Skip to main content
sharethis

iLaw รายงานนานาชาติห่วงไทยใช้กฎหมายขัดขวางเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน แนะทำตามหลักสากล สหรัฐฯ-ลักเซมเบอร์ก-เบลเยียม กังวลรัฐไทยใช้ ม.112 ละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่ผู้แทนไทยผู้แทนไทยตอบกลางวงประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) ว่า "ม.112 เป็นภาพสะท้อนสังคมและประวัติศาสตร์ไทย" และ "การดำเนินคดีถูกต้องตามกระบวนการอันสมควรแก่กฎหมาย (due process of law)" 

10 พ.ย. 2564 iLaw รายงานว่าวันนี้ (10 พ.ย. 2564) ธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ผู้นำคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) หรือ UPR ซึ่งเป็นกลไกลภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติกว่า 193 ประเทศจะต้องเข้าร่วมโดยแต่ละรอบจะมีระยะห่าง 4 ปี โดยในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สามแล้วที่ไทยจะต้องชี้แจงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนต่อชาติสมาชิกสหประชาชาติ (UN) และต้องรับฟังข้อเสนอจากชาติสมาชิกสหประชาชาติอื่นๆ ซึ่งประเทศที่ถูกประเมินจะมีทางเลือกว่าตกลงจะนำข้อเสนอแนะนั้นไปปรับใช้ หรือเพียงแค่รับทราบข้อเสนอแนะแต่ไม่ดำเนินการใดๆ ก็ได้

การประชุม UPR ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ของประเทศไทย โดยปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงสถานการณ์การใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองว่า รัฐบาลไทยให้ความเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่การใช้เสรีภาพต้องเป็นการใช้อย่างสร้างสรรค์ภายใต้กรอบของกฎหมาย ที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามแก้กฎหมายต่างๆ เพื่อเสริมสร้างเสรีภาพในการแสดงออก รัฐบาลไทยยังตระหนักถึงความสำคัญของคนรุ่นใหม่และได้มีความพยายามสร้างเวทีพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ระหว่างวัย นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายที่ในขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา

ในส่วนของข้อแนะนำของชาติสมาชิกที่มีต่อรัฐบาลไทย มีทั้งการสนับสนุนร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหาย การแสดงความกังวลต่อการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างกฎหมายควบคุม NGO ส่วนประเด็นการขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองก็ได้รับการพูดถึงหลายครั้ง เช่น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยยกเลิกอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำ สาธารณรัฐไอร์แลนด์แนะนำให้รัฐบาลไทยยุติการจับกุมคุมขังนักกิจกรรมทางการเมือง รัฐบาลญี่ปุ่นแนะนำให้รัฐบาลไทยปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม

 

 

รัฐบาลลักเซมเบิร์กแนะนำให้รัฐบาลไทยพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่มีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพการแสดงออก เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รัฐบาลมาลาวีแนะนำให้รัฐบาลไทยอบรมเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของการควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ราชอาณาจักรเบลเยียมแสดงความกังวลต่อกรณีที่รัฐบาลไทยจับกุมผู้ชุมนุมและแนะนำให้รัฐบาลไทยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 19 รัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) แนะนำให้รัฐบาลไทยปรับกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับเสรีภาพการชุมนุมและการแสดงออกให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและประกาศใช้กฎหมายป้องกันการบังคับสูญหาย และรัฐบาลไอซ์แลนด์ ให้คำแนะนำให้ไทยรับพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และตั้งคำถามถึงกฎหมายรับรองสิทธิสมรสสำหรับผู้ที่มีเพศเดียวกันของประเทศไทย เป็นต้น

ผู้แทนไทยจากกระทรวงการต่างประเทศตอบข้อแนะนำของประเทศต่างๆ ด้วยวาจา โดยระบุว่า ม.112 เป็นภาพสะท้อนสังคมและประวัติศาสตร์ของไทย คนไทยให้ความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์ ดังนั้น กฎหมายจึงมีไว้เพื่อปกป้องสถาบันและความมั่นคงของชาติ ส่วนการแก้ไขทบทวนกฎหมาย ม.112 เป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะต้องพิจารณา ทั้งนี้ การชี้แจงเรื่อง ม.112 ของคณะผู้แทนไทยในเวทีนานาชาตินั้น เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีที่ณฐพร โตประยูร ร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าอานนท์ นำภา, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และภาณุพงศ์ จาดนอก กระทำความผิดตามมาตรา 49 ฐานล้มล้างการปกครอง

ผู้แทนไทยกล่าวว่ารัฐบาลต้องหาจุดที่สมดุลระหว่างการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการปกป้องประมุขแห่งรัฐและความสงบเรียบร้อย นอกจากนี้ สื่อมวลชนในไทยมีเสรีภาพในการรายงานข้อมูลให้สาธารณชนทราบ ส่วนมาตรการใดๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนนั้นก็เป็นไปเพื่อป้องกันการขยายตัวของข้อมูลที่ผิดพลาดซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ขณะที่ผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรมไทยกล่าวเพิ่มเติมเรื่องกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายตอนนี้กำลังอยู่ในการพิจารณาของสภาซึ่งประกอบไปด้วยการมีส่วนร่วมจากผู้แทนทางการเมือง ข้าราชการ และภาคประชาสังคม

ส่วนกรณีร่างกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรไม่แสวงกำไรนั้น ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมุ่งสร้างความโปร่งใสของการดำเนินงานของภาคประชาสังคม ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น คณะรัฐมนตรีเพิ่งจะมีมติรับหลักการเท่านั้น ในตอนนี้จะมีการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อรับประกันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพ ด้านผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ชี้แจงว่าไทยได้มีการแก้ไข ม.14 ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ และก่อนที่จะดำเนินการการสั่งระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ใดๆ จะมีการสอบสวนโดยคณะกรรมการก่อนเสมอ นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลฯ ได้เปิดศูนย์ต้านข่าวปลอมเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอมและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับสังคม

ในกลไก UPR ทั้งสองครั้งที่ผ่านมาของไทยในปี 2554 และ 2559 ประเด็นปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกชาติสมาชิกหยิบยกขึ้นมาบ่อยครั้ง โดยมีข้อเสนอแนะตั้งแต่การให้ปรับแก้ไขลดโทษ ไปจนถึงการให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลและข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคี เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) อย่างไรก็ตาม ผู้แทนไทยก็ไม่เคยรับข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับมาตรา 112 โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง

รายงานของรัฐบาลไทยที่นำเสนอต่อที่ประชุมในการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรอบที่ 3 ระบุว่าไทยพยายามมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เป็นไปตาม SDG เช่น ประชาธิปไตยและเสรีภาพ รวมถึงมีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของท้องถิ่นอย่างโคกหนองนา ในด้านที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพทางการเมือง รายงานของรัฐบาลไทยกล่าวว่าไทยให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ไทยเป็นประเทศที่พระมหากษัตริย์ได้รับความเคารพเป็นอย่างสูง โดยมาตรา 112 มีเป้าหมายเพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ใช่เพื่อขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ ส่วนในคดีมาตรา 112 ที่มีความกังวลจากหลายฝ่ายนั้นก็มีการดำเนินคดีถูกต้องตามกระบวนการอันสมควรแก่กฎหมาย (due process of law) และมีการใช้กลไกหลายๆ อย่างเพื่อกลั่นกรองคดีรวมถึงยังมีช่องทางในการขอพระราชทางอภัยโทษอีกด้วย

สำนักข่าว The MATTER รายงานเพิ่มเติมว่า ผู้แทนไทยกล่าวในเวทีการทบทวน UPR ว่ารัฐบาลไทยพยายามปกป้องสิทธิของประชาชนทุกคน และจะจัดการปัญหาโควิด-19 ทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศเข้มแข็ง ทั้งยังจะให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในประประเทศเป็นตัวเงิน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ไทยจะรักษาระบบประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ต่อไป เนื่องจากสามารถช่วยเหลือผู้เปราะบางทางสุขภาพของผู้ป่วยในไทย และพร้อมส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมแก่ผู้พิการให้ดำรงชีวิตในสังคมได้

ผู้แทนไทยกล่าวต่อไปอีกว่าไทยพยายามแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เพื่อช่วยเหลือเด็กในประเทศ และให้ความช่วยเหลือแก่เด็กยากจน เพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่มากขึ้น ทำให้เด็กสามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนออนไลน์ นอกจากนี้ ไทยยังแถลงว่าได้ส่งเสริมประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ 'ทั้งชายและหญิง' ไปจนถึงเยาวชน โดยรัฐสภาไทยพยายามเสนอและผ่านกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิตของคู่รักเพศเดียวกัน ไปจนถึงการคุ้มครองคนทุกชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์รายรายงว่ารัชดา ธนาดิเกร โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ผู้แทนของประเทศไทยจะประกาศ "คำมั่นโดยสมัครใจ" เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล  ซึ่งสรุปได้ 7 ข้อ ดังนี้

1. ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ
2. ศึกษาความเป็นไปได้ของการเข้าเป็นภาคีตราสารระหว่างประเทศเพิ่มเติม รวมทั้งอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับแรงงานทำงานบ้าน
3. จัดทำรายงานระยะกลางเพื่อรายงานความคืบหน้าของการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ได้รับ รวมทั้งหารือกับภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ในประเด็นตามข้อเสนอแนะที่ไทยไม่ได้ตอบรับ
4. เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศและพหุภาคีเพื่อการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับโรคระบาด
5. ร่วมมือในการขจัดความไร้รัฐและส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยเฉพาะในด้านการศึกษา การคุ้มครองทางสังคม การเข้าถึงบริการในการจดทะเบียนเกิดและทะเบียนราษฏรของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และการพิจารณาให้สัญชาติและสิทธิความเป็นพลเมือง
6. เร่งส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษาและการสร้างความรู้ตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับทุกภาคส่วน
7. พิจารณาแนวทางส่งเสริมมาตรการบังคับสำหรับภาคธุรกิจในการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน
8. ยืนยันการประกาศ standing invitation ต่อกลไกพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

นอกจากนี้ รัชดายังกล่าวว่าประเทศไทยจะตอบรับข้อเสนอแนะ ซึ่งประกอบด้วย 1) ข้อเสนอแนะที่เคยรับไว้แล้วในรอบที่ 1 (ปี 2554) และรอบที่ 2 (ปี 2559) 2) ข้อเสนอแนะที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและการดำเนินงานในปัจจุบัน เช่น การป้องกันและปราปปรามการทุจริต การแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 3) ข้อเสนอแนะที่เป็นค่านิยมเชิงหลักการที่ไทยยึดถือและปฏิบัติมาตลอด เช่น ความเท่าเทียมทางเพศการไม่เลือกปฏิบัติ 4) ข้อเสนอแนะที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างสิทธิมนุษยชนในประเทศ และ 5) ข้อเสนอแนะที่หน่วยงานมีความพร้อมที่จะรับดำเนินการ เช่น การเพิ่มมาตรการและการสนับสนุนการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การศึกษาและจัดอบรมเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Anti-SLAPP Law) / ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 161/1 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ การแถลงจากรัฐบาลทั้งหมดนี้ไม่มีการตอบรับหรือพูดถึง ม.112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่หลายประเทศตั้งคำถามในกระบวนการทบทวน UPR แต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net