Skip to main content
sharethis

2 ส.ค. 2564 ศาลแพ่งรับฟ้องและไต่สวนฉุกเฉิน คดีที่สื่อมวลชนและประชาชนร่วมฟ้องเพิกถอนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ฐปณีย์ชี้ ข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 เศร้าสะเทือนใจและน่ากลัว แต่ต้องรายงาน ด้านผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์เผย ข้อกำหนดอาจทำให้ผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องถูกตัดเน็ต นัดฟังคำสั่ง 6 ส.ค. 2564

09.40 น. ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ทนายจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พร้อมโจทก์ที่เป็นสื่อมวลชนและประชาชน นำโดย The Reporters, Voice, The Standard, The Momentum, THE MATTER, ประชาไท, สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย-Dem All, The People, way magazine, echo, PLUS SEVEN และประชาชนเบียร์ เดินทางมายื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19

การฟ้องครั้งเพื่อเพิกถอนข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ซึ่งเป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ ไม่มีความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 พร้อมขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดฉบับนี้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

ข้อกำหนดฉบับที่ 29 มีเนื้อหาห้ามเผยแพร่ข้อความที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร โดยหากเป็นข้อความที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พิจารณาระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ที่เผยแพร่ข้อความ มีผลบังคับใช้ 30 ก.ค. 2564

ผู้สื่อข่าวและประชาชนเดินทางไปยื่นฟ้องที่ศาลแพ่ง

ผู้สื่อข่าวและประชาชนเดินทางไปยื่นฟ้องที่ศาลแพ่ง

15.35 น. องค์คณะผู้พิพากษาศาลแพ่งออกนั่งพิจารณาคดีที่ห้อง 706 โดยไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์เข้าเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และไม่สามารถจัดห้องถ่ายทอดสดการพิจารณาได้ เนื่องจากเป็นการไต่สวนฉุกเฉินจึงเตรียมอุปกรณ์ไม่ทัน ทั้งนี้ ศาลแจ้งต่อโจทก์ว่า ศาลรับฟ้องและรับคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินไว้พิจารณา

ฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าไต่สวนทั้งหมด 5 คน ได้แก่ ตัวแทนโจทก์ 2 คน คือ ฐปนีย์ เอียดศรีไชย จาก The Rerporters, ธนกร วงษ์ปัญญา จาก The standard, พยานผู้เชี่ยวชาญ 3 คน คือ สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช., วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, และอรรถพงศ์ ลิมศุภนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์

เวลา 19.35 น. ศาลอ่านกระบวนพิจารณา ใจความว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่ง ให้รับคำฟ้องไว้พิจารณา แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทวีความรุนแรง จึงไม่สามารถกำหนดวันนัดพิจารณาคดีได้ หากสถานการณ์คลี่คลายจะแจ้งคู่ความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

สำหรับคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ไต่สวนพยานโจทก์ได้ 5 ปาก เนื่องจากไต่สวนเสร็จสิ้นเมื่อหมดเวลาราชการแล้ว ประกอบกับเพื่อพิจารณาสั่งคำร้องให้เป็นไปด้วยความรอบคอบ จึงนัดฟังคำสั่ง 6 ส.ค. 2564 เวลา 13.30 น.

ข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 อาจเศร้าสะเทือนใจ และน่ากลัว แต่จำเป็นต้องรายงาน

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย สื่อมวลชนจาก The Reporters ในฐานะโจทก์ ให้การว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 29 ออกโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ การระงับบริการอินเทอร์เน็ตแก่ IP address เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของโจทก์อย่างร้ายแรง และจะทำให้ประชาชนขาดการติดต่อสื่อสารที่ทันท่วงที โดยรัฐมีกลไกและกฎหมายอื่นที่สามารถใช้เพื่อแก้ไขข้อมูลที่บิดเบือน หรือทำให้ประชาชนสับสน

ฐปณีย์ ให้การอีกว่า อาจมีกรณีที่ระงับบริการอินเทอร์เน็ตผ่าน IP address โดยขาดการตรวจสอบ ทำให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ เป็นภาระของประชาชนที่ต้องมาร้องเรียนต่อศาลภายหลัง และรัฐอาจใช้ข้อกำหนดนี้มาฟ้องเพื่อคุกคามการทำงานของสื่อมวล รวมถึงประชาชนที่มีความจำเป็นต้องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

ผู้สื่อข่าว The Reporters ย้ำว่า หากข้อกำหนดฉบับนี้ถูกบังคับใช้จะสร้างความโกลาหล เพราะอาจไม่มีใครสามารถเผยแพร่ข้อมูลหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงไม่สามารถเยียวยาความเสียหายได้ทัน

ฐปณีย์ยกตัวอย่างการรายงานข่าวเกี่ยวกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่เสียชีวิตภายในบ้านในสภาพขึ้นอืด และอีกกรณีเข้าไม่ถึงการรักษาจนเสียชีวิตภายในบ้าน ข่าวเหล่านี้คือข่าวที่เศร้าสลด สะเทือนใจ และน่ากลัว แต่จำเป็นต้องรายงานเพื่อช่วยชีวิตคนที่เหลือ มากกว่าการทำหน้าที่สื่อมวลชน คือการทำหน้าที่ในฐานะเพื่อนมนุษย์ ที่มิอาจละเลยต่อความตายของเพื่อนมนุษย์ที่ร้องขอความช่วยเหลืออยู่ตรงหน้า

ข้อกำหนดฉบับที่ 29 อาจถูกใช้ปกปิดความจริงที่เป็นผลลบต่อรัฐบาล

ต่อมา ธนกร วงษ์ปัญญา รักษาการหัวหน้ากองข่าวไทย สำนักข่าว The Standard เข้าให้การต่อศาลว่า การรายงานข้อเท็จจริงในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อาจถูกตีความได้ว่า เป็นข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว เท่ากับห้ามสื่อมวลชนและประชาชนนำเสนอข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะแม้จะเป็นความจริง และอาจให้การแก้ไขสถานการณ์โรคระบาดตั้งอยู่บนข้อมูลที่ไม่รอบด้านตามความจริง กระทบต่อสังคมโดยรวม และอาจถูกใช้เพื่อปกปิดความจริงที่เป็นผลลบต่อรัฐบาล

นอกจากนี้ ธนกรยังให้การว่า การปิดกั้นหรือลบข้อมูลหรือปิดกั้นการสื่อสารที่เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพในการสื่อสารระหว่างกัน ควรจำกัดได้เพียงแค่เฉพาะเนื้อหาข้อความที่เป็นความผิดหรือขัดต่อกฎหมายเป็นรายข้อความเท่านั้น รัฐไม่มีอำนาจจำกัดปิดกั้นข้อความอื่นๆ หรือช่องทางสื่อสารทั้งช่องทาง ทั้งแพลตฟอร์ม และไม่สามารถปิดกั้นการสื่อสารในอนาคตได้ ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และเป็นไปตามแนวที่ศาลอาญาเคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว แต่การระงับบริการอินเทอร์เน็ตแก่ IP address จะทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนถูกตัดขาดจากการติดต่อสื่อสารในอนาคตโดยไม่จำกัดระยะเวลา

ผู้สื่อข่าว The Standard ให้การต่อว่า การให้อำนาจ กสทช. สั่งระงับบริการอินเทอร์เน็ตโดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากศาลเหมือนขั้นตอนปกติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ทำให้ฝ่ายผู้ถูกร้องไม่มีอำนาจโต้แย้งคัดค้านได้เหมือนกระบวนการที่ยื่นต่อศาล และสุ่มเสี่ยงที่จะถูกสั่งปิดโดยมิชอบตามอำเภอใจ

ระงับบริการอินเทอร์เน็ตแก่ IP address อาจทำให้ผู้บริสุทธิ์ถูกตัดเน็ต

จากนั้น ศาลขอให้นำพยานผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์เข้าไต่สวน โดยอรรถพงศ์ ลิมศุภนาค ผู้ก่อตั้งบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ ให้การว่า IP address หรือที่อยู่ไอพี เป็นหมายเลขที่ผู้ให้บริการจัดสรรให้ผู้ใช้บริการเพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

อรรถพงศ์ให้การว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของแต่ละบุคคลจะไม่ได้รับที่อยู่ไอพีเดียวกันตลอดทุกครั้งที่เชื่อมต่อ เนื่องจากพับลิกไอพีมีจำกัด ผู้ให้บริการจึงต้องสับเปลี่ยนอยู่เสมอ ถ้าหากผู้ใช้บริการต้องการได้ที่อยู่ไอพีเดิมเสมอต้องจ่ายค่าบริการในราคาพิเศษ ซึ่งผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ไม่ได้จ่ายราคาพิเศษ จึงได้รับที่อยู่ไอพีไม่ซ้ำกันในแต่ละครั้งที่เชื่อมต่อ บางครั้งอาจจะได้ที่อยู่ไอพีเดิม และบางครั้งอาจจะได้ที่อยู่ไอพีใหม่ ถ้าหากผู้ใช้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและมีการเคลื่อนที่ไปด้วย เช่น อยู่บนรถ จะเชื่อมต่อผ่านเสาสัญญาณที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็มีโอกาสที่จะได้รับที่อยู่ไอพีเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

หลังจากอ่านข้อกำหนดฉบับที่ 29 อรรถพงศ์เห็นว่า เป็นการเขียนที่ผิดหลักการทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ หากผู้ให้บริการจะระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่อุปกรณ์ที่ใช้งานที่อยู่ไอพีนั้นๆ ผลที่เกิดขึ้น คือ อุปกรณ์นั้นจะไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อีกสำหรับทุกกิจกรรม ไม่เฉพาะเพียงกิจกรรมที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม พยานผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์กล่าวว่า หากมีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดต่อกฎหมายโดยที่อยู่ไอพีใดๆ ไปแล้ว ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นก็จะยังคงเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตต่อไป การระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตกับที่อยู่ไอพีไม่มีผลให้ข้อมูลข่าวสารที่ผิดต่อกฎหมายนั้นหายไปหรือเข้าถึงไม่ได้ แต่จะส่งผลกระทบทำให้อุปกรณ์ที่เคยใช้ที่อยู่ไอพีนั้นๆ ไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อทำกิจกรรมใดๆ ได้อีก

นอกจากนี้ เนื่องจากที่อยู่ไอพีหนึ่งๆ จะถูกจัดสรรเปลี่ยนแปลงไปเป็นของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตได้หลายคน อาจให้ผลลัพธ์เป็นการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ที่บังเอิญได้รับการจัดสรรที่อยู่ไอพีนั้นๆ ให้ในขณะที่ผู้ให้บริการออกคำสั่งก็ได้

อรรถพงศ์ ยังให้การอีกว่า แม้จะมีผู้ใช้บริการแบบที่อยู่ไอพีไม่เปลี่ยนแปลง หรือ Fix IP ซึ่งอาจจะถูกใช้งานโดยบุคคลหลายคนพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะในอาคารขนาดใหญ่ เช่น อาคารศาลแพ่ง มีผู้ที่สามารถเชื่อมต่อและใช้งานอินเทอร์เน็ตได้พร้อมกันหลายคน แต่เมื่อเชื่อมต่อเพื่อส่งข้อมูลไปยังผู้ให้บริการ ก็จะปรากฏเป็นข้อมูลต่อผู้ให้บริการว่าทุกคนเชื่อมต่อมาจากที่อยู่ไอพีหมายเลขเดียวกัน ถ้าหากผู้ให้บริการระงับการใช้งานอินเทอร์เน็ตของที่อยู่ไอพีนั้นๆ ก็จะมีผลให้ผู้ใช้งานทุกคนที่เชื่อมต่อผ่านที่อยู่ไอพีเดียวกัน หรือทุกคนที่อยู่ในตึกแห่งเดียวกันจะใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ได้ทั้งหมด แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลตามข้อข้อกำหนดฉบับที่ 29

ข้อกำหนดฉบับที่ 29 เป็นอุปสรรคต่อการเสนอความจริง

ต่อมา วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญด้ารวารสารศาสตร์และการสร้างข่าวปลอม ให้การต่อศาลว่า ข้ออ้างของรัฐบาลเรื่อง ข้อมูลเท็จ หรือที่รัฐบาลเรียกว่าเฟกนิวส์ (Fake News) เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่รัฐในการจับกุมผู้นำเสนอข้อมูล หรือความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล กำลังสื่อสารนำไปสู่ความเข้าใจแนวความเฟกนิวส์ที่ผิด ส่งผลขยายความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคมมากขึ้น และยิ่งทำให้คนในสังคมตกอยู่ในความเสี่ยงจากโรคระบาดโควิด-19 มากขึ้น เพราะเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและเป็นประโยชน์นำไปสู่การรอดพ้นจากโรคระบาดนี้

ตามหลักวิชาการ วิไลวรรณให้การว่า Fake News มีกระบวนการภายใต้เจตนาที่หวังผลก่อให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อสังคม ไม่ใช้ข้อมูลที่นำเสนอแตกต่างรัฐ ซึ่งมักถูกรัฐกล่าวหาว่าเป็น Fake News และรัฐควรจะส่งเสริมด้วยการให้ความรู้แก่คนในสังคมให้รู้เท่าทัน Fake News และร่วมกันตอบโต้ข่าวปลอม (Debunking)

อาจารย์คณะวารสารศาสตร์เห็นว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 29 พุ่งเป้าไปที่สื่อมวลชนและผู้งานอินเทอร์เน็ต โดยห้ามไม่ให้ใช้เสรีภาพในการเสนอข่าวสารสู่สาธารณะ เป็นอุปสรรคต่อการนำเสนอความจริง ทำให้ประชาชนไม่สามารถสื่อสารแจ้งเตือนกันได้ อาจทำให้การแก้ปัญหาโควิด-19 ไม่มีประสิทธิภาพ

กสทช. ไม่มีอำนาจวินิจฉัยเนื้อหาออนไลน์ ข้อกำหนดฉบับที่ 29 ขัดต่ออำนาจหน้าที่และความเป็นอิสระของ กสทช.

จากนั้น สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. และผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค ประเทศไทย ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มและเครือข่ายการตรวจสอบข่าวลวงภาคประชาชน ให้การต่อศาลว่า กสทช. ไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยเนื้อหาที่สื่อมวลชนหรือประชาชนสื่อสารในสื่อสังคมออนไลน์หรือโลกออนไลน์ คำสั่งฉบับที่ 29 ขัดต่ออำนาจหน้าที่และความเป็นองค์กรอิสระของ กสทช.

สุภิญญาเห็นว่า การระงับบริการอินเทอร์เน็ตแก่ IP address เป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงการสื่อสารของประชาชน ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อธุรกิจด้านการให้บริการอินเทอร์เน็ต ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงการให้บริการทางอินเทอร์เน็ตในทุกรูปแบบของระบบปฏิบัติการทางอินเทอร์เน็ตหรือแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตราแกรม หรือแพลตฟอร์มที่ใช้ทำธุรกรรมทางการเงิน หรือธุรกรรมอื่นๆ

อดีต กสทช. ให้การด้วยว่า ศาลควรให้การคุ้มครองชั่วคราวคดีนี้ เนื่องสังคมปัจจุบันประชาชนทุกคนจะต้องดำเนินชีวิตประจำวันด้วยการใช้อินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารกันในภาวะวิกฤติโรคติดต่อโควิด-19 เช่น หากประชาชนป่วยด้วยโควิด-19 หรือโรคร้ายแรงที่ต้องได้รับการช่วยเหลือโดยด่วน แต่ถูกตัดการสื่อสารด้วยการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ IP Address ย่อมก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง ยากที่จะเยียวยาได้

ทนายชี้นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจออกข้อกำหนด

ด้าน นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ตัวแทนทีมทนายความ ให้สัมภาษณ์ก่อนการไต่สวนว่า โจทก์ทั้ง 12 คน มายื่นฟ้องขอเพิกถอนข้อกำหนดฉบับที่ 29 เนื่องจากทางเห็นว่า การไม่ให้นำเข้าข้อความที่อาจทำให้เกิดความหวาดกลัวนั้นขัดกับหลักกฎหมายอาญา ที่ต้องมีความชัดเจน แน่นอน ไม่กำกวม การกำหนดแบบนี้อาจทำให้ตีความได้ว่า แม้เสนอข่าวตามความเป็นจริงก็อาจมีความผิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ประกันเสรีภาพสื่อมวลชนและเสรีภาพการแสดงออก และการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตนั่นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ไม่ได้กำหนดให้นายกฯ สั่งระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต

นรเศรษฐ์ กล่าวต่อไปว่า การตัดอินเทอร์เน็ตเป็นการกระทำเกินไปกว่าแนวทางของศาลอาญาและศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้การจำกัด ปิดกั้น และลบข้อความเป็นไปตามรายกรณีที่ผิดตามกฎหมาย แต่กรณีปิดกั้นอินเทอร์เน็ตหมายความว่าคนๆ หนึ่งจะไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้เลยในทุกช่องทาง ถือเป็นการปิดช่องทางการสื่อสารของประชาชน

ตัวแทนทนายความโจทก์ กล่าวว่า รัฐไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกข้อกำหนดนี้ เพราะมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อจัดการคนปล่อยข่าวปลอมหรือบิดเบือนได้อยู่แล้ว มีอำนาจขอให้ศาลสั่งลบข้อความได้ แต่หากข้อกำหนดนี้ถูกบังคับใช้สำนักงาน กสทช. จะเป็นผู้ตัดสินระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต โดยผู้ถูกกล่าวหาไม่มีสิทธิชี้แจง และอาจถูกระงับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทันที

ฐปนีย์ เอียดศรีชัย จาก The Reporters กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดดังกล่าวทั้งในฐานะสื่อและประชาชนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบ เพราะข้อกำหนดดังกล่าวละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพการแสดงออก และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในสถานการณ์ที่การระบาดรุนแรง ทำให้เห็นคนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดและต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ การนำเสนอข่าวที่มีความน่ากลัวนั้นก็เป็นการนำเสนอจากข้อเท็จจริง ในสถานการณ์ที่คนกำลังร้องขอชีวิต นี่คือหน้าที่ที่สื่อมวลชนต้องรายงานข่าวเหล่านั้นพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข่าวสารและได้รับความช่วยเหลือ

ต่อคำถามว่า หากข้อกำหนดมีการยกเว้นไม่เอาผิดเฉพาะสื่อมวลชนจะพึงพอใจหรือไม่นั้น ฐปนีย์ตอบว่า ไม่ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ การที่ประชาชนมีการเผยแพร่ข้อมูลหรือขอความช่วยเหลือ มีหลายวิธีการในจัดการหรือตรวจสอบข้อมูลชุดนั้น แต่ไม่ใช่การปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร

อัปเดตข้อมูลวันที่ 2 ส.ค. 2564 เวลา 20.30 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net