Skip to main content
sharethis

สปสช. เผยภาพรวมแจกชุดตรวจ ATK ช่วง 4 วัน มีประชาชนรับชุดตรวจแล้ว 74,674 คน 149,348 ชุด แนะหลังรับ ATK แล้ว รีบตรวจหาเชื้อโควิด-19 บันทึกผลตรวจโดยเร็ว เพื่อเข้าสู่ระบบรักษา ลดแพร่เชื้อสู่คนรอบข้าง พร้อมออกประกาศหลักเกณฑ์จ่ายค่าบริการแจก ATK ให้หน่วยบริการแล้ว มีผลตั้งแต่ 16 ก.ย. เป็นต้นไป

 

20 ก.ย.2564 ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช. ได้เร่งทยอยกระจายชุดตรวจ “แอนติเจน เทสต์ คิท” (Antigen Test Kit : ATK) ไปยังพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว จากข้อมูลล่าสุดวันนี้ (20 ก.ย. 2564) เวลา 13.05 น. มีประชาชนรับชุดตรวจ ATK จำนวน74,674 คน เป็นจำนวน 149,348 ชุด 

ทั้งนี้ การแจก ATK ขณะนี้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่มีการแจกมากที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่ได้เริ่มมีการกระจายและแจกให้กับประชาชนก่อน ขณะที่ภาพรวมจุดรับ ATK ส่วนใหญ่ประชาชนจะเลือกรับ ATK ที่ร้านยา เนื่องจากอาจเป็นจุดบริการที่สะดวกและเข้าถึงได้ง่าย ส่งผลให้สต๊อก ATK ของร้านยาบางแห่งใกล้หมดลงแล้ว และอาจต้องมีการจัดสรรเพิ่มเติม พร้อมกันนี้จะมีการประสานไปยังสภาเภสัชกรรมและสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) เพื่อขอความร่วมมือร้านยาเข้าร่วมแจก ATK เพิ่มเติม ขณะเดียวกันยังจะมีการเพิ่มเติมจุดบริการแจก ATK ที่คลินิกเทคนิคการแพทย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ เพื่อเพิ่มการกระจาย ATK ให้ประชาชนเข้าถึงจุดรับ ATK เพิ่มขึ้น 

“จากรายงานการแจก ATK นั้น ในจำนวนผู้ที่รับชุดตรวจ ATK มีผู้ที่ทำการตรวจหาเชื้อโควิด1-19 และบันทึกผลการตรวจเข้าสู่ระบบเพียงร้อยละ 7 หรือ 11,183 คน ถือว่ามีจำนวนน้อยมาก และจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีผลตรวจพบเชื้อ 80 คน (กทม. 51 คน, สมุทรปราการ 12 คน, ภูเก็ต 5 คน, นนทบุรี 5 คน, สระบุรี 3 คน, สุราษฎร์ธานี 2 คน อยุธยา 1 คน และปทุมธานี 1 คน) ดังนั้นจึงขอความร่วมมือประชาชนที่รับชุดตรวจ ATK แล้ว ให้รีบตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยเร็ว เพื่อที่จะได้เข้าสู่ระบบการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยเร็ว และลดการแพร่กระจายเชื้อสู่คนในครอบครัวและคนรอบข้างด้วย” เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการสนับสนุนค่าบริการในกระจายชุดตรวจ ATK ครั้งนี้ ทั้งการให้คำแนะนำตรวจ ATK การอ่านผล และการปฏิบัติตัวของประชาชน  เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา สปสช. ได้ออก “ประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การจ่ายค่าใช้จ่ายให้บริการสาธารณสุขกรณีโควิด-19 โดยการใช้ชุดตรวจ ATK ชนิด self-test kits สำหรับประชาชนตรวจเอง พ.ศ. 2564” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทำให้หน่วยบริการที่ร่วมกระจายชุดตรวจ ATK นี้ เช่น โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบาล (รพ.สต.) คลินิกชุมชนอบอุ่น ร้านยา ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกการพยาบาล คลินิกเทคนิคการแพทย์ และหน่วยบริการอื่นที่ สปสช. กำหนด โดยรับค่าใช้จ่ายได้ในอัตรา 10 บาทต่อชุดตรวจ ซึ่งต้องมีการยืนยันตัวประชาชนผู้รับบริการผ่านระบบ Authentication Code ผ่าน Application “เป๋าตัง” ผ่านธนาคารกรุงไทย หรือระบบที่ สปสช. กำหนด ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2564 เป็นต้นไป 

ชี้แจก ATK ช่วงนี้จังหวะดีสอดรับการเปิดร้านค้า/อาหารเพิ่มความมั่นใจผู้บริโภค 

ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการกระจายชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) แบบ Self-test แก่ประชาชนเพื่อนำไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเองจำนวน 8.5 ล้านชุดว่า ในช่วงนี้เป็นจังหวะที่สถานการณ์จำนวนผู้ป่วยเริ่มเบาบางลงจากช่วงก่อนหน้านี้ และภาคธุรกิจเริ่มเปิดร้านค้าร้านอาหารและการบริการต่างๆ จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้นำ ATK มาเป็นเครื่องมือคัดกรอง ช่วยสร้างความมั่นใจผู้ใช้บริการ และคนในชุมชนก็จะมั่นใจ ใช้ชีวิตประจำวันได้สบายใจมากขึ้น ขณะเดียวกันหากพบผู้ติดเชื้อก็จะสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมด้วย 

ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวอีกว่า ในส่วนของ กทม.นั้น จะได้รับการจัดสรร ATK จำนวน 2.26 ล้านชุด กระจายไปในชุมชนผ่านศูนย์บริการสุขภาพของกทม.และร้านยาที่เข้าร่วมโครงการกับ สปสช. โดยการรับชุดตรวจที่ร้านยานั้น ประชาชนสามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังได้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา โดยจะมีแบบสอบถามเพื่อคัดกรองความเสี่ยง หากเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงก็จะได้รับแจก ATK โดยเลือกจุดรับที่ร้านยาใกล้บ้านได้ ซึ่งร้านยาที่เข้าร่วมโครงการจะมีป้ายสีเหลืองใหญ่ๆเขียนว่ารับชุดตรวจ ATK ฟรีที่นี่ 

"เรื่องกลุ่มเสี่ยงนี้ บางทีเป็นเรื่องของความกังวลทางด้านจิตใจมากกว่า อย่างเวลาเราลงชุมชนไปตรวจบ้านที่มีการติดเชื้อ คนข้างบ้านก็จะสงสัยว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ แบบนี้ไม่ต้องกังวลนะคะ เราดูจากอาการของเรา ถ้าสะดวกก็แยกตัวไปโดยยังไม่ต้องตรวจด้วย ATK ก็ได้ แต่ถ้ามีความเสี่ยงขึ้นมาจริงๆ แกนนำชุมชนจะกระจายให้ท่านเลยค่ะ ไม่ต้องกังวลเลยค่ะ" ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว 

นอกจากการกระจายผ่านร้านยาโดยวิธีลงทะเบียนผ่านแอปฯเป๋าตังแล้ว กรณีของคนในชุมชนต่างๆหรือคนที่มีข้อจำกัดในการใช้แอปฯผ่านสมาร์ทโฟน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ก็จะใช้ช่องทางพิเศษที่สำนักอนามัย กทม. ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข โดยขอความร่วมมือจากประธานชุมชน แกนนำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข ประเมินความเสี่ยงของคนในชุมชนและกระจาย ATK แก่กลุ่มเสี่ยงให้ถึงบ้าน และสำรองบางส่วนไว้ในชุมชนเพื่อที่หากพบผู้มีความเสี่ยงก็สามารถมาขอรับที่แกนนำชุมชนเอาไปตรวจเองที่บ้านได้ 

นอกจากนี้แล้ว สปสช. ยังร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดส่งชุดตรวจ ATK ไปตามสถานคุ้มครองเด็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ หรือศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งต่างๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการคัดกรองกรณีมีคนใหม่ๆเข้ามาพักอาศัย รวมทั้งมีการหารือว่าจะกระจายแก่กลุ่มคนพิการอย่างไร เบื้องต้น พม. มองว่าด้วยเครือข่ายในปัจจุบันยังสามารถช่วยให้ผู้พิการเข้าถึง ATK ได้ แต่กรณีที่พบว่ามีกลุ่มที่ยังไม่ได้จริงๆ สปสช.จะใช้มาตรการจัดส่งทางไปรษณีย์ไปให้ถึงบ้านเลย 

"กรณีผลตรวจเป็นบวก ในแอปฯเป๋าตังจะมีให้เลือกว่าจะเข้า Home Isolation ที่ไหน ที่อยู่ปัจจุบันหรือกลับภูมิลำเนาก็ได้ ถ้าเลือกที่อยู่ปัจจุบันใน กทม. ข้อมูลก็จะส่งเข้าระบบแล้วกระจายคนไข้ให้คลินิกที่ตั้งอยู่ใกล้ผู้ป่วยมากที่สุดเป็นผู้ดูแลติดตามอาการ ส่งอุปกรณ์ ส่งข้าวส่งน้ำ หรือถ้าเป็นคนในชุมชนก็จะมี อสส.ช่วยประสานเข้าสู่ระบบการดูแล หรือใช้ช่องทางที่รับรู้กันคือโทรมาที่สายด่วน 1330 ก็ได้ค่ะ" ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net