เสวนาชี้ 'ประยุทธ์' สร้างระบอบอำนาจนิยมฟาสซิสต์ใหม่

เสวนา 'การเมืองอำนาจนิยม เศรษฐกิจทุนผูกขาดกินรวบ กับชะตากรรมประชาชนไทย' ชี้ 'ประยุทธ์' สร้างระบอบอำนาจนิยมฟาสซิสต์ใหม่ สร้างเศรษฐกิจทุนผูกขาดกินรวบประเทศไทย จี้เจ้าสัวหยุดลงทุนธุรกิจการเมือง ตั้งกลุ่มภราดรภาพประชาชน

12 ธ.ค. 2564 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวว่า ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน กลุ่มภราดรภาพร่วมกับ ครป. คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย กลุ่มยังเติร์ก คนรุ่นใหม่ทวงคืนอนาคต และสถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social Democracy Think Tank) จัดอภิปรายสาธารณะเรื่อง "การเมืองอำนาจนิยม เศรษฐกิจทุนผูกขาดกินรวบ กับชะตากรรมประชาชนไทย" โดยมี นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์-การเมือง นางสาวสิริกัญญา ตันสกุล ประธานกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ส.ส.พรรคก้าวไกล นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น และนายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมอภิปราย

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์-การเมือง กล่าวว่าระบอบอำนาจนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกเรียกว่าระบอบประยุทธ์นั้น นำไปสู่ลักษณะที่เป็นขวาจัดมากขึ้นเรื่อยๆ ใกล้เคียงระบอบฟาสซิสต์ในอดีต ซึ่งน่ากังวลว่าผลพวงจากระบอบอำนาจนิยมขวาจัดจะทำให้สังคมไทยเป็นอย่างไร

สฤณีกล่าวว่า ระบอบประยุทธ์ ประกอบไปด้วย ขุนศึก ศักดินา พ่อค้า และข้าราชการ ผนึกกำลังกัน สร้างระบอบอุปถัมภ์เข้มข้นเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน และระบอบประยุทธ์นั้นเริ่มใกล้เคียงกับระบอบฟาสซิสต์มากขึ้น และนักการเมืองเริ่มเข้ามาสู่ระบบอำนาจนิยมมากขึ้นด้วยเช่นกัน

บันได 5 ขั้น ของระบอบฟาสซิสต์ทั่วโลก คือ 1.ประชาชนผิดหวังนักการเมืองและระบอบประชาธิปไตย 2.ผู้นำที่เชื่อมั่นในความคิดขวาจัดจึงเห็นโอกาส เสนอแนวทางวีรบุรุษขี่ม้าขาว เข้ามากอบกู้ศรัทธา 3.หลังจากเข้าสู่อำนาจรัฐ รัฐบาลขวาจัดก็ใช้อำนาจนิยมบริหาร จริงๆ แล้วฝ่ายอนุรักษ์นิยมทั่วไปน่าจะเห็นปัญหานี้และสกัดกั้นความคิดขวาจัด แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมธรรมดาก็หวาดกลัวฝ่ายซ้ายมากเกินไป ก็เลยเปิดช่องทางให้ ในเมืองไทยก็อาจจะกลัวพวกล้มเจ้า เป็นต้น 4.หลังจากนั้นฝ่ายขวาจัดก็ควบคุมกลไกของรัฐได้ ใช้ความคิดของเขาชี้นำสังคม มีอำนาจนำเหนือสถาบันของรัฐ ทหาร ตำรวจ และจะจับมือชนชั้นนำ กลุ่มทุนใหญ่ เพื่อกำจัดพรรคการเมืองตรงข้าม โดยอ้างชาติต้องมาก่อน ต้องขจัดศัตรูของชาติ สร้างลัทธิชาตินิยมสุดขั้ว และขั้นที่ 5. กลายเป็นรัฐที่นิยมความรุนแรง เกิดการคลั่งชาติ สิ่งที่ตามมาคือ ผู้ตามที่นิยมรัฐนั้นก็มีลักษณะหัวรุนแรงไปด้วย 

สำหรับเมืองไทยก็อันตรายมาก กำลังจะกลายเป็นเหมือนขั้นที่ 5 แต่ประเทศไทยเป็นสังคมเปิด เศรษฐกิจเราพึ่งพาต่างชาติ รัฐและชนชั้นนำก็จะแคร์ภาพลักษณ์ของตนต่อชาวโลก ดังนั้นเราจึงสนใจเสียงต่างชาติด้วย ในสังคมแบบนี้ รัฐบาลจึงต้องประกาศว่าเป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อแท้เป็นเผด็จการ จึงทำให้ขัดแย้งกันอยู่ในตัว

"การเมืองแบบอำนาจนิยมและความคิดขวาจัดนี้ ตั้งอยู่บนความเกลียด ความกลัว และความสิ้นหวัง จึงต้องตั้งธงว่ามีกลุ่มไหนเป็นศัตรูของชาติ เพื่อพิทักษ์รักษาระบอบนี้ไว้ให้ได้ และทำปฏิบัติการข่าวสาร โฆษณาชวนเชื่อ จึงไม่ใช่อุดมการณ์ทางการเมือง แต่เป็นเพียงความเกลียดความกลัว ซึ่งไม่มีทางที่จะนำไปสู่ความปรองดอง ไม่มีทางที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่มีทางที่ระบอบขวาจัดจะนำไปสู่เส้นทางนี้ เพราะคนละเส้นทางกัน" สฤณีกล่าว

นอกจากนี้ กลุ่มทุนใหญ่ก็เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา เพราะขัดกับการกระจายอำนาจ การกระจายประโยชน์ กรณีจะนะ คือตัวอย่างล่าสุดที่ชัดเจนว่า รัฐบาลไม่ได้สนใจการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่สนใจความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เฉพาะกลุ่มตนเอง

ระบอบอำนาจนิยม ถ้ายังปกครองแบบนี้ต่อไป ลักษณะความขัดแย้งจะรุนแรงมากขึ้น การปรองดองก็ลืมไปได้เลย พวกเขาไม่ได้มีความสนใจกระจายประโยชน์ ผลประโยชน์ในการพัฒนาจึงกระจุกตัว การพัฒนาที่ยั่งยืนยิ่งห่างไกล และเกิดวัฒนธรรมไร้ความรับผิดขึ้น ระบบที่ผูกขาดอำนาจไว้กับตนเองแบบนี้ ไม่เปิดโอกาสให้เกิดการตรวจสอบ สวนทางกับการรับผิด นี่จึงเป็นระบอบฟาสซิสต์แบบไทยๆ ที่พล.อ.ประยุทธ์ สร้างขึ้น ผลพวงไม่ได้นำไปสู่ความเจริญ

ทางออกคือ ประชาชนต้องผนึกกำลังกัน ประสานงานกันแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง กางปัญหาที่อยู่ตรงหน้าร่วมกัน ต่อสู้กับปฏิบัติการข่าวสารที่ใช้ภาษีของประชาชน ปีหน้าจึงเป็นความท้าทายของสังคมที่จะต่อสู้ระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยม และเศรษฐกิจผูกขาดแบบนี้ รวมถึงการฉ้อฉลเชิงอำนาจและกระบวนการยุติธรรมที่มากขึ้น วันนี้ถึงจุดที่ท้าทายอย่างยิ่ง ที่ทุกสถาบันถูกตั้งคำถาม และในความท้าทายนั้นยังมีความหวังอยู่ เราต้องช่วยกันอธิบายกับคนที่ยังชื่นชอบระบอบนี้อยู่

นางสาวสิริกัญญา ตันสกุล  ประธานกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจแยกไม่ขาดจากการเมือง การเมืองที่เป็นอำนาจนิยมถูกฟูมฟักจากกลุ่มทุนอย่างแน่นแฟ้น 

หากดูตัวเลขมหาเศรษฐีในประเทศไทยติดอันดับเศรษฐีโลกหลายคน ไม่ผิดถ้าเป็นความร่ำรวยจากความสามารถ แต่หลายคนพบว่า การเป็นมหาเศรษฐีในประเทศขนาดเล็กนี้ได้ มีรูปแบบคล้ายกันคือ พวกเขาไม่ต้องแข่งขันกับต่างชาติ และมักจะเป็นสาขาทางเศรษฐกิจที่ตนเองมีอำนาจเหนือตลาด และมักจะเป็นกิจการที่ได้สัมปทานจากรัฐ เช่น พลังงาน เป็นต้น

ซึ่งเกิดขึ้นเพราะประเทศนี้ไม่สามารถสร้างการแข่งขันอย่างเป็นธรรมได้ มีผู้แข่งขันน้อยรายและรัฐสนับสนุนให้เติบโตเฉพาะกลุ่มอย่างต่อเนื่องด้วย แต่ไม่ได้พัฒนาจากการแข่งขันอย่างเสรี เหมือนพรรคการเมืองที่มีการยุบพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่การแข่งขันด้วยนโยบายของพรรคต่อประชาชน แต่สกัดกั้นกันด้วยการยุบพรรค เป็นต้น

สิริกัญญา กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจควรสามารถสร้างตัวเลือกให้แก่ประชาชนได้ แต่พอพูดถึงทุนผูกขาด ไม่ใช่มีแค่เจ้าเดียวเสมอไปตามนิยามของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าที่ทำให้สังคมสับสน แต่เกิดปัญหาทุนผูกขาดขึ้นเพราะองค์กรต่างๆ ที่ต้องรับผิดชอบไม่ทำหน้าที่ มีการผูกขาดโดยสัมปทาน และระเบียบของรัฐ เช่น ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถูกผูกขาดด้วยกฎหมาย เป็นต้น ตั้งแต่ปีแรกๆ พรรคก้าวไกลสู้เรื่องนี้ ไม่ควรควบคุมการผลิต และส่งเสริมรายเล็กรายน้อยให้เติบโตในตลาด ตอนนั้นกรมสรรพสามิตร ก็เคยรับปาก แต่ผ่านมา 3 ปีผ่านไปก็ยังไม่ได้แก้ไขกฎหมาย

"สำหรับเรื่องการควบรวมทรูกับดีแทค ทำให้เกิดทุนผูกขาดจากการย่อหย่อนหละหลวมของภาครัฐโดยตรง ต่างประเทศไม่มีทางให้มีการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม จาก 3 รายให้เหลือเพียง 2 ราย เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นที่กรีซ แต่ถูกระงับไว้ได้ทัน แต่ในไทย ฝ่ายรัฐเสียเองที่ รัฐมนตรีดีอีเอสบอกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของธุรกิจ ทั้งที่ตนเองเป็นรัฐบาล สะท้อนความไม่รับผิดชอบของรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีเลย ทั้งที่เป็นถึงผู้บริหารกระทรวง การแสดงความคิดเห็นล้วนส่งผลเป็นแนวนโยบายไปให้เอกชน" สิริกัญญากล่าว

องค์กรอิสระ กสทช. คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ก็มีลักษณะโบ้ยกันไปมา อ้างกฎหมายว่าตนเองไม่ได้รับผิดชอบ ฝ่ายกฎหมายของ กสทช. บอกว่าไม่จำเป็นต้องขออนุญาต สังคมเลยสงสัยว่า ตกลงเป็นฝ่ายกฎหมายของ กสทช. หรือของบริษัทเอกชนกันแน่ แยกไม่ออกเลย แค้แรงกดดันประชาชนก็ทำให้ กสทช. โอนอ่อน จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเฉพาะกิจขึ้นมา

ตนเห็นว่าการควบรวบภาคธุรกิจ จำเป็นต้องแชร์ข้อมูลทางการค้าและข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้ากัน คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าควรตรวจสอบเรื่องนี้ได้ทันที แต่กลายเป็นว่าไม่ขยับอย่างไรเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งค่าบริการจะสูงขึ้นในระยะยาว จากการควบรวมกันแน่นอน แต่ภาครัฐกลับมาอ้างแทนว่าจะมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น ค่าบริการจะลดลง แต่ไม่เคยเกิดขึ้นในโลกนี้ และเคยเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศที่ควบรวมจาก 4 เจ้าเป็น 3 เจ้า ค่าบริการเพิ่มขึ้น 29% เมืองไทยจึงค่าบริการจะสูงขึ้นแน่นอน

ต้องขอร้องไปยังองค์กรอิสระต่างๆ ให้ทำหน้าที่ของตนเอง อิสระจากการตรวจสอบและการยึดโยงกับประชาชนไม่ได้ ตัวอย่างที่ผ่านมาก็เห็นกันอยู่ การประมูล 5 จี ที่เกิดขึ้นราคาต่ำเกินจริง ก่อนหน้านั้นประมูล 4 จีเสร็จ หลังเลือกตั้งไม่นาน ธุรกิจโทรคมนาคมล็อบบี้ให้รัฐมีมาตรา 44 ยืดหนี้ออกไป เป็นไปในแนวทางที่เอื้อให้กับบริษัทโทรคมนาคมมาอย่างต่อเนื่อง 

ปัญหาหลักคือ หากย้อนไปดูตามไทม์ไลน์ องค์กรที่กำกับดูแลไม่ทำหน้าที่ปกป้องผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อภาครัฐ รัฐบาลและองค์กรอิสระ ลดน้อยลงทุกวัน จนประชาชนสิ้นหวัง ในฐานะภาคการเมืองไม่อยากให้ประชาชนสิ้นหวัง อยากเรียกร้องให้ประชาชนตื่นตัวเรียกร้องสิทธิร่วมกับภาคการเมืองต่อไป

และเห็นด้วยว่า รัฐที่มีหน้าตาอำนาจนิยมแบบนี้ กำลังจะกลายเป็นฟาสซิสต์แบบไทยๆ และการผูกขาดขยายแผ่ไปทุกกิ่งก้านสาขามากขึ้น ชนชั้นนำในประเทศยังไม่ตระหนักในเรื่องนี้ ว่าทุนผูกขาดกับการเมืองมักเอื้อกัน ใช้เงินทุนตอบแทนประโยชน์หลังเลือกตั้ง สันนิษฐานได้ทันทีเวลามีโครงการต่างๆ เกิดขึ้น ดังนั้น จะต้องเบรคความสัมพันธ์เหล่านี้ เราต้องการระบบการเลือกตั้งและสังคมที่เป็นธรรม โดยให้ทุกกระบวนการมาอยู่บนโต๊ะมากขึ้น ไม่ใช่อยู่ใต้โต๊ะ ในหลายประเทศมีการลงทะเบียนล็อบบี้ยิสต์อย่างเป็นระบบ จะต้องมีการเปิดเผยต่อสาธารณชน 

"ในประเทศไทยเข้าใจว่ากลุ่มทุนคุยกันโดยตรง แต่ต้องมีการบันทึกไว้เพื่อตรวจสอบได้ และยังจำเป็นต้องสร้างแรงกดดันทุกพรรคการเมืองที่มีอยู่ในประเทศไทย เพื่อจัดการปัญหาธุรกิจการเมือง บีบคอให้ออกมาพูดเรื่องนี้ ปัจจุบันแรงกดดันมาอยู่ฝ่ายค้านแทนที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ เพราะการเมืองนับวันยิ่งรวมศูนย์ เป็นอำนาจนิยม แต่ประชาชนตื่นรู้มากขึ้น" สิริกัญญากล่าว

นายวีระ สมความคิด  เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น และแกนนำไทยไม่ทน สามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย กล่าวว่า เพราะระบอบอำนาจนิยม จึงไม่สามารถมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงได้สักที ปล่อยให้กองทัพอ้างเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นในการยึดอำนาจ แต่รัฐบาลเผด็จการทหารตรวจสอบได้ลำบากและยากมากกว่า 

วีระกล่าวว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งมีพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้มากกว่า และทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร มีนายทุนร่วมลงทุนให้ มีการจ่ายเงิน มีการลงทุนเป็นพันล้านบาท เพราะไม่มีใครเสี่ยงตายรัฐประหารเพื่อเป็นกบฎ นี่คือที่มาในการตอบแทนนายทุนที่ลงทุนรัฐประหาร

เราจึงพบทุกครั้งหลังการรัฐประหารหลังมีอำนาจรัฐ จะมีการตอบแทนทันทีด้วยโครงการต่างๆ มีการต่อสัญญาสัมปทานต่างๆ ให้นายทุนรายเดิม เพื่อไม่ให้มีการประมูล แม้สัญญาเดิมยังไม่หมด เช่น ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น

นายวีระยังกล่าวว่า นายทุนของไทยไม่ได้เก่งอะไรมาก แต่ใหญ่โตมโหฬารไม่ใช่เพราะค้าขายเก่ง แต่เพราะมีคอนเนคชั่น เข้าถึงผู้มีอำนาจ นายทุนพวกนี้สนับสนุนทุกรัฐบาลที่ได้บริหารประเทศที่ผ่านมา พวกนี้จึงแสวงหาอำนาจโดยปริยาย

พรรคการเมืองใหม่ๆ เขาจึงจะยุบพรรคการเมือง เขาไม่ต้องการให้มีประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะโอกาสของพวกเขาจะลดน้อยลง นายทุนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาหลายหมื่นล้านบาท ก็เข้าหาผู้มีอำนาจทั้งนั้น ดังที่เห็นกันอยู่ ไม่ได้แข่งขันกันอย่างจริงๆ ส่วนใหญ่ได้สัมปทาน มีการวางแผนกัน 

ล่าสุดจะให้หัวลำโพงบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ มีนายทุนระดับประเทศไปจองไว้แล้ว แล้วรายเล็กจะแข่งได้อย่างไร ดังนั้น พวกนี้จึงสนับสนุนระบอบอำนาจนิยมสุดชีวิต ทุ่มทุนเต็มที่ ตำแหน่งอธิบดี รัฐมนตรี ก็มีนายทุนลงทุนให้ ในการซื้อเก้าอี้ต่างๆ อธิบดีบางแห่งต้องซื้อตำแหน่งถึง 900 ล้านบาท จึงต้องมีนายทุนลงทุนให้ เพราะเขาลงทุนเองไม่ได้

พวกนี้ไปเจอกันในหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงที่มีมากมายในหน่วยงานอิสระในประเทศไทย ไปสร้างคอนเน็คชั่นกัน 

ไม่กี่วันมานี้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็กล่าวเฟคนิส์ในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล พูดว่า คอร์รัปชั่นก่อให้เกิดความเสียหายของประเทศอย่างมาก รัฐบาลจะต่อต้านเรื่องนี้เพื่อสร้างความโปร่งใสต่างๆ นานา แต่การกระทำกลับตรงกันข้าม ผมเชื่อว่ามีคนเขียนบทให้ เพราะคงพูดเองแบบนี้ไม่ได้ เพราะสิ่งที่พูดตรงข้ามกับการปฏิบัติทั้งหมด

"นอกจากนั้นประเทศนี้ยังมีอำนาจตั๋วช้างด้วย นอกจากอำนาจเงิน ประเทศนี้จึงสิ้นหวัง จึงต้องหวังคนรุ่นใหม่ที่อยากเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่ามีการเปลี่ยนแปลงแน่ วันนั้นประเทศจึงจะมีความหวัง ผู้มีอำนาจตอนนี้มีอำนาจล้นในการควบคุมประเทศ ขณะที่ประชาชนไม่มีพลังทางสังคมเข็มแข็งพอ แต่อนาคตถ้าประชาชนตื่นรู้และเข้าใจ จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง" นายวีระกล่าว

เพราะเขาไม่ต้องการระบอบการเมือง เศรษฐกิจ สังคมแบบนี้ มีการผูกขาดประเทศ ทั้งส่วนกลาง และตามจังหวัดต่างๆ ก็มีบ้านใหญ่ ถ้าประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและประชาธิปไตยได้เร็วขึ้นต้องช่วยกัน สื่อมวลชนเป็นส่วนสำคัญ สื่อมวลชนส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐและทุน มีสื่อมวลชนไม่กี่สื่อที่กล้าตรวจสอบอำนาจรัฐ  นายวีระกล่าว

นายเมธา มาสขาว  เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า วันนี้เกิดวิกฤตการเมืองแบบอำนาจนิยม และเศรษฐกิจประเทศไทยถูกทุนผูกขาดเจ้าสัวกินรวบ แล้วชะตากรรมประชาชนไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อประชาชนถูกแบ่งแยกแล้วปกครอง ถูกคุกคามโดยกฎหมายและราชทัณฑ์ พวกเราจึงมารวมตัวกันเพื่อสามัคคีประชาชนทุกกลุ่ม รวมพลังทุกพรรคการเมืองที่รักประชาธิปไตย ร่วมต่อต้านรัฐบาลอำนาจนิยมสร้างสังคมประชาธิปไตยและภราดรภาพร่วมกัน

ตนคิดว่าประชาชนไทยไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองแบบพม่าซึ่งครบ 3 เดือนแล้ว แต่ทำไมรัฐบาลของ 3 นายพลอาวุโสของไทยถึงมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลของพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย อยู่ ถึงกับส่งเสบียงไปให้เขารบกับประชาชน ความคล้ายกันนี้สร้างความกังวลให้กับประเทศไทยมากในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นภัยคุกคามกับความมั่นคง

รัฐบาลชุดนี้มีการคอร์รัปชั่นทางนโยบายและกลายเป็นพวกเสนาพาณิชย์มากขึ้น แต่ละคนน่าจะมีเงินคนละหลายหมื่นล้านบาทแล้ว องค์กรประกอบค้ำบัลลังค์ของระบอบ 3 ป. คือ เจ้าสัว กองทัพ ตำรวจ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ สร้างระบอบอำนาจนิยมที่ไม่เห็นหัวประชาชนทางการเมือง ผมไม่เข้าใจว่าชนชั้นนำในประเทศไทยทนกับการเมืองแบบนี้ได้อย่างไรหรือได้ประโยชน์ร่วมกัน อย่าลืมบทเรียนของ 3 ทรราชย์ และ รสช. สมัยพล.อ.สุจินดา ที่ยึดกุมการปกครองและสร้างความขัดแย้งขึ้น

เมธา ยังกล่าวว่า วันนี้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญขึ้นจากกับดักที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เขียนขึ้น ไม่ต่างจากปี 2534 และจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมอย่างรุนแรงไม่ต่างจากเหตุการณ์พฤษภา 35 เนื่องจากรัฐบาลแบ่งแยกอำนาจประชาชนออกจากรัฐ สิบทอดอำนาจระบอบคณาธิปไตยที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นศูนย์กลาง และมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ร่วมเป็นจำเลยของประชาชน หล่มรัฐธรรมนูญในฐานะกลไกการปกครองฉบับยึดอำนาจประชาชน จึงทำให้เกิดวิกฤตประชาธิปไตย บ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐในการจัดวางการอยู่ร่วมกันของประชาชน และการจัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ล้มเหลว กลไกการตรวจสอบไม่มี องค์กรอิสระถูกยึดควบคุมแทบทั้งหมด ระบอบอำนาจนิยมมีศูนย์กลางที่มูลนิธิป่ารอยต่อและตึกสันติไมตรี แทนที่จะกระจายอำนาจไปสู่จังหวัดและประชาชน

"เศรษฐกิจทุนผูกขาดกินรวบ เกิดจากการสนับสนุนทางนโยบายให้มีการผูกขาดของ 5 เจ้าสัว พวกเขาจึงร่ำรวยขึ้นมหาศาลในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา โดยไม่สนความขัดแย้งทางสังคม มีการเอื้อประโยชน์แบบไม่ละอาย ทั้งสัญญาสัมปทาน โครงการร่วมทุน และการควบรวมกิจการ   แต่สำหรับประชาชนกลับให้ระบบเศรษฐกิจแบบแจกทาน กู้เงินมามหาศาลแต่แบ่งให้ประชาชนจำนวนน้อยนิด เพื่อให้มีส่วนรับผิดความฉ้อฉล ระบบอภิสิทธิ์ชนของรัฐบาล 3 นายพล จึงแบ่งแยกความมั่งคั่งระหว่างทุนใหญ่และประชาชน" เมธา กล่าว

เรามีรัฐบาลที่ขาดคุณธรรมจริยธรรมสูงสุดในประวัติศาสตร์ ด่าทอไม่สะเทือน ทำลายทุกคุณค่าทางสังคม ยึดกุมความมั่นคงของตน แบ่งแยกความมั่นคั่ง โดยไม่สนใจบทเรียนเดือนตุลาคม เดือนพฤษภา 35 หรือบทเรียนจากต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และเนปาล

เมธา กล่าวว่า การทวงคืนอนาคตของประชาชนไทยในปีหน้าจะเข้มข้นขึ้น และมีระเบิดเวลาอีกหลายเรื่อง รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องน่าจะตะหนักว่า ไม่มีความลับในโลกดิจิตอล ไม่สามารถปิดบังความฉ้อฉลได้ ยกตัวอย่าง เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ยังออกมาเปิดเผยโครงการต่าง ๆ เช่น การดักเมทาดาทา (metadata) โทรศัพท์ของสหรัฐและยุโรป และโครงการสอดส่องดูแลอินเทอร์เน็ต อย่าง ปริซึม และกรณีข้อมูลลับถูกเปิดเผยในวิกิลีกส์ โดย จูเลียน อาสซานจ์ เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลทำอะไรไว้อาจจะถูกเช็คบิลหลังหมดอำนาจ หากไม่รีบแก้ไข

"ภาคประชาชนกำลังรวมตัวกันเป็นกลุ่มภราดรภาพ สามัคคีประชาชนทุกกลุ่มที่ถูกแบ่งแยกแล้วปกครอง และรวมพลังทุกพรรคการเมืองที่ต่อต้านระบอบอำนาจนิยม เพื่อร่วมสรรค์สร้างสังคมประชาธิปไตยและภราดรภาพร่วมกัน เพื่อต่อสู่ทั้งในสภา และนอกสภา โดยสุดท้ายหากกระบวนการยุติธรรมในประเทศพึ่งไม่ได้ ก็ต้องกระบวนการระหว่างประเทศ" เมธา กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท