Skip to main content
sharethis

'ปาฏิหาริย์ (สงวนนามสกุล)' ชายวัย 25 ชาวนนทบุรีถูกตำรวจ บก.ปอท. จับกุมเมื่อ 27 ธ.ค. ปีที่แล้วในข้อหา ม.112 จากการคอมเมนต์ใต้โพสต์ของ 'สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล' กรณีข่าวลืออาการประชวรของ ร.10 โดยหนึ่งในนายตำรวจผู้มีอำนาจสั่งการในคดีนี้ คือ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับพล.ต.ต.อํานาจ ไตรพจน์ ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ และพล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผู้บังคับการ บก.ปอท.

12 ม.ค. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ชายวัย 25 ปีจาก จ.นนทบุรี ถูกตำรวจจับกุมตัวตามหมายจับข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแสดงความคิดเห็นบนโพสต์เฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เกี่ยวกับข่าวลือเรื่องอาการประชวรของ ร.10 เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2564

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งเมื่อวัน 27 ธ.ค. 2564 เวลา 15.46 น. ว่ามีประชาชนใน จ.นนทบุรีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตามหมายจับในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ต่อมาพบว่าผู้ถูกจับกุมชื่อ ปาฏิหาริย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี ถูกจับกุมจากเหตุแสดงความคิดเห็นบนโพสต์เฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้ลี้ภัยชาวไทยจากคดี ม.112 ที่โพสต์ข้อความเกี่ยวกับข่าวลือเรื่องอาการประชวรของ ร.10 หลังจากนั้นตำรวจนำตัวปาฏิหาริย์ไปขออนุญาตฝากขังที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก และได้รับอนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 100,000 บาทจากกองทุนราษฎรประสงค์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยข้อมูลในบันทึกจับกุมของตำรวจ ซึ่งระบุว่าคดีนี้อยู่ภายใต้การสั่งการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, พล.ต.ต.อํานาจ ไตรพจน์ ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ และพล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผู้บังคับการ บก.ปอท. โดยตำรวจทั้ง 3 นายซึ่งเป็นผู้สั่งการคดีนี้ได้สั่งการให้จับกุมปฏิหาริย์ โดยใช้ตำรวจจากกองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 1, กองบังคับการสืบสวนสอบสวน สภ.สมุทรปราการ, สน.รถไฟสุวรรณภูมิ และ บก.ปอท. ทั้งหมด 18 นาย

ตำรวจระบุว่าเป็นการจับกุมตามหมายจับคดีเก่าค้าง คือ หมายจับเลขที่ 1929/2564 ออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 15 พ.ย. 2564 ซึ่งต้องหาฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งต้องความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา” 

เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม อ้างว่าได้พบนายปาฏิหาริย์กําลังตากผ้าอยู่ภายในบ้านดังกล่าว จึงได้เรียกให้ออกมาที่บริเวณหน้าบ้าน หลังปาฏิหาริย์เดินออกมาจากบ้านแล้ว เจ้าหน้าที่แสดงตัวว่าเป็นตํารวจ และแสดงหมายจับให้ผู้ต้องหาดู 

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบถามว่าบัญชีเฟซบุ๊กตามข้อกล่าวหาว่าเป็นของผู้ต้องหาหรือไม่ และได้ทำการขอตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาไว้เป็นของกลาง พร้อมกับให้ผู้ต้องหาปลดล็อกโทรศัพท์มือถือ ก่อนจะนำตัวไป บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีต่อไป

ปาฏิหาริย์ทราบภายหลังถูกจับกุมว่าตนเองถูกกล่าวหาจากการไปแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 โดยต้นโพสต์กล่าวถึงข่าวลือเรื่องอาการป่วยของ ร.10

พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหาต่อปาฏิหาริย์ ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) แต่ปาฏิหาริย์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม และจะให้การเพิ่มเติมภายในวันที่ 28 ม.ค. 2565

ปาฏิหาริย์เล่าว่าในวันที่ถูกจับกุม เขากำลังตากผ้าอยู่ มีรถยนต์คันหนึ่งมาจอดที่หน้าบ้าน และมีชายคนหนึ่งแต่งกายคล้ายพนักงานบริษัทไปรษณีย์อ้างว่ามีพัสดุมาส่ง แต่เมื่อเห็นท่าทางของชายคนดังกล่าว เขาก็ทราบทันทีว่าบุคคลดังกล่าวไม่ใช่พนักงานไปรษณีย์ หลังจากนั้น เขาเดินออกไปดูที่บริเวณหน้าบ้านแล้วพบว่ามีรถยนต์จอดอยู่อีก 2-3 คัน พร้อมกับเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสวมชุดนอกเครื่องแบบไม่ต่ำกว่า 10 นาย ยืนรออยู่ และตำรวจได้พุ่งเข้ามาจับกุมตนทันทีที่เปิดประตูรั้ว โดยไม่ได้แจ้งว่าตนมีความผิดในข้อหาอะไร จากเหตุการณ์ใด แต่มีการแสดงบัตรประจำตัวตำรวจ

นอกจากนี้ ปาฏิหาริย์เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าเคยส่งหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ บก.ปอท. มาแล้ว 2 ครั้ง แต่เขาไม่ได้ตามนัดหมาย เจ้าหน้าที่จึงร้องขอศาลให้ออกหมายจับแทน แต่เมื่อตนกลับไปย้อนกล้องวงกรปิดบริเวณหน้าบ้านกลับไม่พบว่ามีตำรวจหรือบุคคลใดนำหมายมา 'แปะ' ไว้ที่หน้าบ้านตามที่ตำรวจกล่าวอ้าง และเมื่อสอบถามญาติที่พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ก็ยืนยันว่าไม่ได้รับหมายเรียก

ปาฏิหาริย์ยังเล่าอีกว่า ในระหว่างการจับกุม เจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ไม่ได้ใส่กุญแจมือ แต่ใช้สายเคเบิ้ลมัดข้อมือไว้ ก่อนจะมีการยึดโทรศัพท์มือถือไปตรวจสอบ เมื่อถูกพาตัวมา บก.ปอท. แล้ว เขาพยายามจะโทรศัพท์ติดต่อหาที่บ้าน แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต ก่อนถูกข่มขู่ให้ลงลายมือชื่อในเอกสารที่เข้าใจว่าเป็นการรับทราบหมายจับ และบันทึกตรวจยึด โดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย

"ตอนอยู่ ปอท. ผมอยู่คนเดียว ไม่มีใครอยู่ด้วย เจ้าหน้าที่ก็ไม่ให้ผมคุยโทรศัพท์กับทางครอบครัว แต่อนุญาตให้คุยกับทนายได้ ตอนนั้น ทนายบอกว่า อย่าเพิ่งเซ็นเอกสารอะไรนะ รอให้ทนายไปถึงก่อน แต่เจ้าหน้าที่ ปอท. ก็บอกว่า 'ยังไงก็ต้องเซ็น มันไม่เกี่ยวกัน อันนั้นมันตอนที่ทนายมา แต่ถ้ายังไม่มีใครมา ก็ต้องทำตามที่เขาสั่ง' แต่ผมก็ยืนยันไปว่า ยังไงก็ต้องรอทนายมาก่อน" ปาฏิหาริย์กล่าว

ต่อมา ในช่วงเช้าของวันที่ 28 ธ.ค. 2564 หลังปาฏิหาริย์ถูกสอบสวน และนำตัวไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง เป็นเวลา 1 คืน พนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยขอวางเงินสดจำนวน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักประกัน ก่อนที่ศาลอาญาจะอนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่มีเงื่อนไข

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นอกจากคดีของปาฏิหาริย์ ยังมีคดีมาตรา 112 อย่างน้อยอีก 3 คดี ที่พบว่าเหตุแห่งการกล่าวหาเกิดจากการเข้าไปแสดงความคิดเห็นในโพสต์เฟซบุ๊กลักษณะดังกล่าวของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้แก่ คดีของ “นันท์” (นามสมมติ), คดีของ “ภู” (นามสมมติ) และคดีของลักขณา (นามสมมติ) ทั้งหมดถูกดำเนินคดีที่ บก.ปอท. เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกระลอกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 167 คน ใน 172 คดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net