รองผู้ว่าฯ หนองบัวลำภูรับข้อเสนอกลุ่มอนุรักษ์ฯ ป้องกันบริษัทเหมืองหินคุกคาม

ตัวแทนกลุ่มค้านเหมืองหินประชุมร่วมหน่วยราชการหนองบัวลำภู สนง.อุตสาหกรรมฯ แจงบริษัทขออภัยที่มีคนเข้าไปหาตัวแกนนำ ชี้แค่ถูกแอบอ้างชื่อ ไม่มีนโยบายในพื้นที่ รองผู้ว่าฯ รับใครจะทำเหมืองต้องผ่านขั้นตอนอนุญาตตามกฎหมาย ไม่ใช่ไปติดต่อประชาชนโดยตรง

กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได รายงานว่า 14 ธ.ค. 2564 เวลา 13.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู มีการจัดประชุมที่ห้องประชุมภูพานคำ ชั้น 4  เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความรุนแรงในพื้นที่เหมืองหินดงมะไฟ หลังกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ยื่นหนังสือให้ชี้แจงกรณีการเข้ามาคุกคามของบริษัทเหมืองแร่ และกรณีการต่ออายุประทานบัตรฯ ของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด

ในการประชุมครั้งนี้ ชาวบ้านก็ยังไม่มีโอกาสได้พบกับผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูเช่นเดิม มีเพียงนายเวียงชัย แก้วพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานในที่ประชุม และไม่มีตัวแทนบริษัทเอกชนแต่อย่างใด โดยการประชุมครั้งนี้มี 2 วาระ คือ 1. การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ และ 2. กรณีการขอต่ออายุประทานบัตรที่ 27221/15393 และการขอใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อทำเหมืองแร่ โดยมีหน่วยงานที่มาร่วมชี้แจง คือ กองกำลังรักษาความมั่นคงภายใน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อุดรธานี เขต2  สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และที่ทำการปกครองจังหวัด

ในประเด็นปัญหาความรุนแรง ชาวบ้านกลุ่มป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ชี้ให้เห็นสัญญาณความรุนแรงหลังประกาศการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่มีบริษัทฯ ที่มีความเกี่ยวข้องกับโรงโม่หินหลายบริษัทเข้ามาในพื้นที่ ผ่านตัวกลางคือ คนงานของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ และอดีตผู้มีอิทธิพลที่สนับสนุนเหมืองแร่ เข้ามาหาตัวแกนนำของคนในพื้นที่เพื่อเสนอผลประโยชน์ ให้มีการขนหินซึ่งมีการแต่งแร่เอาไว้แล้วออกนอกพื้นที่ โดยไม่ผ่านช่องทางตามกฎหมาย

โดยพฤติกรรมการเข้ามาของบริษัท มีลักษณะคล้ายกับเหตุการณ์ที่แกนนำชาวบ้านเคยถูกลอบสังหารเมื่อปี 2542  และตอนที่มีการชุมนุมบริเวณทางเข้าเหมืองแร่ โดยที่บริษัท และผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ จะมาสอบถามชาวบ้านว่าใครเป็นแกนนำในการคัดค้าน จากนั้นก็จะเสนอผลประโยชน์ให้ ถ้าไม่รับก็จะนำไปสู่การข่มขู่ และถ้ายังไม่หยุดคัดค้านก็จะมีนกต่อมาหลอกให้แกนนำคนนั้นไปนอกพื้นที่จนนำไปสู่การสังหาร สิ่งเหล่านี้คือบทเรียนที่ชาวบ้านมี การต้องอยู่กับความไม่ปลอดภัย การถูกข่มขู่คุกคาม หรือการขู่ฆ่า สำหรับชาวบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ที่ยังมีการชุมนุมอยู่ก็เพราะไม่อยากให้มีเหมืองแร่และโรงโม่หินในพื้นที่

ประชาชนจากกลุ่มอนุรักษ์ยืนยันอีกว่า ก่อนมีเหมืองก็ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขมาโดยตลอด แต่พอเหมืองเข้ามาก็มีแต่ความเดือดร้อน อยากให้ยุติเหมืองในพื้นที่ อยากให้ยกเลิกประกาศแหล่งหินในพื้นที่

ด้านหน่วยตัวแทนจากสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ชี้แจงว่า ได้มีการสอบถามไปยังบริษัทอื่นๆที่เข้ามาแล้ว ปรากฏว่า บริษัท สุมิตร มิเนอรัล จำกัด ที่ต้องการซื้อหินที่ถูกกล่าวอ้างนั้นได้เปลี่ยนไปเป็นบริษัท 5 ดาวสยามแล้ว โดยกรรมการผู้จัดการได้แจ้งว่า ตนถูกเอาชื่อไปแอบอ้างโดยลูกจ้างขอบริษัท และได้มีหนังสือชี้แจงอย่างเป็นทางการว่า บริษัท 5 ดาวสยาม ไม่มีนโยบายด้านธุรกิจในพื้นที่ ต.ดงมะไฟ พร้อมทั้งจะเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก และขออภัยต่อกลุ่มอนุรักษ์ฯ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยแต่ในส่วนของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ นั้นทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ติดต่อไปในเรื่องนี้ จึงไม่มีคำชี้แจงจากบริษัท

ด้านรองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้แจ้งต่อกลุ่มชาวบ้านให้ช่วยหาหลักฐานการคุกคาม ถ่ายภาพหรืออัดวีดีโอ การเข้ามาคุกคามของบุคคลต่างๆ เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่รัฐทำงานด้วย ส่วนทางหน่วยงานความมั่นคงก็ได้แจ้งเพิ่มเติมว่า หากเกิดปัญหาให้แจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1567

สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงยื่นข้อเสนอไปว่า ขอให้มีการชี้แจงต่อสาธารณะ หรือยื่นหนังสือไปยังบริษัทให้ชัดเจน หากต้องการซื้อขายหิน ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมาย ต้องยื่นขออนุญาตต่างๆ ต่อหน่วยงานของรัฐตามกระบวนการ จะได้ไม่ข้ออ้างให้มีใครมาติดต่อชาวบ้านโดยตรงอีก ซึ่งทางจังหวัดก็รับข้อเสนอดังกล่าว

ส่วนในวาระที่สอง เรื่องการยื่นคำขอต่ออายุประทานบัตรและการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนเพื่อทำเหมืองแร่นั้น พบว่ายังมีหลายข้อมูลที่ถูกปกปิด และมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องตรงกัน ทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เรื่องร้องเรียนต่างๆ ของชาวบ้านไม่ได้รับการตรวจสอบ ทั้งเรื่องการบุกรุกเขตป่าสงวนของบริษัท และการตรวจสอบพื้นที่เพื่อกันพื้นที่ออกจากการเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง

ที่ประชุมจึงมีข้อตกลงร่วมกันว่า ให้ทำสำเนาหนังสือและเอกสารต่างๆ ที่เป็นข้อมูลที่ต้องสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ให้กับตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์ฯ และต้องมีการนัดหมายเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนต่างๆให้ครบถ้วน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท