คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ห่วง กกต. ไม่โปร่งใส เอียงข้างอำนาจนิยม ไม่รายงานผลเรียลไทม์ จ่อร่วมมือ ปชช.ตรวจสอบการเลือกตั้งปี'66 พร้อมจัดเวทีสัญญาประชาคมกับพรรคต่างๆ ก่อนเลือกตั้ง
2 มี.ค. 2566 ทีมสื่อ ครป. รายงานต่อสื่อวันนี้ (2 มี.ค.) เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ขณะนี้มีกระแสออกมาว่าอาจจะไม่มีการเลือกตั้งปี 2566 มีทฤษฎีสมคบคิดออกมา ขอบอกว่ามีการเลือกตั้งแน่นอน อย่าคิดไปไกล เพราะการเลือกตั้งเป็นแค่กลไกของระบอบการปกครอง เป็นกลไกตามห้วงเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ระบอบประยุทธ์ ออกแบบไว้สืบทอดอำนาจเอง ดังนั้น กำหนดการและเวลาการเลือกตั้งจะต้องเป็นไปตามกลไกรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว จะยุบสภาหรืออยู่ครบวาระ

เมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป.
เมธา ระบุว่า ที่น่าเป็นห่วงก็คือกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ โปร่งใส เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตยได้อย่างไร โดยไม่เอียงข้างฝ่ายอำนาจนิยม เพราะมีเรื่องที่ กกต.จะไม่รายงานผลคะแนนแบบเรียลไทม์ โดยอ้างต้องผ่านการตรวจสอบก่อน แต่ถูกตั้งคำถามเยอะมากจึงประกาศจะรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการผ่านทางระบบ “ECT Report” แต่ไม่รายงานผ่านแอปพลิเคชันเหมือนครั้งก่อนทั้งๆ ที่ประมูลจัดจ้างออกแบบทำไว้แล้ว แต่เรื่องนี้ภาคประชาชนจะทำงานคู่ขนานโดยรายงานผลประจำหน่วยต่อสาธารณะไปด้วย เพื่อให้ตรงกันและไม่ให้เกิดการโกงการเลือกตั้งหรือรวมคะแนนผิด และขอให้ภาคประชาชนร่วมกันเป็นอาสาสมัครและนักข่าวพลเมืองรายงานผลการเลือกตั้งต่อสาธารณะร่วมกันทั่วประเทศ
เลขาธิการ ครป. กล่าวว่า เนื่องจากในยุคนี้องค์กรอิสระที่ออกแบบมาตามรัฐธรรมนูญ 40 ถือว่าอ่อนแอลงมากที่สุด และบางส่วนอิงแอบอำนาจรัฐ เพราะรัฐธรรมนูญ 60 ไม่ได้มาจากเจตนารมณ์สมบูรณ์ของประชาชน เพราะมีการบังคับประชามติโดยไม่มีทางเลือก และออกแบบให้องค์กรอิสระอยู่ภายใต้อำนาจและอาณัติของรัฐบาล องค์กรอิสระทั้ง 5 องค์กร คัดเลือกโดยคนของ คสช. และที่ประชุมวุฒิสภา ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนหรือผ่านสภาผู้แทนราษฎร
เลขาธิการ ครป. ระบุต่อว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าเป็นห่วง มีเรื่องการนับรวมคนไทยที่ไม่มีสัญชาติและการแบ่งเขตเลือกตั้งที่รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งอาจเกิดการเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายรัฐบาลผู้มีอำนาจ มีเรื่องการหาเสียงที่ทำผิดรัฐธรรมนูญและกติกากันเอง โดยเฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลในขณะนี้ มีเรื่องการชงให้ยุบพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะจริงๆ พรรคการเมืองต้องถูกยุบยาก และจริงๆ ไม่ควรบังคับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สังกัดพรรคด้วยซ้ำ เพราะเป็นการลิดรอนสิทธิทางการเมืองตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล
เมธา กล่าวด้วยว่า ที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นก็คือ หลังผลการเลือกตั้งออกมา จะมีการออกแบบพรรคร่วมรัฐบาลโดยให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นฐานในการจัดตั้งรัฐบาล และโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านกติกาตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบธรรมเหมือนการเลือกตั้งในปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเลือกใช้วิธีนี้หากได้เสียง ส.ส.เกิน 25 เสียง น่าเสียดายที่มีการเรียกร้องให้มีการลงประชามติตัดอำนาจ สว.เลือกนายกฯ ไม่ทัน เพราะวุฒิสภาโหวตคว่ำผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ต้องการให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการใดๆ จนถูกตั้งคำถามว่า ส.ว.มีไว้ทำไม เป็นกาฝากประชาธิปไตยหรือไม่
เมธา ทิ้งท้ายว่า แต่พรรคการเมืองต่างๆ จะพิทักษ์หลักการประชาธิปไตยในเรื่องนี้ได้อย่างไร จะต้องมีการร่วมกันให้สัตยาบันกับประชาชน โดย ครป.และเครือข่าย 30 องค์กรประชาธิปไตย จะรณรงค์เรื่องนี้ในช่วงเลือกตั้ง และจัดเวทีสัญญาประชาคมพรรคการเมืองในเรื่องต่างๆ เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยร่วมกัน และหวังว่าครั้งนี้ "ฝ่ายอำนาจนิยมจะพ่ายแพ้ต่อฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม" ดังที่ พล.อ. ประวิตร กล่าวไว้