Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สวัสดีปีใหม่ประชาชนไทยทุกท่านครับ ไม่รู้ว่าปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะขายนโยบายปลูกผักชีเลี้ยงไก่อะไรอีก เพราะปีที่ผ่านมาก็ขายขี้หน้ามามากพอแล้ว แต่ผู้ช่วยรัฐมนตรีสำนักนายกก็เห็นว่านายกฯ คิดละเอียดรอบคอบทุกอย่างดีแล้ว ไม่รู้ว่าเป็นการแอบดูถูกนินทานายกฯ ไปด้วยหรือเปล่า ปัญหาทุกวันนี้แม้แต่หวยราคาแพง 7 ปีมาแล้วรัฐบาลยังแก้ไม่ได้เลย

แก้หวยราคาแพงต้องแก้ทั้งระบบ ต้องแก้ทั้งโครงสร้าง ระบบโควต้าที่ผูกขาดสลากมานานตั้งแต่ 5 เสือกองสลาก มีมูลนิธิสำนักงานสลากฯ เป็น 1 ในนั้นด้วย และปัญหาการกว้านซื้อโควต้ามาขายต่อเอง ซึ่งถ้ารับโควต้าโดยตรงก็ประมาณ 74 บาทแล้ว กว้านซื้อในราคา 80 บาท มาขายต่อก็ต้องแพงกว่าราคาสลากอยู่แล้ว เสือนอนกินพวกนี้ก็มาขายต่อในราคาแพง แต่ละงวดเงินสะพัดกำไรเป็นพันล้าน อดีตรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลประยุทธ์ก็ถูกครหาด้วย

โครงสร้างอิทธิผลประโยชน์ในโครงสร้างสลากกินแบ่งฯ ก็เหมือนกับโครงสร้างอิทธิพลในประเทศไทย ที่มีทำเนียบรัฐบาลเป็นศูนย์กลาง ตลอด 7 ปีไม่เคยแก้ไขปัญหาโครงสร้างอำนาจอิทธิพลผลประโยชน์ วิกฤตเศรษฐกิจและโควิดเกิดขึ้น ประชาชนจนลงแต่เจ้าสัวนายทุนผูกขาดกลับร่ำรวยมากขึ้น 7 ปีรัฐบาลสร้างความเหลื่อมล้ำเพราะเข้าใจหัวอกนายทุน แต่ไม่เข้าใจหัวอกคนจน

ประเทศไทยกลายเป็น State Charger ที่มีกลุ่มทุนเจ้าสัวมีอำนาจเหนือการเมือง บรรดารัฐมนตรีเป็นเสนาพาณิชย์ตามโควต้ากลุ่มธุรกิจผูกขาด บางคนเข้ามาเพื่อจัดการภารกิจโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการสานต่อโครงการสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมทุน เปิดประตูที่ถูกล็อคโดยระเบียบกฎหมายและความขัดกันแห่งผลประโยชน์ จนเกิดวิกฤตการเมืองและนโยบายสาธารณะตามมาอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2564

การที่นายกรัฐมนตรีพูดถึงความเท่าเทียมโดยเปรียบเทียบให้คนรวยใช้ทางด่วน คนจนใช้เส้นทางด้านล่างนั้น สะท้อนว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองเลย เป็นได้แค่เสนาพาณิชย์คอยรับใช้กลุ่มทุนใหญ่เท่านั้น จึงเหมาะเป็นผู้ช่วย CEO บรรษัทฝ่ายบริหารจัดการปกป้องผลประโยชน์ แต่ไม่เหมาะเป็นนายกรัฐมนตรี ที่บริหารประเทศจากภาษีของประชาชน

ความคิดของพล.อ.ประยุทธ์ นั้น ไม่จำเป็นต้องมีรัฐเพื่อจัดวางการอยู่ร่วมกันก็ได้ ไม่ต้องมีรัฐบาลเพื่อปกป้องคุ้มครองร่างกายและทรัพย์สินตลอดจนสิทธิมนุษยชนของประชาชน ไม่ต้องมีการเก็บภาษีเข้ารัฐ เพราะรัฐไม่ต้องทำหน้าที่ ไม่ต้องปกครอง ไม่ต้องบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ต้องบริหารเศรษฐกิจให้เกิดความเป็นธรรม ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกลไกตลาดในระบบทุนนิยมเสรี ที่ลดขนาดรัฐให้เล็กลง ทุนใหญ่ขึ้น และงานที่พล.อ.ประยุทธ์ทำ เป็นงานรูทีนที่ความสามารถแบบปลัดกระทรวงหรือข้าราชการทำได้อยู่แล้ว

แท้จริงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ มีความคิดแบบเสรีนิยมใหม่ ไม่เข้าใจหน้าที่รัฐ เป็นนักธุรกิจการเมืองที่เข้าใจหัวอกนายทุน แต่ไม่เข้าใจหัวอกคนไทย คนแบบนี้ไม่เหมาะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือเป็นรัฐบาล เพราะจะไม่ยอมแก้ไขเศรษฐกิจให้เกิดความเป็นธรรมทางโครงสร้าง และจะไม่กล้าขึ้นภาษีทรัพย์สินแก่คนรวยตามแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย เช่นผู้นำที่กล้าหาญในยุโรป ในอเมริกา หรือในเกาหลี ญี่ปุ่น

ตลอดปี 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จึงพยายามแบ่งแยกประชาชน และส่งเสริมนโยบายความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยอย่างชัดเจน ตลอด 7 ปีที่ครองอำนาจมา เขาทำให้เจ้าสัวอย่างน้อย 7 ตระกูล ทยานร่ำรวยขึ้นแบบก้าวกระโดดรายละหลายแสนล้านบาท บางตระกูลรวยขึ้นมากกว่า 250% บางตระกูลรวยขึ้นมากกว่า 230% จนความเหลื่อมทางเศรษฐกิจของไทยทยานขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ทยานลง จนลงๆ เต็มไปด้วยหนี้สินครัวเรือนและแบกรับหนี้สินสาธารณะมหาศาล

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ การแก้สัญญาสัมปทานต่างๆ เอื้อเจ้าสัว ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง การผนวกสัญญาและต่อสัญญาที่ดินเชิงพาณิชย์ โครงการสิทธิประโยชน์ภายใต้ EEC และ BOI การงดเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้รัฐ สัญญาสัมปทานการผลิตไฟฟ้า สัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม ฯลฯ  ล้วนถูกครหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน เบียดบังผลประโยชน์ของชาติ

มีนโยบายแปลงสินทรัพย์ของรัฐให้กลุ่มทุนเข้ามาทำการพาณิชย์อย่างเป็นระบบ การอนุญาตให้ควบรวมธุรกิจจนเกิดการผูกขาดตลาด ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ หรือโทรศัพท์ที่ผูกขาดคลื่นความถี่ กระทั่งการซอยแบ่งผลประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจต่างๆ ของรัฐให้เอกชนเข้าหากำไร

ที่ผ่านมากลุ่มทุนชนชั้นนำไทยได้ผลประโยชน์จากส่วนเกินไปจำนวนมากจนร่ำรวยขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐี บ้างก็ร่ำรวยมาจากการให้สัมปทานรัฐ บ้างก็ร่ำรวยมาจากการผูกขาดทรัพยากร ภายใต้การสนับสนุนและคุ้มครองจากรัฐในรูปแบบนิติบุคคล ให้พวกเขาเข้าถึงทรัพยากรเพื่อเติบโตและร่ำรวย แต่ระหว่างที่ทรัพย์สินงอกเงยขึ้นนั้นไม่ได้จ่ายคืนแก่รัฐและสังคมให้เกิดความสมดุล แต่กลับจ่ายนอกจ่ายในจนกลายเป็นธุรกิจการเมืองและระบบราชการแบบอุปถัมภ์นิยม

ทั้งที่รัฐบาลสามารถออกกฎหมายเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้าได้อย่างเต็มที่ และภาษีที่เก็บมานั้นได้พัฒนาสังคมจนผลิตผลของทรัพย์สิน ที่ดินและมูลค่าของการลงทุนต่างๆ งอกเงยขึ้นมาเป็นดอกผลตอบแทนคืนสู่สังคมอีกระลอกหนึ่ง และกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินมั่งคั่งขึ้นอีกต่อหนึ่ง ในต่างประเทศเขาจึงมีทัั้งภาษีมรดก ภาษีสังคม ภาษีสิ่งแวดล้อมมากมาย มาเก็บตกและแก้ไขโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม

แม้แต่การเก็บภาษีคนรวยในสถานการณ์โควิด กับผู้ที่มีรายได้มากกว่า 10,000 ล้านบาทขึ้นไปเป็นการเฉพาะกิจ เพื่อแบ่งปันรายได้และทรัพย์สินที่สะสมความมั่งคั่งสร้างความเหลื่อมล้ำมาตลอดหลายปี และการกระจายสินค้าอุปโภค-บริโภคทั้งหลาย ควบคุมปัจจัยสี่ ไม่ให้เกิดการผูกขาด รัฐบาลก็ไม่ตัดสินใจทำในสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากการส่งจดหมายขอความร่วมมือมหาเศรษฐี 20 คนร่วมรับผิดชอบโควิด 19 แต่ก็ไม่ได้มีนโยบายหรือกฎหมายรูปธรรมอะไรที่จับต้องได้เลย

ผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ก็คือ สถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กต้องปิดกิจการลง คนว่างงานมากเป็นประวัติการณ์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในโลก และเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง

ความคิดของพล.อ.ประยุทธ์ล้าหลังไปกว่า 60 ปี นับตั้งแต่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม และแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกออกมาตามแผนพัฒนาของธนาคารโลก ที่ต้องการให้ทุนอุตสาหกรรมเติบโตจึงให้รัฐสนับสนุนทั้งทางนโยบายและรายจ่าย งดเว้นภาษีรายได้และให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนนานับประการ

แต่เมื่อธุรกิจเหล่านั้นร่ำรวยมากขึ้นแล้ว กลับไม่เก็บส่วนเกินคืนสังคม แต่กลับส่งเสริมนโยบายแบบเก่าจนเกิดการแบ่งแยกความมั่งคั่งมากขึ้นไปเรื่อยๆ และเกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาล เพราะรัฐบาลส่งเสริมการแบ่งแยกทางชนชั้น แล้วชอบโมโหเมื่อประชาชนเขารู้ทัน

การให้ทุกครอบครัวเลี้ยงไก่จึงไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจน ปลดหนี้สินและรายจ่ายได้ เพราะในปัจจุบันการเลี้ยงไก่ก็มีค่าใช้จ่ายและมูลค่าเพิ่ม ทั้งค่าข้าวเปลือก ค่าอาหาร ฯลฯ โดยเฉพาะในวันที่ชาวนาต้องซื้อไก่จากกลุ่มทุนการเกษตรยักษ์ใหญ่ที่ผูกขาดตลาด และสุดท้ายใครกันที่รวยขึ้น?

รัฐบาลกำลังมาผิดทางเรื่องการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตเกษตรกรตกต่ำ ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนกำลังจะอดตายไปพร้อมๆ กับวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองที่กำลังล้มเหลว ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ ขอเวลาไว้ 5 ปีแก้ปัญหาราคาข้าวให้ชาวนา ปีนี้ก็เลยเวลา 5 ปีแล้ว ข้าวเปลือกของชาวนากลับราคาตกเหลือ กก. ละ 5 บาท

จริงๆ แล้วการแทรกแซงราคาข้าวโดยการประกันราคาหรือจำนำข้าว ล้วนเป็นหลักการพื้นฐานของแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตยและเศรษฐศาสตร์การเมืองที่รัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือกำกับและดูแล จะต้องเข้ามาอุดหนุนดูแลกำกับและดูแลไม่ให้กลุ่มทุนธุรกิจการเกษตรผูกขาดเข้ามากำหนดควบคุมให้พวกเขายากจนลงๆ

การผูกขาดการผลิตเหล้าเบียร์ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ถูกผูกขาดโดยการออกกฎหมายเพื่อเอื้อนายทุน ถึงเวลาต้องยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเหล่านั้นเสียที ข้อจำกัดเดิมที่เอื้อกลุ่มทุนแต่ปิดกั้นสุราพื้นบ้าน ประเทศไทยสามารถส่งเสริมเกษตรกรในการทำเหล้าสาโท เบียร์คราฟท์ และเหล้ากลั่นคุณภาพดีปลอดสารเคมี ส่งขายต่างประเทศได้สบาย เพราะเหล้าสาโทไทยไม่แพ้เหล้าเหมาไถของจีน หรือสาเกของญี่ปุ่น ในอดีตตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเคยมีการส่งเหล้าสาโทไปขายถึงญี่ปุ่นจำนวนมากเพราะว่ากันปากต่อปากว่ามีรสชาติดีกว่าสาเกเสียอีก

ในเวียดนามหรือในญี่ปุ่นเอง มีเหล้ายา-สุราท้องถิ่นของชาวบ้านจำนวนมาก แต่ละเมืองมีหลากหลายยี่ห้อให้เลือกสรรมากมาย ที่ชาวนาผลิตจากข้าวจากนาของตนเอง ซึ่งเป็นการลดรายจ่ายและเพิ่มมูลค่าให้ชาวนาโดยตรง

แต่เสียดายรัฐบาล 3 ป.ของพล.อ.ประยุทธ์ และพวก ไม่มีกึ๋นในเรื่องพวกนี้เลย นอกจากรอเจ้าสัวทั้งหลายเสนอโครงการเข้ามา ส่วนคนจนก็รองบประมาณที่กู้มาไปเยียวยาดูแลก็พอ

ตลอดปีวัวที่ผ่านมา ประชาชนเดือดร้อนกันทั่วประเทศและออกมาชุมนุมต่อต้านนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลมากมาย รัฐบาลไม่ให้ไปนั่งเจรจาในทำเนียบ พยายามออกกฎหมายควบคุมประชาชน ควบคุมองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO) แต่กับนายทุนผูกขาดที่แสวงหาการค้าและกำไรส่วนเกินสูงสุด กลับให้ไปนั่งเป็นที่ปรึกษา เป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อบริหารการพัฒนาประเทศ?

เส้นทางประชาธิปไตยในความขัดแย้งทางการเมืองกับเดิมพันอนาคตสังคมไทยในปีนี้นั้น มีปัญหาระบบกรรมสิทธิ์และการถือครองทรัพย์สิน เป็นใจกลางปัญหาประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่องในความขัดแย้งทางการเมือง

เมื่อก่อนนั้นธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยมีแค่โรงเลื่อย โรงสี และโรงน้ำแข็ง ต่อมาจึงกำเนิดทุนพ่อค้าวาณิชย์, ทุนรัฐวิสาหกิจ และทุนสำนักงานทรัพย์สินฯ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ความสัมพันธ์ของทุน รัฐ และชนชั้น ทำให้เกิดพัฒนาการในการก่อตัวของทุนระดับชาติ ที่การสะสมทุนเริ่มแรกนั้นก่อตัวมาจากทุนพาณิชย์ ก่อนที่จะขยายเข้าสู่ทุนการเงินการธนาคาร และการขยายตัวของทุนอุตสาหกรรมในภายหลัง

การเติบโตทุนของเจ้าสัวทั้งหลายเริ่มต้นด้วยทุนพาณิชย์ชาวจีนซึ่งมีฐานการสะสมทุนจากการค้าภายในและต่างประเทศ การเป็นตัวแทนนายหน้าระหว่างทุนต่างชาติกับผู้ผลิตในภาคเกษตรกรรม ร่วมกับการเติบโตของทุนเจ้านายและขุนนางที่เป็นชนชั้นเจ้าที่ดินที่สะสมทุนจากการเก็บค่าเช่า กิจการผูกขาดของหลวง ตลอดจนการร่วมทุนกับต่างประเทศในกิจการธนาคารและอุตสาหกรรม

การเจรจาสร้างไมตรีกับข้าราชการไทยระดับสูง ทำให้พ่อค้าชาวจีนส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งได้รับอภิสิทธิ์เต็มที่ สามารถค้ากำไรอย่างมหาศาล ด้วยการเข้าไปคุมตลาดการค้า เนื่องจากข้าราชการไม่มีความรู้ทางพาณิชย์ จึงปล่อยให้พ่อค้าคนจีนเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่รัฐเป็นฝ่ายริเริ่ม ธุรกิจผูกขาดดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงเริ่มก่อตัวขึ้นในระยะนี้เอง ซึ่งกลายเป็นธุรกิจที่แนบแน่นทางการเมืองมาถึงปัจจุบัน คล้ายกับนโยบายประชารัฐของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในปัจจุบัน

เป็นการเติบโตแบบผูกขาดตลาดโดยใช้อำนาจรัฐอุ้มชูมาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างหลักประกันและผนึกกำลังทางธุรกิจเพื่อเลี่ยงการแข่งขัน ระบบดังกล่าวเปิดทางให้พวกข้าราชการระดับสูงยินยอมยกอภิสิทธิ์หลายประการแก่นักธุรกิจตระกูลใหญ่ๆ โดยพัฒนาธุรกิจของตนอิงทุนแห่งรัฐเป็นเครื่องมือมาอย่างต่อเนื่อง บรรดาธุรกิจขนาดใหญ่จึงมักมีเจ้าหน้าที่รัฐระดับกุมอำนาจเข้าไปมีหุ้นส่วนอยู่ด้วยเสมอ การเติบโตจากการผูกขาดกลายเป็นเนื้อเดียวกันของรัฐและทุน ทำให้นักธุรกิจนายทุนของไทยนิยมชมชอบรัฐบาลอำนาจนิยมที่ไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แค่ทำให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพก็พอ

ดังนั้น การแย่งชิงอำนาจการเมืองในปี 2565 จึงเท่ากับตัวแปรต่อความมั่งคั่งในการถือครองทรัพย์สินและยึดครองกรรมสิทธิ์ในประเทศไทยของกลุ่มทุนผูกขาดทั้งหลาย ที่มีรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เป็นตัวแทนของประชารัฐแบบเก่า ที่ปัจจุบันมีผู้มีอำนาจยึดกุมการปกครองเป็น 3 นายพลอาวุโส ที่ควบคุมกองทัพ กำกับตำรวจ และเชิดสถาบันเป็นเครื่องมือ โดยต่างตอบแทนด้วยกฎหมายเอกสิทธิ์ทั้งปวงให้ฝ่ายชนชั้นนำได้รับประโยชน์ด้วย

หลายคนอาจคิดว่ากลไกอำนาจนิยมของประยุทธ์คือ นายทุน ขุนศึก (เสนาพาณิชย์) ศักดินา (ชนชั้นนำ) และข้าราชการ แต่ปัจจุบันองค์กรประกอบค้ำบัลลังค์ของรัฐบาล หรือระบอบ 3 ป. ที่แท้จริงถูกตั้งคำถามว่าน่าจะมีเพียง เจ้าสัว กองทัพ ตำรวจ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ

นี่คือปัญหาของมหาเศรษฐีและจุดยืนของชนชั้นนำไทย กับทิศทางประเทศไทยในปี 2565 ว่าจะมีจุดยืนอย่างไรต่อไปหากความขัดแย้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ลุกลามไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมและวัฒนธรรม ทั้งความเชื่อ ค่านิยม ศรัทธา ที่มุ่งหมายไปสู่ความเกลียดชังและความรุนแรงทางสังคมครั้งใหญ่ ที่รอเพียงจุดปะทุของเหตุการณ์ไม่ต่างจากเหตุการณ์อาหรับสปริง

ถึงเวลาที่ชนชั้นนำ นักธุรกิจทั้งหลาย จะหันมาจับมือกับนักศึกษาประชาชน โค่นล้มระบอบ 3 ป. ที่ครอบงำการเมืองไทยแล้วหรือไม่? รวมพลังทุกพรรคการเมืองที่ต่อต้านระบอบอำนาจนิยม เพื่อร่วมสรรค์สร้างสังคมประชาธิปไตยและภราดรภาพในหมู่ประชาชน เพื่อสร้างความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านแก่บ้านเมือง มีระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย นี่คือเดิมพันอนาคตของบ้านเมืองในปี 2565

เนื่องจากตัวแปรและทางเลือกที่จะเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยด้วยการไม่นองเลือดและการสูญเสียของประชาชน มีทางเลือกหลายหนทาง หากเราจะศึกษาบทเรียนและข้อเสนอบทเรียนจาก คอป. ในอดีต ที่อาจมีคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งรัฐ หรือการส่งเสริมบทบาทของรัฐสภาเพื่อสร้างการปรองดองทางสังคม โดยให้องค์กรอิสระ ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร และตุลาการ หยุดรับใช้รัฐบาลอำนาจนิยมต่อไป

หาไม่แล้วความขัดแย้งในอนาคตอาจจะนำไปสู่การใช้อำนาจล้อมปราบประชาชนเพื่อคงไว้ซึ่งระบอบ 3 ป. โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ และนายมีชัย กลายเป็นศัตรูของประชาชน หรืออาจเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ซึ่งจะเกิดการช่วงชิงอุดมการณ์ทางการเมืองในระยะยาวและแลกมาด้วยการความสูญเสียมากมายซึ่งทุกคนคงไม่ต้องการ

ปีหน้านี้จะเกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญขึ้นอย่างชัดเจนจากกับดักที่เขียนขึ้นไม่ต่างจากปี 2534 และกลายเป็นกับดักรัฐธรรมนูญที่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมอย่างรุนแรงไม่ต่างจากเหตุการณ์พฤษภา 2535 เนื่องจากรัฐบาลแบ่งแยกอำนาจประชาชนออกจากรัฐ สืบทอดอำนาจระบอบคณาธิปไตยที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นศูนย์กลาง

หล่มรัฐธรรมนูญในฐานะกลไกการปกครองฉบับยึดอำนาจประชาชน จึงทำให้เกิดวิกฤตประชาธิปไตย บ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐในการจัดวางการอยู่ร่วมกันของประชาชน และการจัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ล้มเหลว กลไกการตรวจสอบไม่มี องค์กรอิสระถูกยึดควบคุม กระจุกอำนาจที่ทำเนียบ แทนที่จะกระจายอำนาจ

การปรองดองเพื่อความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ซึ่งต้องปฏิรูปทุกองค์กร เป็นข้อเสนอที่ดีที่สุดในปีเสือนี้ ที่ต้องมีการปฏิรูปสังคมประชาธิปไตย เหมือนเยอรมนีหลังยุคซากปรักหักพังหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของฮิตเลอร์

จะเป็นอย่างนั้นได้ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องลงจากหลังเสือเสียก่อน ก่อนจะกลายเป็นเสือลำบาก และไม่มีป่ารอยต่อให้อยู่.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net