Skip to main content
sharethis

ในปี 2563 ที่ผ่านมาเป็นปีที่น่าสนใจในเรื่องการนำเสนอตัวละครคนข้ามเพศหรือทรานส์เจนเดอร์ในโลกของวิดีโอเกม รวมถึงตัวละครผู้แสดงออกไม่ตรงบรรทัดฐานทางเพศของสังคม (gender nonconforming) ด้วย เรียกได้ว่ามีข่าวคราวตัวละครคนข้ามเพศในเกมเยอะมาก ถึงแม้จะมีส่วนที่เป็นดราม่า สิ่งที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงโต้แย้งอยู่บ้าง แต่ก็มีหลายข่าวที่เป็นด้านบวกแสดงให้เห็นพัฒนาการในวงการคนสร้างเกมที่มีประเด็นทรานส์ ผู้เขียนขอรวบรวมประเด็นต่างๆ เอาไว้ตามนี้

ไฟนอล แฟนตาซี ภาค 7 รีเมค : ทำให้ฉากแต่งกายข้ามเพศ กลายเป็นการเฉลิมฉลองความเควียร์ได้

เกมในตำนานอย่างไฟนอนแฟนตาซี ถูกนำกลับมารีเมคอีกครั้งก็มีการพูดถึงฉากๆ หนึ่งคือการที่ตัวเอกผู้ชายอย่าง คลาวด์ สไตรฟ์ แต่งกายข้ามเพศ โดยที่ในเกมภาคเดิมเมื่อปี 2540 นั้น ฉากนี้ค่อนข้างมีปัญหาและมีลักษณะการเล่าเรื่องที่ทำให้รู้สึกน่ากระอักกระอ่วนใจจากมุมมอง LGBTQ+ แต่ในภาคที่กลับมาทำใหม่มีการเปลี่ยนแปลงฉากนี้แบบยกเครื่องจนได้รับความชื่นชม

ผู้พัฒนาไฟนอล แฟนตาซี 7 ฉบับรีเมคไม่เพียงแค่เปลี่ยนข้อความหรือบทพูดต่างๆ ให้เป็นแง่บวกกับชาว LGBTQ+ มากขึ้นเท่านั้น พวกเขายังพรีเซนต์ฉาก "คลาวด์แต่งหญิง" ให้ดูอลังการณ์ตระการตาเสมือนเป็นการเฉลิมฉลองความเควียร์ ไม่เพียงแค่คลาวด์เท่านั้น ในเกมยังมีการนำเสนอภาพผู้แสดงออกไม่ตรงบรรทัดฐานทางเพศของสังคม (gender nonconforming) อีกคนหนึ่งชื่อ Jules ที่มีการนำเสนอแบบเคารพในความเป็นมนุษย์ของเขามากขึ้น เมื่อเทียบกับตัวละครคล้ายๆ กันในฉบับดั้งเดิม

เกมที่มีปัญหาและทำให้เกิดข้อถกเถียง (?)

ในช่วงกลางปี 2563 มีเกมที่ชื่อ Deadly Premonition 2 ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการเหยียดเชื้อชาติและการเหยียดทรานส์ จากกรณีที่มีการเรียกเพศผิด (misgender) และใช้ชื่อเดิม (deadnaming) ตัวละครหญิงข้ามเพศที่ชื่อ Lena Dauman ซึ่งต่อมาผู้เขียนบทและกำกับเกมนี้คือ ฮิเดทากะ ซุเอะฮิโระ หรือ Swery ก็ระบุขอโทษเรื่องนี้ผ่านทางทวิตเตอร์ และบอกว่าจะแก้ไขเนื้อหาเหล่านั้น (พร้อมกับปัญหาทางเทคนิคอื่นๆ ในเกมที่ทำให้เกิดนี้ถูกวิจารณ์ในแง่ลบมาก) แต่ทั้งนี้ก็ยังคงมีบางส่วนที่เป็นการเหยียดคนข้ามเพศอยู่ในเกมอยู่ดี

อีกเกมหนึ่งที่ทำให้คนรู้สึกแตกต่างกันไปในแง่ของการพรีเซนต์ตัวละครทรานส์ คือ The Last of Us 2 มีตัวละครทรานส์ที่น่าสนใจคือ Lev ผู้เป็นทรานส์มาสคิวลีน (Trans masculine) คือคนข้ามเพศที่ข้ามเพศไปเป็นชายหรือเพศที่เอียงไปในทางความเป็นชาย ซึ่งเป็นตัวละครคนข้ามเพศที่ปรากฏในหน้าสื่อบันเทิงต่างๆ น้อยมาก

อีกตัวละครหนึ่งคือ แอบบี หรืออบีเกล ที่มีผู้คนคาดเดากันไปต่างๆ นานาว่าเธอเป็นหญิงข้ามเพศ หรือหญิงตามเพศกำเนิดที่มีเรือนร่างไม่ตรงกับบรรทัดฐานทางสังคมกันแน่ (แอบบีเป็นผู้หญิงที่ดูล่ำ) กระนั้นแอบบีก็เป็นตัวละครที่ถูกเกมเมอร์ประณามวิพากษ์วิจารณ์เนื่องด้วยบทของเธอ นั่นทำให้หลายคนที่คิดแตกต่างกันออกไปในการนำเสนอตัวละครแอบบีในรูปแบบนี้ ทั้งนี้ก็มีคนเชื่อว่าความผิดไม่ใช่ตัวละครตัวนี้หรือการเขียนบทของเกม The Last of Us 2 แต่มาจากทัศนคติเหยียดเพศสภาพของกลุ่มเกมเมอร์บางกลุ่มที่มีอยู่ก่อนแล้ว

เกมเมอร์เหล่านี้จงเกลียดจงชังตัวละครถึงขั้นข่มขู่เอาชีวิต ลอรา เบลีย์ นักพากษ์เสียงแอบบี และในเวลาต่อมาช่วงปลายปี 2563 เบลีย์ก็เปิดใจเกี่ยวกับการพากษ์เสียงตัวละครคนนี้ว่าเธอคิดไว้แล้วว่าจะต้องเป็นตัวละครที่ทำให้คนรู้สึกถ้าชอบก็ชอบไปเลยถ้าเกลียดก็เกลียดไปเลย แต่ไม่นึกว่าจะมีกระแสความเกลียดชังมากขนาดนี้ 

กระนั้นเบลีย์ก็กล่าวยืนยันว่าแอบบีเป็นหนึ่งในตัวละครที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่เคยให้เสียงพากษ์เอาไว้ เธอบอกอีกว่าความเกลียดชังที่เกิดขึ้นมาจากเพราะเกมเมอร์เหยียดเพศเหล่านี้ "สร้างแผงกัน สร้างกำแพงในจิตใจเอาไว้ก่อนอยู่แล้ว ก่อนที่จะเข้าใจตัวละครนี้"

The Last of Us 2 เป็นเกมที่มีเนื้อหาอยู่ในยุคหลังจากโลกล่มสลายและมีการต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดของคนหลายกลุ่ม รวมถึมีงเนื้อหาล้างแค้นกันไปกันมา ในสภาพเช่นนี้ตัวละครทุกตัวไม่ว่าเพศใดก็ตามมีโอกาสใช้ความรุนแรงต่อกันและกันอย่างน่าเศร้าได้เสมอ แต่น่าสงสัยว่าทำไมกลุ่มคนเหยียดเพศถึงประณามแต่หญิงที่แสดงออกไม่ตรงบรรทัดฐานเพศสภาพทางสังคมเท่านั้น? เป็นไปไม่ได้เลยหรือที่ตัวละครคนข้ามเพศกับ gender nonconformist จะเป็นตัวละครกลมๆ ที่มีแง่ดีแง่ร้ายมีรักโลภโกรธหลงไม่ต่างจากตัวละครตรงเพศ?

Tell Me Why - มาตรฐานใหม่ของการนำเสนอตัวละครทรานส์

นอกจากเรื่องข้อถกเถียงต่างๆ แล้วในปี 2563 ก็มีเกมดีๆ ที่นำเสนอตัวละครทรานส์ได้เข้าท่ามากคือเกม Tell Me Why ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าตัวละครทรานส์เป็นพ่อพระแม่พระดีเลิศแต่เป็นตัวละครกลมๆ ที่มีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่แค่เครื่องมือเดินพล็อต ไม่ได้เป็นแค่มุขตลก ไม่ได้เป็นแค่สีสันที่ถูกมองตามภาพเหมารวม แต่เป็นตัวละครหลักที่มีอารมณ์ความรู้สึกและแรงจูงใจของตัวเอง และมีปฏิสัมพันธ์กับโลกรอบข้างทั้งที่มีจากความเป็นคนข้ามเพศของตัวเองและมิติมนุษย์ด้านอื่นๆ ของเขา

ตัวละครที่พูดถึงนี้คือ ทรานส์แมน ที่ชื่อไทเลอร์ ที่ได้พบกับน้องสาวฝาแฝดของตัวเองอีกครั้งหลังจากที่มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ บางอย่างในอดีตที่ทำให้ต้องพรากกัน เขากับน้องสาวที่ชื่อ อลิสัน พบกันอีกครั้งในวัยผู้ใหญ่เพราะต้องการขายบ้านที่พวกเขาเคยอยู่ด้วยกันที่อลาสกา แต่ทว่าเมื่อพวกเขากลับไปยังบ้านที่เคยอาศัยวัยเด็กแห่งนี้แล้ว ก็มีความทรงจำต่างๆ ผุดพรายขึ้นมา กลายเป็นทั้งช่วงเวลาแห่งความสุข ความทุกข์ และมีปริศนาคาใจบางอย่างที่ทำให้พวกเขาต้องสืบหาความจริง

สื่ออย่างเกมส์เรดาร์ยก Tell Me Why ให้เป็น "มาตรฐานใหม่ของตัวละครทรานส์ในวิดีโอเกม" ไทเลอร์ โรนัน เป็นตัวละครชายข้ามเพศคนแรกๆ ที่ได้รับบทนำในเกม แน่นอนว่าถึงแม้ความเป็นทรานส์จะมีอิทธิพลกับการขัดเกลาคาแรกเตอร์ของไทเลอร์แต่เขาก็มีมุมอื่นๆ ในชีวิตที่ไม่ใช่แค่เรื่องความเป็นคนข้ามเพศอย่างเดียวเท่านั้น ทำให้เกมนี้ "เผยให้เห็นความซับซ้อนในชีวิตของชายข้ามเพศ และนำเสนอพวกเขาด้วยฉากพระอาทิตย์อัสดงที่งดงาม"

Cyberpunk 2077 - ก้าวหน้าอยู่บ้างแต่ยังขาดความรู้เรื่องทรานส์

อีกหนึ่งเกมที่เกมเมอร์รอคอยมานานคือ Cyberpunk 2077 ที่มีกระแสนิยมกันมาก แต่พอออกมาจริงๆ แล้วก็มีข้อวิจารณ์มากมายในทางเทคนิค และก่อนหน้านี้ก็เคยมีปัญหาวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้แรงงานผู้ผลิตผู้พัฒนาเกมหนักเกินไป ไปจนถึงเรื่องการนำเสนอภาพลักษณ์ของคนข้ามเพศในเกม ที่ทำให้แม้แต่ชาวทรานส์ก็เสียงแตกในเรื่องนี้

เหตุเกิดตอนแรกมาจากการที่พวกเขานำเสนอภาพจากในเกมที่มีใบปลิวโฆษณาเป็นหญิงข้ามเพศที่ถูกมองว่ามีลักษณะทำให้เป็นวัตถุทางเพศ รวมถึงมีข้อความว่า “Mix it up” ที่มีความหมายโดยนัยแปลว่า "สับสนจนเอามาปนกัน" ทำให้ถูกตั้งคำถามว่าเหมือนเป็นการเหยียดทรานส์ว่าสับสนใจตัวเองหรือเปล่า แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่านี่เป็นการนำเสนอภาพโลกเลวร้ายที่เรียกว่า Dystopia ซึ่งเป็นฉากของเรื่องราว Cyberpunk 2077 ที่บรรษัทยักษ์ใหญ่ในเกมเป็นผู้นำเสนอภาพคนข้ามเพศแบบแย่ๆ เช่นนี้ (กล่าวคือสิ่งที่เหยียดทรานส์คือสังคมจำลองในเกมเอง ไม่ใช่ตัวผู้ผลิต ผู้ผลิตเป็นแค่ผู้เล่าเรื่องราวเหล่านี้) 

เรื่องนี้จุดประเด็นให้ชาวทรานส์ในต่างประเทศพูดคุยหารือกันว่าการนำเสนอภาพลักษณ์ทรานส์ในเกมนี้ถือว่า่น่าพึงพอใจหรือไม่ อนา วาเลนส์ นักเขียนเรื่องเกมที่เป็นหญิงข้ามเพศจากสื่อ Daily Dot บอกว่าเธอรู้สึกทำตัวไม่ถูกกับภาพลักษณ์ของคนข้ามเพศในเกมนี้เหมือนกันแต่เอียงไปในทางรู้สึกลบ แต่เธอก็เข้าใจที่กลุ่มคนข้ามเพศส่วนหนึ่งมีความรู้สึกว่าแค่มีตัวตนคนข้ามเพศของพวกเขาอยู่ในเกมบ้างก็ดีแล้ว โดยเฉพาะเกมที่เป็นกระแสพูดถึงอย่างต่อเนื่องมากตั้งแต่ปี 2562 และมี คีนู รีฟ นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังช่วยโปรโมท

แต่ก็มีข้อวิจารณ์อีกหลายแง่ต่อเกมนี้เช่นที่ว่าถึงแม้จะมีตัวละครทรานส์แต่กลับไม่มีเรื่องราวที่เกี่ยวกับพวกเขาหรือพวกเธอ ทำให้เหมือนถูกทำให้เป็นไม้ประดับ (tokenism) หรือไม่ รวมถึงตัวผู้พัฒนาเองคือบริษัท CD Projekt Red ก็เคยมีประวัติแสดงออกไม่ค่อยดีนักต่อประเด็นคนข้ามเพศมาก่อนหน้านี้ แต่ก็มีการขอโทษในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ถึงแม้ว่าจะมีความก้าวหน้าในเรื่องการสร้างตัวละครที่ให้ผู้เล่นสามารถเลือกเพศได้โดยไม่จำกัดว่าตัวละครจะมีอวัยวะเพศใด แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีตัวเลือกสำหรับนอนไบนารี อีกทั้งตัวละครอื่นๆ จะใช้สรรพนามเรียกตัวละครที่เราสร้างตามเสียงของตัวละครที่เราใช้ว่าฟังดู "เป็นหญิง" หรือ "เป็นชาย" ซึ่งเป็นความล้าหลังที่ผูกเพศสภาพไว้กับเสียง หรือไม่ก็สะท้อนว่าผู้ผลิตเกมยังขาดความรู้ประเด็นคนข้ามเพศ เรื่องนี้บางคนบอกว่าล้าหลังยิ่งกว่าเกม Saint Row IV ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2556 เสียอีก เพราะ Saint Row สามารถให้คนปรับแต่งรูปลักษณ์หรือแม้กระทั่งเสียงได้ตามใจชอบไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม

ที่มา:

The Big Question – How Gay is Final Fantasy VII Remake?, Gaymingmag 

Deadly Premonition 2 Patch Cuts Transphobic Lines, Improves Frame Rate, Screenrant

Deadly Premonition 2 patch does not fix transphobic scenes, Gaymingmag 

TLOU2 Abby Voice Actress Breaks Down Divisive Role, Screenrant 

I Have Mixed Feelings About The Last Of Us Part 2's Trans Character, Kotaku

TELL ME WHY REVIEW: "THE NEW GOLD STANDARD FOR TRANS CHARACTERS IN GAMES", Gamesradar

'Tell Me Why': Video game features transgender lead character, NBC News

Cyberpunk 2077 looms. How am I supposed to deal with it as a trans woman?, Dailydot

Cyberpunk 2077's Trans Representation Problems Explained, Screenrant 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net