Skip to main content
sharethis

กรมสุขภาพจิต แนะ 5 แนวทางการดูแลลูกหลานในครอบครัว จาก #คลับเฮ้าส์toxic ปมร้อนบนโลกโซเชียล ให้เด็กและเยาวชนพัฒนาตนเองโดยเรียนรู้และเข้าใจความแตกต่าง ลดอคติ ไม่แบ่งแยก 

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2564 Thai PBS รายงานว่า พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากเหตุการณ์ล่าสุดที่กำลังเป็นกระแสในโลกโซเชียลมีเดีย เรื่อง #คลับเฮ้าส์toxic นั้น กรมสุขภาพจิตได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด และพบว่าในเหตุการณ์ดังกล่าวมีการใช้ถ้อยคำที่ค่อนข้างรุนแรง อาจมีผลกระทบต่อความรู้สึกของพี่น้องที่มีภูมิลำเนาอยู่ในบางภูมิภาคของไทยเป็นอย่างมาก

กรมสุขภาพจิตจึงขอรณรงค์ให้คนไทยทุกคนใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีสติ ไม่สร้างความเกลียดชัง ไม่ดูถูก ดูหมิ่น หรือเหยียดหยาม แต่ให้เปิดใจยอมรับและเข้าใจความแตกต่าง ลดความรู้สึกแตกแยกและขัดแย้งการใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีคุณภาพจึงไม่ควรไปละเมิดหน้าที่ สิทธิ เสรีภาพของผู้อื่น และไม่ควรใช้พื้นที่สาธารณะในการก่อให้เกิดความเสียหายทางจิตใจต่อคนในสังคมด้วยกันเอง

"สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความหลากหลาย หรือพหุวัฒนธรรม มีความผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลายมากมาย และเป็นสังคมที่มีค่านิยมเปิดกว้างต่อความแตกต่างที่มีอยู่ การที่คนในสังคมมีถิ่นที่อยู่ วัฒนธรรมในการใช้ชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อความศรัทธา และภาษาถิ่นที่แตกต่างกันนั้น ไม่ได้ทำให้เรามีความเป็นคนไทยแตกต่างกัน"

พญ.อัมพร กล่าวว่า ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และควรได้รับการให้เกียรติเหมือน ๆ กัน หากทุกคนทำได้ก็จะช่วยให้สังคมไทยโดยรวมพัฒนาขึ้นและเป็นสังคมแห่งความสุขโดยแท้จริง โดยจากเหตุการณ์นี้อาจใช้เป็นโอกาสในการแนะนำเด็กและวัยรุ่นในครอบครัวเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันและการยอมรับความแตกต่างในสังคม เพื่อให้เติบโตขึ้นและสามารถใช้ชีวิตสอดคล้องกับสภาพสังคมแห่งความหลากหลายได้อย่างมีความสุข ซึ่งแนะนำได้ดังนี้

ชู 5 แนวคิด สอนลูกให้เรียนรู้ความแตกต่าง

1. ให้สังเกตและทำความเข้าใจความเหมือนและความแตกต่างกันของแต่ละคน โดยให้มองเห็นว่าความแตกต่างนั้นเป็นสีสันตามธรรมชาติของทุกสังคม แม้ในบางจุดเราอาจจะมีความแตกต่างกันและมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง แต่โดยส่วนมากแล้วทุกคนก็ล้วนมีส่วนที่เหมือนกัน และไม่มีอัตลักษณ์ใดที่ด้อยไปกว่ากัน ทุกคนบนโลกมีความเป็นคนเท่า ๆ กัน

2. ให้เด็กสามารถตั้งคำถามได้เกี่ยวกับความแตกต่างของแต่ละบุคคล โดยเด็กบางคนอาจจะสงสัยในความแตกต่าง เช่น สีผิว เพศ รูปร่าง ภาษา ศาสนา และวิถีชีวิตของเพื่อน ซึ่งผู้ปกครองสามารถให้คำตอบหรือชวนมาช่วยกันค้นคว้าผ่านแหล่งความรู้ที่หลากหลาย โดยใช้ใจที่เป็นกลาง ปราศจากอคติ

3. เรียนรู้ร่วมกันในครอบครัวผ่านตัวอย่างเหตุการณ์บนโลกโซเชียล เช่น เหตุการณ์การเกลียดชังในอดีต หรือกรณีที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากแหล่งข้อมูลหลักของเด็กและวัยรุ่นในยุคปัจจุบันมาจากสื่อโซเชียลมีเดียเป็นหลัก จึงสามารถหาตัวอย่างการเหยียดและอคติที่เกิดขึ้นและนำมาพูดคุยกันในประเด็นต่าง ๆ เช่น เพราะเหตุใดเหตุการณ์แบบนี้จึงเกิดขึ้น ตัวเรามีความเสี่ยงอย่างไรในการถูกเหยียดหรือแบ่งแยก และเราสามารถปกป้องตนเองได้อย่างไรในอนาคต

4. ชวนทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับผู้คนต่างพื้นที่ หรือกิจกรรมที่มีคนจากหลายวัฒนธรรมมาทำกิจกรรมร่วมกัน ได้มีการพูดคุยในสำเนียงภาษาที่แตกต่างกัน มีอาหารการกินที่แตกต่างกัน หรือแบ่งปันเรื่องขนบธรรมเนียมของแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน ก็จะช่วยทำให้เด็กเปิดโลกและเข้าใจสังคมพหุวัฒนธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจหาโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านการกลั่นแกล้งและการเหยียด ที่มักมีในชมรมหรือสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกัน

5. ผู้ใหญ่ในครอบครัวควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กและวัยรุ่น ด้วยการหลีกเลี่ยงการเหยียดความแตกต่าง ไม่ใช้คำบ่งชี้ลักษณะภายนอกของเด็กมาแทนชื่อเด็ก ไม่ชื่นชมลูกเพียงเพราะรูปลักษณ์ภายนอก ไม่ชมเชยลูกโดยเอาไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น เป็นตัวอย่างในการมีความเห็นอกเห็นใจให้ผู้อื่น รวมถึงปฏิบัติต่อเด็กอย่างเท่าเทียม ให้เกียรติ และเคารพสิทธิของเด็กและวัยรุ่นในครอบครัว

นักวิชาการและชาวบ้านร่วมปลุกกระแสจงภูมิใจในวัฒนธรรมของคนอีสาน

ต่อมาวันที่ 7 พ.ย. 2564 Thai PBS รายงานว่าในทวิตเตอร์ยังคงมีการพูดถึงประเด็นร้อนกรณีวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งตั้งกลุ่มใน "Clubhouse" และวิจารณ์คนอีสาน เช่น  อีสานมีลูกเร็ว  ผิวคล้ำดำแดด รวมถึงวิจารณ์เรื่องรสนิยมในการแต่งกาย ทำผม และยังมีการพาดพิงไปถึง "ลิซ่า Blackpink" นักร้องดังระดับโลกที่มาจากบุรีรัมย์ ว่า "ถ้าอีสานดีจริง ลิซ่าก็คงกลับมาอยู่แล้ว ลิซ่าไปอยู่นู่น ก็สบายกว่าอยู่อีสาน

จนเกิดประเด็นดราม่าในโลกโซเชียลมาหลายวัน แม้ล่าสุดแม่ของเด็กวัยรุ่นอายุ 17 ปีหนึ่งในผู้ที่วิจารณ์คนอีสาน จะออกมาขอโทษสังคม

ล่าสุด แฮชแท็ก #คลับเฮ้าส์toxic ยังติดเทรนด์ทวิตเตอร์ยอดนิยมอันดับที่ 3 และยังมีคนในวงการต่างและคนใช้โซเชียลพูดถึงประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง และอีกมัมยังสร้างกระแสให้คนอีสาน ภูมิใจในวัฒนธรรมของภาคอีสานด้วย

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สำรวจชาวโซเชียล ผู้ใช้ทวิตเตอร์ต่อกระแสที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ The Isaan Record@isaanrecord กระแสดราม่าเปิดคลับเฮาส์ "ด่าคนอีสาน" จนกลายเป็น คลับเฮาส์toxic แสดงได้ถึงไม่เข้าใจความแตกต่าง มองผู้อื่นต่ำต้อย ลองฟังทัศนะจาก อ.ธีระพล อันมัย นักวิชาการอีสานและครูใหญ่ -อรรถพล บัวพัฒน์ ที่จะช่วยเปิดกระโหลกให้เข้าใจคนอีสานมากขึ้น

“เป็นเหมือนคนกลุ่มนั้นให้น้อยที่สุด หรือว่าอย่างสร้างความเกลี่ยดชัง เป็นคนไทยให้น้อยลง เป็นคนดีให้มากขึ้น เป็นสิ่งที่ทุกคนควรตระหนัก”

ส่วนผู้ใช้ทวิตเตอร์  Nooray.p@nooray_p ภูมิใจในบ้านเกิด อยู่ไหนก็คน กินข้าวเหมือนกัน เดินบนดิน มีเวลา 24 ชม เหมือนกัน สูนนนนนนนนน จับก้อยกุ้งใส่ปาก จะสะดุ้ง #คลับเฮ้าส์toxic

ขณะที่ @naipeet บอกว่า เป็นคนกรุงเทพที่หลงใหลกลิ่นไอดินถิ่นอีสาน จะคนอีสานหรือคนกรุงเทพก็เป็นคนเท่าเทียมกัน #คลับเฮ้าส์toxic 

เช่นเดียวกับผู้ใช้ทวิตเตอร์ baobao子 @baozizizi_ ระบุว่าในฐานะที่เราเป็นคนอีสานขอพูดหน่อยนะคะ เราไม่รู้หรอกนะว่าคุณโตมายังไงถึงได้มีความคิดแบบนี้ แต่เราเป็นคนอีสานเราโตมาดีนะคะ ครอบ ครัวเราสอนให้เราเป็นคนมีมารยาท และหัดเกรงใจคนอื่นเสมอ แล้วก็ไม่ให้เหยียดคนอื่น แล้วคุณล่ะคะ มีใครสั่งสอนบ้างมั้ย #คลับเฮ้าส์toxic

ไม่ใช่เรื่องใหม่-นักวิชาการห่วงสร้างความขัดแย้ง  

ขณะที่นายกิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม สอนพิเศษด้าน ปรัชญาการเมือง โพสตฺ์เฟซบุ๊ก Kittitouch Chaiprasith ระบุกรณีนี้ว่า มุกการปั่นกระแส #เหยียดคนอีสาน เพื่อหวังประโยชน์ทางการเมืองจากคนอีสาน ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันถูกใช้มามีมาตั้งแต่ปี 6-7 ปีที่แล้ว

วิธีการก็จะคล้ายเดิมคือ ปั่นให้เกิดความเกลียดชังระหว่างภูมิภาค เหนือ-ใต้ อีสาน-กรุงเทพ โดยสร้างตัวละครเหรือเพจให้เป็นคนที่พวกเขาต้องการทำลายภาพลักษณ์ให้ดูแย่ดูชั่วร้ายแล้วก็จะให้สื่อและนักวิชาการกลุ่มหนึ่งเอาไปขยายผล เพื่อบอกว่ามีการเหยียดในสังคม คนมองคนไม่เท่าเทียมกัน เป็นผลการกระทำจากรัฐไทย

สำหรับการตั้งกลุ่มวิจารณ์ของคนกลุ่มนี้ ยังพบว่าเกิดขึ้นในห้องคลับเฮ้าส์หลายห้อง เช่น ตั้งชื่อห้องว่า คนอีสานมีหน้าที่แค่เกี่ยวข้าวให้คนกรุงเทพ หรือห้องคนอีสานคือซอมบี้ในชีวิตจริง จนทำให้คนอีสาน และทุกภาคในประเทศไทยออกมาตั้งคำถามว่าคนกลุ่มนี้ต้องการอะไร

แม่ร่ำไห้ขอโทษแทนลูกสาวไปด่าคนอีสานในคลับเฮาส์เหตุคะนองรู้ไม่ถึงการณ์

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2564 ว่าจากกรณีที่มีคนกลุ่มหนึ่ง ที่ตั้งห้องใน "Clubhouse" แล้วพูดคุย เหยียดคนอีสาน จนเกิดประเด็นดราม่าในโลกโซเชียล พร้อมติดแฮชแท็ก #คลับเฮ้าส์toxic และในโลกโซเชียลก็มีการพูดถึงเรื่องนี้เป็นอย่างมาก หลายคนที่เป็นคนอีสานแสดงความไม่พอใจที่โดนดูถูก เป็นการบูลลี่รากเหง้าของคนไทยกลุ่มหนึ่งจะนำมาซึ่งความขัดแย้งในอนาคตก็ได้ โดยหนึ่งในกลุ่มคนคลับเฮาส์มีหญิงสาววัย 17 ปีซึ่งเป็นคนอุดรธานีก็ด่าคนอีสานด้วย

ต่อมาผู้สื่อข่าวเดินทางไปพบกับครอบครัวของ น้องสาว 17 รายนี้ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี พบกับตายาย พี่ชายและแม่ของหญิงสาวรายนี้ โดยยาย อายุ 67 ปี เปิดเผยว่า เพิ่งรู้เมื่อเช้านี้จากแม่เขาเล่าให้ฟัง เสียใจมาก หลานไม่น่าไปด่าคนอีสานแบบนั้นเลยทั้งๆ ที่ตัวเขาและพวกเราก็เป็นอีสาน เมื่อเช้าแม่เขาก็ร้องไห้เสียใจหนักและแม่เขาก็เพิ่งผ่าตัดสมอง กลัวเขาไปผูกคอตายคิดสั้น ยายก็ขอโทษแทนหลานด้วยเขาอาจจะทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ด้าน นายป๊อก (นามสมมติ) อายุ 19 ปี พี่ชายของสาว 17 ปีรายนี้ เปิดเผยว่า น้องสาวอายุ 17 ปีเดินทางไปเรียนที่พัทยาหลายปีแล้วหลังจากแม่ตกงานก็กลับมาทำงานโรงเชือดไก่ที่ จ.อุดรธานี แต่น้องสาวยังเรียนที่นั่นอยู่ ตนเองรู้ข่าวว่าน้องด่าคนอีสานในคลับเฮาส์แรงมาก จากนั้นตนก็รีบทักไปพูดคุยกับน้องให้ออกมาขอโทษคนอีสานซะ เพราะตัวน้องเองก็เป็นคนอีสาน เบื้องต้นได้คุยกับน้องก็บอกว่า จะออกมาขอโทษตอนนี้ตกใจอยู่ ส่วนตัวก็อยากจะขอโทษแทนน้องด้วย

พี่ชายของสาว 17 ปีรายนี้ กล่าวอีกว่า สำหรับสาเหตุที่น้องด่าคนอีสานในคลับเฮาส์ น้องบอกว่า มีคนมาด่าก่อนแต่น้องคิดผิดที่ไปเหมาด่ารวมคนอีสาน สังคมไม่ต้องให้อภัยก็ได้ แต่ไม่อยากให้ลามปามถึงครอบครัวพ่อแม่ เพราะไม่อยากให้ครอบครัวคิดมาก ตอนนี้ครอบครัวเราคือแม่ยายตาเครียดหนัก เมื่อวานแม่ก็ร้องไห้ทั้งวัน ครอบครัวตนเองมีแต่คนป่วย ตาก็ป่วยโรคเส้นเลือดสมองตีบ ยายก็ป่วยเดินลำบาก ตนเองก็พิการตั้งแต่เกิด ส่วนพ่อเสียชีวิตอุบัติเหตุด้วยรถยนต์เมื่อเดือน ส.ค. ที่แล้ว ส่วนแม่ก็เพิ่งผ่าตัดสมองมา

ส่วน น.ส.นิค (นามสมมติ) อายุ 37 ปีแม่ของน้องแพน เปิดเผยว่า รู้ข่าวว่าลูกไปด่าคนอีสานประมาณ 1 ทุ่มเมื่อวาน ลูกสาวคนนี้เป็นลูกสาวคนเล็ก ไปเรียนอยู่พัทยา พอแม่กลับมาที่บ้านเกิดที่อุดรฯ เขาไม่ได้กลับมาด้วย เขาเป็นคนมีความคิดของตัวเอง หลังรู้ข่าวแม่เสียใจเมื่อคืนนอนไม่หลับทั้งคืน แม่ขอโทษสังคมด้วย ลูกทำอะไรไม่รู้จักคิด แม่เสียใจมากอาจจะเป็นเพราะตนเองสอนลูกมาไม่ดี แต่ไม่เคยสอนให้ลูกเป็นแบบนั้น อยากจะวอนสังคมให้อภัย ขอโทษแทนลูกที่พูดไปแบบนั้น

ขณะที่ชาวบ้านหลายคน มองเรื่องกลุ่มคนด่าคนอีสาน โดยบอกว่า รู้สึกไม่พอใจ คนอีสานเป็นคนใจดี จริงใจ มีมิตรที่ดีต่อคนทุกภาค ตัวน้องเขาก็เป็นคนอีสานไม่น่าจะดูถูกกันเลย เห็นใครก็เรียกกินข้าวด้วย เป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี แบ่งปันกัน รักกันไม่ใจดำด้วย ก็อยากให้น้องเขาออกมาขอโทษหากทำผิดอะไรไปแล้ว อาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ได้คนอีสานเป็นคนให้อภัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net