้างานของเธอ

ทั้งนี้ ยังมีการระบุว่ามาตรการร้องเรียนภายในของแอ็กทิวิชันบลิซซาร์ดเองไม่ได้ผล ไม่ว่าจะกับแผนกทรัพยากรบุคคลหรือกับผู้บริหารระดับสูงอย่าง เจ อัลเลน แบร็ค ประธานบริษัท เพราะพวกเขาปฏิบัติต่อการร้องเรียนแบบพอเป็นพิธีเท่านั้น และทำไปในลักษณะที่ไม่ให้ความสำคัญ รวมถึงไม่มีการรักษาความลับเพื่อความปลอดภัยของผู้ร้องเรียนด้วย ทำให้ผู้ร้องเรียนเสี่ยงต่อการถูกแก้แค้น ไม่ว่าจะเป็นการถูกผลักออกจากงานในโครงการ หรือถูกสั่งย้าย จนถึงขั้นถูกสั่งปลดจากงาน

จากข้อมูลคำฟ้อง ผู้หญิงผิวสีจะมีความเสี่ยงต่อการเผชิญการเลือกปฏิบัติมากเป็นพิเศษ เช่น กรณีลูกจ้างแผนกไอทีที่เป็นหญิงคนดำรายหนึ่ง ถูกบังคับให้ต้องเขียนสรุปหนึ่งหน้ากระดาษว่าใช้เวลาไปทำอะไรมาบ้างในช่วงเวลาลางานที่เธอเรียกร้อง ซึ่งคนอื่นๆ ไม่ต้องทำเช่นนี้

นอกจากนี้ ยังมีการเลือกปฏิบัติบนฐานทางเพศสภาพ จากการที่ผู้หญิงมักจะถูกสั่งให้ทำงานในบทบาทที่ต่ำกว่า ได้รับค่าจ้างน้อยกว่า และถูกเมินการเลื่อนขั้น ถึงแม้ว่าลูกจ้างฝ่ายชายจะมีประสบการณ์หรือคุณสมบัติน้อยกว่าก็ตาม แต่เป็นเพราะมีเส้นสายเป็นเพื่อนกับหัวหน้าแผนกผู้ชาย อีกกรณีหนึ่ง คือการลุแก่อำนาจของหัวหน้างานชายคนใหม่ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้ง ผลักหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองให้ลูกจ้างหญิงขณะที่ตนเองไปเล่นเกม

เคยมีความพยายามหาแนวทางยุติข้อพิพาทในแบบอื่นแล้วก่อนหน้านี้แต่ไม่เป็นผล ทำให้กระทรวงคุ้มครองแรงงานของแคลิฟอร์เนียฟ้องร้องในฐานะตัวแทนโจทก์เรียกค่าเสียหาย ค่าจ้างที่ไม่ได้รับ และค่าชดเชยอื่นๆ ซึ่งจำนวนเหล่านี้ต้องรอการพิจารณาจากศาล

อย่างไรก็ตาม บริษัทแอ็กทิวิชันบลิซซาร์ดก็ยังคงปฏิเสธเกี่ยวกับข้อหาที่ถูกฟ้องร้องว่าเป็น "การบิดเบือน และเป็นเท็จในหลายกรณี" อีกทั้งยังอ้างเกี่ยวกับกรณีลูกจ้างที่ฆ่าตัวตายว่าพวกเขา "รับไม่ได้กับการกระทำอันน่ารังเกียจของ DFEH ที่โยงการฆ่าตัวตายอันน่าเศร้าของลูกจ้างที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับคดีนี้ลงไปในคำฟ้องร้อง และไม่สนใจความเจ็บปวดของครอบครัวเธอ"

แถลงจากแอ็กทิวิขันบลิซซาร์ดอ้างว่า คำฟ้องมีการแสดงให้เห็นภาพลักษณ์ของบริษัทที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงเนื่องจาก "ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาและที่ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่เริ่มมีการสืบสวนสอบสวน พวกเราได้ทำการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อการชี้ให้เห็นปัญหาของวัฒนธรรมบริษัท และสะท้อนความหลากหลายในทีมผู้นำของพวกเรามากขึ้น"

สำหรับวัฒนธรรมการทำงานที่ถูกระบุถึงในทางลบในคำร้องที่เรียกว่า Frat Boy นั้นคำว่า frat ย่อมาจาก fraternality ที่หมายถึงวัฒนธรรมความเป็นพวกพ้องพี่น้องแบบกลุ่มผู้ชายด้วยกัน อีกทั้งยังหมายถึง frat house ที่เป็นที่พักของผู้ชายอยู่ร่วมกันในช่วงเรียนระดับอุดมศึกษา ซึ่งมักจะมีการผูกโยงกับพฤติกรรมแบบคึกคะนองและการเหยียดเพศ

มีพนักงานหญิงในแอ็กทิวิชันบลิซซาร์ดระบุว่า การทำงานในสำนักงานนั้นเปรียบเสมือนทำงานใน frat house ที่มีพนักงานชายพากันดื่มเหล้า และล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงโดยไม่มีการลงโทษ บ้างก็มาทำงานแบบแฮงค์เหล้า เล่นเกมในที่ทำงาน พูดคุยโวเรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างเปิดเผย พูดถึงเนื้อตัวร่างกายผู้หญิงอย่างเปิดเผยในที่ๆ มีพนักงานหญิงอยู่ด้วย รวมถึงการเล่นมุขตลกเกี่ยวกับการข่มขืน และการล่วงละเมิดอื่นๆ ที่ระบุถึงข้างต้น วัฒนธรรมแบบนี้ยังได้รับการหนุนหลังจากหัวหน้างานชายในบริษัทด้วย

เรียบเรียงจาก

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net