Skip to main content
sharethis

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนฯ ยูเอ็น แถลงประณามกองทัพพม่าเป็น ‘เผด็จการดิจิทัล’ หลังก่อวีรกรรมปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชน ละเมิดความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพการแสดงความเห็น ขอประชาคมโลกไม่นิ่งเฉยต่อเรื่องดังกล่าว

 

9 มิ.ย. 2565 เว็บไซต์ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ OHCHR รายงานเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ประณามสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ของเผด็จการทหารพม่า พยายามเป็น "เผด็จการดิจิทัล" หลังเพิ่มมาตรการจำกัดการเข้าถึงและการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต การเซ็นเซอร์ในโลกออนไลน์ การสอดแนม ตลอดจนออกมาตรการต่างๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

"ประชาคมโลกต้องไม่นิ่งดูดายในขณะที่ประชาชนชาวพม่ากำลังถูกสกัดกั้นอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และความเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการการันตีภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนนานาชาติ" 

"การเข้าถึงข้อมูลในโลกออนไลน์เป็นเรื่องความเป็นความตายสำหรับผู้คนจำนวนมากในพม่า รวมถึงคนที่ต้องการแสวงหาที่ปลอดภัยจากการโจมตีแบบไม่เลือกเป้าหมายของกองทัพ และมีคนนับล้านที่พยายามแสวงหาหนทางเอาตัวรอดท่ามกลางวิกฤตความพินาศทางเศรษฐกิจ และวิกฤตมนุษยธรรม รัฐบาลเผด็จการทหารกำลังใช้การปิดกั้นอินเทอร์เน็ต และการสอดแนม เพื่อสกัดกั้นกระแสการต่อต้านในหมู่ประชาชนที่ลุกลามเป็นวงกว้าง และยกระดับการโจมตีประชาชนของกองทัพพม่า" กลุ่มผู้เชี่ยวชาญระบุในแถลงการณ์ 

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นเรียกร้องให้กลุ่มประเทศสมาชิกยูเอ็นประณามนโยบายของรัฐบาลทหารพม่าที่ทำการลิดรอนเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ และเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรแบบเฉพาะเจาะจงกับตัวบุคคลที่อยู่ในกองทัพพม่า และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่า รวมถึงคว่ำบาตรการจำกัดการขายหรือจัดหาเทคโนโลยีสอดแนมที่ใช้ได้สองทางแก่รัฐบาลทหารพม่า นอกจากนี้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นยังเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกและแหล่งทุนนานาชาติสนับสนุนการริเริ่มของภาคประชาสังคมในพม่าเพื่อตอบโต้การเซ็นเซอร์และการสอดแนมในพม่า

นับตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 1 ก.พ. 2564 เป็นต้นมา เผด็จการทหารทำการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ ปิดกั้นการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย และพื้นที่ส่งข้อความ เมื่อไม่นานนี้เผด็จการทหารทำการปิดอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ที่มีการต่อต้านกองทัพพม่า นับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2564 เป็นต้นมา มีเมือง 31 แห่งใน 7 รัฐและเขตพื้นที่ ที่รายงานว่ามีการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต มีอยู่ 23 เมืองที่เผชิญกับการถูกปรับให้อินเทอร์เน็ตช้าลง การปิดอินเทอร์เน็ตและการทำให้อินเทอร์เน็ตช้าลงเช่นนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับการที่ทหารพม่าใช้กำลังโจมตี และก่อความรุนแรง รวมถึงเผาบ้านเรือนประชาชน เช่นที่เกิดขึ้นในพื้นที่ซะไกง์ช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า "การปิดกั้นอินเทอร์เน็ตถูกนำมาใช้โดยรัฐบาลเผด็จการทหารเพื่อปกปิดความโหดร้ายที่กำลังเกิดขึ้น ... การวางอุปสรรคไม่ให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ยังเป็นการขัดขวางการทำงานของกลุ่มนักข่าว, การทำงานของนักสิทธิมนุษยชนผู้ติดตาม(กรณีพม่า) และการทำงานขององค์กรด้านมนุษยธรรมในการเก็บรวบรวมหลักฐานการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำโดยกองทัพพม่า หรือในการช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอันตราย"

"การไม่สามารถเชื่อมต่อเข้าถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศพม่าได้ยังเป็นการสร้างปัญหาต่ออาณัติของพวกเราซึ่งต้องอาศัยการเก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันด้วย" ผู้เชี่ยวชาญยูเอ็นระบุในแถลงการณ์

ทั้งนี้ เผด็จการทหารพม่ายังทำการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นสื่อโซเชียลมีเดียยอดนิยมของชาวเมียนมา เผด็จการพม่ายังบีบบังคับให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตขึ้นราคาข้อมูลจากการใช้งานอินเทอร์เน็ต และออกกฎหมายใหม่เพื่อเก็บภาษีข้อมูลจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตและซิมการ์ด ทำให้คนที่ไม่มีเงินมากพอเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตไม่ได้ บริษัทโทรคมนาคม 3 ใน 4 แห่งในประเทศพม่ายังมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับกองทัพพม่าด้วย หลังจากที่บริษัทโทรคมนาคมสัญชาตินอร์เวย์ ‘เทเลนอร์’ ประกาศขายกิจการในพม่าเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้ให้บริการโทรคมนาคมยังถูกกดดันอย่างหนักให้ต้องเปิดใช้เทคโนโลยีสอดแนมและส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารด้วย

สำนักงานบริษัทเทเลนอร์ ที่ประเทศเดนมาร์ก (ที่มา Telenor Group)

2 สัปดาห์หลังจากการรัฐประหารครั้งล่าสุด เผด็จการทหารมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์โดยระบุให้เจ้าหน้าที่รัฐและตำรวจสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้มากขึ้น และมีการสร้างนิยามใหม่เกี่ยวกับอาชญากรรมจากการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ให้สามราถตีความได้กว้างขึ้น ร่างกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์จะยิ่งเสริมอำนาจให้กับทางการในการบล็อกเนื้อหาหรือจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยอำนาจศาล และจะสามารถสั่งแบนการใช้ "เครือข่ายส่วนตัวเสมือน" หรือ วีพีเอ็น (Virtual Private Network - VPN) ได้ด้วย ซึ่งผู้ใช้งาน VPN มีโอกาสเผชิญโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี ถึงแม้ว่ากฎหมายนี้จะยังไม่มีการบังคับใช้ แต่ตำรวจและทหารในพม่าก็เริ่มมีการค้นในโทรศัพท์ของคนที่พวกเขาจับกุมว่ามีแอปพลิเคชันวีพีเอ็นอยู่ด้วยหรือไม่ ในตอนที่พวกเขาทำการตรวจค้นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกฝ่ายต่อต้านรัฐบาลหรือตอนตรวจค้นผู้ต้องขังรายอื่นๆ

"ประชาชนพม่าต้องการและสมควรได้รับการช่วยเหลือจากนานาชาติ ในการตอบโต้กองทัพพม่า จากกรณีการโจมตีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว ซึ่งคุกคามชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนนับล้าน ประเทศสมาชิกยูเอ็นควรจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการยับยั้งความพยายามของเผด็จการทหารในการฉุดพม่าให้ถอยหลังกลับสู่ยุคมืดของเทคโนโลยีดิจิทัล" ยูเอ็น ระบุในแถลงการณ์


เรียบเรียงจาก

Myanmar: UN experts condemn military’s “digital dictatorship”, OHCHR, 07-06-2022
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net