Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ตรวจการบ้าน ประเมินผลงาน 3 เดือน 'รัฐบาลเศรษฐา' 

2 ธ.ค. 2566 เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินมาครบ 3 เดือนในวันนี้ ครป.ได้ติดตามการทำงานของรัฐบาลมาโดยตลอด 3 เดือน เพื่อให้โอกาสรัฐบาลใหม่ได้ทำงาน ด้วยความหวังว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและวิกฤตการเมืองที่สั่งสมมาในอดีตได้ แต่ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา หลังจากได้ตรวจการบ้านและประเมินผลงานรัฐบาลพบว่า ยังไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองมากนัก เนื่องจากระบบการทำงานยังขาดประสิทธิภาพ รัฐมนตรีบางส่วนยังขาดวิสัยทัศน์และภาวะผู้นำในการแก้ปัญหา โดยสรุปเบื้องต้น 10 ประการ ดังนี้

1. ในด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รับปากประชาชนอาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโดยประกาศเป็นวาระเร่งด่วนเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น โดยมีนโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท แก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจและภาคประชาชน การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว งานแสดงสินค้าและงานเทศกาลระดับโลก และแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันและปราบปรามการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว แต่ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมานั้น รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจและทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ตามที่รับปากกับประชาชนมากนัก แม้ว่าจะลดค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ประเดิม 2 เส้นทางตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 ลดราคาน้ำมันดีเซลลง 2 บาท/ลิตรถึงสิ้นปี และลดค่าไฟฟ้าลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยเป็นเวลา 4 เดือน แต่ปัญหาทางโครงสร้างยังไม่ถูกแก้ไข และรัฐบาลถูกครหาว่าอยู่ภายใต้การกำกับของกลุ่มทุนผูกขาดและกลุ่มการเมืองเก่า

2. นโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet เพื่อจุดชนวนกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้งนั้น ยังไม่ได้ดำเนินการก็ประสบความขัดแย้งก่อน เนื่องจากการออกพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทไม่เป็นไปตามที่แถลงนโยบายและอาจไม่ผ่านการตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา แนวคิดการใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ยังขาดความรอบคอบ เป็นเพียงแนวคิดประชานิยมที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจชั่วคราวแต่ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนคืนกลับไปยังกลุ่มทุนและเจ้าสัวที่ผูกขาดในที่สุด และอาจไม่เกิดเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบตามที่คาดหวัง เพราะเงินหมดแล้วก็หมดไป รัฐยังจะไม่ได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษีเท่าที่ควร โดยที่นโยบายนี้ยังมีช่องโหว่มากมายและมีนโยบายแอบแฝง ทั้งยังทำให้รัฐบาลสั่งตรวจสอบบัญชีเงินฝากประชาชนได้ทั่วประเทศจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันทางการเงิน ขณะที่ไม่สามารถตรวจสอบบัญชีเงินฝากในธนาคารต่างประเทศได้ และหากนโยบายนี้ผ่านอาจจะทำให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรีเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายได้

3. รัฐบาลยังไม่แก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทางโครงสร้างภายในประเทศ เพื่อรองรับความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศของชาติมหาอำนาจที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่าร้อยละ 90 ของ GDP ขณะที่คนกลุ่มหนึ่งร่ำรวยยิ่งขึ้นและสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทุกขณะ แม้ว่าสถานการณ์โลกจะเปลี่ยนไปและประเทศไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยย้อนหลังต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริงเพียงใดก็ตาม รัฐบาลเคยแถลงว่าความเหลื่อมล้ำที่ทวีความรุนแรงขึ้นทำให้มีประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่รอการช่วยเหลือจากรัฐมากกว่า 14 ล้านคน รัฐบาลจึงต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจผูกขาดและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยโดยเร่งด่วน โดยการออกกฎหมายควบคุมการสะสมความมั่งคั่งที่กระจุกตัว แก้ปัญหาการผูกขาดตลาด และให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ถูกแทรกแซงจากกลุ่มทุนรายใหญ่ เพื่อจัดการระบบตลาดที่เป็นธรรมมากขึ้นเหมือนในประเทศสหภาพยุโรป โดยไม่ใช้นโยบายประชานิยมที่ผันเงินเข้าระบบนายทุนผูกขาดประเทศที่อยู่ส่วนบนของห่วงโซ่เศรษฐกิจ และออกกฎหมายกู้เงินให้ประชาชนเป็นหนี้ รวมถึงการยกเลิกนโยบายส่งเสริมการลงทุนแบบเก่า โดยเปลี่ยนนโยบายให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมการลงทุนแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อยแทนกลุ่มทุนรายใหญ่ที่ได้เปรียบ และการแก้ไขปัญหาการขูดรีดของสถาบันทางการเงินและธนาคารต่างๆ โดยเฉพาะอัตราภาษีเงินกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ ของประชาชนทั่วไป ซึ่งจะสามารถแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจได้มากกว่า

4. การแก้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชน คณะรัฐมนตรีมีมติปรับลดค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 จาก 4.10 บาทต่อหน่วย ลดลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศขึ้นค่าไฟงวดใหม่เป็น 4.68 บาทต่อหน่วย งวดมกราคม-เมษายน 2567 เพื่อซ้ำเติมประชาชนเหมือนเดิมโดยไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ รัฐบาลเคยแถลงว่าการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนและจะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่รัฐบาลยังไม่แก้ไขการให้รัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในระยะยาวและทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจาก กฟผ. สามารถผลิตไฟฟ้าเองได้ แต่รัฐบาลก่อนไปกำหนดควบคุมให้ลดการผลิตลง แต่ให้ไปซื้อเอกชนให้มากขึ้น ขณะนี้ กฟผ. ซื้อไฟจากเอกชนราคาหน่วยละ 6 บาท ในขณะที่ขายให้แก่ประชาชนหน่วยละ 4 บาท ทำให้รัฐบาลโดย กฟผ.รับภาระส่วนต่างโดยทำบัญชีขาดทุนทำให้หนี้ของ กฟผ. บานปลายเพิ่มขึ้นเกิน 1 แสนล้านบาทไปแล้ว แทนที่จะแก้ปัญหาโครงสร้างไฟฟ้าโดยสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานห้ามมิให้ กฟผ. ซื้อไฟจากเอกชนในราคาที่เกินกว่าเพดานต้นทุนที่ กฟผ. สามารถผลิตเองได้เพียงหน่วยละ 2 บาทเท่านั้นตามราคาไฟฟ้ามาตรฐาน แต่การไปบังคับซื้อไฟจากเอกชนราคาหน่วยละ 6 บาท และบางรายแพงกว่านั้น เพื่อต้องการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนของรัฐบาลใช่หรือไม่ เพราะในอดีตมีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนในราคาแพงและมีการคอร์รัปชั่นเก็บเงินเข้ากระเป๋านักการเมืองจำนวนมาก รัฐบาลจะแก้ไขอย่างไร เมื่อหนี้ของ กฟผ. เพิ่มสูงขึ้นจนวันหนึ่งรัฐบาลก็ต้องเก็บภาษีประชาชนมาใช้หนี้ให้ กฟผ. อยู่ดี หรือนี่จะเป็นนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแปบแฝงของรัฐบาลโดยปล่อยให้ล้มละลายเพื่อให้เอกชนเข้าหาผลประโยชน์แทนเหมือนกับการบริหารจัดการการบินไทยในอดีตที่มีการคอร์รัปชั่นภายในมโหฬาร หรือการแปรรูป ปตท. นอกจากนี้รัฐบาลมีนโยบายจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ และเร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียงและสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม ซึ่งสอดคล้องกับการที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแวะพบผู้นำกัมพูชาก่อนเดินทางกลับไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยกำลังเดินทางไปเยือนผู้นำกัมพูชาอย่างเป็นทางการในเวลานี้หรือไม่

5. การแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรและแรงงาน รัฐบาลเห็นว่าคนไทย 10 ล้านคนหรือราว 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานอยู่ในภาคการเกษตรที่ทำงานหนักเพื่อเลี้ยงชีพ แต่มีมูลค่าเพียงร้อยละ 7 ต่อ GDP ซึ่งมีประสิทธิภาพของผลผลิตต่ำ แต่ค่าใช้จ่ายในการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรไทยมีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละกว่า 3 แสนบาท จึงมีนโยบายพักหนี้เกษตรกร และเปลี่ยน สปก.เป็นโฉนดที่ดิน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ได้ แต่นโยบายนี้อาจจะทำให้โฉนดที่ดินของเกษตรกรเปลี่ยนไปอยู่ในมือนายทุนมากขึ้นหากไม่มีมีนโยบายรองรับและป้องกัน โดยการส่งเสริมเกษตรกรและแรงงานอย่างเป็นระบบ เหมือนดังประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาที่ชาวนาได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเต็มที่ ไม่ปล่อยให้ต้นทุนการทำเกษตรกรรมเลี้ยงคนทั้งประเทศขึ้นอยู่กับบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรปุ๋ยและยา ที่ผูกขาดราคาสูงกว่าความเป็นจริง รวมถึงการสนับสนุนการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรอย่างเป็นระบบและส่งเสริมรัฐวิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะรัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการปลดล็อกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสุราพื้นบ้านเพื่อแก้ปัญหาการผูกขาดตามที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา นอกจากนี้การประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ โดยให้ ธกส.เป็นเจ้าภาพแก้ปัญหา และสนับสนุนสินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจนนั้นนับเป็นนโยบายที่ดี ที่กระทรวงการคลังจะรับผิดชอบดูแลกลุ่มที่เป็นลูกหนี้นอกระบบในภาคเกษตรกรและตลาดแรงงานอย่างจริงจัง เพราะกระทรวงเกษตร กระทรวงแรงงาน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ควรเป็นตัวแทนของเกษตรกร ชาวนา และแรงงาน ไม่ใช่ตัวแทนผลประโยชน์ของนายทุน

6. รัฐบาลประเมินว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจและสังคมของโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทำให้ยุคสมัยของเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์กำลังสิ้นสุดลงและได้เปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจโลกแบบแบ่งขั้ว รัฐบาลจึงมีแนวทางที่จะสร้างรายได้โดยการใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะการผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและสร้างงานให้กับประชาชน โดยการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมหรือฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีนโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566-กุมภาพันธ์ 2567 แต่ยังไม่สามารถดึงนักท่องเที่ยวชาวจีนให้มาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้นได้ เนื่องจากปัญหาหลายสาเหตุที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่นในการใช้อำนาจ ภาพลักษณ์ตำรวจไทย รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการเดินทางและสายการบิน ยังมีข้อครหาว่าการบินพลเรือนและการท่าอากาศยานยังคงมีการเรียกเก็บค่าสล็อตหรือหลุมจอดใต้โต๊ะจนเกิดปัญหาด้วย  โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็เคยต้องคดีทุจริตมาก่อน และรัฐบาลยังไม่สามารถทำให้เกิดความโปร่งใสทั้งระบบได้ ขณะที่รัฐบาลยังสร้างนโยบายระยะยาวเพื่อผลักดัน Soft Power ไม่ได้ เพื่อใช้เป็นนโยบายต่างประเทศในการขยายอิทธิพลและคุณค่าต่อประชาคมโลกเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและความมั่นคงภายใน

7. ในด้านการเมือง รัฐบาลมีนโยบายว่าประเทศไทยได้เข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านด้านกฎหมาย การเมืองและการปกครอง ที่เกิดความเห็นต่างและการแบ่งแยกทางความคิด ข้อกฎหมายที่ไม่ทันต่อสถานการณ์บ้านเมืองกลายเป็นต้นเหตุของอุปสรรคปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน สินบน อาชญากรรม การหลอกลวงฉ้อฉล การพนัน และยาเสพติดที่ทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นความสิ้นหวังของประชาชนที่มีต่อระบบการเมืองและระบบราชการของประเทศไทย แต่รัฐบาลยังไม่ดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังตามที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเคยดำเนินการค้างไว้ รวมถึงการออกกฎหมายยกเลิกคำสั่ง คสช.ในอดีตโดยเร็ว เพื่อให้กลไกการบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปตามปกติในรัฐบาลพลเรือน และผลักดันการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากการผลักดันผู้ว่าซีอีโอเป็นการรวมศูนย์อำนาจที่สอดคล้องกับกฎหมายความมั่นคงภายในที่ล้าหลังและการจัดวางบทบาท กอ.รมน.ที่เป็นรัฐซ้อนรัฐ ขัดกับนโยบายของรัฐบาลที่จะปรับอัตรากำลังใหม่ให้ทันสมัยและแก้ไขปัญหาปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในระบบราชการ นอกจากนี้รัฐบาลประกาศดำเนินการประชามติและจัดทำรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน แต่การดำเนินการตามแผนของคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นกลับเป็นแผนระยะยาวถึง 4 ปี จึงไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองที่สะสมได้โดยเร็วเพื่อผลักดันให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย และขจัดการสืบทอดอำนาจเผด็จการ

8. ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองจากการยกเลิกข้อตกลงหรือ MOU 8 พรรคในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยยังคงมีข้อตกลงระหว่างพรรคในการเสนอชื่อประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภาร่วมกัน โดยยืนยันร่วมกันให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพด้วย ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งดำเนินการเรื่องดังกล่าวโดยเร็วเนื่องจากตลอด 3 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้แสดงท่าทีที่จะผลักดันให้เกิดการดำเนินการนิรโทษกรรมคดีการเมืองของประชาชนจากผลพวงการชุมนุมทางการเมืองในอดีตเพื่อสร้างความปรองดองแห่งชาติ  เพื่อให้สังคมไทยได้ไปต่อและมีเสถียรภาพก่อนการเริ่มต้นรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นกติกาประชาธิปไตยร่วมกัน และประกาศให้คดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองเป็นคดีนโยบายที่เสนอให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือให้ประกันตัวตามหลักการแห่งกฎหมายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยพึงได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมด รวมถึงการผลักดันการแก้ไขกฎหมายจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม และกฎหมายการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพื่อฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่เข้มแข็งและโปร่งใส

9. นโยบายด้านการศึกษาเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญน้อยมาก เพื่อปฏิรูปการศึกษาให้สอดรับกับความต้องการทางสังคมและวิกฤตประเทศ ขณะที่ผลสำรวจพบว่าการศึกษาไทยรั้งท้ายในอาเซียนและความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยต่ำมาก ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา รัฐบาลจะดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่ แต่ไม่มีรูปธรรมในเชิงปฏิบัติแต่ละด้าน ที่รัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย นโยบายเร่งด่วนจริงๆ คือ การปรับปรุงระบบการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และการพัฒนาฝีมือแรงงานไทย ทำให้การศึกษาไม่มีคำตอบให้แก่สังคมและจะทำให้คนตกงานจำนวนมาก ขณะที่รัฐบาลนี้ยังไม่ทำอะไรเลยนอกจากไปเน้นการนำเสนอพลังสร้างสรรค์หรือ Soft Power เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่า  แต่ไม่มีนโยบายด้าน Civic Education แก่พลเมือง

10. การทำงานด้านการต่างประเทศ รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างบทบาทในเวทีโลก ให้ความสำคัญกับการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ อย่างสมดุล โดยเฉพาะระหว่างมหาอำนาจที่ขัดแย้งกัน ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิคของสหรัฐอเมริกา และนโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนเพื่อเชื่อมโลก ไทยจะวางตัวเป็นประเทศเป็นกลางไม่เลือกข้างอย่างมั่นคงได้อย่างไรโดยยืนอยู่บนหลักการสากลและบรรทัดฐานกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ใช่ใช้การทูตไผ่ลู่ลม (Bamboo Diplomacy) หรือการทูตที่แปรผันตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างเดียวเช่นหลายครั้งในอดีต โดยเฉพาะบทบาทในการส่งเสริมสันติภาพโลกและการไม่รุกรานกัน ไม่ว่าจะในสงครามยูเครน-รัสเซีย และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล–ปาเลสไตน์ รวมถึงการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และรักษาบทบาทนำของประเทศไทยในภูมิภาคและอนุภูมิภาค แต่การทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมานั้นยังไม่เป็นเอกภาพและไม่สามารถบูรณาการอย่างเป็นระบบได้ โดยเฉพาะกรณีคนไทยถูกจับเป็นตัวประกันและต้องการความช่วยเหลือเพื่ออพยพจากเมืองเล่าก์ก่าย ประเทศเมียนมา นั้นกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายได้ หน่วยงานรัฐไทยก็ต่างคนต่างทำจนมั่วไปหมด ทหารทำอย่าง-ตำรวจทำอย่าง จนขาดเอกภาพ ในขณะที่สถานการณ์ไม่แน่นอนนี้ โดยเฉพาะการสู้รบในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะยาอาจจะส่งผลกระทบหลายอย่างต่อประเทศไทยได้ รัฐบาลไทยควรมอบหมายให้บุคคลระดับรองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งมานั่งหัวโต๊ะดูแลเรื่องนี้ เพราะลำพังหากยกให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หรือเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ก็ไม่สามามารถบูรณาการหรือสั่งการส่วนราชการหรือกองทัพทั้งหมดได้  ที่ผ่านมานั้นรัฐบาลไม่ได้ใส่ใจประเด็นความมั่นคงของประเทศอย่างจริงจัง เพราะไม่มีแม้กระทั่งการแต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านความมั่นคงแต่อย่างใด

หากรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไม่สามารถแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมืองได้ตามที่รับปากกับประชาชนและดำเนินการแก้ไขตามรายงานการส่งการบ้านประเมินผลงานรัฐบาลในรอบ 3 เดือนนี้อย่างจริงจัง อาจจะทำให้นายกรัฐมนตรีไม่สามารถได้รับความไว้วางใจจากประชาชนต่อไปเพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ ซึ่งอาจทำให้ชะตาของนายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 6 เดือน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net