กสทช. ประชุมมาตรการตัดเน็ต-DES ชี้ข้อกำหนดฉบับ 29 ปิดข้อมูลได้เร็ว ไม่ต้องรอศาล

30 ก.ค. 2564 กสทช. เชิญผู้แทน DES, บช.สอท., และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศ ประชุมกำนดแนวทางตัดเน็ตข้อความที่อาจทำให้หวาดกลัวหรือบิดเบือน ด้าน DES เผยการปิดกั้นข้อความเป็นดุลพินิจร่วมของ DES, กสทช., และตำรวจ ชี้ปิดได้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอให้ศาลตรวจสอบ

เมื่อ 29 ก.ค. 2564 นายกรัฐมนตรีข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ประกาศเมื่อ 29 ก.ค. 2564 ที่ห้ามการเผยแพร่ข่าวสารที่บิดเบือน โดยมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ประสานผู้รับใบอนุญาตทุกรายให้ทำการตรวจสอบ IP Address ที่มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏบนอินเทอร์เน็ต โดยมีลักษณะที่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อให้มีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย

30 ก.ค. 2564 กสทช. เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ระบุว่า ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) เชิญผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ผู้แทนจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศ (ISP) ทุกราย มาประชุมเพื่อทำความเข้าใจและกำหนดแนวทางในการดำเนินงานตามข้อกำหนดดังกล่าว

รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ขอบเขตของการทำงานในกรณีนี้จะดำเนินการตรวจสอบเนื้อหาที่มีการบิดเบือน สร้างความสับสนทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งในกรณีที่มีความผิดชัดเจน สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการตามข้อกำหนดดังกล่าวทันที

“ประชาชนอย่าได้กังวลว่าสำนักงาน กสทช. จะเข้าไปก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของทุกคน สำนักงานฯ ไม่ได้ปิดกั้น หรือคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ไม่ได้ปิดกั้นการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย แต่จะดูแลในส่วนของข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับโควิดที่มีการบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงเท่านั้น เพื่อไม่ให้ประชาชนหมู่มากเกิดความสับสน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศเท่านั้น” ไตรรัตน์กล่าว

ด้านบล็อกนันรายงานโดยอ้างการให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ทางช่อง MCOT HD 30 ว่า ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ข้อ 1 ตามคำสั่งดังกล่าวจะดูจากเจตนาเป็นหลักและผลกระทบที่เกิดขึ้น ครอบคลุมทั้งสื่อมวลชนและบุคคลทั่วไปที่ใช้อินเทอร์เน็ตในการสื่อข่าว แม้จะเป็นเรื่องจริง แต่ถ้าเป็นการเสนอในมุมที่เป็นลบอย่างเดียว มุมบวกไม่ได้ออกมา ทำให้คนเข้าใจผิด ก็เข้าข่ายผิดข้อดังกล่าว

ต่อข้อคำถามเรื่องการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการทำงานของรัฐบาล (call-out) นั้น ชัยวุฒิตอบว่า น่าจะเป็นการแสดงออกทางการเมือง ไม่เข้าข่ายตามคำสั่งดังกล่าว โดยยกตัวอย่างคลิปวีดิโอของดาราต่างๆ ระบุว่ายังไม่เห็นใครถูกดำเนินคดี

เมื่อถามถึงการเสนอภาพผู้ป่วยผู้เสียชีวิตที่ประสบเหตุริมถนน ชัยวุฒิตอบว่าต้องดูที่เจตนา ถ้าเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ได้คิดที่จะลดความน่าเชื่อถือ ก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ถ้าเป็นการแกล้งมาถ่ายแล้วเอามาโพสต์ ถือเป็นความผิด กระนั้นจะถือว่าทำให้หวาดกลัวหรือไม่ก็ต้องดูเจตนา ไม่อาจจะตอบได้ทันที

ว่าด้วยการเสนอความเห็นทางวิชาการนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าวว่า แม้จะเป็นความเห็นจริง แต่ถ้าเป็นความเห็นคนเดียวแล้วนำมาออกข่าว ทำให้คนไม่กล้ามาฉีด มีข้อมูลอื่นอีกเยอะ แล้วไม่เอามาพูด ก็ถือว่าเจตนาลดความน่าเชื่อถือ เพื่อหวังผลทางการเมือง ควรจะให้ข้อมูลครบถ้วน

เมื่อถูกถามเรื่องดุลยพินิจในการพิจารณานั้น ชัยวุฒิตอบว่า โดยหลักการเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่กระทรวง DES กสทช. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยก่อนหน้าก็มีการทำงานร่วมกันตามอำนาจใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในการปิดกั้นเว็บไซต์อยู่แล้ว การออกคำสั่งดังกล่าวเพื่อให้สามารถใช้อำนาจของ กสทช. ทำให้กระบวนการดังกล่าวเร็วขึ้นจากเดิมที่ต้องอาศัยกระบวนการทางศาลซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ อาจไม่ทันการที่ข้อมูลอาจเผยแพร่อย่างกว้างขวางในไม่กี่ชั่วโมง

เมื่อถูกถามว่าเจตนาว่าจะรบกับสื่อ ประชาชน หรือใครนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าวว่า เจตนาไม่อยากก่อปัญหากับสื่อมวลชน เพราะไม่ใช่ปัญหาหากเสนออย่างมีจริยธรรม โดยเน้นคำว่าอินเทอร์เน็ตในประกาศก็คือสื่อออนไลน์ สื่อเทียม คนที่ไม่ใช่สื่อแต่ทำตัวเสมือน คนเหล่านี้เขาไม่มีจรรยาบรรณไม่มีมาตรฐานเหมือนพี่ผู้ (ประกาศข่าว) และก็มีเจตนาแอบแฝงทางการเมืองด้วย บางทีก็เจตนาแอบแฝงทางธุรกิจ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องเข้าไปกำกับดูแล

ตอนท้ายของการสัมภาษณ์ เมื่อพิธีกรถามถึงการแถลงของชัยวุฒิหลังการประชุมแก้ไขปัญหาข่าวปลอมหรือ fake news ที่กล่าวว่าจะมีมาตรการทางปกครองและทางภาษีจัดการพวกปั่นข่าว fake news นั้น จะมีการตรวจสอบภาษีย้อนหลังของคนที่จะถูกดำเนินการหรือไม่นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าวว่า  แพลตฟอร์มที่จดทะเบียนอยู่ต่างประเทศ ไม่ได้เสียภาษีให้ประเทศไทยอยู่แล้ว จะใช้เรื่องนี้เป็นตัวขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาทางภาษี ทั้งนี้ไม่ได้ตอบถึงการดำเนินการตรวจสอบเป็นรายบุคคลโดยชัดแจ้งแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท