Skip to main content
sharethis

กลุ่มคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์รวม 87 คน ออกแถลงการณ์เรียกร้อง "กสทช.-กขค." เร่งทำงานเชิงรุกติดตามการควบรวมของ TRUE-DTAC ตั้งแต่ขั้นตอนที่ทั้ง 2 บริษัทยังอยู่ระหว่างตรวจสอบกิจการซึ่งกันและกัน (due diligence) เพราะอาจมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันทำให้และการควบรวมครั้งนี้อาจกระทบทั้งผู้บริโภคและการแข่งขันในตลาดโทรคมฯ ไปจนถึงสร้างต้นทุนแก่ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลรายใหม่

13 ธ.ค.2564 กลุ่มคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์รวม 87 คน ร่วมกันออกแถลงการณ์(ดูฉบับเต็ม) เรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและการแข่งขันทางการค้าอย่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) แสดงความชัดเจนในการติดตามตรวจสอบการควบรวมบริษัทด้านโทรคมนาคมเบอร์ 2 และ 3 ของประเทศคือทรูและดีแทคที่เพิ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา รวมถึงให้ทั้ง 2 องค์กรเร่งรีบทำงานเชิงรุกในการออกมาตรการตรวจสอบและกำกับดูแลอย่างเคร่งครัดและเพียงพอ

ในแถลงการณ์ระบุว่า การควบรวมนี้ของทรูและดีแทคนี้จะสร้างผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม ผู้บริโภคและเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง โดยให้เหตุผลไว้ 3 ประการคือ

ประการแรก หากทั้ง 2 บริษัทควบรวมสำเร็จจะทำให้เหลือผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดโทรคมฯ เพียง 2 ราย จากเดิมที่มีผู้เล่น 3 รายซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 98 อยู่แล้ว ทั้งที่ตลาดโทรคมฯ มีลักษณะผู้เล่นรายใหญ่น้อยรายเป็นทุนเดิม การควบรวมเหลือเพียง 2 รายจะทำให้ระดับการกระจุกตัวเข้มข้นขึ้นที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้ในตลาดที่มีการแข่งขัน

ดังนั้นจึงน่าจะส่งผลอย่างรุนแรงต่อระดับการแข่งขันและสวัสดิการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในสถานการณ์ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึงอินเตอร์เนตความเร็วสูงด้วยสัญญาณโทรศัพท์มือถือ การแข่งขันที่ลดลงจะไปเพิ่มต้นทุนและลดโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จำเป็น เป็นการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลของประชาชน

ประการที่สอง โทรศัพท์เคลื่อนที่จัดเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน รากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล แต่อยู่บนฐานทรัพยากรอันจำกัด การควบรวมครั้งนี้สุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่โครงสร้างตลาดที่ผูกขาดมากกว่าเดิมและทำให้ต้นทุนสูงขึ้นจนกระทบกับผู้ประกอบการด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีรายใหม่ รวมถึงผู้ประกอบการอื่นๆ ที่ต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อแรงจูงใจในการคิดค้นนวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขันและการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลโดยรวม

ประการสุดท้าย วิธีการควบรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัทที่เป็นการควบบริษัท (amalgamation) นี้สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมแม้จะอยู่ในช่วงศึกษาความเป็นไปได้ เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกับราคาและเงื่อนไขการให้บริการ แผนการลงทุน เป็นต้น ซึ่งจะกระทบต่อผู้บริโภคและการแข่งขันแม้ว่าสุดท้ายการควบรวมจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม

โดยในแถลงการณ์ระบุว่าที่การควบรวมรูปแบบนี้สุ่มเสี่ยงจะเกิดปัญหาดังกล่าวเนื่องจากเป็นการควบรวมกิจการที่มีความเข้มข้นมากที่สุดเพราะต้องควบรวมทุกมิติกิจการเข้าด้วยกันเป็นบริษัทใหม่ มีการถ่ายโอนสินทรัพย์และกิจการทั้งหมดของทั้ง 2 บริษัทไปที่บริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นและบริษัทใหม่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทน 2 บริษัทเดิมที่จะถูกยุบเลิกไป จึงอาจเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตั้งแต่ในระหว่างการตรวจสอบกิจการซึ่งกันและกัน (due diligence) ได้

อย่างไรก็ตามก่อนที่กลุ่มคณาจารย์จากนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์จะออกข้อเรีกยร้องมาในครั้งนี้ ทางด้าน กสทช.ยังคงมีการให้ข่าวที่ไม่ชัดเจนนักว่าจะเข้ามาติดตามตรวสอบการควบรมนี้หรือไม่อย่างไรเนื่องจากภายในวันที่ 24 พ.ย.2564 ที่ผ่านมาทางด้าน กสทช.มีคนออกมาให้ข่าในประเด็นนี้ถึง 3 คน โดยที่ท่าทีแตกต่างกันไป

สุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานโทรคมนาคม ระบุว่ากรณีการควบรวมนี้เป็นการเจรจาระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มเทเลนอร์เพื่อควบรวมบริษัทแม่ของทรูและดีแทค ไตรเนต(DTN) คือทรู คอร์เปอเรชั่น และโทเทิล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างร่วมกันสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) ซึ่งทรูคอร์ปฯ และโทเทิลฯ ไม่ได้อยู่ภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ของ กสทช. ซึ่ง กสทช.ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ แต่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กขค.

บ่ายวันเดียวยังปรากฏข่าวท่าทีจากทางสำนักงาน กสทช.อีก โดยไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการกสทช. กล่าวว่าจากการชี้แจงของทั้งทางทรูคอร์ปฯ และดีแทค ว่าระหว่างร่วมกันสอบทานธุรกิจโดยจะแจ้งความคืบหน้าให้ กสทช.ทราบเป็นระยะและในระหว่างนี้ก็จะยังคงบริหารงานแยกกันตามปกติและให้บริการลูกค้าตามปกติ ซึ่งทาง กสทช.ก็ได้มีหนังสือแจ้งให้ทั้ง 2 บริษัทชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการควบรวม รูปแบบ รายละเอียดและกำหนดเวลาตามแผนการ ตลอดจนผลกระทบและแนวทางการเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการและตลาดที่เกี่ยวข้อง และ กสทช.ก็จะคอยติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเพื่อผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน

นอกจากนั้น ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ยังระบุว่าตามประกาศ ของ กสทช. 2 ฉบับได้แก่ ประกาศเรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 (ประกาศแข่งขัน) และประกาศเรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม (ประกาศรวมธุรกิจ) ให้อำนาจ กสทช.ไว้ในการพิจารณาการควบรวมของทั้ง 2 บริษัทนี้ว่าหากการรวมกิจการกันครั้งนี้เข้าลักษณะตามประกาศแข่งขันฯ กสทช.ก็มีอำนาจในการพิจาณณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต

ประวิทย์ยังระบุอีกว่า กสทช.ก็ยังมีอำนาจในการปรับแก้ประกาศ กสทช. ได้เพราะ พ.ร.บ.กสทช. ให้อำนาจ กสทช.ไว้ในการจะกำหนดมาตรการป้องกันการผูกขาดหรือก่อความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน และ กสทช.ยังมีเวลาที่จะพิจารณาปรับปรุงประกาศของตัวเองเพราะทั้งสองบริษัทยังอยู่ระหว่างพิจารณาความเป็นไปได้ในการควบรวมอยู่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net