ศาลปกครองโคราชพิพากษายกฟ้องคดีเหมืองโปแตชชัยภูมิ ชาวบ้านบำเหน็จณรงค์ยันสู้ต่อ ไม่ยอมให้มีเหมืองแร่ในพื้นที่

ศาลปกครอง จ.นครราชสีมา ยกฟ้องคดีที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด บำเหน็จณรงค์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐและบริษัทเหมืองแร่โปแตซ ปมการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำโดยมิชอบ และการทำ EIA เหมืองแร่สอดไส้โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลถ่านหิน ด้านประชาชนในพื้นที่เตรียมสู้คดีต่อ ยื่นฟ้องศาลอุทธรณ์สุงสุด

29 ธ.ค. 2564 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด บำเหน็จณรงค์ รายงานว่าวันนี้ (29 ธ.ค. 2564) เวลา 10.00 น. ศาลปกครองนครราชสีมา นัดชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด บำเหน็จณรงค์ ฟังคำพิพากษา หลังชาวบ้านยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองจากการที่หน่วยงานรัฐมีการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้แก่บริษัทเหมืองแร่ เมื่อ พ.ศ.2560 โดยการยื่นฟ้องคดีนี้ ศาลได้รับคำฟ้องไว้ 3 กรณี คือ 1. ขอให้เพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำลำคันฉู 2. ขอให้เพิกถอนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับสมบูรณ์ ที่ได้รับมติเห็นชอบในปี 2557 และ 3. ขอให้เพิกถอนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2559

การยื่นฟ้องคดีครั้งนี้มีผู้ถูกฟ้องคดี 3 หน่วยงาน คือ กรมชลประทาน ผู้ออกใบอนุญาตใช้น้ำ, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ผู้ให้ความเห็นชอบรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งสองฉบับ และศาลได้มีการเรียก บริษัท อาเซียนโปแตช จำกัด มาเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ด้วย

ในการฟ้องคดี ประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ฟ้องพยายามชี้ให้เห็นถึงความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการออกใบอนุญาตใช้น้ำที่บริษัทนำมากล่าวอ้าง ทั้งที่น้ำในพื้นที่ก็ไม่ได้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และภาคการเกษตร เมื่อประชาชนต้องการใช้น้ำต้องรวมตัวกันไปขอที่อ่างเก็บน้ำลำคันฉู และต้องรอเวลาประมาณ 1 เดือนน้ำจึงจะเดินทางมาถึงพื้นที่การเกษตร แต่เหมืองแร่กลับได้รับอนุญาตให้ต่อท่อตรงสู่เหมืองได้ทันที

ส่วนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รู้ข้อมูลด้วย ไม่ทราบว่าจะมีเหมืองแร่ในพื้นที่ มารู้หลังจากที่เหมืองได้ประทานบัตรไปแล้วและมีโครงการพ่วงโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเมื่อศึกษาข้อมูลจึงพบว่า ในการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็น 2 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมน้อยมาก ประมาณ 300 คนเท่านั้น ซึ่งเทียบกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นย่อมเป็นการจัดที่ไม่เพียงพอ มีสัดส่วนผู้เข้าร่วมน้อย นอกจากนี้ ในการจัดทำรายงานยังมีการใส่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหลายเรื่อง เช่น การนำบึงทะเลสีดอ (แหล่งน้ำสาธารณะในพื้นที่) ไปใส่ในรายงานทั้งที่ไม่เคยขออนุญาตใช้มาก่อน และที่สำคัญคือ การจงใจไม่ระบุในโครงการตั้งแต่ต้นว่าจะมีการพ่วงโรงไฟฟ้าถ่านหินมาในโครงการด้วย ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญในกระบวนการแต่งแร่แต่กลับไม่ระบุถึงโดยอ้างว่ายังตัดสินใจไม่ได้ อีกทั้งในรายงานฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของโครงการเหมืองแร่ ยังนำข้อมูลการจัดเวทีของโครงการโรงไฟฟ้าเข้าไปอ้างในรายงานด้วย

หลังจากต่อสู้กันมาเป็นระยะเวลา 4 ปี วันนี้ศาลปกครองนครราชสีมาได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  1. กรณีใบอนุญาตใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำลำคันฉู มีประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ ประชาชนมีสิทธิในการฟ้องคดีหรือไม่ และการออกใบอนุญาตใช้น้ำของกรมชลประทานชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
  2. การมีมติเห็นชอบรายงาน EIA ทั้งสองฉบับ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ประเด็นที่ 1 ศาลเห็นว่าประชาชนมีสิทธิในการฟ้องคดี เพราะเป็นผู้ใช้น้ำที่อาจได้รับผลกระทบจากการอนุญาตให้ใช้น้ำดังกล่าว และกรมชลประทานได้ออกหนังสืออนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากหนังสืออนุญาตนั้นออกตามมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และเป็นเพียงการแจ้งสิทธิต่อผู้ประกอบการว่ามีสิทธิในการใช้น้ำ แต่จะได้รับอนุญาตก็ต่อเมื่อมีการยื่นเอกสารตามแบบ ผย.33 ให้ครบถ้วนเสียก่อน เมื่อไม่มีการยื่นจึงไม่ถือว่ามีการอนุญาตแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 2 ศาลเห็นว่าทางบริษัทได้มีการทำตามกระบวนการขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว โดยบริษัทที่จัดทำ EIA ก็เป็นบริษัทที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายเช่นกัน ส่วนการนำข้อมูลในเวทีโครงการโรงไฟฟ้ามาใส่ในรายงาน EIA เหมืองแร่นั้น ศาลเห็นว่าโรงไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของเหมือง ข้อมูลจากทั้งสองเวทีย่อมเป็นสิทธิของผู้ประกอบการ การนำมาใส่ในอีกโครงการย่อมไม่ถือว่าเป็นข้อมูลเท็จ ศาลจึงเห็นควรให้ยกฟ้อง

จากคำพิพากษาของศาล ตัวแทนประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด บำเหน็จณรงค์ หลายคนรู้สึกผิดหวัง และเสียใจต่อคำพิพากษาดังกล่าว หลายคนตั้งคำถามถึงกระบวนการขั้นตอนที่มีการทำครบถ้วน แต่คุณภาพของการจัดทำจะถูกนำมาพิจารณาด้วยหรือไม่ ประชาชนในพื้นที่เห็นว่ากระบวนการเหล่านี้ไม่เพียงพอ เพราะประชาชนไม่ได้ร่วมตัดสินใจ กฎหมายไม่เคยให้โอกาสชาวบ้านในพื้นที่ตัดสินใจ แล้วจะทำอย่างไรเมื่อตัวกฎหมายมีปัญหา

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนประชาชนที่มาในวันนี้ยังคงยืนยันที่จะสู้คดีต่อ โดยจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดอย่างแน่นอน และจะเดินหน้าคัดค้านในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เหมืองแร่และโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ เพราะไม่อยากให้ลูกหลานต้องทนทุกข์กับผลกระทบที่เกิดขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท