Skip to main content
sharethis

เปิดสไลด์ประกอบการอภิปราย พ.ร.บ.งบ 65 ของ 4 ส.ส.ก้าวไกล ขอตัดงบ 'ส่วนราชการในพระองค์' ที่ถูกเซนเซอร์ในสภา ทั้งที่เป็นข้อมูลจากการประมวลเอกสารงบประมาณ

 

21 ส.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วาระ 2 และ 3 เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น.ที่ผ่านมา มีการอภิปรายตัดงบประมาณปี 2565 ของส่วนราชการในพระองค์ ที่นำโดย ส.ส.พรรคก้าวไกล 4 คน อย่างไรก็ตามมีสไลด์ประกอบการอภิปรายไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาผู้แทนราษฎรให้นำขึ้นฉาย ทั้งที่เป็นข้อมูลจากการประมวลเอกสารงบประมาณ

โดยเริ่มจาก รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่นำสไลด์ประกอบการอภิปรายมาโพสต์ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม' ประกอบคำอธิบายดังนี้

รังสิมันต์ ระบุว่า ขอแปรญัตติตัดงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 มาตรา 36 ลงเป็นจำนวนเงิน 3,568 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40.72%

ส่วนราชการในพระองค์ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปีงบประมาณ 2561 จนถึงปีนี้เป็นปีที่ 5 แล้ว ในปีที่ผ่านๆ มีการตั้งงบแต่ละปีเพิ่มขึ้นเกินกว่า 10% ในทุกๆ ปี
- ปี 61 ตั้งงบ 4,196 ล้านบาท
- ปี 62 ตั้งงบ 6,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62%
- ปี 63 ตั้งงบ 7,685 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13%
- ปี 64 ตั้งงบ 8,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16%

และแม้ในปี 2565 งบส่วนราชการในพระองค์จะลดลงไป 219 ล้านบาท หรือประมาณ 2.4% แต่งบทั้งประเทศก็ยังลดมากกว่าอยู่ดี คือลดลงไปถึง 5.6%

รังสิมันต์ ระบุอีกว่า นอกจากนี้ในบางปีก็มีการเบิกจ่ายจริงเกินงบที่ตั้งไว้
- ปี 61 ตั้งไว้ 4,196 ล้านบาท เบิกจริง 6,391 ล้านบาท (เกินมา 52%)
- ปี 63 ตั้งไว้ 7,685 ล้านบาท เบิกจริง 9,814 ล้านบาท (เกินมา 27%)

รวมๆ แล้ว ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปี 2564 มีการใช้จ่ายไปแล้วเกือบ 32,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละเกือบ 8,000 ล้านบาท

ส.ส.พรรคก้าวไกล อธิบายถึงส่วนราชการในพระองค์ ว่า เราลองมาดูการใช้งบระหว่างช่วงก่อน กับช่วงหลังมีส่วนราชการในพระองค์เทียบกัน ส่วนราชการในพระองค์นั้นก่อตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ตราขึ้นและประกาศใช้ในยุค คสช. กำหนดให้โอนกิจการต่างๆ จาก 5 หน่วยงานด้วยกัน ได้แก่
1. สำนักราชเลขาธิการ
2. สำนักพระราชวัง
3. กรมราชองครักษ์
4. หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งอยู่ใต้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และ
5. สำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ ซึ่งอยู่ใต้สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

โดยสรุปทั้ง 5 หน่วยงานเดิมก่อนโอนกิจการ เคยได้งบประมาณสูงสุดในปี 2559 อยู่ที่ 6,347 ล้านบาท ซึ่งพอตั้งส่วนราชการในพระองค์ขึ้นมาแล้ว ปีแรกๆ งบก็ยังใกล้เคียงกันอยู่ (ที่ 6,391 ล้านบาท (จำนวนเบิกจ่ายจริง) ในปี 2561 และ 6,800 ล้านบาท ในปี 2562) แต่อยู่มาเรื่อยๆ งบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ก็เพิ่มเอาๆ ถึงปัจจุบันเพิ่มขึ้นมากว่า 2 - 3 พันล้านบาท มันเป็นไปได้อย่างไรกันที่การโอนกิจการจาก 5 หน่วยงานมาจัดโครงสร้างใหม่ ซึ่งควรจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย กลับกลายเป็นทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลได้?

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ลองมาดูงบส่วนนี้ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ต้นสังกัดเดิมของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยฯ มาเทียบก่อนกับหลังมีส่วนราชการในพระองค์กัน จะเห็นว่าในปี 2559 มีผลผลิตที่ชื่อ “การถวายความปลอดภัยฯ” ซึ่งแม้จะมีงบประมาณหลายประเภท ทั้งงบบุคลากร, งบดำเนินงาน, งบรายจ่ายอื่น ก็ยังอยู่แค่ 1,012 ล้านบาท แต่พอปี 2561 เมื่อโอนกิจการไปแล้ว กลับพบว่ายังมีงบประมาณในชื่อทำนองเดียวกันอยู่ในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดยประเภทงบประมาณกลายเป็นแค่เงินอุดหนุน แต่กลับสูงถึงกว่า 2,879 ล้านบาท หรือปีล่าสุดก็ยังมีอยู่กว่า 1,296 ล้านบาท

คำถามคือ กิจการของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยถูกโอนไปแล้วไม่ใช่หรือ? แล้วทำไมยังต้องมีเงินไปสนับสนุนกิจการนี้อีก? แล้วทำไมแค่เงินอุดหนุน ถึงได้สูงยิ่งกว่างบประมาณที่เคยใช้ในทุกๆ ด้านของหน่วยงานนี้ก่อนมีส่วนราชการในพระองค์ด้วย?

ส่วน สตช. จริงอยู่ว่าไม่ได้มีแค่ตำรวจราชสำนักฯ ที่มีภารกิจถวายความปลอดภัย ยังมีหน่วยตำรวจอื่นๆ ที่มีภารกิจนี้ด้วย แต่การที่โอนกิจการของหน่วยนี้ออกไป โดยเหตุและผลแล้วงบประมาณส่วนนี้ใน สตช. ก็ควรจะลดลง ซึ่งในปี 2559 (ก่อนโอน) งบประมาณอยู่ที่ 515 ล้านบาท พอมาปี 2561 ถึง 2562 (หลังโอนมาปีแรกๆ) ลดลงไปอยู่ที่ 255 ล้านบาท ซึ่งทิศทางก็ควรจะเป็นเช่นนั้น แต่ปรากฏว่าตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา งบประมาณกลับพุ่งขึ้นถึง 8 เท่า จนกลายมาเป็น 2,119 ล้านบาทในปี 2565 จึงนำมาสู่คำถามเดิมว่าเมื่อโอนกิจการไปแล้ว งบประมาณของกิจการนั้นในหน่วยต้นสังกัดเดิมควรลดลงหรือหมดไปเลยด้วยซ้ำ แต่ทำไมถึงยังกลับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดแบบนี้?

ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า พูดมาทั้งหมดนี้มันสะท้อนให้เห็นว่าเอาเข้าจริงแล้ว งบประมาณของกิจการที่เรียกว่า “ราชการในพระองค์” ที่เคยเข้าใจว่ามันโอนไปอยู่ในก้อน 8,761 ล้านบาทของส่วนราชการในพระองค์หมดแล้ว ที่เคยนึกว่ามีแค่แท่งสีเหลืองในแผนภาพนี้ แท้จริงแล้วมันยังมีอยู่นอกส่วนราชการในพระองค์ด้วย ยังมีงบที่ “สิง” อยู่ในหน่วยงานเดิม แต่ใช้เงินสูงยิ่งกว่าเดิมมาก รวมเบ็ดเสร็จในปีงบประมาณ 2565 สูงถึง 12,176 ล้านบาท

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ตนไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการที่กระทรวงกลาโหมหรือ สตช. จะเป็นผู้รับผิดชอบภารกิจการถวายความปลอดภัย หากชี้แจงรายละเอียดได้อย่างสมเหตุสมผล จะมีงบประมาณส่วนนี้ก็ได้ แต่ประเด็นคือเมื่อเราโอนกิจการจาก 5 หน่วยงานไปส่วนราชการในพระองค์แล้ว การจัดสรรงบประมาณเพื่อกิจการเหล่านั้นก็ควรโอนไปด้วย แต่ปรากฏว่าในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมกับ สตช. การจัดสรรตรงนี้กลับยังมีอยู่ แถมเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ในขณะที่ส่วนราชการในพระองค์ที่ตั้งมาใหม่ก็ไม่เคยใช้เงินน้อยกว่ายุค 5 หน่วยงานเดิม และปีต่อๆ มาก็โป่งพองขึ้นไม่หยุดหย่อน

ถ้าอย่างนั้นเอาการจัดสรรตรงนี้กลับมาให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมกับ สตช. รับผิดชอบทั้งหมดภายใต้การตรวจสอบของสภาไม่ดีกว่าหรือ? ลองคิดดูว่าระหว่างหน่วยงานที่อย่างน้อยยังแสดงรายละเอียดในเอกสาร ยังส่งคนของตัวเองมาชี้แจงต่อกรรมาธิการ กับอีกหน่วยงานที่รายการใช้จ่ายมีแค่ 7 บรรทัด มีสาระสำคัญจริงๆ แค่บรรทัดเดียว ในห้องกรรมาธิการก็มีความพยายามที่จะไม่ยอมชี้แจงอยู่ตลอด ในฐานะผู้แทนที่ต้องมาดูแลภาษีประชาชน ย่อมชัดเจนว่าผมควรจะเลือกตัดจากหน่วยไหนมากกว่ากัน

ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวสรุปว่า ตนจึงขอแปรญัตติให้ตัดงบส่วนราชการในพระองค์ โดยให้อิงกับแค่ 3 หน่วยงานที่ได้โอนกิจการมาทั้งหมดจริงๆ ที่ไม่ได้มีงบเหลือในหน่วยงานเดิม ได้แก่ 1. สำนักราชเลขาธิการ 2. สำนักพระราชวัง และ 3. กรมราชองครักษ์ ซึ่งในปีสุดท้ายก่อนโอนกิจการคือปี 2560 มีงบประมาณรวมกัน 4,897 ล้านบาท

เมื่อนำงบประมาณ 4,897 ล้านบาท มาบวกอัตราเพิ่มจากปี 2560 ถึงปี 2565 โดยอิงกับอัตราเพิ่มของงบประมาณทั้งประเทศ คือ 6.05% จะได้ผลลัพธ์เป็นจำนวน 5,193 ล้านบาท นี่คืองบประมาณที่ควรจะเป็นของส่วนราชการในพระองค์ในปี 2565 และเมื่อนำงบประมาณที่ตั้งไว้ 8,761 ล้านบาท มาลบให้เหลือ 5,193 ล้านบาท ก็จะเท่ากับตัดไป 3,568 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40.72%

รังสิมันต์ ทิ้งท้ายว่า ตนยังได้ทราบมาว่าในห้องกรรมาธิการที่เพื่อน ส.ส. พรรคก้าวไกลพยายามถามเรื่องส่วนราชการในพระองค์ไป ก็มีตัวแทนจากสำนักงบประมาณมาชี้แจงแทน ว่าจาก 8,761 ล้านบาทนั้น มีประมาณ 8,098 ล้านบาทเป็นงบด้านบุคลากรสำหรับบุคลากร 14,275 คน ส่วนอีกเกือบ 700 ล้านบาทนั้นเป็นงบดำเนินงาน ซึ่งการที่เรื่องนี้ ระบุในเอกสารได้แต่ไม่ยอมระบุ แถมยังให้คนนอกหน่วยงานมาชี้แจงปากเปล่าแทน ก็ต้องตั้งข้อสงสัยต่อไปว่ามันเป็นไปได้จริงหรือที่หน่วยงานหนึ่งจะมีงบบุคลากรถึง 92%? จริงหรือที่ไม่มีงบลงทุนหรืองบรายจ่ายอื่นเลย? ในขณะที่เมื่อไปดูงบ 5 หน่วยงานเดิมก่อนโอนกิจการ จะพบว่ามีทั้งงบดำเนินงาน, งบลงทุน, งบรายจ่ายอื่น, งบเงินอุดหนุน รวมๆ กันแล้วเกิน 700 ล้านบาทแน่ๆ

"ดังนั้นผมขอถามรายละเอียดเพิ่มเติมว่าที่ว่ามี 14,275 คนนั้น มียศและตำแหน่งระดับใดบ้าง? ระดับละกี่คน? ได้เงินเดือนคนละเท่าไร? มีภารกิจอะไร? ซ้ำซ้อนกับของกลาโหมและ สตช. หรือไม่? และแต่ละปีรับเพิ่มมากี่คน? ทำไมจึงทำให้งบก้าวกระโดดได้ถึงขนาดนี้ ขนาดที่ว่าแค่งบด้านบุคลากรอย่างเดียวยังเยอะยิ่งกว่างบทุกๆ ด้านของทั้ง 5 หน่วยงานเดิมเสียอีก? หากชี้แจงได้ไม่ดีพอ ผมก็ต้องขอตัด 40.72% ต่อไป ซึ่งผมยืนยันว่าไม่ใช่ตัวเลขที่มากเกินไป ไม่ได้ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมาใช้ชีวิตลำบากยากเข็ญเหมือนคนยากคนจนในประเทศนี้ สิ่งที่ทำไปทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่การจัดสรรทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่ เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของทุกภาคส่วนในท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อทั้งประชาชนและสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย เพียงเท่านั้นเอง" รังสิมันต์ กล่าว

นอกจาก รังสิมันต์ แล้ว ส.ส.พรรคก้าวไกล อีก 3 คนประกอบด้วย พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ เบญจา แสงจันทร์ และสุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ดังนี้

ภายหลังจาก ส.ส.ทั้ง 4 รายอภิราย ประธานสภาขอมติที่ประชุมว่า จะเห็นด้วย ร่างที่กรรมาธิการไม่แก้ไขหรือไม่ จำนวนผู้ลงมติ 392 รายเห็นด้วย 337 ราย ไม่เห็นด้วย 47 ราย งดออกเสียง 3 และไม่ลงคะแนน 5 ราย สรุปส่วนนี้เป็นไปตาม ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่ตั้งไว้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net