(เก็บตก)  4 ส.ส. ‘ก้าวไกล’ อภิปราย ‘งบส่วนราชการในพระองค์’

เก็บตก  4 ส.ส. ‘ก้าวไกล’ อภิปราย ‘งบส่วนราชการในพระองค์’ ตอกย้ำ ‘ความจงรักภักดี’ ไม่อาจวัดได้ด้วยจำนวนงบประมาณ เผย จัด ‘โครงสร้างใหม่’ ยุค คสช.แต่งงบบานกว่าเดิมเฉียด 3,000 ล้าน มีบุคลากรมากถึง 14,275 คน แถมยังซ้ำซ้อนหน่วยงานอื่น ขอตัด 3,568 ล้านบาท สุดท้าย ไร้ กมธ.ชี้แจง แต่เสียงข้างมากยังโหวตผ่านฉลุย

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วาระ 2  คืนวันที่ 21 สิงหาคม 2564 มาตรา 36 งบประมาณส่วนราชการในพระองค์ ก่อนการลงมติ มีผู้อภิปราย 4 คนจากพรรคก้าวไกล โดยบรรยากาศค่อนข้างคุกรุ่นตั้งแต่เริ่มต้นการพิจารณาในมาตรานี้

ประท้วงวุ่น ‘รอง ปธ.สภา’ ไม่อนุญาตฉายสไลด์

ก่อนเริ่มการอภิปราย ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรไทยคนที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่ประธานสภาในขณะนั้น ไม่อนุญาตให้ผู้อภิปรายนำสไลด์ขึ้นแสดงเพื่อประกอบการอภิปราย ทำให้มี พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หนึ่งในผู้อภิปรายขอหารือว่า ภาพที่ตนขอนำมาใช้ประกอบมีทั้งหมด 3 ภาพ ล้วนเป็นรายละเอียดและข้อมูลที่นำมาจากเอกสารงบประมาณขาวคาดแดง ตั้งแต่ปี 2559 -ปัจจุบัน ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นข้อมูลสาธารณะที่ปรากฏในเว็บไซต์สำนักงบประมาณจึงขอให้ทบทวนอนุญาตเปิดประกอบการอภิปราย

แต่ ศุภชัย ยังคงยืนยันในคำวินิจฉัยและชี้แจงว่า ถึงแม้เอกสารบางส่วนที่ขออนุญาตมีอยู่ในเอกสารขาวคาดแดง แต่ในการพิจารณาซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่กองประชุมและฝ่ายกฎหมายได้ตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว การอ้างเหตุผล ข้อกฎหมาย ข้อบังคับ ไม่พอ ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริง แม้เอกสารจะลงเว็บไซต์แล้ว แต่ยังมีสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาซึ่งมีพระราชบัญญัติเขียนไว้ชัดเจนในการกำกับดูแลการออกอากาศเผยแพร่ภาพที่เสี่ยงและหมิ่นเหม่ต่อสถาบันโดยไม่มีหลักประกันใดว่าเขาจะไม่ถูกปิด ซึ่ง ภาพที่ออกไปแล้วควบคุมไม่ได้แล้วจึงอยากให้เห็นใจเจ้าหน้าที่และประธานฯด้วย

ต่อมา ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จึงยกมือประท้วงว่า ประธานอ้างถึงเจ้าหน้าที่แต่ไม่ได้ชี้แจงว่าการแสดงสไลด์ดังกล่าวผิดกฎหมายข้อใด มาตราใด ทั้งนี้ ในการพิจารณางบประมาณ ทุกหน่วยงานที่เป็นผู้รับงบประมาณ โดยหลักการแล้วต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นฝ่ายตรวจสอบได้ตรวจสอบโดยละเอียด เพื่อประโยชน์ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญและตามหลักนิติธรรม ดังนั้น เมื่อเป็นข้อมูลที่มาอยู่ในเอกสารขาวคาดแดงและเป็นเอกสารเผยแพร่ทั่วไปก็ต้องตรวจสอบได้ ทำไมจึงไม่ให้สมาชิกได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย และในฐานะสมาชิกรัฐสภา การไม่อนุญาตต้องมีหลักว่าใช้กฎหมายอะไร ไม่ใช่ใช้ตามอำเภอใจ

เช่นเดียวกับ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ประท้วงเช่นกันว่า ประธานฯทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง ซึ่งตนเป็นหนึ่งในคนที่ได้ผลกระทบจากการวินิจฉัยนี้ด้วย เพราะได้ตัดโอกาสที่จะชี้แจง ซึ่งสไลด์เหล่านี้มีแต่ตัวเลขและถ้อยคำที่อยู่ในเอกสารและเป็นไปตามกฎหมาย จึงอยากให้ทบทวน การยื่นสไลด์ประกอบการอภิปรายถือว่าเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม และเป็นอำนาจประธานวินิจฉัย โดยมีข้อบังคับ 69 บอกแค่ว่า ต้องไม่มีการเอ่ยถึงพระมหากษัตริย์โดยไม่จำเป็น

“สไลด์ของผมไม่ได้เอ่ยถึงพระมหากษัตริย์แม้แต่คำเดียว แต่เป็นการอภิปรายส่วนราชการในพระองค์ซึ่งเป็นหน่วยงานรับงบประมาณ ทำไมจึงไปขัดข้อบังคับได้ การกล่าวถึงส่วนราชการในพระองค์ไม่เท่ากับพระมหากษัตริย์ และไม่ใช่การเอ่ยโดยไม่จำเป็น จึงอยากให้ประธานพิจารณาและถือว่าเป็นการอุทธรณ์ของผม การทำอย่างนี้ยิ่งไม่ส่งผลดีต่อสถาบันใดเลย ซึ่งไม่ใช่แค่ต่อราชการในพระองค์เท่านั้น แต่จะถึงพระมหากษัตริย์ด้วย”

อย่างไรก็ตาม การประท้วงของ ส.ส.ก้าวไกล ไม่เป็นผล โดย ศุภชัย ย้ำว่าตนได้วินิจฉัยไปแล้วและยืนยันให้ปฏิบัติตาม การอภิปรายจึงเริ่มต้นดำเนินไป

ไร้รายละเอียด ‘พิจารณ์’ ยกข้อมูลเก่าเทียบ ไม่เชื่อ 8,098 ล้านบาท เป็นแค่งบบุคลากร

จากนั้น พิจารณ์ ได้เริ่มต้นการอภิปรายว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้ประธานฯถอนคำพูดว่า สไลด์ของหมิ่นเหม่ต่อสถาบัน เพราะตนขอย้ำเป็นครั้งที่ 3 ว่า ข้อมูลเหล่านี้เป็นเนื้อหา ตัวเลข จากเอกสาร ‘ขาว - คาด - แดง’ ไม่มีความหมิ่นเหม่ใดๆทั้งสิ้น แต่ต้องเคารพการตัดสินใจประธาน และจะเริ่มการอภิปรายต่อไป

“หากเปรียบเทียบเอกสารที่สำนักงบประมาณชี้แจงในปีนี้ กับเอกสารงบประมาณรายจ่าย หรือที่เรียกกันว่าเอกสารขาวคาดแดงของปีงบประมาณ 2559-2560 ซึ่งเป็นปีงบประมาณที่ยังไม่มีการออก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 จะเจองบประมาณ 3 หน่วยงานหลักที่ปัจจุบันโอนไปอยู่ส่วนราชการในพระองค์ตามกฎหมาย เดิมทุกหน่วยงานระบุรายละเอียดของการดำเนินงานอย่างชัดเจน ทั้งในแง่การจ่ายเงินเดือนบุคลากร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่ารถ หรือการถวายเงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในพระองค์  แต่นับแต่เริ่มดำเนินการภายใน พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ ปีงบประมาณ 2561 จนถึงปัจจุบัน สำนักงบประมาณได้แสดงข้อมูลต่อชั้นกรรมาธิการเพียงแค่หนึ่งบรรทัด โดยไม่มีเอกสารชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม”

โดย พิจารณ์ ไล่เรียงให้เห็นว่า ในปีงบ 60 มี 3 หน่วยงาน ที่ปัจจุบันโอนไปอยู่ภายใต้ส่วนราชการในพระองค์ตามกฎหมาย ได้แก่ สำนักพระราชวังได้งบประมาณ 3,400 กว่าล้านบาท สำนักราชเลขาธิการ 500 กว่าล้านบาท และกรมราชองค์รักษ์อีก 800 กว่าล้านบาท จากข้อมูลเดิมเฉพาะการใช้งบ สำนักพระราชวัง จะเห็นว่ามีการใช้งบประมาณเพื่อปฏิบัติงานถวายความสะดวกแก่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ 1,700 ล้านบาทเศษโดยไม่รวมงบบุคลากร ที่เหลือประมาณ 1,200 ล้านบาท เป็นเงินอุดหนุนต่างๆ เช่น เงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในพระราชฐานที่ประทับ ค่าใช้จ่ายในพระองค์ เป็นเงินปีของพระบรมวงศานุวงศ์ ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงพระราชฐาน ดังนั้น จึงไม่เชื่อตามคำชี้แจงของสำนักงบประมาณที่เป็นผู้เข้ามาชี้แจงหน่วยรับงบประมาณใน กมธ.ว่า งบประมาณ 8,098 ล้านบาท ของส่วนราชการในพระองค์ ส่วนใหญ่เป็นเพียงงบประมาณบุคลากรเท่านั้น

‘โรม’ งง ปรับโครงสร้างยุค คสช. แต่ ‘งบยิ่งบานคนยิ่งล้น’

ขณะที่ รังสิมันต์ โรม อภิปรายว่า ตนได้ขอแปรญัตติตัดงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ ลงเป็นจำนวนเงิน 3,568 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40.72% เนื่องจากมีการตั้งงบประมาณสูงกว่าปี 2564 กว่า 16% และแม้จะมีการลดงบประมาณลง 219 ล้านบาท แต่เมื่อเปรียบกับงบประมาณทั้งประเทศแล้วก็ยังลดลงในสัดส่วนที่มากกว่างบส่วนพระราชการในพระองค์

“ส่วนราชการในพระองค์ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปีงบประมาณ 2561 ถึงปีนี้เป็นปีที่ 5 แล้ว ในปีที่ผ่านมา ตั้งงบแต่ละปีเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ในทุกๆปี และแม้ในปีนี้งบส่วนราชการในพระองค์จะลดลงไปประมาณ 2.4% แต่หากเทียบกับงบทั้งประเทศก็ยังลดมากกว่าอยู่ดี คือลงไปถึง 5.6% นอกจากนี้ ยังพบว่าในบางปีได้มีการเบิกจ่ายจริงเกินงบที่ตั้งไว้ไปถึง 27% และบางปีเบิกเกินถึงไป 52% รวมแล้ว ปี 61- 64 มีการใช้จ่ายไปแล้วเกือบ 32,000 ล้านบาท”

รังสิมันต์ อธิบายต่อไปว่า ส่วนราชการในพระองค์ ก่อตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้ในยุค คสช. กำหนดให้โอนกิจการต่างๆ จาก 5 หน่วยงานด้วยกัน ได้แก่ สำนักราชเลขาธิการ, สำนักพระราชวัง, กรมราชองครักษ์ ,หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งอยู่ใต้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และ สำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ ซึ่งอยู่ใต้สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. เข้ามาไว้ที่ส่วนเดียวกัน แต่เป็นไปได้อย่างไรที่การโอนกิจการจาก 5 หน่วยงานมาจัดโครงสร้างใหม่ ซึ่งควรจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย กลับกลายเป็นทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ยิ่งไปกว่านั้น หากดูงบส่วนนี้ของสำนักปลัดกลาโหม ในปี 59 ผลผลิตที่ชื่อ ‘การถวายความปลอดภัยฯ’ แม้จะมีทั้งงบบุคลากร งบดำเนินงาน งบรายจ่ายอื่น ก็ยังอยู่แค่ 1,000 ล้านบาท

แต่พอปี 61 เมื่อโอนกิจการไปแล้ว กลับพบว่ามีงบในชื่อทำนองเดียวกันกลายเป็นแค่เงินอุดหนุน แต่กลับสูงถึง 2,800 ล้านบาท ส่วนปีล่าสุดก็ยังมีอยู่กว่า 1,200 ล้านบาท

“ส่วน สตช. ในปี 59 งบอยู่ที่ 500 ล้าน ปี 61- 62 ลดลงไปอยู่ที่ 250 ล้าน ก็ควรจะเป็นเช่นนั้น แต่ปรากฏว่าตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมา งบกลับพุ่งขึ้นถึง 8 เท่า จนมาเป็นกว่า 2,100 ล้านบาทในปี 65 เอาเข้าจริงแล้ว งบกิจการที่เรียกว่า ‘ราชการในพระองค์’ ที่เคยเข้าใจว่าโอนไปอยู่ในก้อน 8,700 ล้านบาทของส่วนราชการในพระองค์หมดแล้ว แท้จริงแล้วยังมีอยู่นอกส่วนราชการในพระองค์ด้วย ยังมีงบที่ค้างอยู่ในหน่วยงานเดิม แต่ใช้เงินสูงยิ่งกว่าเดิมมาก รวมเบ็ดเสร็จในปีงบประมาณ 65 พบว่าสูงถึง 12,000 ล้านบาท ประเด็นคือ เมื่อเราโอนกิจการจาก 5 หน่วยงานไปส่วนราชการในพระองค์แล้ว การจัดสรรงบประมาณเพื่อกิจการเหล่านั้นก็ควรโอนไปด้วย แต่ปรากฏว่าในส่วนของสำนักปลัดกลาโหม กับ สตช. ยังต้องจัดสรรตรงนี้อยู่ แถมเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ในขณะที่ส่วนราชการในพระองค์ที่ตั้งมาใหม่ก็ไม่เคยใช้เงินน้อยกว่ายุค 5 หน่วยงานเดิม และปีต่อๆ มาก็โป่งพองขึ้นไม่หยุดหย่อน”

รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ในการชี้แจงชั้น กมธ. มีคนของสำนักงบประมาณมาชี้แจงแทนว่า งบส่วนราชการในพระองค์ ประมาณ 8,000 ล้าน จะเป็นงบด้านบุคลากรสำหรับ 14,000 คน ส่วนอีกราว 700 ล้านเป็นงบดำเนินงาน ซึ่งเรื่องนี้สามารถระบุในเอกสารได้แต่ไม่ยอมระบุ แถมยังให้คนนอกหน่วยงานมาชี้แจงปากเปล่าแทน จึงต้องตั้งข้อสงสัยต่อไปว่าเป็นไปได้จริงหรือที่หน่วยงานหนึ่งจะมีงบบุคลากรสูงถึง 92%

และก็ต้องตั้งข้อสงสัยต่อไปว่า 14,000 คนนี้ มียศและตำแหน่งระดับใดบ้าง ระดับละกี่คน ได้เงินเดือนคนละเท่าไหร่ มีภารกิจอะไร ซ้ำซ้อนกับของกลาโหม และ สตช. หรือไม่ และแต่ละปีรับเพิ่มมากี่คน ทำไมจึงทำให้งบก้าวกระโดดได้ถึงขนาดนี้ หากชี้แจงได้ไม่ดีพอ ผมก็ต้องขอตัด 40.72% ต่อไป ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่ตัวเลขที่มากเกินไป ไม่ได้ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมาใช้ชีวิตลำบากยากเข็ญเหมือนคนยากคนจนในประเทศนี้ สิ่งที่ทำไปทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่การจัดสรรทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่ เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของทุกภาคส่วนในท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ”

‘เบญจา’ ย้ำ ความจงรักภักดี ไม่ได้อยู่ที่จำนวนงบประมาณ แต่คือความยินยอมพร้อมใจจากประชาชน

ด้าน เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปราย งบประมาณส่วนราชการในพระองค์นั้น นับวันจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้ถ้าเทียบกับปี 61 ซึ่งเป็นปีแรกที่ตั้งงบพบว่าเพิ่มขึ้นมา 4,565 ล้านบาท หรือกว่า 108% ภายใน 4 ปีเท่านั้น

“จำนวนดังกล่าวมากกว่างบประมาณ 7 กระทรวง มากเป็น 2 เท่า ของ กระทรวงอุตสาหกรรม และมากเป็น 3 เท่า ของกระทรวงพลังงาน ยังไม่นับว่ามาตรา 5 วรรค 5 กำหนดให้ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่สนับสนุนภารกิจของส่วนราชการในพระองค์ ตามที่ได้รับแจ้ง เป็นสาเหตุให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ต้องตัดงบประมาณ ไว้หลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการในพระองค์ด้วย”

เบญจา กล่าวต่อไปว่า เอกสารที่เคยขอให้ชี้แจงส่งมาแค่ 7 หน้า ไม่ได้บอกอะไรให้รับรู้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะก่อนที่จะมีการจัดตั้งส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ เดิม ยังเคยระบุรายละเอียดไว้ว่า งบประมาณเหล่านี้จึงไม่ใช่ความลับ หรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปกปิด หากต้องให้กล่าวโทษ ต้องกล่าวโทษไปที่สำนักงบประมาณเป็นลำดับแรก เพราะมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่กลับไม่ทำเอกสารชี้แจง มีแต่การชี้แจงในกรรมาธิการงบประมาณเท่านั้น

ส่วนราชการในพระองค์ ยังมีบุคลากรถึง 1.47 หมื่นคน เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เพราะแปลว่ามีบุคลากรมากกว่าข้าราชการประจำนับ 10 กระทรวง ปัจจุบัน กระทรวงแรงงานมีบุคลากร 5,919 คน กระทรวงพาณิชย์ มี 3,544 คน หรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ต้องดูแลประชาชนทั้งประเทศ ก็มีข้าราชการ 3,054 คน เท่านั้น ถ้าสิ่งที่สำนักงบฯ ชี้แจง เป็นความจริง นี่คือเรื่องน่าตกใจ และไม่สมเหตุสมผล

เบญจา ยืนยันว่า ทราบดีถึงความกระอักกระอ่วนใจของสภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณางบที่เกี่ยวกับสถาบัน และปฏิเสธไม่ได้ว่า ความกระอักกระอ่วนใจนี้ เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ระเบียบราชการในพระองค์ ที่เขียนขึ้นหลังการรัฐประหาร ที่ทำให้สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถพิจารณาหรือตรวจสอบ งบราชการในพระองค์ได้อย่างปกติเหมือนส่วนราชการอื่น เพราะกฎหมายฉบับนี้ บัญญัติให้การจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ รวมถึงการบริหารบุคคล งานบุคคลของส่วนราชการ เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ฉะนั้น หากเข้าไปตรวจสอบก็ย่อมกระทบกระเทือนต่อพระราชสถานะ ดังนั้น เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว จึงขอให้เสนอให้สภาฯ มีการทบทวนวิธีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้เหมาะสมกับพระราชสถานะตามสมควร ขณะเดียวกัน ก็ต้องสอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่ ดังเช่นในนานาอารยะประเทศ ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังเห็นควรให้ทบทวน พ.ร.บ.จัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ ที่ออกมาในยุค คสช. เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ ขัดต่อหลักการ The King Can Do No Wrong ที่ต้องทำให้ให้พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงอยู่ในสถานะที่เป็นที่เคารพสักการะตามรัฐธรรมนูญ ทรงราชย์ไม่ทรงรัฐ ทรงปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง

“สุดท้าย ความจงรักภักดี และการจะพิทักษ์สถาบันฯ ไม่อาจวัดด้วยจำนวนงบประมาณ ไม่อาจวัดด้วยจำนวนข้าราชบริพาร จำนวนซุ้มเฉลิมพระเกียรติ หรือจำนวนเครื่องบินพระที่นั่ง และไม่อาจวัดด้วยการใช้ ม.112 แจกจ่ายให้กับประชาชน แต่ว่าอยู่ที่ความยินยอมพร้อมใจ และความรักความศรัทธา ที่ประชาชน มอบให้แก่สถาบันฯ เพื่อให้สถาบันฯ ดำรงอยู่ในจิตใจของพวกเขาได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะในยามสุข หรือยามทุกข์ เฉกเช่นในปัจจุบัน”

‘สุทธวรรณ’ ยกนานาประเทศเทียบ งบเกี่ยวสถาบันไทยสูงกว่าอังกฤษเท่าตัวและสูงกว่าสวีเดนถึง 33 เท่า

สุทธวรรณ  สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส. จังหวัดนครปฐม พรรคก้าวไกล อภิปรายใน มาตรา 36 เป็นคนสุดท้าย โดยกล่าวว่า  ประเทศในยุโรปที่ร่ำรวยกว่าประเทศของเราและปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็มีการตั้งงบประมาณที่เรียกว่าเงินรายปีหรือเงินอุดหนุนถวายองค์พระมหากษัตริย์ คิดเป็นดังนี้ สวีเดน 266 ล้านบาท ,สเปน 330 ล้านบาท, เดนมาร์ก 433 ล้านบาท,เบลเยี่ยม 499 ล้านบาท ,นอร์เวย์ 1,632 ล้านบาท ,เนเธอร์แลนด์ 1,867 ล้านบาท,สหราชอาณาจักร 3,565 ล้านบาท ส่วนไทยอยู่ที่ 8,761 ล้านบาท ซึ่งนอกจากงบจะสูงกว่าหลายประเทศรวมถึงสหราชอาณาจักรมากกว่าเท่าตัวและสวีเดน 33 เท่าตัวแล้ว หากไปดูเรื่องการเบิกจ่าย ตั้งแต่มีหน่วยรับงบนี้ขึ้นมา พบว่า มีการเบิกจ่ายเกินไปในบางปี เช่น ปี 2561 ตั้งงบประมาณไว้ 4,196 ล้านบาท เบิกจ่ายจริงถึง 6,391 ล้านบาท หรือเกินไป 152.31% ส่วนในปี 2563 งบประมาณที่ตั้งไว้คือ 7,685 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายไป 9,814 ล้านบาท คิดเป็น 127.70%

“จึงมีข้อสงสัยว่าทำไมถึงมีการเบิกจ่ายเกิน ทั้งที่งบประมาณทั้งหมดไม่มีงบลงทุน แต่เป็นงบรายจ่ายประจำ ซึ่งต้องมีการวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณล่วงหน้าไว้แล้ว เช่น งบบุคลากรที่ต้องมีอัตรากำลังและอัตราเงินเดือนที่ชัดเจน นอกจากนั้น ในมาตรา 5 วรรค 3 ของ พ.ร.บ.จัดระเบียบส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ระบุว่า รายได้ของส่วนราชการในพระองค์ ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน หมายความว่า เมื่อสภาผ่านงบไปแล้ว ต่อให้ใช้ไม่หมด ก็ไม่จำเป็นต้องนำส่งคืนคลัง ดังนั้นส่วนราชการในพระองค์จึงมีผลการเบิกจ่าย 100% หรือมากกว่า 100% ทุกปี จากที่กล่าวมาจึงจะเห็นได้ว่า มีปัญหาหลักๆอยู่ 4 ประการ คือ งบสูงเกินไป สูงแล้วยังมีการเบิกจ่ายเกิน  ถ้าใช้งบไม่หมดไม่ต้องคืนคลัง

และไม่ต้องรายงานงบการเงินและรายงานประจำปี ดังนั้น จึงเห็นว่า การจัดสรรงบประมาณถวายแก่พระมหากษัตริย์อย่างสมเหตุสมผล โปร่งใส และเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจของชาติ จะทำให้องค์พระประมุขเป็นศูนย์รวมจิตใจของสังคมได้อย่างแท้จริง”

‘ไร้คำชี้แจง’ แต่เสียงข้างมากยังโหวตผ่านฉลุย

ในระหว่างการอภิปราย ชวน หลีกภัย ได้กลับมาทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรแทนนายศุภชัย ได้กล่าวแทรกเตือน ส.ส.ที่กำลังอภิปรายหลายครั้งให้หลีกเลี่ยงการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อการอภิปรายจบลง นายชวนได้ถามไปยังกรรมาธิการเสียงข้างมากว่าจะมีใครชี้แจงหรือไม่ แต่ไม่มีผู้แสดงความประสงค์ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ นายชวน จะประกาศให้ลงมติ รังสิมันต์ แสดงควมเห็นว่า ในการอภิปรายมาตรานี้มีการยกข้อสงสัยขึ้นมาหลายประเด็นและยังไม่ได้รับคำตอบ จึงอยากให้กรรมาธิการเสียงข้างมากชี้แจงก่อน ทำให้ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ หนึ่งในกรรมาธิการเสียงข้างมากลุกขึ้นมา ตอบโดยระบุว่า “ไม่มีความเห็น” ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงขอมติที่ประชุมว่า จะเห็นด้วย ร่างที่กรรมาธิการไม่แก้ไขหรือไม่ โดยจำนวนผู้ลงมติ 392 รายเห็นด้วย 337 ราย ไม่เห็นด้วย 47 ราย งดออกเสียง 3 และไม่ลงคะแนน 5 ราย เสียงผู้ลงมติไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่มาจากพรรคก้าวไกลและพรรคเสรีรวมไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท