Skip to main content
sharethis

การสืบสวนของสื่อและนักวิจัยด้านไอทีพบว่า สปายแวร์ ‘พีกาซัส’ ถูกติดตั้งในมือถือของภรรยาของ จามาล คาช็อกกี นักข่าวชาวซาอุฯ ก่อนที่เขาจะถูกสังหารในสถานกงสุลที่นครอิสตันบูล เมื่อ ต.ค. 2561 คาด จนท.จาก UAE มีส่วนเกี่ยวข้อง

ภาพของ จามาล คาช็อกกี นักข่าวชาวซาอุฯ สังกัดวอชิงตันโพสต์ (ภาพจาก common wiki)

23 ธ.ค. 64 “ฟอร์บิดเดน สตอรีส์” ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สื่อข่าวจากหลากหลายองค์กรที่มาร่วมทำงานสืบสวนโดยไม่แสวงผลกำไร เปิดเผยว่า มีการติดตั้งสปายแวร์ ‘พีกาซัส’ (Pegasus) โปรแกรมซุกซ่อนในโทรศัพท์มือถือ เพื่อล้วงหรือบงการข้อมูลในโทรศัพท์ของ ฮานัน เอลัตร์ ภรรยาของจามาล คาช็อกกี นักข่าวชาวซาอุฯ สังกัดวอชิงตันโพสต์ หลายเดือนก่อนหน้าที่เขาจะถูกสังหารโดยกลุ่มคนในรัฐบาลซาอุฯ เมื่อเดือน ต.ค. 61 ที่นครอิสตันบูล

การสืบสวนของฟอร์บิดเดน สตอรีส์ ทำให้พบความจริงส่วนหนึ่งว่ามีการใช้สปายแวร์ ‘พีกาซัส’ เจาะเข้าไปในระบบมือถือของเอลัตร์ ซึ่งสปายแวร์ดังกล่าวถูกจัดจำหน่ายโดยบริษัทสัญชาติอิสราเอล นามว่า ‘เอ็นเอสกรุ๊ป’ โดยส่วนใหญ่ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทนี้มักเป็นรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ต้องการซื้อสปายแวร์ เพื่อสอดแนมนักข่าว นักการเมือง และนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม เอ็นเอสโอ อ้างว่า ฟอร์บิดเดน สตอรีส์ ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามีการใช้สปายแวร์กับเอลัตร์ แต่จากการตรวจสอบของ บิล มาร์คซัก นักวิจัยด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ จากซิติเซนแล็บ พบว่ามีผู้แอบนำสปายแวร์พีกาซัส ติดตั้งในเครื่องโทรศัพท์ของภรรยาคาช็อกกี โดยตรง ในช่วงที่เธอถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อเดือน เม.ย. 61 หรือราว 5-6 เดือนก่อนมีการฆาตกรรมคาช็อกกี 

มีนักข่าวเล่าเรื่องนี้ให้เอลัตร์ ฟังตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. 64 ในตอนที่ทีมงานรายการฟรอนต์ไลน์ ของสำนักข่าว พีบีเอส เข้าพบกับเอลัตร์ เพื่อถ่ายทำสารคดี ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ออกฉาย 

จากการสืบสวนของทีมซิติเซนแล็บ ทำให้ทราบว่า ในช่วงที่เอลัตร์ ถูกควบคุมตัวโดยทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) มีเจ้าหน้าที่รายหนึ่งใช้โทรศัพท์ของเธอพิมพ์เข้าเว็บไซต์สปายแวร์พีกาซัสโดยตรง และเว็บไซต์ก็มีการส่งแพกเกจที่ทำให้ติดตั้งพีกาซัส เข้าสู่มือถือ

ทั้งนี้ เนื่องจากเอลัตร์ เป็นเพียงพนักงานบนเครื่องบินโดยสารของเอมิเรตส์แอร์ไลน์ และไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันอะไรในทางการเมือง ทำให้มีการคาดการณ์ว่าที่เธอตกเป็นเป้าหมายการติดตั้งสปายแวร์ตัวนี้ เนื่องจากเธอมีส่วนเกี่ยวข้องกับจามาล คาช็อกกี ซึ่งนอกจากเอลัตร์แล้ว ยังเคยมีกรณีที่เพื่อนคนอื่นๆ ของคาช็อกกี ถูกติดตั้งมัลแวร์พีกาซัสอยู่ในมือถืออีกด้วย  

‘พีกาซัส’ เป็นสปายแวร์ที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อใช้ในระดับการทหาร มันสามารถทำได้ตั้งแต่การควบคุมโทรศัพท์ของบุคคลนั้นๆ นำข้อมูลทุกอย่างของโทรศัพท์ออกมา สามารถสั่งเปิดไมโครโฟนมือถือแล้วดักฟังสดๆ ได้ ถือเป็นเทคโนโลยีที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลขั้นสูง

แม้ว่าเอลัตร์ จะแต่งงานกับคาช็อกกี และมีความสัมพันธ์ทางไกลต่อกัน แต่เธอก็เป็นที่รู้จักน้อยกว่าคู่หมั้นของคาช็อกกี ในช่วงที่เขาเสียชีวิตคือ ‘ฮาดิซ เซนจิซ’ เอลัตร์ เคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า เธอรู้สึกเจ็บปวดและรู้สึกผิดที่เธออาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทางการสามารถติดตามตัวคาช็อกกีผ่านโทรศัพท์ของเธอได้ เธอกล่าวด้วยว่า แม้แต่หลังจากผู้สื่อข่าวจากวอชิงโพสต์เสียชีวิต เอลัตร์ ยังคงถูกคุกคามจากทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่เอาแต่ถามว่า เธอจะทำอะไรต่อไป และยึดเอาหนังสือเดินทางของครอบครัวเธอไปด้วย ทำให้เธอเป็นห่วงความปลอดภัยของทั้งตัวเธอเอง และครอบครัวเธอ

ด้านสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออกมาปฏิเสธไม่ยอมให้สัมภาษณ์ต่อสื่อในเรื่องนี้ ในอดีตพวกเขาเคยปฏิเสธว่าไม่เคยใช้บริการของบริษัทผู้ผลิตสปายแวร์สัญชาติอิสราเอล ขณะที่โทมัส แคลร์ทนายความของเอ็นเอสโอ ในสหรัฐฯ ก็ปฏิเสธว่า การที่โทรศัพท์ของเอลัตร์ ถูกโจมตีด้วยพีกาซัส เป็นไปไม่ได้ในทางเทคนิค อีกทั้งยังอ้างว่าทางบริษัทไม่ได้ทำการดักฟัง คอยสอดส่อง ติดตามตัว หรือเก็บข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับภรรยาของนักข่าวซาอุฯ รายนี้

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอกชนอื่นๆ ที่มีการดำเนินการรูปแบบเดียวกับแบบเดียวกับเอ็นเอสโอ บริษัทเหล่านี้เติบโตขึ้นช่วงหลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 พวกเขาสร้างเครื่องมือสอดแนมขึ้นเพื่อขายให้กับองค์กรข่าวกรอง และบางกรณีก็เอาข้อมูลปกปิดเหล่านี้ขายให้กับประเทศอื่นๆ

นอกจากประชาชนทั่วไปสามารถตกเป็นเป้าหมายได้แล้ว ประเทศฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรเคยถูกสปายแวร์พีกาซัสโจมตีมาก่อน ซึ่งภายหลัง ประเทศเหล่านี้ร่วมกับสหรัฐฯ จัดหารือกับอิสราเอลในเรื่องนี้ เนื่องจากอิสราเอลต้องเป็นผู้ให้อนุญาตให้มีการใช้สปายแวร์ตัวนี้กับประเทศอื่น นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังใส่บริษัทเอ็นเอสโอ เอาไว้ในรายชื่อคว่ำบาตรด้วย โดยห้ามไม่ให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีบางประเภทให้กับบริษัทนี้

เมื่อไม่นานมานี้ เฟซบุ๊กเคยนำเสนอรายงานประกาศเกี่ยวกับกรณีที่มีบริษัทเทคโนโลยีสอดแนมหลายสิบบริษัทที่อาศัยเฟซบุ๊ก เป็นพื้นที่ในการที่พวกเขาจะหลอกลวงให้ผู้คนคลิกลิงก์น่าสงสัยเพื่อให้เครื่องโทรศัพท์มือถือติดมัลแวร์ของบริษัทเหล่านั้น

ดานา พริสต์ ผู้ทำสารคดีให้รายการฟรอนต์ไลน์ ระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลคือบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีสอดแนมเหล่านี้ไม่ได้ใช้แต่กับอาชญากรหรือผู้ก่อการร้ายแบบที่พวกเขากล่าวอ้าง แต่ยังมีการใช้กับภาคประชาสังคมที่สนับสนุนประชาธิปไตยด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักข่าว หรือทนายความ รวมถึงกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ

สื่อด้านเทคโนโลยีเดอะเวิร์จ รายงานว่า การสืบสวนในเรื่องสปายแวร์ พีกาซัส เป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนครั้งใหญ่ที่สื่อหลายแห่งทั่วโลกร่วมมือกัน ซึ่งการสืบสวนนี้ทำให้ได้ข้อมูลว่ามีผู้คนจำนวนมากที่ถูกสอดแนมจากโครงการพีกาซัส ทั้งคนในสื่อใหญ่ๆ อย่างซีเอ็นเอ็น หรือนิวยอร์กไทม์ รวม 180 ราย ไปจนถึงนักการเมือง เช่น เอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ผู้ที่ถูกล้วงเอาหมายเลขโทรศัพท์มือถือไป นักการเมืองอื่นๆ ที่ตกเป็นเป้าหมาย เช่น ไซริล รามาโฟซา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ และ อิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรีปากีสถาน

ทั้งนี้ เมื่อ 24 พ.ย. 64 นักกิจกรรมและนักวิชาการไทยซึ่งสนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตย อย่างต่ำ 10 รายได้รับอีเมลจากบริษัท Apple แจ้งเตือนว่ามี "หน่วยโจมตีไซเบอร์สนับสนุนโดยรัฐ" พยายามแฮ็กระบบโทรศัพท์มือถือ ขณะที่สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ เคยตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลไทยอาจซื้อสปายแวร์ ‘พีกาซัส’ มาใช้งานด้วย 

ขณะที่บีบีซีไทย เคยสอบถามไปที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DES และได้รับคำตอบเพียงว่า “ยังไม่ทราบเรื่อง และขอตรวจสอบข้อมูลก่อน”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Apple ส่งอีเมลเตือนนักกิจกรรมไทย 5 ราย ระวังถูกแฮ็กเกอร์ที่สนับสนุนโดยรัฐโจมตี

เรียบเรียงจาก

Pegasus Spyware Placed on Phone of Jamal Khashoggi’s Wife Before his Murder, Washington Post Reports, PBS, 21-12-2021

New analysis further links Pegasus spyware to Jamal Khashoggi murder, The Verge, 21-12-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net