Skip to main content
sharethis

เวที UPR หลายประเทศแสดงความกังวลสถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมในไทย การใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการบังคับบุคคลให้สูญหาย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศแจงรับฟังเสียงคนรุ่นใหม่ ภาคประชาชนติง ผู้แทนไทยไม่พูดถึงเยาวชนทะลุแก๊ซที่ถูกจับ 192 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแนะไทยควรรับข้อเสนอจากมิตรประเทศให้มากที่สุด

12 พ.ย. 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สรุปเนื้อหากระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review: UPR) รอบที่ 3 ของประเทศไทย ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ตามเวลาประเทศไทย

ผู้แทนไทยแถลงและตอบคำถามสิทธิมนุษยชนบนเวทีโลก

ธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยนำเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน รอบที่ 3 โดยไทยเสนอความคืบหน้าในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนว่า เป้าหมายสำคัญของประเทศไทย พยายามที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนทุกคนและการพัฒนาที่ยั่งยืน เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสังคม โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยในด้านการเงิน ในสถานการณ์โรคโควิด-19 ไทยยืนยันที่จะรักษาระบบประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ที่แข็งแกร่งต่อไป เนื่องจากสามารถช่วยเหลือผู้เปราะบางทางสุขภาพของผู้ป่วยในไทย รวมถึงยังส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงระบบประกันสุขภาพอย่างเท่าเทียม

ธานี ทองภักดี

ธานี ทองภักดี

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงต่อว่า ไทยยังมีความพยายามในการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เพื่อช่วยเหลือเด็กในประเทศที่ยังเป็นกลุ่มเปราะบางได้มากขึ้น เพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่มากขึ้น ส่งเสริมประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งชายและหญิง ไปจนถึงเยาวชน มีความพยายามในการออกกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิตของคู่รักเพศเดียวกันได้ ไปจนถึงการคุ้มครองคนทุกชาติพันธุ์ และแรงงานต่างชาติ มีการจัดทำนโยบายส่งเสริมผู้สูงอายุด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2561 และกำหนดให้เรื่องผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ มีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิ เข้าถึงงานและมีอิสระในสังคม

ธานีกล่าวว่า มีการให้ความคุ้มครองสิทธิแรงงานและส่งเสริมความเข้าใจทางด้านวัฒนธรรม ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน มีพระราชบัญญัติส่งเสริมคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ สนับสนุนแรงงานข้ามชาติด้วยการทำ MOU ป้องกันการแสวงหาประโยชน์แรงงานข้ามชาติและการค้ามนุษย์ มีการให้ความช่วยเหลือบุคคลไร้สัญชาติและให้เด็กไร้สัญชาติได้มาอยู่ในระบบการศึกษา ให้การเข้าถึงการจดทะเบียนการเกิดสำหรับคนไร้สัญชาติ

สำหรับสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศแถลงว่า ไทยเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกการชุมนุม ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายในเรื่องของการบังคับใช้ แต่ว่าสิทธิเสรีภาพนั้นจะต้องมีการใช้อย่างเหมาะสมในเชิงสร้างสรรค์ คำนึงถึงบริบทเรื่องของโรคโควิด-19 นอกจากนั้นยังมีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับภาคประชาสังคมต่างๆ รับฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ในกระบวนการที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สนับสนุนให้เกิดการหารือระหว่างคนหลายรุ่น หลายวัยได้เรียนรู้ร่วมกันเพื่อจะได้มีบรรยากาศในการพัฒนาประเทศชาติที่รองรับความคิดเห็นที่หลากหลาย

ขณะที่ประเทศไทยกำลังมีร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีการพัฒนาแผนด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนประเทศไทย และป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน หรือ SLAPPs อีกด้วย

ข้อเสนอแนะจากโลกถึงไทย

ในช่วงที่เปิดพื้นที่ให้ประเทศต่างๆ กล่าวถึงการทำงานของประเทศไทยพร้อมข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย  แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รวบรวมข้อเสนอแนะของบางประเทศว่ามีความกังวลในประเด็นใดบ้าง

สหราชอาณาจักร เสนอให้ประเทศไทยจะทบทวนกฎหมายและข้อบังคับที่กำหนดข้อจำกัดที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก และมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสื่อจากการถูกคุกคาม การข่มขู่ สร้างพื้นที่ใช้สิทธิ เสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นการชุมนุมการรวมกลุ่มกันอย่างเสรีทางออนไลน์และออฟไลน์

สหรัฐอเมริกา เสนอให้พิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยกิจการและองค์กรที่แสวงหาผลกำไร ที่จะเป็นการจำกัดพื้นที่ในการทำงานขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ (NGOs) แก้ไขปัญหาการจำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และโทษสำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เรื่องของการบังคับให้บุคคลสูญหายของนักกิจกรรม 7 คน

เยอรมนี แสดงความกังวลต่อการจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการรวมตัวกัน เสนอแนะให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และกฎหมายหมิ่นประมาท แก้ไขมาตรการที่จำกัดสิทธิในเสรีภาพการชุมนุม ตรวจสอบผลกระทบจากร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ให้ถี่ถ้วน และให้สัตยาบันเป็นภาคี พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (OPCAT)

สวิตเซอร์แลนด์ เสนอให้ประเทศไทยให้สัตยาบันในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน  และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี รวมถึงปรับแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116

ฟินแลนด์ เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  โดยเฉพาะการบังคับใช้ต่อเยาวชน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงปฏิญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็ก ขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศ ทำให้การทรมานและการบังคับให้สูญหายมีความผิดตามกฎหมาย เพื่อคืนสิทธิให้กับเหยื่อ รับรองว่าประชาชนรวมถึงพนักงานบริการ (Sex Workers) จะเข้าถึงสิทธิในสุขภาพที่ได้มาตรฐานที่เพียงพอ

ฝรั่งเศส เสนอแนะเรื่องการปกป้องประชาชนจากการถูกบังคับบุคคลให้สูญหาย โทษประหารชีวิต การทรมาน ปกป้องสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก รวมถึงการให้แก้ไขมาตรา 112 แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พัฒนาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่าด้วยเรื่องความรุนแรงจากการเลือกปฏิบัติทางเพศ แก้ไขกฎหมายเพื่อหนทางสู่การสมรสเท่าเทียม (Same Sex Marriage)

แคนาดา เสนอให้ยุติการใช้กฎหมายที่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นการชุมนุม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีกฎหมายป้องกันการทรมานและมีการนำผู้กระทำการทรมานมาลงโทษ ไม่จำกัดกิจกรรมของ NGOs และคุ้มครองนักปกป้องสิทธิตามมาตรฐานสากล

ไอซ์แลนด์ เสนอให้มีการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานและบังคับสูญหาย เพื่อเข้าถึงการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยสำหรับทุกคน รวมทั้งการปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติและบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

อินโดนีเซีย ชื่นชมกระบวนการตั้งแต่รอบที่แล้วที่มีความคืบหน้า เช่น การให้การศึกษาเด็กแรงงานข้ามชาติ และการดำเนินงานเพื่อให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุ แนะนำการปกป้องสิทธิมนุษยชนภายใต้หลักการโควิด-19 โดยเฉพาะเด็กและคนพิการ

อิรัก สนับสนุนการดำเนินการตามหลักธุรกิจเพื่อสิทธิมนุษยชน และการให้การช่วยเหลือกับผู้ลี้ภัยและและแรงงานข้ามชาติ

ไอร์แลนด์ ระบุว่า ประเทศไทยมีความพยายามในการดำเนินการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เช่น การมีแผนว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน แต่มีความห่วงใยในเรื่องของเสรีภาพในการชุมนุม การคุกคามนักกิจกรรมทางการเมือง และเรื่องของการยกเลิกการใช้โทษประหารชั่วคราว

อิสราเอล ชื่นชมประเทศไทยในเรื่องความสัมพันธ์ในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็ก การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ข้อเสนอแนะ คือ มีนโยบายคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ มีมาตรการต่างๆ ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีความพิการในการทำงาน ยกเลิกการทำโทษเด็ก โดยมีการออกกฎหมายห้ามไม่ให้มีการทำโทษทางกายแก่เด็กไม่ว่าสภาพใดใดก็ตาม

ญี่ปุ่น ชื่นชมไทยเรื่องของการบังคับบุคคลให้สูญหาย ที่เตรียมมีการรับกฎหมายมาบังคับใช้ และมีข้อเสนอแนะเรื่องของการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศ และปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิในการแสดงออกและเรื่องของการปกป้องสิทธิเด็กรวมทั้งเรื่องของการดูแลสุขภาพ

อิตาลี สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือในเรื่องของการลดความยากจน การขจัดความยากจนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด พร้อมแสดงความยินดีกับประเทศไทยที่เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนผ่านโครงการต่างๆ และมีการขยายโครงการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาขั้นพื้นฐานและยังดำเนินการต่อเนื่อง

ลักเซมเบิร์ก เสนอแนะให้คุ้มครองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ เสรีภาพ รวมถึงในเรื่องของการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายอาญา โดยเฉพาะเรื่องของการสมรสของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนั้น ยังต้องการให้ขจัดการเลือกปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของการพิจารณาให้สัตยาบันว่าด้วยผู้ลี้ภัย

มาเลเซีย ชื่นชมในการปกป้องสิทธิผู้หญิงและเด็ก ในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ชมเชยบทบาทของไทยที่มีต่ออาเซียน ในปฏิสัมพันธ์ต่างๆ อยากที่จะให้สนับสนุนระบบสุขภาพและเรื่องของการจัดการกับโรคระบาด

เนเธอร์แลนด์ ขอบคุณสำหรับการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความสงสัยต่อการปรับใช้กฎหมายกับนักปกป้องสิทธิและสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหายตัวของนักกิจกรรม กฎหมายสมรสเท่าเทียม สร้างกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ภาคประชาสังคมมีบทบาท มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยองค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศและแนวปฏิบัติที่ดี รวมทั้งเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออก

นอร์เวย์ ขอให้เคารพสิทธิในการแสดงออก สิทธิในการชุมนุม สิทธิในการรวมตัว แม้ว่าจะเป็นคู่ต่อสู้ทางการเมืองหรือขัดแย้งทางการเมือง แก้ไขกฎหมายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อที่จะให้เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ปกป้องนักสิทธิมนุษยชนด้วยการให้ความมั่นใจว่ากฎหมาย NGOs ฉบับใหม่จะไม่ขวางการทำงานของภาคประชาชน ให้สัตยาบันรับร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมาน และเร่งรัดกระบวนการเกี่ยวกับการออกกฎหมายว่าด้วยการทรมานต่อไป

เปรู กล่าวว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จด้านสิทธิมนุษยชนว่าด้วยแผนธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแต่มีข้อเสนอแนะให้มีการรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลสูญหาย มีมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระตามหลักการปารีส ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะทำให้ผู้หญิงเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงในชนบท กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้พิการ หรือนับถือศาสนาที่เป็นส่วนน้อยในสังคม

เกาหลีใต้ ยินดีที่ได้รับฟังเรื่องการปกป้องสิทธิเด็ก และแผนปฏิบัติการว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นกระบวนการที่มีความคืบหน้า แต่มีข้อเสนอแนะเรื่องนโยบายเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการชุมนุม การรวมตัวรวมกลุ่ม ให้เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล มีกฎหมายห้ามมิให้มีการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ดำเนินงานเพื่อให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นอิสระตามหลักการปารีสต่อไป

ออสเตรีย แสดงความกังวลเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การดำเนินคดีกับเด็ก เสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา และให้มีการดำเนินการในคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง

ภาคประชาสังคมจัดเวทีคู่ขนาน “ติดตามการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหลังกระบวนการ UPR”

ขณะที่ในประเทศไทยมีการจัดเวทีคู่ขนาน “ติดตามการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหลังกระบวนการ UPR” ในงาน HUMAN RIGHTS, THE RISE OF HUMANITY! จับตา ฟังเสียงโลก แล้วร่วมปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย! กับกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือ UPR รอบที่สามของประเทศไทย ซึ่งจัดโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, มูลนิธิศักยภาพชุมชน, ฮิวแมนไรท์วอช, Article 19, สหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH),  คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, อินเทอร์นิวส์ (Internews), และมานุษยะ (Manushya)

อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ระบุว่า ข้อสังเกตของประเทศสมาชิกในครั้งนี้มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรป ที่ให้ข้อเสนอด้านสิทธิและเสรีภาพ หลังจากนี้จะเป็นความท้าทายกับทางการไทยว่าจะสามารถทำตามข้อเสนอของประเทศต่างๆ ได้หรือไม่ โดยเฉพาะการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ทางการไทยอ้างว่าเป็นกฎหมายเฉพาะในประเทศ คนไทยต้องมาพูดคุยหารือกัน แต่ก็ต้องอย่าลืมว่า คำมั่นหลักของประเทศไทยต่อสภาคณะรัฐมนตรีสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ ยืนยันว่าประเทศไทยจะต้องเคารพหลักนิติธรรม

อังคณา นีละไพจิตร

อังคณา นีละไพจิตร

ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวต่อว่า ยังมีประเด็นเรื่องบังคับสูญหาย บางประเทศก็พูดถึง เรื่องการสืบสวนสอบสวน จนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรม ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้พูดถึงนักกิจกรรมทางการเมือง 7 คนที่วันนี้ยังสูญหายอยู่ รวมถึงข้อเสนอแนะในเรื่องของการยกเลิกโทษประหารชีวิต ในเวที UPR ครั้งที่แล้ว ในประเด็นโทษประหารชีวิต ทางการไทยตอบว่า ประเทศไทยไม่ได้มีโทษประหารชีวิตมาเกือบ 10 ปีแล้ว ดังนั้นเหมือนว่า ประเทศไทยไม่มีโทษประหารชีวิต หลังจากที่ตอบสหประชาชาติแล้ว ประมาณปี 2561 เราประหารนักโทษหนึ่งคน  เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายประเทศเรียกร้องให้ยกเลิก และให้สัตยาบันในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ด้วย

มนทนา ดวงประภา ฝ่ายข้อมูลและนักกฎหมาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า โจทย์ที่น่าติดตาม คือประเด็นที่ประเทศเม็กซิโก ออสเตรเลีย สวีเดน พูดถึงสิทธิในการแสดงออกทางเมือง ประเทศยูเครน พูดถึงการใช้กำลังของตำรวจ แสดงให้เห็นว่านานาชาติกำลังจับจ้องอยู่ ขณะที่ผู้แทนไทยในรายงานกลับไม่ได้พูดถึงสิทธิเด็กในการแสดงความเห็น และการชุมนุมครั้งที่ผ่านมา เช่น กรณีม็อบทะลุแก๊ซ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีเยาวชนถูกจับ 192 คน ถูกสั่งฟ้อง 61 คดี ซึ่งการละเมิดสิทธิเด็กเหล่านี้ไม่ถูกรายงานไปที่เจนีวา เพื่อให้เกิดการพัฒนาการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน

มนทนา ดวงประภา

มนทนา ดวงประภา

ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน พบว่า ในช่วง 1 ปี 7 เดือน มีผู้ถูกดำเนินคดีไปแล้ว 1,636 คดี ส่วนใหญ่เป็นข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ใช้ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ผู้ถูกชุมนุมทางการเมืองกลับถูกจับกุมมากสุด โดยเฉพาะมาตรา 112 มีถูกดำเนินคดีไปแล้ว 159 คดี ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จึงมีความห่วงใยต่อการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพมากขึ้น

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า เห็นว่ามีหลายประเด็นที่ตัวแทนไทยยังตอบได้ไม่ชัดเจนนัก และตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นเรื่องโทษประหารชีวิตที่แอมเนสตี้พยายามผลักดันอยู่นั้น หลายประเทศมีข้อเสนอถึงไทยว่าให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต หรือพักการใช้โทษประหารชีวิต ซึ่งเรียกร้องกันมาตั้งแต่ UPR รอบที่ 1 และ 2 แล้วด้วย ต้องรอดูว่ารอบนี้ทางการไทยจะมีท่าทางในประเด็นนี้อย่างไร

ปิยนุช โคตรสาร

ปิยนุช โคตรสาร

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นนแล ยังส่งรายงานและข้อเสนอแนะในเวที UPR รอบที่ 3 ของไทยด้วยเช่นกัน โดยเน้นในประเด็นโทษประหารชีวิต การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่บังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎอัยการศึก การประกาศใช้กฎหมายเพื่อเอาผิดทางอาญากับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย และการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยให้มีเนื้อหาตามพันธกรณีของสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้อง และดําเนินการเพื่อให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ให้ยกเลิกการดําเนินคดีอาญาโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อบุคคลที่ใช้สิทธิมนุษยชนของตนเอง รวมทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ รวมถึงการจัดทําและออกกฎหมายเพื่อป้องกันกรณีการดําเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์หรือการฟ้องปิดปาก ส่วนในประเด็นผู้ลี้ภัย เรียกร้องให้สถานะทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัย รวมถึงกําหนดนิยามของผู้ลี้ภัยในกลไกการคัดกรองให้สอดคล้องกับ กฎหมายระหว่างประเทศ อนุญาตให้มีกระบวนการประเมินผลเป็นรายบุคคล และให้มีสิทธิการอุทธรณ์ได้ด้วย

ฟังเสียงโลกบ้าง ขอให้ไทยรับข้อเสนอให้มากที่สุด เพื่อพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศ

ด้านศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เรียกร้องให้รัฐไทยรับข้อเสนอจากเพื่อนมิตรทั้งหลายให้มากที่สุด มองว่าข้อเสนอแนะของประเทศต่างๆ เป็นสิ่งที่ไทยต้องปฏิรูปให้ดีขึ้น แม้จะมีสิทธิรับหรือไม่รับ แต่แสดงให้เห็นว่าประชาคมโลกติดตามและให้ความสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย

วิทิต มันตราภรณ์

วิทิต มันตราภรณ์

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ยังแนะนำให้ไทยเชิญผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติในประเด็นการทรมาน การวิสามัญฆาตกรรม และคณะทำงานเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหาย ให้มาเยี่ยมประเทศไทยอย่างเป็นทางการเพื่อที่จะให้ข้อเสนอแนะต่อมาตรการที่ประเทศไทยควรจะดำเนินการในประเด็นต่างๆ ข้างต้นด้วย

ทั้งนี้ กระบวนการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน หรือ UPR เป็นกลไกหนึ่งที่อยู่ภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council หรือ HRC) ซึ่งมีจุดประสงค์ในการตรวจสอบสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ในทุกด้านของรัฐสมาชิกสหประชาชาติ

กระบวนการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศ จะเกิดขึ้นทุกๆ 4 ปีครึ่ง โดยแต่ละประเทศจะจัดทำรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศของตน เพื่อที่รัฐอื่นๆ หรือผู้ที่มีความเกี่ยวข้องสามารถรับรู้ถึงสถานการณ์หรือประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกด้านที่เกิดขึ้น

สำหรับรอบนี้ รัฐบาลไทยมีเวลา 48 ชั่วโมง ในการตอบแบบไม่เป็นทางการว่าจะรับข้อเสนอแนะจากประเทศใดบ้าง เรื่องใดบ้าง หรือจัดเป็น Take Note คือไม่ตอบรับ หลังจากนั้นจะมีเวลาพิจารณาอย่างน้อย 2 เดือน ในการตอบรับอย่างเป็นทางการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net