Skip to main content
sharethis

กสม.ออกความเห็นแนะรัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือผุ้หนีภัยสู้รบในพม่าที่ข้ามพรมแดนมาฝั่งไทยและไม่ผลักดันกลับไปเผชิญอันตราย รวมถึงมีนโยบายในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หนีภัยสู้รบและผู้ลี้ภัยทางการเมืองพม่าด้วย

ชาวพม่าอพยพลี้ภัยกลางดึก 23 ธ.ค. 64 หลังมีเสียงเครื่องบินทิ้งระเบิดและยิงปืนใหญ่ (ภาพจาก Karen National Media)

27 ธ.ค.2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่แถลงเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบจากการสู้รบในประเทศพม่าบริเวณชายแดนไทย-พม่าที่ยังคงเกิดเหตุรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นเหตุให้ชาวพม่าบางส่วนซึ่งมีทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้หญิง รวมถึงผู้หญิงตั้งครรภ์หนีภัยข้ามแม่น้ำสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และแม่น้ำเมย จังหวัดตาก เข้ามายังพื้นที่พักพิงชั่วคราวบริเวณชายแดนประเทศไทย และต้องประสบความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ขาดอาหาร น้ำสะอาดและยารักษาโรคที่เพียงพอ ขณะที่ชุมชนชาวไทยบริเวณชายแดนมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงเกิดความหวาดกลัวจากเสียงสู้รบและอากาศยานทางการทหารอยู่เป็นระยะ

กสม. ระบุว่าได้ติดตามสถานการณ์ อย่างต่อเนื่องและได้แสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและความปลอดภัยของบุคคลและชุมชน โดยที่ผ่านมา กสม.ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แลกเปลี่ยนข้อมูล/ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงลงพื้นที่ ณ หมู่บ้านชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอนเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2564 เพื่อประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รับฟังข้อมูลจากภาคประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากกรณีความไม่สงบที่เกิดขึ้น

กสม. มีความเห็นว่า ในการสร้างความมั่นคงและปลอดภัยบริเวณชายแดนไทย-พม่า รัฐบาลไทยควรเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากการสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเคารพต่อหลักสากลการห้ามผลักดันกลับสู่อันตราย (Non-Refoulement) อย่างเคร่งครัด และกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวพม่าซึ่งมีทั้งแรงงาน ผู้หนีภัยทางการเมือง และผู้หนีภัยจากการสู้รบ เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัย 4 รวมถึงการป้องกันและรักษาโรค โดยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ควรมีมาตรการในการดูแลเพื่อให้เข้าถึงการตรวจคัดกรอง การรักษา รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ด้วย ทั้งนี้ ควรผลักดันให้เกิดกลไกท้องถิ่นที่ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนประชาชนจิตอาสา ฯลฯ ในการระดมสิ่งของความช่วยเหลือและดูแลผู้หนีภัยความไม่สงบ เนื่องจากชุมชนไทยบริเวณชายแดนซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติกับผู้หนีภัยต้องการให้ความช่วยเหลือดูแลผู้หนีภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์สู้รบในประเทศพม่าด้วย

สำหรับการป้องกันภัยอันตรายให้แก่ชุมชนไทยบริเวณชายแดนไทย-พม่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดให้มีการดูแลด้านความปลอดภัย เช่น การทำบังเกอร์ป้องกันภัยแก่ชุมชน จัดทำแผนเผชิญเหตุ เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ และซักซ้อมความเข้าใจแก่ประชาชนในชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากความไม่สงบด้วย

กสม. ยังคงติดตามผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นแก่ชาวพม่าผู้หนีภัยความไม่สงบเข้ามายังประเทศไทย และชุมชนชาวไทยบริเวณชายแดนไทย-พม่าอย่างต่อเนื่อง โดยเร็ว ๆ นี้ กสม. โดยนางปรีดา คงแป้น และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีกำหนดลงพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในเบื้องต้นกับทางจังหวัดตากและหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบด้วย ทั้งนี้ กสม. หวังว่าในสถานการณ์ที่ความไม่สงบส่งผลถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตอย่างรุนแรงต่อบุคคลและชุมชนเช่นนี้ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกที่ทุกฝ่ายคำนึงถึง

สื่อพม่าเผยกองทัพพม่าใช้เครื่องบินโจมตีบริเวณเลเกก่อ-ชาวกะเหรี่ยงหนีภัยมาไทยอีกระลอก

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาสถานการณ์ชายแดนไทย-พม่ามีสถานการณ์สู้รบกันอย่างรุนแรง สื่อพม่า Myanmar Now รายงานเมื่อ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมาโดยอ้างแหล่งข้อมูลในพื้นที่ เผยว่า กองทัพพม่าใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ และอาวุธหนัก โจมตีกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ที่เมืองเลเกก่อ ในรัฐกะเหรี่ยง เขตเมียวดี เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 64 เวลาประมาณ 22.00 น. จากเหตุดังกล่าวทำให้มีผู้หนีภัยสู้รบข้ามพรมแดนมาฝั่งไทย

จากเหตุดังกล่าวมูลนิธิ ‘เพื่อนไร้พรมแดน’ (Friends without Borders)ที่ทำงานประเด็นผู้ลี้ภัยได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้ความดูแลช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยรวมไปถึงการจัดตั้งศูนย์พักพิง รวมถึงรัฐบาลไทยจะต้องแสดงขจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการของรัฐบาลพม่าและปฏิเสธการให้ความสนับสนุนแก่รัฐบาลพม่าทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย

ผู้จัดการออนไลน์รายงานข่าวทางด้านรัฐบาลไทยเมื่อวานนี้(27 ธ.ค.64) โดยพล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีการสั่งการไว้แล้วว่ารัฐบาลจะต้องดูแลและดำเนินการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไทยเป็นลำดับแรกและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามความจำเป็นหากมีเหตุรุนแรงโดยมีแผนอพยพประชาชนเอาไว้แล้ว และหากมีการหนีภัยเข้ามาหน่วยงานความมั่นคงจะประสานถึงรัฐบาลพม่าและกองกำลังตามชายแดน จากสถานการณ์ล่าสุดมีผู้หนีภัยเข้ามา ประมาณ 4,800 คน บางส่วนขอกลับประเทศแล้ว และทางจังหวัดตากมีการตั้งกองอำนวยการประสานงานมาดูแลผู้หนีภัยตามหลักมนุษยธรรม

ทั้งนี้ในข่าวไม่ได้มีการระบุถึงว่าทางด้านรัฐบาลไทยจะมีการจัดตั้งศูนย์พักพิงเพื่อรองรับผู้หนีภัยหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net