ทำความเข้าใจ ‘อำนาจเหนือตลาด’ กรณีทรู-ดีแทค หวั่นลดการแข่งขัน กระทบผู้บริโภค

ทรู-ดีแทคควบรวมกิจการทำหลายฝ่ายวิตกว่าจะทำให้มีอำนาจเหนือตลาดจนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและผู้บริโภค ‘ประชาไท’ ชวนทำความเข้าใจคำว่า อำนาจเหนือตลาด ผลกระทบ และเฝ้าติดตามการวินิจฉัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะให้เหตุผลได้อย่างมีน้ำหนักหรือไม่

  • อำนาจเหนือตลาดคือความสามารถในการตั้งราคาให้สูงกว่าต้นทุนได้มากกว่าที่ผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดสามารถกำหนดได้ ซึ่งมักเกิดขึ้นในตลาดที่ไม่มีการแข่งขันหรือการแข่งขันต่ำ
  • การมีอำนาจเหนือตลาดไม่ถือว่าผิดกฎหมาย จะผิดกฎหมายก็ต่อเมื่อใช้อำนาจเหนือตลาดเพื่อลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ
  • นักวิชาการเศรษฐศาสตร์คาดว่าการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคน่าจะทำให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
  • หน่วยงานที่กำกับดูแลควรวินิจฉัยตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งนี้การป้องกันการควบรวมเท่ากับป้องกันไม่ให้มีผู้มีอำนาจเหนือตลาดมากๆ ตั้งแต่ต้น

 

 

การควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและมีการเรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลเข้ามาตรวจสอบ ล่าสุด 13 ธันวาคม 2564 คณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ลงนามในแถลงการณ์เรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ทำหน้าที่ของตน

วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

‘ประชาไท’ สัมภาษณ์ วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในนักวิชาการที่ร่วมลงนาม เพื่อทำความเข้าใจประเด็นการมีอำนาจเหนือตลาด ผลกระทบ และความคาดหวังต่อหน่วยงานกำกับดูแล

อำนาจเหนือตลาด

ในทางทฤษฎี อำนาจเหนือตลาดก็คือความสามารถในการตั้งราคาให้สูงกว่าต้นทุน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ประกอบการจะมีอำนาจเหนือตลาดได้หากในตลาดไม่มีการแข่งขันหรือมีระดับการแข่งขันที่ต่ำ ผู้ผลิตสามารถขายสินค้าและบริการได้ในราคาที่สูงโดยไม่มีคู่แข่งมาตัดราคาหรือเสนอขายสินค้าที่คุณภาพดีกว่าในราคาเท่ากัน วรรณวิภางค์ อธิบายในส่วนนี้เพิ่มเติมว่า

“ในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว เราจะเรียกการได้กำไรในอัตราปกติ คืออัตราเท่าๆ กับธุรกิจอื่นๆ ว่ากำไรทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นผลตอบแทนของการทำงานเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการตามกลไกลตลาดแบบปกติ ตัวอย่างเช่น หากสินค้าหนึ่งมีต้นทุนต่อหน่วย 100 บาท และอัตราการทำกำไรโดยทั่วๆ ไปของระบบเศรษฐกิจคือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าในราคา 110 บาทหรือได้กำไร 10 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจก็ไม่ถือว่ามีอำนาจเหนือตลาด แต่หากผู้ประกอบธุรกิจสามารถขายสินค้าได้ในราคา 200 บาท ได้กำไรมากกว่าที่ผู้ประกอบธุรกิจอื่นๆ ได้กัน ก็ถือว่ามีอำนาจเหนือตลาด

“สำหรับการผูกขาดนั้น อันที่จริงแล้วหากแปลตรงตัวตามภาษาไทยมันฟังดูเหมือนว่าจะต้องเหลือผู้ประกอบการอยู่รายเดียว ไม่มีคู่แข่ง หรือที่เรียกว่าเป็น Monopoly แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ใช้คำว่า Monopoly Power กับอำนาจเหนือตลาดที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้ผูกขาดรายเดียว แต่ใช้ในทำนองเดียวกับอำนาจเหนือตลาดเลย”

อย่างไรจึงมีอำนาจเหนือตลาด

อำนาจเหนือตลาดเป็นระดับที่มีความต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่าเมื่อเกินระดับใดระดับหนึ่งแล้วจะถือว่ามีหรือหากต่ำกว่าหนึ่งแล้วถือว่าไม่มี จึงควรมองความมีอำนาจเหนือตลาดว่ามีมากหรือน้อยมากกว่า ซึ่งต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย ตัวอย่างเช่นจำนวนผู้แข่งขันที่อยู่ในตลาด ส่วนแบ่งตลาดของผู้แข่งขันแต่ละราย ความยาก-ง่ายในการเข้าตลาดของคู่แข่งขันรายใหม่ การมีสินค้าทดแทนอื่นๆ และความจำเป็นของสินค้าและบริการนั้นๆ ต่อผู้บริโภค ทั้งนี้การวิเคราะห์เพื่อประเมินอำนาจเหนือตลาดที่ดีจำเป็นต้องศึกษาประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นอย่างครอบคลุม

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติหากผู้กำกับดูแลจะต้องวิเคราะห์ทุกประเด็นดังข้างต้นอย่างละเอียดในทุกครั้งที่มีการควบรวมธุรกิจหรือมีประเด็นด้านการแข่งขันก็อาจจะกินเวลามาก เหตุนี้จึงมีเกณฑ์ที่ตั้งเอาไว้เพื่อตัดกรณีที่ไม่น่าจะมีการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญออกไป โดยเกณฑ์นี้ไม่ได้เป็นตัววัดอำนาจเหนือตลาดแต่เป็นตัวกรองกรณีที่ไม่คุ้มจะต้องมาพิจารณาโดยละเอียดเนื่องจากไม่น่าจะลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ

“โดยปกติตัวกรองใน พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 จะใช้แค่ 2 เกณฑ์ก็คือผู้ที่มีอำนาจเหนือตลาดต้องมียอดขายในปีที่ผ่านมาเกิน 1,000 ล้านบาทและมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ หรือเป็น 1 ใน 3 รายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกิน 75 เปอร์เซ็นต์ โดยจะตัดบริษัทที่มียอดขายต่ำและส่วนแบ่งน้อยๆ ออกไป ดังนั้น ถ้าเป็นประเด็นการควบรวมหรือการแข่งขันของบริษัทรายใหญ่และมีส่วนแบ่งตลาดมากๆ จึงจะเข้าไปพิจารณา เพราะจริงๆ แล้วการเข้าไปพิจารณาก็เป็นการแทรกแซงกลไกตลาดอย่างหนึ่งเหมือนกันซึ่งก็จะไม่อยากเข้าไปแทรกแซงเกินควร

“จะเห็นได้ว่าเกณฑ์นี้ไม่ได้ครอบคลุมประเด็นทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งมันไม่สามารถบอกอำนาจเหนือตลาดที่แท้จริงได้ มันจึงกลายเป็นช่องโหว่ทางกฎหมายที่ถึงแม้ว่าผู้แข่งขันจะมีอำนาจเหนือตลาด แต่ผ่านเกณฑ์ 2 ข้อนี้เขาก็จะบอกว่าไม่มีอำนาจเหนือตลาดในทางกฎหมาย”

อย่างไรก็ตาม แม้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 จะมีการใช้คำว่าผู้มีอำนาจเหนือตลาดบ่อยครั้ง แต่ไม่ได้นิยามในกฎหมายว่าคืออะไร โดยละไว้ให้ผู้มีอำนาจทำการวิเคราะห์ว่าผู้ประกอบการรายใดมีอำนาจเหนือตลาดจึงจะเข้าข่ายตามมาตรานั้นๆ

ใช้อำนาจเหนือตลาดลดการแข่งขัน

ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นคือการมีอำนาจเหนือตลาดไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่การใช้อำนาจเหนือตลาดเพื่อลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญต่างหากที่ผิดกฎหมาย

“การมีอำนาจเหนือตลาดไม่ผิดกฎหมาย” วรรณวิภางค์ อธิบาย “บางครั้งมันเป็นธรรมชาติด้วยซ้ำที่บริษัทต้องมีอำนาจเหนือตลาด ภาษาอังกฤษเรียกว่า Natural Monopoly เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ท่อส่งน้ำมัน มันมีคู่แข่งไม่ได้เพราะว่าไม่มีใครอยากแข่งเพราะการลงทุนสูงและการมีเจ้าเดียวก็เพียงพอ บริษัทเหล่านั้นจึงมีอำนาจเหนือตลาดแน่นอน เป็นที่มาของการกำกับดูแลต่างๆ เช่น สำนักงานกำกับดูแลพลังงาน กสทช. ที่จะกำกับดูแลแต่ละภาคธุรกิจที่มีลักษณะธรรมชาติแบบนั้น เช่น ห้ามตั้งราคาแพง ห้ามกีดกันผู้บริโภค ถ้าในต่างประเทศมีนวัตกรรมใหม่ๆ ก็ต้องทำด้วย กล่าวคือกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสวัสดิการสังคม ซึ่งธุรกิจโทรคมนาคมก็มีลักษณะทำนองนี้”

วรรณวิภางค์ กล่าวว่าในบางประเทศธุรกิจบริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือก็มีห้าหกราย ไม่จำเป็นต้องปล่อยให้เหลือน้อยราย จึงต้องกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการประกอบการอย่างเป็นธรรม เพราะมันเป็นธุรกิจที่ต้องได้รับใบอนุญาตซึ่งส่วนนี้ทำให้คู่แข่งเข้ามาในตลาดได้ยากเช่นกัน

“ในต่างประเทศผู้ประกอบการรู้อยู่แล้วว่าตนเองเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด เขาไม่สามารถทำให้อำนาจเหนือตลาดของตนลดลงได้ เขาอยากมีมากๆ และเขาก็ยอมรับ แต่เขาจะไม่ใช้มันก็ได้ ดังนั้นจึงแยกกันว่าการมีอำนาจเหนือตลาดเป็นเรื่องหนึ่งและการเลือกที่จะใช้อำนาจเหนือตลาดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าคุณปฏิบัติอย่างเป็นธรรม แข่งขันตามกลไกตลาด ไม่ได้กีดกันคู่แข่งรายอื่นไม่ให้เข้าตลาด ไม่ได้ฮั้วกันเพื่อลดการแข่งขัน ก็ไม่มีปัญหา”

ทรูควบรวมดีแทค (น่าจะ) ลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ

“จำนวนคู่แข่งที่ลดลงย่อมหมายถึงแรงจูงใจในการแข่งขันที่ลดลงอยู่แล้ว ถ้าเป้าหมายเดิมคือการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากๆ จาก 3 เจ้าลดเหลือ 2 เจ้า ส่วนแบ่งตลาดก็ต้องเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ทั้งที่ต้นทุนอาจจะเท่าเดิมเพราะเสาสัญญาณอะไรต่างๆ ก็เหมือนเดิม จุดนี้ก็เป็นส่วนดีถ้าสามารถลดต้นทุนได้โดยการควบรวมกิจการหมายถึงประสิทธิภาพก็เพิ่มขึ้นและถ้าประสิทธิภาพนั้นส่งผลถึงราคาที่ลดลงก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าประสิทธิภาพนั้นส่งผลถึงความพยายามแข่งขันที่ลดลง เช่น แทนที่จะคิดนวัตกรรมใหม่ๆ หาบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค หรือหาโปรโมชั่นที่ดีต่อผู้บริโภค มันก็ถือเป็นผลกระทบทางลบที่เราไม่อยากได้จากการรวมกิจการ

“อันที่จริงการมีผู้ให้บริการ 3 รายในแง่ของการตกลงที่จะไม่แข่งขันกัน บางทีก็ไม่ได้ตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรแค่มองตากันก็บอกว่าไม่ต้องทำหรอก มันก็มี ในแง่นี้จาก 3 รายเหลือ 2 รายมันทำได้ง่ายกว่า 3 ก็น้อยอยู่แล้วพอลดเหลือ 2 รายมันก็ดูเหมือนการแข่งกันจะเกิดขึ้นได้ยาก”

วรรณวิภางค์ อธิบายถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการลดจำนวนผู้เล่นในตลาด กรณีการควบรวมระหว่างทรูกับดีแทค หากดูจากเกณฑ์ส่วนแบ่งตลาดและรายได้ถือว่ามีอำนาจเหนือตลาด ทว่า ประเด็นที่ กขค. และ กสทช. ต้องวิเคราะห์คือจะทำให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่

“โดยส่วนตัวเห็นว่าน่าจะลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญเพราะจาก 3 เหลือแค่ 2 ราย ผู้บริโภคมีตัวเลือกน้อยลง แล้วมองในมุมมองของผู้ประกอบการแรงจูงใจในการแข่งขันก็น่าจะน้อยลง เมื่อมองจากการตอบสนองของตลาดหุ้น หุ้นก็ขึ้น แสดงว่าในส่วนของนักลงทุนหรือผู้วิเคราะห์ก็คิดว่าจาก 3 หรือ 2 รายน่าจะทำให้บริษัทสามารถทำกำไรได้มากขึ้น

“แน่นอนว่าการทำกำไรก็มาจากการลดต้นทุน ถ้าเขาสามารถแชร์ต้นทุนในหลายส่วนได้ต้นทุนต่อหน่วยก็ลดลงอยู่แล้ว แต่ราคาจะลดลงมาตามต้นทุนด้วยหรือเปล่า ไม่แน่ใจ ถ้าราคาลดลงมาตามต้นทุนก็ถือว่าอย่างน้อยยังไม่มีความเสียหายในด้านราคา แต่เราก็ต้องดูด้วยว่าความพยายามในการพัฒนาการให้บริการมันเกิดขึ้นตามมาด้วยไหม เช่น ความพยายามไปตั้งเสาสัญญาณในที่ห่างไกลจะน้อยลงหรือไม่”

หน่วยงานกำกับต้องอธิบายเหตุผล

วรรณวิภางค์ยังกล่าวถึงความเป็นมาของกฎหมายแข่งขันทางการค้าว่าเกิดขึ้นจากการที่ไทยกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เนื่องจากเห็นว่าระบบเศรษฐกิจไม่ควรมีการผูกขาดและขับเคลื่อนด้วยการแข่งขัน แต่ปรากฏว่ากฎหมายดังกล่าวกลับไม่ได้มีการบังคับใช้

กระทั่งมีการผลักดันให้แก้ไขในปี 2560 เพิ่มความเป็นอิสระจากการครอบงำของกลุ่มธุรกิจโดยคณะกรรมการจากภาคธุรกิจออกไป

“ในส่วนของการวิเคราะห์ถือเป็นกุญแจสำคัญของการให้อนุญาตรวมกิจการใดๆ ดังนั้นในกรณีของทรูกับดีแทค เราก็ยังตั้งความหวังไว้ในส่วนของการวิเคราะห์ว่าเขาจะสามารถอธิบายได้ว่ามันจะลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ หรือถ้าจะตัดสินออกมาว่าไม่ลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญเขาจะสามารถอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผลหรือไม่”

เธอคาดหวังว่าหน่วยงานกำกับดูแลจะใช้กฎหมายตามเจตนารมณ์ที่ควรจะเป็น

“มันสามารถช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้คือแทนที่จะให้เกิดผู้มีอำนาจเหนือตลาดรายใหญ่ ถ้ามันไม่เกิดได้ตั้งแต่แรกเขาก็สามารถบอกว่าอย่าไปรวมกันได้ พอควบรวมกันก็มีอำนาจเหนือตลาดแน่นอนแล้ว เขาจะใช้หรือไม่ใช้ก็ว่าไปอย่าง แต่ถ้าเราป้องกันตั้งแต่ต้นเขาก็จะไม่มีอำนาจเหนือตลาดเยอะตั้งแต่ต้น”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท