Skip to main content
sharethis

สัมมนาสาธารณะนำเสนอโครงงานของ บบยส. รุ่น 1 กลุ่ม 3 หัวข้อ “ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนรุ่นใหม่ดูข่าวในพระราชสำนัก?” พบคนรุ่นใหม่บางส่วนไม่ต่อต้านสถาบันฯ แต่ไม่ดูข่าวในพระราชสำนัก เพราะรูปแบบทางการเกินไป มีช่องทางเดียว และไม่มีการตอบคำถามแคลงใจในประเด็นสังคมที่เกี่ยวกับสถาบัน แนะต้องปรับตัวให้ยืดหยุ่น ทันสมัย และเพิ่มช่องทาง ลดช่องว่างคนรุ่นใหม่

ข่าวในพระราชสำนัก เว็บไซต์สถานีโทรทัศน์ ไทยทีวีสีช่อง 3

16 พ.ย. 64 สำนักข่าว “ไทยพีบีเอส” ถ่ายทอดสดเมื่อ 30 ต.ค. 64 สัมมนาสาธารณะเพื่อนำเสนอผลงานโครงงานกลุ่ม “การสร้างรูปแบบการสื่อสารมวลชนในอนาคต” หลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บยสส.) รุ่นที่ 1

เมื่อเวลา 10.30-11.00 น. บยสส. รุ่น 1 กลุ่มที่ 3 นำเสนอโครงงานย่อย หัวข้อ “ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนรุ่นใหม่ดูข่าวในพระราชสำนัก?” สำหรับสมาชิกกลุ่ม 3 ที่มาร่วมนำเสนอโครงงาน ประกอบด้วย นายสมเกียรติ บุญศิริ บ.เนชันบรอดแคสติ้ง จำกัด สมฤดี ยี่ทอง จากไทยรัฐทีวี กลอยตา ณ ถลาง จาก บ.บางจาก คอร์เปอเรชัน จำกัด (มหาชน) แสงเดือน สุวรรณรัศมี มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร้อยเอกสำราญ อิบรอฮีม สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย และกอบกิจ ประดิษฐ์ผลพานิช จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 

คนรุ่นใหม่ไม่เสพสื่อโทรทัศน์ 

นายสมเกียรติ บุญศิริ จาก บ.เนชันฯ เป็นตัวแทนกลุ่ม กล่าวถึงเหตุผลที่มาที่ไปของโครงงานว่า คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่รู้ว่ามีข่าวพระราชสำนัก “แต่เขาไม่ดู และไม่คิดว่าเขาจะดู” นี่จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งต่างจากยุค Baby Boomer ที่ดูข่าวราชสำนัก เพราะต้องการรอดูละคร หรือดูรายการหลังข่าว แม้ว่าจะถูกบังคับให้ดู แต่คนเจนนี้ยังสามารถนั่งดูได้ 

สมเกียรติ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่คนรุ่นใหม่ไม่ดูข่าวราชสำนัก เพราะราชสำนักไม่เคยมีพื้นที่ในความทรงจำของคนรุ่นใหม่ เนื่องด้วยสาเหตุด้านเงื่อนเวลา อาทิ การบังคับดูเวลา 2 ทุ่มทุกวัน ไม่ใช่เวลาดูของเขา เนื้อหาและรูปแบบที่เสนอไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ เด็กรุ่นใหม่เขามีโลกอีกแบบหนึ่ง การเสพสื่ออีกแบบหนึ่ง ช่องทางการเสพอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะการเสพผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต 

หากลองดูที่จำนวนเวลาใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก ประชาชนในประเทศไทยอยู่อันดับ 9 โดยคนหนึ่งใช้เวลาในบนโลกอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยนาน 57 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนาน และสามารถเสพเนื้อหาและทุกอย่างที่เขาต้องการได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดด้านเวลา 

สมเกียรติ กล่าวว่า คนไทยดูโทรทัศน์วันธรรมดาประมาณ 5.6 ล้านคน และดูโทรทัศน์ช่วงสุดสัปดาห์ เสาร์-อาทิตย์ ประมาณ 5.9 ล้านคน โดยสมเกียรติ ประเมินด้วยว่า คนช่วงอายุ 15-29 ปี มีคนดูโทรทัศน์ประมาณ 600,000 คนเท่านั้น หมายความว่าเด็ก gen Z ไม่ได้สนใจทีวีเป็นหลัก และไม่มีหลักประกันว่าเด็กเมื่ออายุ 40-50 ปี เขาจะกลับมาชมทีวีไหม 

“ส่วนตัวผมประเมินว่าเขาจะไม่กลับมาดูทีวีอีกแล้ว เขาไปเกินไกลกว่าทีวีแล้ว” สมเกียรติ กล่าว

สมเกียรติ กล่าวว่า สรุปว่าการนำเสนอข่าวพระราชสำนักในรูปแบบเดิมที่ผ่านมา ไม่สอดคล้องต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการเสพสื่อของเด็กรุ่นใหม่ ถ้าต้องการให้เด็กรุ่นใหม่ดู เขาต้องมีจุดร่วมกับข่าวราชสำนัก  สอดรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังเปลี่ยนแปลง 

“เราต้องทำให้เห็นว่า ข่าวราชสำนักยังมีพื้นที่ อยู่ในกลุ่มคนดูทุกกลุ่มของประเทศไทยอยู่” สมเกียรติ ทิ้งท้าย

ความท้าทายการสื่อสารราชสำนักต่างประเทศ 

จากกรณีศึกษาของต่างประเทศ ค้นพบว่ารูปแบบการสื่อสารของสถาบันกษัตริย์ต่างประเทศมีการปรับตัวในหลายๆ รูปแบบด้วยกัน เช่น การให้ทุนการศึกษา การนำเสนอเรื่องราวผ่านสื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในวิชาประวัติศาสตร์ รวมถึงมีกิจกรรมที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงสถาบัน

“ขณะนี้สถาบันกษัตริย์ทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการสื่อสาร Social Media มากขึ้น และกลุ่มเยาวชนที่เป็นวัยรุ่นเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ ราชวงศ์ต้องการที่จะสื่อสารด้วย” 

ทั้งนี้ การสื่อสารของพระราชสำนักต่างประเทศเองก็พบจุดที่ท้าทายเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เช่น ในสวีเดน คนตระหนักเรื่องความเท่าเทียมกัน และกล้าวิจารณ์บทบาทสถาบันในแง่มุมต่างๆ มากขึ้น 

ที่อังกฤษ และญี่ปุ่น ความสนใจสถาบันกษัตริย์ทั้ง 2 ประเทศ ลดลงตามช่วงอายุ บางที่มีการปรับตัวเน้นการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น และบางแห่งอย่างเนเธอร์แลนด์ ประชาชนสามารถติดต่อสถาบันกษัตริย์ได้โดยตรง

ที่สเปนเจอความท้าทายจากคนรุ่นใหม่เช่นเดียวกัน เนื่องจากคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับค่านิยมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และความเท่าเทียม จึงมองสถาบันกษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์ และมองด้วยว่า การประกอบพระราชกรณียกิจไม่ได้เป็นการสร้างเอกภาพ แต่เป็นการแสดงสิทธิพิเศษของผู้มีอำนาจทางการเมือง 

ทัศนคติวัยรุ่นไทยต่อข่าวในพระราชสำนัก 

เพื่อให้เห็นมุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อข่าวพระราชสำนัก ทางกลุ่มที่ 3 จึงมีการทำเซอร์เวย์สอบถามความเห็นจากกลุ่มนักเรียนในช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3-6 จากทั้งโรงเรียนใน กทม. และต่างจังหวัด 

สำหรับ กทม. มีการทำโฟกัสกรุ๊ปพูดคุยกันโดยตรงกับเด็กๆ ขณะที่ทางต่างจังหวัดจะเป็นการโทรศัพท์สัมภาษณ์ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างยังน้อยเกินไป ยังสามารถไม่นำมาอ้างอิงแทนความคิดเห็นของวัยรุ่นทั้งหมดได้ 

 

จากการสัมภาษณ์ และพูดคุยกับนักเรียน พบว่า 80% ของนักเรียนทั้งหมดที่ให้สัมภาษณ์เก็บข้อมูลไม่ได้ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่ได้ดู เพราะเขาไม่ได้ดูโทรทัศน์โดยเฉพาะ กทม. เขาเน้นดูผ่านโซเชียลมีเดีย ขณะที่นักเรียนต่างจังหวัดได้ดูหรือไม่ ก็ไม่ได้ดู และถึงแม้จะได้ดู แต่ไม่สามารถจำรายละเอียดว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน และอย่างไร 

 

เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้นักเรียนไม่สนใจคือ มันไม่ใช่สิ่งที่เขาสนใจ หรือบางทีสังคมตั้งคำถามกับราชสำนัก เขาก็อยากทราบจากข่าวพระราชสำนักว่าคำตอบมันคืออะไร ซึ่งถ้าข่าวในพระราชสำนักสามารถตอบข้อสงสัยหรือข้อกังขาในสังคมนั้นได้ คนรุ่นใหม่จะอยากดูข่าวพระราชสำนักมากขึ้น 

นอกจากนี้ นักเรียนที่ให้ข้อมูลบอกด้วยว่า ทำไมถึงไม่ดู บางทีรูปแบบมันเชย แพลตฟอร์มมันทางการเกินไป อย่างผู้ประกาศก็มานั่งใส่ชุดไทย มันดูห่างเหิน และไม่น่าสนใจ

เมื่อถามว่า ถ้าช่องทางทั้งข่าว คอนเทนต์ และแพลตฟอร์มการรับชมมีหลากหลาย เช่น มีการพาดหัวแบบใหม่ และไม่จำกัดการเข้าถึงเป็นแบบเวลา 20.00 น.เวลาเดียว พบว่านักเรียน (95%) พร้อมที่จะดู

ทดลองปรับให้เยาวรุ่นสนใจ

เมื่อได้โจทย์ว่าทำยังไงให้วัยรุ่น-เยาวชนที่ไม่ติดตามข่าวพระราชสำนักให้มาดูมากขึ้น ทางกลุ่มจึงลองนำมาออกแบบดูว่า จะทำให้ข่าวในพระราชสำนักเข้าไปอยู่ใน feed เฟซบุ๊กของนักเรียน และเยาวชน ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งก็ได้มีการลองเอาไปทดลองให้เยาวชนดูหลายรอบด้วยกัน  

เบื้องต้น ได้ลองทำออกมา 3 แบบด้วยกัน โดยรูปแบบทำรูปพาดหัวให้ออกมาเป็นทางการ นำเสนอเรื่องจริงจัง จะได้ผลตอบรับเป็นยังไง ซึ่งผลตอบรับก็ไม่ดี ดูเป็นพวกปฏิบัติทางข้อมูล (IO) สื่อที่ตั้งใจเข้ามาอยู่ในฟีดของเขา เขายังไม่ค่อยชอบ 

เมื่อทราบว่าโจทย์ที่ทำให้รูปพาดหัวทางการมากเกินไป จะไม่ได้รับความนิยม เลยมีการปรับใช้สีที่ลดความเป็นทางการ และเวลาเข้ามาอยู่ในฟีด ให้มันสะดุดตา พาดหัวกระชับ และทำให้เขาอยากอ่านต่อ ทำให้ผลตอบรับดีขึ้น แต่ได้รับคำวิจารณ์เรื่องโลโกของข่าวแทน เนื่องจากนักเรียนมองว่า เหมือนเป็นหน่วยงานรัฐทำข่าว

จากนั้น พอปรับตัวโลโกแล้ว พบว่าจากการลองเอาไปให้กลุ่มโฟกัสกรุ๊ปลองดู หลายคนเริ่มเปิดรับ และอยากลองเข้ามาอ่านดูมากขึ้น และพบด้วยว่า “ข่าวของเจ้าคุณพระ” ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นพิเศษ

รูปแบบดราฟต์สุดท้ายที่เยาวชนสนใจมากที่สุด
 

มีการเพิ่มข่าวที่เกี่ยวข้องกับพระราชสำนักเข้ามามากขึ้น เช่น หลายคนอยากทราบว่าสัตว์ที่สวนสัตว์ดุสิตไปอยู่ไหนแล้ว และสนามม้านางเลิ้งเป็นยังไงบ้าง ก็มีคนอยากจะตามเข้าไป แม้ไม่ใช่เรื่องของข่าวพระราชสำนักในแบบเดิมคือการนำเสนอเรื่องพระราชกรณียกิจ แต่เยาวชน และวัยรุ่นมีความอยากดูมากขึ้น เมื่อมีความเป็นข่าวที่เขามีจุดร่วมมากขึ้น

 

นอกจากนี้ มีการลองทำเพจในโซเชียลมีเดียขึ้นมาคร่าวๆ และลองไปเทสต์ในอินตราแกรม เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ มีการนำรูปถ่ายของคนในราชสำนักมาทำเป็นคอนเทนต์ ผลิตซ้ำ บางทีประชาชนอยากจะเห็น ทางเพจก็เอาเผยแพร่ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบ เด็กอยากจะรู้ 

สรุป 3 เหตุผลที่คนรุ่นใหม่ไม่ดู

ร.อ. สำราญ กล่าวว่า ประเด็นแรกคือว่า คนรุ่นใหม่ไม่ติดตามข่าวสารผ่านหน้าจอทีวี หรือดูทีวีจริง ก็น้อยมาก ดังนั้น การเสนอข่าวพระราชสำนักช่วง 20.00 น. คนรุ่นใหม่ไม่ดู ไม่รู้ และไม่เข้าใจ ไม่ลึกซึ้งถึงความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ ข่าวพระราชสำนักขาดความสมดุลในเรื่องของข้อมูล

ประการที่ 2 คนรุ่นใหม่ติดตามข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านมือถือ เพราะมีความยืดหยุ่นกว่า อยากดูเมื่อไรก็หยิบมาดู หยิบมาฟัง 

นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ต้องการทราบเรื่องที่ละเอียดอ่อนหลายเรื่อง ต้องหยิบจับคนมาให้สัมภาษณ์ ต้องให้ข้อมูลกับคนรุ่นใหม่ทราบบ้าง หากต้องการแก้ปัญหาในระยะยาว

“คนรุ่นใหม่เวลาที่เขาสนใจเรื่องที่เขาอยากรู้ เขาจะอยากรู้แบบติดตามตรวจสอบแบบลึกซึ้ง จึงต้องการการสื่อสาร 2 ทาง เรื่องที่เขาอยากจะได้คำตอบ เขาก็ต้องการคนมาตอบเขา เรื่องไหนที่เขาต้องการรู้อย่างลึกซึ้ง ต้องให้คนเข้ามาให้ข้อมูลเขา ฉะนั้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่เป็นพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่” สำราญ กล่าว 

สุดท้ายคือข้อสรุปว่า คนรุ่นใหม่ไม่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ และจากการทดลองทำสื่อข่าวพระราชสำนักที่แหวกขนบเดิม โดยใช้ประเด็นที่คนรุ่นใหม่ชอบ นำเสนอแบบที่คนรุ่นใหม่สนใจ เปลี่ยนโทนภาษา ใส่จริตคนรุ่นใหม่ และปรับโทนสีแบบที่คนรุ่นใหม่สะดุดตา ทางกลุ่มพบว่ามีคนรุ่นใหม่มาสนใจข่าวพระราชสำนักเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนได้ว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้ปฏิเสธ ‘การรับรู้’ ข่าวในพระราชสำนัก เพียงแต่ต้องมีการปรับรูปแบบเพื่อให้เป็นสไตล์คนรุ่นใหม่มากขึ้น

แนะ “ต้องยืดหยุ่น ปรับรูปแบบ เพิ่มช่องทาง”

จากการทดลอง ทดสอบ หาข้อมูล และลองทำเป็นช่อง Royal Family ออกมาแล้ว คนรุ่นใหม่ไม่ได้รังเกียจ หรือต่อต้านสถาบันกษัตริย์ แต่เขาอยากดูสิ่งที่เขาสนใจในเวลาที่เขาชอบ ผ่านช่องทางที่เขาเลือก ดังนั้น ทีมจึงมีข้อเสนอแนะด้วยกัน 3 ข้อ 

หนึ่ง ควรปรับปรุงเงื่อนไข และข้อกำหนดของการนำเสนอข่าว ในพระราชสำนัก ให้เข้ากับการนำเสนอสื่อที่เปลี่ยนไป ไม่จำเป็นต้องมานั่งประกาศข่าวด้วยชุดไทยจิตรลดาไหม ไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิมทุกวันไหม ปรับไปตามโลกที่เปลี่ยนไป 

“ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ คนรุ่นเราที่เดินทางไปไกลแล้ว ก็ยังมีความเบื่อบ้าง เพราะฉะนั้น ความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องที่ไม่ควร” 

เรื่องของเวลาออกอากาศ ก็ควรผ่อนปรนให้ยืดหยุ่นมากกว่านี้ ถ้าดูเวลาไหนที่ดูได้น่าจะดีกว่า

ทดลองสื่อสารรูปแบบใหม่ ๆ ปรับช่องว่างกับคนรุ่นใหม่ให้เล็กลง ให้มีความรู้สึกให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น มีช่องทางสื่อสารได้มากกว่าสื่อสารทางเดียว ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นว่ามีเพจขึ้นมา มีสื่อยูทูบขึ้นมา แต่ไม่ได้มาจากช่องทางสถาบัน มาจากแฟนคลับคนที่รัก คนที่ชอบ อยากจะช่วยเผยแพร่ ถ้ามีช่องทางจากสถาบันกษัตริย์เลยน่าจะดี 

ดังนั้น จึงอยากเสนอแนะว่า ต้องยืดหยุ่น ปรับรูปแบบ เพิ่มช่องทาง และลดช่องว่าง สร้างความโปร่งใส และข่าวราชสำนักไม่จำเป็นต้องอยู่ในทีวี 

ทั้งนี้ การนำเสนอหัวข้อ 'ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนรุ่นใหม่ดูข่าวในพระราชสำนัก?' เป็นส่วนหนึ่งของสัมมนาสาธารณะของ บบยส. รุ่น 1 สถาบันอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อนำเสนอผลงานโครงงานกลุ่มของผู้เข้าอบรมหลักสูตรในการแลกเปลี่ยน และสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 64 เวลา 09.30-16.00 น.

ข่าวพระราชสำนัก รายการคู่ไทยกว่า 44 ปี

 

ข่าวในพระราชสำนักเป็นรายการที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์

ภายใต้รัฐบาลขวาจัดของธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้แต่งตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 6 ต.ค.2519 ไม่กี่วัน แม้อายุของรัฐบาลธานินทร์จะไม่ยาวนัก แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้และยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ทุกวัน

14 มี.ค.2520 คณะกรรมการบริหารวิทยุและโทรทัศน์ (กบว.) ในสายงานกรมประชาสัมพันธ์ ได้ออกหนังสือเวียนให้สถานีโทรทัศน์ทุกสถานีเสนอข่าวพร้อมกันในเวลา 20.00 น. ของทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2520 เป็นต้นไป

1 เม.ย. 2520 คือวันที่ข่าวในพระราชสำนักออกอากาศตอนแรกและยังคงออกอากาศทุกวันจนถึงปัจจุบัน

27 ก.พ. 2556 ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2556 กำหนดไว้ว่า ต้องจัดให้ออกอากาศข่าวในพระราชสำนักทุกวัน ระหว่างเวลา 19.00 - 20.30 น. ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นให้ออกอากาศระหว่างเวลา 18.00 - 22.00 ได้ ทั้งนี้ตามที่กรมราชเลขานุการในพระองค์ สำนักพระราชวังกำหนด หรือตามหลักเกณฑ์อื่น

สามารถดูรายการข่าวในพระราชสำนักได้ที่:

โทรทัศน์: ช่อง3, ช่อง5, ช่อง7, ช่อง9, NBT, Thai PBS

วิทยุ: สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย, สถานีวิทยุ อสมท, สถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพบก, สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต

เว็บไซต์: www.royaloffice.th

#รู้หรือไม่

*ข่าวพระราชสำนักแต่ละตอนจะมีความยาวไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับพระราชกรณียกิจในแต่ละวันของพระบรมวงศานุวงศ์ และวิธีการนำเสนอข่าวของแต่ละช่อง

*หากนับจำนวนตอนตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2520-12 พ.ย.2564 จะมีจำนวนราว 16,000 ตอน

ที่มาข้อมูล:

1. สุวรรณา ปิยะบพิตร. (2549) บทบาทของสำนักราชเลขาธิการในกระบวนการข่าวในพระราชสำนัก. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์/กรุงเทพฯ

2. ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2556

 

หมายเหตุ เวลา 17.04 น. มีการปรับภาพปกมาใช้ของช่อง 3 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net